สัมภาษณ์ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ – เหลียวหลังแลหน้าประชาธิปไตยไทย ๘๐ ปี
จากบทสัมภาษณ์ ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๓๒๘
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มอาจารย์คณะนิติราษฎร์
วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ : สัมภาษณ์
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ
“เราต้องใช้อำนาจอันชอบธรรมที่เกิดจากเสียงของประชาชน ไปทำลายอำนาจอันไม่ชอบธรรมที่เกิดจากรถถังและปากกระบอกปืน”
เมื่อเวลาย่ำรุ่ง วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
คณะราษฎรอันประกอบด้วยข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ พลเรือน เข้ายึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ภายใต้เจตนารมณ์ที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมาย
การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นนำพาสยามประเทศเข้าสู่ระบอบการเมืองแบบใหม่ เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางสังคมการเมืองและจินตนาการของผู้คนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค จิตใจเป็นเจ้าของชาติ
ในรอบ ๘ ทศวรรษ สังคมการเมืองไทยผ่านเหตุการณ์อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญๆ หลายเหตุการณ์ อันได้แก่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙, พฤษภาคม ๒๕๓๕ จนมาถึงเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓
๘๐ ปีประชาธิปไตยไทย ผ่านการรัฐประหารมาร่วม ๑๐ ครั้ง มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ๑๘ ฉบับ วันนี้เราเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของการเมืองไทยนับแต่หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เราได้เห็นสังคมไทยตกอยู่ในสถานการณ์การใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยว การป้ายสีกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างทางการเมืองด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือ จนเป็นเหตุให้มีผู้ตกเป็น “เหยื่อ” ทางการเมืองมากมาย
ผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้แบ่งแยกสังคมออกเป็นเสี่ยง นำไปสู่การเคลื่อนไหวของพลังมวลชนระดับชาติ และความเคลื่อนไหวทางวิชาการในพื้นที่สาธารณะขนานใหญ่นับแต่ข้อเสนอของ
คณะนิติราษฎร์ (กลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓) ว่าด้วยเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒, การเยียวยาผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกโยนสู่สังคมไทย
นิติราษฎร์ประกาศตัวว่าข้อเสนอเหล่านั้นอิงกับหลักนิติรัฐประชาธิปไตยอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและยึดโยงกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร ไม่มีใครคาดคิดว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะได้รับการตอบรับและส่งผลสะเทือนกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันการโต้กลับวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอนั้นก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับจนถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหนึ่งในคณาจารย์นิติราษฎร์อันเนื่องมาจากไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพวกเขา
ในวาระ ๘๐ ปีการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ สารคดี มีโอกาสสนทนากับนักวิชาการ ๔ คน– รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำนูณ สิทธิสมาน, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ว่าด้วยเรื่องเส้นทางประชาธิปไตยที่เราเดินมา และหนทางข้างหน้าที่เราจะก้าวเดินไป
