สาวตรี สุขศรี แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นในทางกฎหมายเกี่ยวกับพระราชโองการ
เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ระบุว่า “พระราชินี พระรัชทายาท
และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง
และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย
และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้
เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น
หนึ่งในสมาชิกอดีตคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า “บทบัญญัติที่จะเป็นกฎหมายได้ต้องยึดถือตามระบบกฎหมายของประเทศ
ซึ่งของไทยเป็นระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ออกกฎหมาย
หรือฝ่ายบริหารในกรณีพระราชกำหนด หรือฝ่ายปกครองในกรณีของกฎหมายลำดับรองต่างๆ
ที่กฎหมายแม่ให้อำนาจเอาไว้
ดังนั้น พระราชโองการที่ออกมาจึงมิใช่กฎหมาย
เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติใดๆ ทั้งสิ้น” อีกทั้ง
“โดยเนื้อหาของพระราชโองการก็ไม่ใช่การสั่ง
แต่เป็นการให้คำแนะนำ แม้ช่วงท้ายๆ ที่เหมือนจะตีความ ขยายความรัฐธรรมนูญออกไป
แต่โดยภาพรวมไม่ได้มีคำสั่งที่ชัดเจนให้มีผลในทางกฎหมายใดๆ เลย”
อาจารย์สาวตรียังเสนอข้อคิดส่วนตัวด้วยว่า “ถ้าสุดท้ายทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ
ตัดสินใจเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต่อก็สามารถทำได้ เพราะไม่ได้มีรัฐธรรมนูญห้ามไว้
เพราะฉะนั้นกรณีนี้จึงเป็นพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์เท่านั้น”
แต่ดูเหมือนว่าพระราชโองการนี้ได้รับการปฏิบัติต่อเยี่ยงกฎหมาย
โดยเฉพาะเมื่อ กกต.ลงมติว่า การเสนอให้ทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ มหิดล
เป็นแคนดิเดทในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ
เป็นความผิดฐานปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ จึงส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค
ทษช.แล้วนั้น
สาวตรีชี้ว่า “ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนำพระราชโองการเป็นข้ออ้างในการวินิจฉัยหรือไม่
แต่ในเชิงหลักการ พระราชโองการไม่มีผลใดๆ
ในทางกฎหมายที่จะบังคับให้ใครต้องทำสิ่งใด”
ในเมื่อระบบกฎหมายไทยเป็นแบบลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ตามจารีตประเพณี
“ต่อให้ศาลตีความออกมามีเหตุผลดีเพียงใด
สิ่งนั้นก็ไม่มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย
เป็นเพียงการตีความขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งเท่านั้นเอง...ถ้าเทียบแบบเดียวกัน
พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์แบบนี้
แต่ก็ไม่ใช่กฎหมายที่สามารถขยายความตัวบทออกมาได้”
เกี่ยวกับหลัก ‘พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง’
อันมีการเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๖ ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้
ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”
สาวตรีอธิบายว่า มาจากหลักการ ‘The king can do
no wrong’ คือ “การที่พระมหากษัตริย์ไม่ทำสิ่งใดผิด
ก็เพราะพระองค์ไม่ได้ทำสิ่งใด” หมายถึงการใช้พระราชอำนาจของพระองค์ “ต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ
บริหาร ตุลาการ”
ดังนั้น
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรที่ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจทางปกครองผ่าน ๓ องค์กรดังกล่าว
(เพื่อให้เป็นผู้รับผิดชอบ) “เมื่อทำไปแล้วจะไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของมาตรา ๖”
อัน ‘เป็นคนละเรื่องกัน’ กับหลักการที่อยู่เบื้องหลังประมวลกฎหมายอาญามาตรา
๑๑๒
ในเมื่อมาตรา ๑๑๒ “เป็นเรื่องกฎหมายอาญาที่คุ้มครองชื่อเสียง
พระเกียรติยศในทุกๆ ด้านของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ”
เท่านั้น อย่างไรก็ดีสาวตรียอมรับว่า “ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา
ก็มีโอกาสที่ศาลจะตีความขยายออกไปเช่นนั้น...ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้องในเชิงหลักการ
ถ้ามีการวินิจฉัยแบบนี้ออกมาก็ต้องมีการเห็นแย้ง เพราะตัวบทเขียนไว้ชัดเจน”