วันศุกร์, มีนาคม 18, 2565

เสียงวิจารณ์ดังทั่วทวีตภพ จนต้องลบโพสต์ เมื่อเพจเฟซบุ๊กของ รมช. ศึกษาธิการ ประกาศว่าคณะทำงานของเธอไปเข้าพบทูตเกาหลีเหนือในไทยเพื่อหารือความร่วมมือ "หลากหลายมิติ" กับรัฐบาลเปียงยาง


เสียงวิจารณ์ดังทั่วทวีตภพไทย เมื่อเพจเฟซบุ๊กของ รมช. ศึกษาธิการ ประกาศว่าคณะทำงานของเธอไปเข้าพบทูตเกาหลีเหนือในไทยเพื่อหารือความร่วมมือ "หลากหลายมิติ" กับรัฐบาลเปียงยาง จนโพสต์ดังกล่าวหายออกไปในวันต่อมา

เพจเฟซบุ๊กของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีฉายาว่า "คุณหญิงโค้ดดิ้ง" ได้โพสต์ข้อความเมื่อ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ถึงความร่วมมือกับเกาหลีเหนือ โดยระบุว่า เธอได้ส่งนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษา, ประธานยุทธศาสตร์นโยบายของเธอ และประธานอนุกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติ พร้อมคณะเข้าหารือกับ นายคิม เช พง (Kim Je Bong) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีประจําประเทศไทย "ในหลากหลายมิติ" ทั้ง ด้านการศึกษา การเกษตร ด้านอุปกรณ์การเเพทย์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม "บนมิติ Coding for all" ณ สถานทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศไทย

โพสต์ดังกล่าวถูกนำไปอ้างอิงผ่านทางสื่อมวลชนหลายแขนง และแชร์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย สร้างความสงสัยและเสียงวิจารณ์ต่อความร่วมมือครั้งนี้ จนโพสต์ดังกล่าวหายออกจากหน้าเพจเฟซบุ๊กของ รมช. ศึกษาธิการเมื่อ 17 มี.ค.



อาทิตย์ สุริยะวงศ์สกลุ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไอที และนักกิจกรรมผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตว่าความร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการเกาหลีเหนือที่มีประวัติฉาวเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและในเรื่องนี้จะนำไปสู่ความสัมพันธ์อื่น ๆ ที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนไทยในอนาคตหรือไม่

"การหาความร่วมมือกับทุกประเทศของกรรมการโค้ดดิ้งเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่น่าห่วงคือ จะนำไปสู่การความร่วมมืออื่น ๆ หรือไม่... เรามีเหตุผลที่หนักแน่นพอที่เราควรกังวล โดยดูจากประวัติศาสตร์ทั้งของเกาหลีเหนือและของไทย" อาทิตย์กล่าวกับบีบีซีไทย

เกาหลีเหนือ กับ ปฏิบัติการไซเบอร์ที่ "มุ่งร้าย"

หน่วยงานความปลอดภัยทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ (CISA) รายงานว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือปฏิบัติการทางไซเบอร์ที่สหรัฐฯ ให้คำจำกัดความว่า "มุ่งร้าย" อย่างน้อยมากกว่า 30 กิจกรรม นับตั้งแต่ 12 พ.ค. 2017 เป็นต้นมา

หน่วยงานนี้ยังระบุว่า "โปรแกรมไซเบอร์ของเกาหลีเหนือมีความสุ่มเสี่ยงต่อปฏิบัติการสอดแนม การโขมย และการโจมตีที่สูงขึ้น … เกาหลีเหนือยังปฏิบัติการโจรกรรมทางการเงินต่อสถาบันการเงินและวงการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลก ที่อาจมีมูลค่าสูงหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปสนับสนุนกิจการของรัฐบาล เช่น โครงการขีปนาวุธ"

ในช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ว่า แฮกเกอร์จากเกาหลีเหนือขโมยสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่ารวมกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,650 ล้านบาท) ระหว่างปี 2020 ถึงกลางปี 2021 โดยยูเอ็นวิเคราะห์ว่าการโจมตีเหล่านี้ถือเป็น "แหล่งเงินทุนสำคัญ" สำหรับโครงการระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธ สอดคล้องกับรายงานจากสหรัฐฯ