ด้วยความหวังว่าอรุณรุ่งของประชาธิปไตยในเมืองไทยจะมาถึงในวันหนึ่ง
การอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ ในมุมมองของอาจารย์เป็นอย่างไร อุดมการณ์ของคณะราษฎรได้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยแล้วหรือยัง
นิติราษฎร์ประกาศตัวว่าข้อเสนอเหล่านั้นอิงกับหลักนิติรัฐประชาธิปไตยอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและยึดโยงกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร ไม่มีใครคาดคิดว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะได้รับการตอบรับและส่งผลสะเทือนกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันการโต้กลับวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอนั้นก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับจนถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหนึ่งในคณาจารย์นิติราษฎร์อันเนื่องมาจากไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพวกเขา
ในวาระ ๘๐ ปีการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ สารคดี มีโอกาสสนทนากับนักวิชาการ ๔ คน– รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำนูณ สิทธิสมาน, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ว่าด้วยเรื่องเส้นทางประชาธิปไตยที่เราเดินมา และหนทางข้างหน้าที่เราจะก้าวเดินไป
ด้วยความหวังว่าอรุณรุ่งของประชาธิปไตยในเมืองไทยจะมาถึงในวันหนึ่ง
การอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ ในมุมมองของอาจารย์เป็นอย่างไร อุดมการณ์ของคณะราษฎรได้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยแล้วหรือยัง
การอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ นั้นคือการเปลี่ยนระบอบ จากเดิมที่กษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กลายเป็นระบอบที่เจ้าของอำนาจนั้นคือประชาชน แล้วกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นำมาซึ่งหลักการในเชิงของการปกครองอยู่ ๓ ประการใหญ่ๆ ประการแรกคือยังคงรูปของรัฐไว้เป็นราชอาณาจักร
ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปของรัฐให้กลายเป็นสาธารณรัฐ คือยังคงมีกษัตริย์เป็นประมุข เพียงแต่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ประการที่ ๒ ๒๔๗๕ เป็นการวางหลักนิติรัฐ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร และปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (รัฐ-ธรรมนูญฉบับที่ ๒) “นิติรัฐ” คือการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ โดยกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่ยุติธรรม ประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร ประกันอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ มีการแบ่งแยกอำนาจ ไม่ให้อำนาจนั้นรวมศูนย์อยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
ประการที่ ๓ ๒๔๗๕ ได้วางหลักประชาธิปไตย คือการกำหนดให้เจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นคือราษฎรทั้งหลาย หลายคนมองว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม หลายคนมองว่าเป็นการแย่งชิงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ผมมีความเห็นว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองแต่ดั้งเดิมเป็นของราษฎร ๒๔๗๕ จึงเป็นการทำให้อำนาจนั้นกลับคืนสู่มือของเจ้าของที่แท้จริง แล้วก็ไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม ถ้าย้อนดูบริบทการเมืองในเวลานั้นจะพบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในรัฐไทยอยู่แล้ว ทั้งความเสื่อมโทรมของการบริหารราชการ ความไม่พร้อมต่อการปรับตัวสู่รัฐสมัยใหม่ ซึ่งล้วนเป็นผลที่อย่างไรก็จะต้องนำไปสู่เหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อยู่ดี
