วันพุธ, ตุลาคม 10, 2561

เลือกตั้ง 2562 ปรากฏการณ์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" "แพ้" เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ "ชนะ" เป็น ส.ส. เขต... บีบีซีไทยคาดการณ์ที่นั่งในสภา เปรียบเทียบการเลือกตั้งปี 2554-2562



OO HON KEONG/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพบรรยากาศที่คูหาเลือกตั้งในจังหวัดนนทบุรี เมื่อปี 2554


เลือกตั้ง 2562: พลิกสูตรคำนวณยอด ส.ส. จับตาพรรคใหม่ชิง 96 เสียง


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
9 ตุลาคม 2018


ทุกพรรคการเมืองอยู่ระหว่างจัดวางยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งภายใต้โจทย์ "คณิตศาสตร์การเมือง" ด้วยเพราะรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้อั้นยอด "ส.ส. ที่พึงมี" ของแต่ละพรรค ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ของพรรคใหญ่ พร้อมกับการช้อนซื้อ "ส.ต." ของพรรคใหม่ ๆ หวังนำคะแนนของ "ผู้แพ้" ไปนับรวมเป็นแต้ม ส.ส. บัญชีรายชื่อ

จะเป็นอย่างไรหากในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่ "ครองใจประชาชน" ด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต ไม่มีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) แม้แต่คนเดียว ?

นี่ไม่ใช่การคาดการณ์ที่เลื่อนลอย ด้วยเพราะระบบเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสกัดกั้น "เผด็จการรัฐสภา" ปิดทางไม่ให้พรรคหนึ่งพรรคใดครองเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่ง หรือมี ส.ส. มากกว่า 250 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียง จึงกำหนดสูตรคำนวณยอด "ส.ส. ที่พึงมี" ให้แต่ละพรรค

คำบรรยายภาพพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวใน อ.เชียงคาน และพบปะประชาชนใน จ.เลย


เป็นผลให้พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เคยครองเสียงข้างมากในสภา 265 เสียง ต้องเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ "พรรคพี่-พรรคน้อง" เบื้องต้นแกนนำกลุ่มหนึ่งเสนอให้พรรคเพื่อไทยคัด "นักการเมืองที่เป็นหน้า-เป็นตา" ของพรรคมาโกยคะแนน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนพรรคเพื่อธรรม (พธ.) คอยเก็บ-กวาด ส.ส. เขต โดยมีพรรคเพื่อชาติ (พช.) ร่วมด้วยช่วยโกยแต้ม ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เคยเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่าการ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย"

ขณะเดียวกัน บรรดาพรรคขนาดกลางและพรรคเกิดใหม่ได้เดินเกม "ดูด ส.ส." และ "ส.ต." (ผู้สมัครสอบตก) เข้าสังกัดอย่างต่อเนื่อง เช่น นักการเมืองที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มสามมิตร" ระบุว่า มีอดีต ส.ส. ราว 70 ชีวิตเตรียมเปิดตัวลงสนามเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นหัวหน้าพรรค


พลังประชารัฐ: จาก "เพื่อนสมคิด" สู่ "เพื่อประยุทธ์" ?
ประกาศ กกต. ลดยอด ส.ส. 23 จังหวัด


แกนนำพรรคการเมืองเหล่านี้ไม่ได้มุ่งหวังว่าผู้สมัคร ส.ส. เขตของพวกเขาจะได้ผู้แทนฯ แต่ต้องการ "คะแนนของผู้แพ้" ยิบ ๆ ย่อย ๆ ที่เคยตกหล่นในสนามเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ มานับรวมเป็นคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ชี้ว่าเป็นการทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย โดยไม่มี "คะแนนเสียงตกน้ำ"

ภายใต้การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 ส่วน

เดิม การเลือกตั้งปี 2554 มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประชาชนจะแยกการตัดสินใจระหว่างการลงคะแนนเลือก "คนที่รัก" เป็น ส.ส. เขต กับเลือก "พรรคที่ชอบ" เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ทว่าบัตรเลือกตั้งปี 2562 จะหดเหลือใบเดียว จึงยากจะคาดเดาว่าประชาชนตัดสินใจบนพื้นฐานอะไร อยากได้ ส.ส. เขต หรืออยากได้รัฐบาล หรืออยากได้นายกฯ ในบัญชีที่พรรคการเมืองนั้น ๆ ชูขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่