รายงานฉบับปี 2019 ของยูเอ็น ยังพบว่าเกาหลีเหนือใช้การโจรกรรมขั้นสูงทางไซเบอร์เพื่อรวบรวมเงินทุนถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความรุนแรงของการโจรกรรมทางการเงินผ่านระบบไซเบอร์ขั้นสูงของเกาหลีเหนือไม่ได้สร้างผลกระทบแค่กับภาคเอกชนหรือประชาชนเท่านั้น ในปี 2016 แฮกเกอร์จากเกาหลีเหนือเกือบจะปฏิบัติการโจรกรรมเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (31,200 ล้านบาท) จากธนาคารกลางของบังกลาเทศได้สำเร็จ แม้เงินส่วนใหญ่ถูกอายัดไว้ได้ แต่บังกลาเทศยังต้องสูญเงินกว่า 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,748 ล้านบาท) อยู่ดี

เจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ ระบุว่า กลุ่มลาซารัส (Lazarus Group) แฮกเกอร์เกาหลีเหนือกลุ่มนี้ใช้เวลาเตรียมการนานหลายปี และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีเหนือด้วย

ในบทสัมภาษณ์กับบีบีซีมื่อ 21 ต.ค. 2021 คิม กุก-ซอง อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยสายลับเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ เผยว่า คณะผู้นำเกาหลีเหนือพยายามจะหาเงินเข้าประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ ตั้งแต่การค้ายาเสพติดไปจนถึงการค้าอาวุธให้ชาติในตะวันออกกลาง ทั้งยังอ้างว่า มีสายลับและเครือข่ายทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือปฏิบัติภารกิจไปทั่วทุกมุมโลก

เมื่อบีบีซีถาม คิม กุก-ซอง ว่า ท้ายที่สุดแล้วเงินจากค้ายาเสพติดหรือปฏิบัติการอื่น ๆ ที่ได้ไปอยู่ที่ไหนและถูกนำไปใช้กับอะไร อดีตสายลับผู้แปรพักตร์ตอบกลับว่า "เพื่อช่วยให้คุณได้เข้าใจ เงินทั้งหมดในเกาหลีเหนือเป็นของผู้นำเกาหลีเหนือ … เขาเอาเงินเหล่านั้นไปสร้างคฤหาสน์ ซื้อรถยนต์ อาหาร เสื้อผ้า และใช้ชีวิตอย่างหรูหรา"

ข้อมูลจากสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ระบุว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนเกาหลีเหนืออยู่ที่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ตามหน่วยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015) รั้งอันดับที่ 216 จากทั้งหมด 229 ประเทศ



คุณหญิงกัลยาและความหลงใหลในโค้ดดิ้ง

บทสัมภาษณ์มติชนสุดสัปดาห์ฉบับเมื่อ ม.ค. 2563 ตั้งฉายาให้คุณหญิงกัลยาว่า "คุณหญิงโค้ดดิ้ง" สะท้อนความหลงใหลของเธอต่อการพัฒนาทักษะการโค้งดิ้งในแวดวงการศึกษาไทย

คุณหญิงกัลยากล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า อยากผลักดันให้เด็กไทยทุกคนต้องเรียนทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และ ภาษาคอมพิวเตอร์ เพื่อการเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยเน้นที่การวางระบบการศึกษาตั้งแต่เด็กเล็กเป็นต้นไป

ช่วงหนึ่งที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วสังคมไทย คือแนวนโยบายที่เธอบอกว่า การเรียนโค้ดดิ้งแม้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล้กทรอนิกส์หรือไม่ต้องเสียบปลั๊กคอมพิวเตอร์ก็สามารถเรียนได้ โดยให้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้กับการเล่นเกมไปแทน เพราะเธอมองว่า ภายใต้การเรียนโค้ดดิ้ง แท้จริงแล้วคือการสอนให้เด็กคิดเป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 28/2563 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2563 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียกภาษาคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดยมีคณะทำงานรวมทั้งหมด 22 คน มีคุณหญิงกัลยาเป็นหัวหอก

เธอกล่าวกับมติชนสุดสัปดาห์ว่าโค้ดดิ้งคือเรื่องจำเป็น เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ไทยไปสู้กับประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์

เธอย้ำว่า "เรายังมีความหวังการศึกษาไทยค่ะ"



ที่มา บีบีซีไทย
เกาหลีเหนือ : เมื่อ "คุณหญิงโค้ดดิ้ง" อยากเปิดสัมพันธ์ "หลายมิติ" กับชาติที่มีผลงานโจมตีไซเบอร์ทั่วโลก