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ จบไปแล้วในแง่ของการยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้น (ไม่ใช่รัฐประหารเพียงเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญ) แต่ว่าการปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตย การปลูกฝังนิติรัฐยังไม่จบ และยิ่งไม่จบหนักขึ้นเมื่อเกิดการโต้การอภิวัฒน์
จุดเปลี่ยนสำคัญที่เรียกว่า “การโต้การอภิวัฒน์” นั้นมี ๒ ช่วง คือรัฐประหารปี ๒๔๙๐ นำโดย ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากกรณีสวรรคตวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ มันเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง แล้วถูกทับอีกครั้งในช่วงรัฐประหารปี ๒๕๐๐ นำโดย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความสำเร็จนี้เกิดจากการทำงานหนักของคนหลายคนซึ่งอยู่เบื้องหลัง แน่นอนเบื้องหลังความสำเร็จนี้มีเหตุปัจจัยหนุนช่วยหลายอย่าง บางกลุ่มการเมืองก็ได้ฉวยโอกาสนี้ไปใช้หาอำนาจต่อได้อีก แล้ววิธีคิดทางการเมืองแบบนี้ได้แทรกซึมไปในทุกอณูของสังคมไทย
ถามว่าหลักนิติรัฐปักหลักลงอย่างมั่นคงในสังคมไทยหรือไม่
ประการที่ ๒ ๒๔๗๕ เป็นการวางหลักนิติรัฐ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร และปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (รัฐ-ธรรมนูญฉบับที่ ๒) “นิติรัฐ” คือการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ โดยกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่ยุติธรรม ประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร ประกันอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ มีการแบ่งแยกอำนาจ ไม่ให้อำนาจนั้นรวมศูนย์อยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
ประการที่ ๓ ๒๔๗๕ ได้วางหลักประชาธิปไตย คือการกำหนดให้เจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นคือราษฎรทั้งหลาย หลายคนมองว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม หลายคนมองว่าเป็นการแย่งชิงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ผมมีความเห็นว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองแต่ดั้งเดิมเป็นของราษฎร ๒๔๗๕ จึงเป็นการทำให้อำนาจนั้นกลับคืนสู่มือของเจ้าของที่แท้จริง แล้วก็ไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม ถ้าย้อนดูบริบทการเมืองในเวลานั้นจะพบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในรัฐไทยอยู่แล้ว ทั้งความเสื่อมโทรมของการบริหารราชการ ความไม่พร้อมต่อการปรับตัวสู่รัฐสมัยใหม่ ซึ่งล้วนเป็นผลที่อย่างไรก็จะต้องนำไปสู่เหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อยู่ดี
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ จบไปแล้วในแง่ของการยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้น (ไม่ใช่รัฐประหารเพียงเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญ) แต่ว่าการปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตย การปลูกฝังนิติรัฐยังไม่จบ และยิ่งไม่จบหนักขึ้นเมื่อเกิดการโต้การอภิวัฒน์
จุดเปลี่ยนสำคัญที่เรียกว่า “การโต้การอภิวัฒน์” นั้นมี ๒ ช่วง คือรัฐประหารปี ๒๔๙๐ นำโดย ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากกรณีสวรรคตวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ มันเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง แล้วถูกทับอีกครั้งในช่วงรัฐประหารปี ๒๕๐๐ นำโดย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความสำเร็จนี้เกิดจากการทำงานหนักของคนหลายคนซึ่งอยู่เบื้องหลัง แน่นอนเบื้องหลังความสำเร็จนี้มีเหตุปัจจัยหนุนช่วยหลายอย่าง บางกลุ่มการเมืองก็ได้ฉวยโอกาสนี้ไปใช้หาอำนาจต่อได้อีก แล้ววิธีคิดทางการเมืองแบบนี้ได้แทรกซึมไปในทุกอณูของสังคมไทย