นอกจากนี้ยังมีการปรับสัดส่วน ส.ส. ในทั้ง 2 ระบบใหม่ จากเดิมปี 2554 มี ส.ส. เขต 375 คน และบัญชีรายชื่อ 125 คน แต่ปี 2562 ส.ส. เขตลดลงเหลือ 350 คน และเพิ่มบัญชีรายชื่อเป็น 150 คน

บีบีซีไทยทดลองคำนวนที่นั่งในสภาของแต่ละพรรค โดยนำฐานข้อมูลการเลือกตั้งปี 2554 มาเทียบเคียง แล้วปรับให้สอดคล้องกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มจาก 48 ล้านคน เป็น 50 ล้านคน เพื่อแสดงให้เห็น "คณิตศาสตร์การเมือง" ที่นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การเมืองของทั้งพรรคใหญ่-พรรคใหม่-พรรคเก่าในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งปี 2562



สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. หาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน

นำคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ ส.ส. ทุกพรรคมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมดคือ 500 คน

ในการเลือกตั้งปี 2562 หากมีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 35 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 50 ล้านคน) เมื่อหาร 500 จะได้ผลลัพธ์ 70,000

กลายเป็นสูตร "70,000 คะแนนเสียงประชาชน/1 ส.ส."

2. หาจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี
นำคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เขตทั้งประเทศที่แต่ละพรรคได้รับ ไปหาร 70,000 ซึ่งวิธีคิดแบ่งออกเป็น 2 สูตรย่อย

สูตรแรก คำนวณอย่างง่ายโดยยึดเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยชี้แจงไว้ เช่น ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้คะแนน ส.ส. เขตรวมกัน 12.21 ล้านเสียง (ได้ ส.ส. 204 คน) เมื่อนำไปหาร 70,000 จะได้ผลลัพธ์ 174 คน

สูตรสอง คำนวณแบบอดีต กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ภายใต้สถิติการเลือกตั้งย้อนหลังที่ว่าแต่ละเขตเลือกตั้งมีคะแนนรวมประมาณ 1 แสนคะแนน ซึ่งพรรคอันดับหนึ่งมักได้คะแนนเฉลี่ย 45,000-50,000 คะแนน พรรคอันดับสองได้คะแนน 30,000 คะแนน และพรรคอันดับสามได้ 10,000 คะแนน เช่น การเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. เขต 204 คน เมื่อนำไปคูณ 50,000 ทำให้มีคะแนนเสียงสะสม 10.2 ล้านคะแนน เมื่อนับรวมกับคะแนนผู้สมัครที่แพ้ในเขตอื่น ๆ ของพรรค สมชัยเชื่อว่าน่าจะมีคะแนนรวม 13.5 ล้านเสียง เมื่อนำไปหาร 70,000 จะได้ผลลัพธ์ 192 คน

ตัวเลขนี้คือยอด "ส.ส. ที่พรรคพึงมี" ส่วนจะเป็น 174 หรือ 192 ขึ้นอยู่กับสูตรที่เลือกใช้ ในทีนี้บีบีซีไทยทดลองคำนวณอย่างง่ายจึงเลือกใช้สูตรแรก

เมื่อใช้สูตรเดียวกับคำนวณตัวเลข ส.ส. ที่พรรคประชาธิปัตย์พึงมี พบว่าอยู่ที่ 127 คน ซึ่งลดลงจากเดิม 32 คน ต่างจากพรรคภูมิใจไทยที่มียอด ส.ส. พึงมี 44 คน หรือเพิ่มขึ้น 10 คน ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานที่ว่าทุกพรรคสามารถรักษาเสียงในแต่ละเขตได้ดังเดิม

3. หาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ

นำยอด ส.ส. ที่พึงมี ลบด้วยยอด ส.ส. เขตที่แต่ละพรรคได้รับ เช่น หากพรรคเพื่อไทยหิ้ว ส.ส. เขตเข้าสภาได้ 174 คน ก็จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย อย่างไรก็ตามเมื่อบีบีซีไทยทดลองแปลงสัดส่วน ส.ส. เขต 204 คน ของพรรคเพื่อไทยในปี 2554 ให้สอดคล้องกับตัวเลข ส.ส. เขตที่ลดลง (จากเดิมมีทั้งหมด 375 เขต ลดลงเหลือ 350 เขต) จะพบว่า ในปี 2562 พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ ส.ส. เขต 190 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่ายอด "ส.ส. ที่พึงมี" 174 คน แต่ในกรณีนี้ไม่อาจตัดยอด ส.ส. เขตของพรรคได้ ที่แน่ ๆ ก็คือพรรคหมดสิทธิมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะถือว่าได้ ส.ส. เกินโควต้าที่พึงมีไปแล้ว

บีบีซีไทยยังทดลองนำฐานคะแนนเสียงของ 11 พรรคการเมืองที่เคยมีที่นั่งในสภาเมื่อปี 2554 มาแปลงสัดส่วนให้เข้ากับจำนวนเขตเลือกตั้งที่ลดลง และหักลบกับยอด ส.ส. ที่พึงมีของแต่ละพรรค พบว่า มีที่นั่งอย่างน้อย 96 เสียงที่ยังไม่มีใครครอบครอง พรรคการเมืองใหม่ ๆ จึงมีโอกาสเบียดเข้าสภาได้ในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

ในส่วนของพรรคพลังชล (พช.) ภายใต้การนำของนายสนธยา คุณปลื้ม ที่คำนวณโดยใช้สูตรเดียวกันนี้ พบว่า มีโอกาสยึดเก้าอี้ ส.ส. ได้ 6 คน จากเดิม 7 คนเพราะประสบปัญหาเกินโควต้า "ส.ส. ที่พึงมี" แบบพรรคเพื่อไทย ขณะนี้แน่ชัดแล้วว่าปี 2562 จะ "งดส่งผู้สมัคร" ในนามพรรค หลังคนในตระกูล "คุณปลื้ม" ไปเปิดตัวร่วมงานกับ พปชร. นั่นหมายความว่าฐานเสียงของพรรคพลังชลจะถูกโยกไปเป็นฐานการเมืองให้กับ พปชร. ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นพรรคที่ช่วย "ขยายอำนาจ" ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ต่อไป ในฐานะ "นายกฯ ในบัญชี" ของพรรคนี้

อย่างไรก็ตามบรรดาแกนนำพรรคการเมืองน้องใหม่ได้ออกมาระบุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งตัวเลข ส.ส. ที่พวกเขาคาดหวังเกินกว่ายอด "96 เสียง" ที่มีโอกาสแย่งชิงไปมาก อาทิ

  • พรรครวมพลังประชาชาชาติไทย ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ : ตั้งเป้าได้ 3.5 ล้านเสียง = ส.ส. 50 คน
  • พรรคพลังพลเมืองไทย ของนายสัมพันธ์ เลิศนุวัตร : ตั้งเป้าได้ 1.4 ล้านเสียง = ส.ส. 20 คน
  • พรรคประชาชาติ ของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา : ตั้งเป้าได้ 1 ล้านเสียง = ส.ส. 15 คน
  • พรรคเพื่อคนไทย ของนายวิทยา อินาลา : ตั้งเป้าได้ 4.9 แสนเสียง = ส.ส. 7 คน
  • พรรคพลังท้องถิ่นไท ของ ชัช เตาปูน : ตั้งเป้าได้ 3.5 แสนเสียง = ส.ส. 5 คน

คาดการณ์ที่นั่งในสภา เปรียบเทียบการเลือกตั้งปี 2554-2562





หมายเหตุ : การคำนวณนี้อาจมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า 1. ผู้คำนวณนี้คิดบนพื้นฐานคะแนนรวม ส.ส. เขตทั้งหมดในปี 2554 ไม่ได้คิดบนพื้นฐานคะแนนรวมทั้งหมดของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่เมื่อบัตรเลือกตั้งมีใบเดียวยากจะคาดเดาเหตุผลในการตัดสินใจของประชาชน 2. ขณะนี้มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผู้เล่นหน้าเก่ายังอยู่ระหว่างโยกย้ายพรรค ซึ่งอาจนำฐานเสียงเดิมติดตัวไปไปด้วย เช่นกรณีพรรคพลังชล