ถามว่าหลักนิติรัฐปักหลักลงอย่างมั่นคงในสังคมไทยหรือไม่
ผมคิดว่ายัง แล้วตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในช่วงหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เราตอบได้อย่างมั่นใจเลยว่าหลักนิติรัฐยังไม่ฝังรากลงลึกในสังคมไทย แล้วยังถูกกระหน่ำด้วยแนวความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิติรัฐ ซึ่งอาจจะทำให้นิติรัฐตายลงอย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้
หลักการอื่น ๆ ที่มาล้มหลักนิติรัฐเป็นเพราะอะไร
ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องวิธีคิด คือไม่เชื่อในวิธีคิดที่ว่าจะสามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครองได้ แล้วยังไม่เข้าใจว่ากฎหมายนั้นไม่ใช่แค่ใครมีอำนาจออกกฎหมายก็เป็นกฎหมาย แต่ต้องเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของความยุติธรรม เช่นกฎหมายนั้นจะไปก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของบุคคลจนกระทบถึงแก่นแห่งสิทธิของเขาไม่ได้ หรือจะตรากฎหมายขึ้นมาใช้บังคับย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้นไม่ได้ หรือกฎหมายที่ตราขึ้นนั้นต้องให้คนที่ตกอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายไว้เนื้อเชื่อใจได้ รวมทั้งกระบวนการในเชิงของการบังคับใช้กฎหมายด้วย ซึ่งจะพบว่าปัจจุบันเรามีปัญหาในทุกระดับของการใช้กฎหมายในสังคมไทย ตั้งแต่ชั้นของการเรียนการสอนกฎหมายเลยด้วยซ้ำ
ผู้ที่ทำลายนิติรัฐมักจะอ้างว่าตนทำตามนิติรัฐ แต่เป็นนิติรัฐแบบไทยๆ พวกนี้รู้ว่าถ้าปฏิบัติไปตามหลักนิติรัฐที่นานาอารยประเทศยึดถือ การบรรลุความต้องการทางการเมือง การขจัดศัตรูหรือปรปักษ์ทางการเมือง หรือปรปักษ์แห่งระบอบที่เขาเหล่านั้นเคารพบูชาอันเป็นระบอบที่เขาได้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ อำนาจ และเกียรติยศ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เขาเหล่านั้นจึงต้องสร้างหลักนิติรัฐแบบไทยๆ ขึ้น ซึ่งเมื่อเอาคำว่า “แบบไทยๆ” ต่อท้ายนิติรัฐแล้ว ความเป็นนิติรัฐก็จบสิ้นลง
อาจารย์เคยพูดไว้ว่ารากของปัญหาคืออุดมการณ์ที่กำกับตัวบทกฎหมายนั้นด้วย หมายความว่าอย่างไร
ตัวบทกฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์เขียนขึ้น เมื่อจะนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงย่อมจะต้องมีการตีความ การตีความกฎหมายที่เป็นตัวหนังสือนั้น ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์การตีความและไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ของระบอบการปกครองที่ตัวบทกฎหมายนั้นๆ สังกัดอยู่ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเล่นแร่แปรธาตุถ้อยคำ หาเหลี่ยมมุมทางภาษาเพื่อรับใช้ “ธง” ที่ผู้ใช้กฎหมายปักเอาไว้ก่อนแล้ว ผมยกตัวอย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ใครที่มองไม่เห็นว่ามาตรานี้มีปัญหาไม่ใช่เพราะมาตรานี้ไม่มีปัญหา แต่มันขึ้นอยู่กับมุมที่เขามองหรือแว่นที่เขาสวม ถ้าเขาสวมแว่นระบอบการปกครองแบบหนึ่ง วิธีคิดแบบหนึ่ง เขาอาจจะไม่เห็นมาตรานี้เป็นปัญหา แต่ถ้าเขาสวมแว่นประชาธิปไตย แว่นนิติรัฐ ซึ่งเราก็ประกาศไว้ว่าเราเป็นรัฐประเภทนี้ เขาจะต้องเห็นว่ามาตรานี้มีปัญหาทันที นอกจากมีปัญหาที่การบังคับใช้หรือที่ตัวบทกฎหมายแล้ว ปัญหาที่ลึกกว่านั้นคือสิ่งซึ่งเป็นอุดมการณ์กำกับตัวบทกฎหมาย วิธีคิด การใช้และการตีความกฎหมาย ซึ่งมันฝังรากลงในจิตใจของบรรดานักกฎหมายจากรุ่นสู่รุ่น การไปเขย่า ขยับ หรือชี้บอกว่ามันเป็นปัญหาตรงชั้นอุดมการณ์ที่กำกับการใช้กฎหมายนั้นเป็นเรื่องยากกว่าการแก้ตัวบทกฎหมายที่เป็นเหมือนร่างกายของกฎหมายด้วยซ้ำ
ถามว่าถ้าไม่มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ในลักษณะที่เป็นอยู่นี้ ถ้าไม่มีอุดมการณ์ที่กำกับการตีความแบบนี้ อากง*จะถูกจำคุกไหม ถ้าโทษไม่เป็นแบบนี้ องกงจะต้องติดคุกโดยไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นของการพิจารณาคดีไหม มีคนบอกว่าการไม่ให้ประกันตัวเป็นเรื่องดุลยพินิจของศาล ไม่เกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้ มันเกี่ยวสิครับ เพราะการที่ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุว่าโทษสูง เกรงจำเลยจะหลบหนี ยังมีเหตุผลว่ามันเป็นกฎหมายในหมวดความมั่นคงและเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ซึ่งสังคมไทยอ่อนไหวมากต่อเรื่องนี้
การที่นิติราษฎร์เสนอแก้ไขกฎหมายมาตรานี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงการเรียกร้องให้แก้ไขตัวบทกฎหมายซึ่งเราเห็นว่าไม่ยุติธรรม ไม่สอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุในการลงโทษเท่านั้น แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อปรับอุดมการณ์ที่กำกับการใช้การตีความกฎหมายมาตรานี้อีกด้วย ว่าขอให้ตีความไปตามอุดมการณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์
ทำไมอุดมการณ์นี้จึงครอบงำนักกฎหมายจนอยู่เหนือหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เราอาจกล่าวได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรที่ไม่อาจปักหมุดความคิดเรื่องนิติรัฐประชาธิปไตยได้จริงๆ ในหมู่นักกฎหมาย ในหมู่ผู้พิพากษาตุลาการ ตลอดจนในหมู่ประชาชน ถึงจุดหนึ่งเกิดการโต้การอภิวัฒน์ แล้วไปพันกับเหตุการณ์หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ต่อเนื่องมาถึงการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรกโดย ผิน ชุณหะวัณ ในปี ๒๔๙๐ ตามมาด้วยการฟื้นอำนาจของฝ่ายเจ้าในรัฐธรรมนูญปี ๒๔๙๒ หลังจากนั้นมาอุดมการณ์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของคณะราษฎรได้เริ่มเลือนไป แล้วถูกอธิบายในความหมายแบบใหม่ ไม่แต่เพียงการอธิบายเท่านั้น ยังมีการพยายามลบความทรงจำของคนในสังคมที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกด้วย ความพยายามลบความทรงจำไม่ใช่เพียงการบอกว่าวันพระราชทานรัฐธรรมนูญคือวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เท่านั้น แต่ยังคือการลบความทรงจำเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ (รัฐธรรมนูญฉบับแรก) แล้วยังหมายถึงการลบในเรื่องอื่นๆ ตามมา รวมถึงการพยายามสร้างอุดมการณ์อื่นขึ้นมาแทนที่อุดมการณ์ที่คณะราษฎรได้พยายามวางรากฐานเอาไว้
สิ่งที่คณะนิติราษฎร์ทำก็คือการกลับไปหาอุดมการณ์คณะราษฎร อะไรบ้างที่นิติราษฎร์สืบสายความคิดมาจากคณะราษฎร
นิติราษฎร์สืบทอดหลักการเบื้องต้น ๓ หลักการด้วยกัน คือ หลักราชอาณาจักร หลักนิติรัฐ และหลักประชาธิปไตย ผมมีความเห็นว่าคณะราษฎรถูกทำให้เป็นผู้ร้ายในระบบการเมืองการปกครองของไทย ดังเราจะเห็นพระราชกระแสของในหลวงรัชกาลที่ ๗ คราวสละราชสมบัติว่า พระองค์ยินดีจะยกอำนาจอันเป็นของพระองค์แต่เดิมให้เป็นของราษฎรทั่วไป แต่ไม่ยินยอมให้กลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใดปกครองโดยสิทธิ์ขาดโดยไม่ฟังเสียงของประชาราษฎร ทั้งที่ความจริงการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญนั้นเกิดก่อนหน้าการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗ เกือบ ๓ ปีด้วยซ้ำ อันที่จริงไม่ได้มีการสละพระราชอำนาจ แต่ว่าพระองค์นั้นถูกบังคับให้ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ให้วิวัฒนาสถาพรต่อไป เพราะสถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือรัฐธรรมนูญหรือสถาบันกษัตริย์ที่ปกครองเองนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการปลาสนาการไปจากโลก สถาบันกษัตริย์ที่อยู่รอดปลอดภัยมาได้คือปรับตัวและกลายเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ อยู่เหนือความรักและความชังในทางการเมืองของบุคคล นี่ต่างหากคือสิ่งซึ่งคณะราษฎรทำ
ในส่วนนี้เราเห็นว่าภารกิจที่คณะราษฎรทำยังไม่ประสบความสำเร็จ คือถูกโต้กลับหลังปี ๒๔๙๐ เราจึงพยายามเผยแพร่แนวความคิดที่ถูกต้อง เช่นการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีหลายคนเอาเรื่องนี้ไปบิดเบือนว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์เปิดโอกาสให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้โดยเสรี เราไม่ได้เสนอแบบนั้นเลยแม้แต่น้อย ในข้อเสนอนี้ยังมีระบบของการคุ้มครองอยู่ แต่ว่าเป็นการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ปัญหาว่าสำหรับบุคคลซึ่งอยู่ในฐานะประมุขของรัฐควรจะได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษกว่าการคุ้มครองคนธรรมดาไหมเป็นประเด็นถกเถียงกัน แต่ที่นิติราษฎร์เสนอคือการคุ้มครองนั้นเป็นไปในแง่ที่ว่าประมุขของรัฐมีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมคนอื่น เพียงแต่เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐก็เสมือนเป็นผู้แทนของรัฐ เป็นสัญลักษณ์ของระบอบการปกครอง การได้รับความคุ้มครองก็โดยเหตุที่อยู่ในตำแหน่งนี้ ไม่ใช่คุ้มครองเพราะความเป็นเจ้า นี่คือสิ่งที่ต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งคุ้มครองเพราะสถานะความเป็นเจ้าและอยู่สูงกว่าคนธรรมดาซึ่งเป็นไพร่ วิธีคิดแบบนี้จะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างกลมกลืนและไม่ขัดแย้งกัน วิธีที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่พ้นไปจากการเมืองคือการไม่อ้างอิงสถาบันกษัตริย์มาสู้กันทางการเมือง
ที่ผ่านมาการเกิดขึ้นของฝ่ายก้าวหน้าอย่างขบวนการประชาธิปไตย ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ก็ไม่ได้แตะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่
ถูกต้อง หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ คนรู้สึกว่าได้ขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร แต่โครงสร้างวิธีคิดของคนซึ่งกุมอำนาจหรือขององค์กรหลักๆ ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เปลี่ยนไปด้วยนี่ครับ แล้วเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ก็ถูกโต้กลับในปี ๒๕๑๙ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ โดยตัวมันเองไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างอย่างที่ควรจะเป็น
แต่ถ้าถามถึงระดับความก้าวหน้าในทางประวัติศาสตร์ ผมคิดว่ายุคปัจจุบันในหมู่คนทั่วไปจำนวนหนึ่งในสังคม นับว่าก้าวหน้าที่สุดแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วง ๒๐ ปีมานี้ การหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองของคนชนบท การติดต่อสื่อสาร เหล่านี้มีผลต่อโลกทัศน์ความรับรู้ของบุคคล แต่โลกทัศน์และความรับรู้นี้จะยังไม่เปลี่ยนอย่างกลับหลังหันหรอกถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่เป็นแรงกระตุ้น สำหรับผมเหตุการณ์สำคัญคือการขอนายกฯ พระราชทาน การชี้ขาดให้การเลือกตั้ง ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นโมฆะ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ และเหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นห่วงโซ่หลายเหตุการณ์ การเกิดขึ้นของแต่ละเหตุการณ์เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ความคิดของบุคคลค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับจนสุดท้ายโลกทัศน์ของบุคคลที่มีต่อระบบการเมืองการปกครองของไทยก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เหมือนกับพ้นจากยุคมืดสู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา
ถามว่าก้าวหน้าอย่างไร ? ผมเคยดูคลิปคุณลุงคนหนึ่งอธิบายแนวความคิดเรื่องลบล้างผลพวงของรัฐประหารที่นิติราษฎร์เสนอ เขาอธิบายประเด็นเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องทั้งที่เขาไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย นี่สะท้อนให้เห็นว่าความคิดของคนได้ไปไกลแล้ว เขารู้แล้วว่าแต่ละเรื่องมีเหตุมีผลอย่างไร แล้วอีกด้านหนึ่งระบอบประชาธิปไตยช่วยเหลือเขาอย่างไร ไม่ว่าใครจะมองว่าเป็นประชานิยมก็ตาม แต่นี่เป็นแก่นของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยอยู่ที่การตอบสนองความต้องการในเชิงการเมือง ความต้องการในเชิงเศรษฐกิจ และการต่อรองกันซึ่งผลประโยชน์ มันไม่ใช่ระบบธรรมะอุดมคติ ล่องลอยมาจากสรวงสวรรค์ เพราะภายใต้ระบบธรรมะอุดมคตินั้นฝังไปด้วยโครงสร้างอันอยุติธรรมที่เอาเปรียบคนหมู่มากอยู่
หลัง ๒๔๗๕ ทำไมอำนาจฝ่ายศาลถึงไม่ถูกพูดถึงมากเท่าไรนัก
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ อำนาจในทางมหาชนของรัฐที่ถูกกระทบมากที่สุดคืออำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร เกิดองค์กรใหม่คือสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎรซึ่งในเวลาต่อมาคือคณะรัฐมนตรี ทั้งสองส่วนนี้เป็นองคาพยพในหน่วยของรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือองค์กรตุลาการหรือศาล หน่วยนี้ไม่ได้เกิดใหม่แต่เป็นหน่วยที่รับเอามาจากระบอบเดิมเข้าสู่ระบอบใหม่ คนก็มาจากระบอบเดิม ถามว่าวิธีคิดแบบประชาธิปไตย วิธีคิดแบบนิติรัฐ ได้ฝังเข้าไปในหมู่คนซึ่งเป็นนักกฎหมายในเวลานั้นมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าไม่มากนัก แต่วิธีคิดแบบเก่าได้ถูกปลูกฝังจากเจเนอเรชันสู่เจเนอเรชันเป็นลำดับ ประกอบกับในช่วงแรกๆ อำนาจของศาลจำกัดอยู่เฉพาะการตัดสินคดีเกี่ยวกับเอกชนและคดีอาญา แนวทางการเรียนการสอนในทางนิติศาสตร์ก็จำกัดอยู่แค่นี้ ลองดูวิชาหนึ่งที่ผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ สอนก่อนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองคือวิชากฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรในเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจ แต่วิชานี้ไม่ถูกพัฒนาสืบต่อเลยนับเป็นเวลาหลายสิบปี ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยเห็นบทบาทของศาล ขณะเดียวกันก็ไม่เคยมีการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยของอำนาจตุลาการ
กระทั่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การเข้ามามีบทบาทอย่างสูงของอำนาจตุลาการนั้นได้เปิดเปลือยให้เห็นถึงความไม่พร้อมหลายประการในการเข้ามาจัดการชี้ขาดปัญหาซึ่งยุ่งยากซับซ้อนกว่าปัญหาที่เป็นเรื่องของกฎหมายเอกชนหรือกฎหมายอาญา พอเข้ามาเกี่ยวพันแบบนี้แล้วประชาชนตั้งคำถามว่าผู้พิพากษาเป็นใครมาจากไหน แล้วเชื่อมโยงกับประชาชนตรงไหน จะตรวจสอบการทำงานของคุณได้อย่างไร คุณตัดสินคดีถูกหรือเปล่า แล้วระบบที่คุมกันอยู่เชื่อถือได้หรือเปล่า ทำไมพวกคุณถึงควบคุมตรวจสอบกันเอง คัดเลือกคนใหม่ๆ เข้าสู่องค์กรของพวกคุณได้เอง คุณเป็นฝักฝ่ายในทางการเมืองหรือไม่ รับใช้แนวคิดทางการเมืองการปกครองแบบใดหรือรับใช้ใคร หลังปี ๒๕๕๐ ปัญหาแบบนี้เห็นชัดเจนขึ้นเมื่อศาลก้าวเข้ามามีบทบาทในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองโดยตรง คำถามข้างหน้าจึงอยู่ตรงที่ว่า เราจะปฏิรูปองค์กรตุลาการอย่างไร เป็นไปไม่ได้แล้วที่องค์กรตุลาการจะดำรงอยู่ในสภาพแบบนี้
กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญข้ามแดนมาใช้อำนาจยับยั้งสภาในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ จะยิ่งสถาปนาอำนาจฝ่ายศาลให้แข็งแกร่งหรือยิ่งบั่นทอนความชอบธรรมของสถาบันนี้ลงในช่วงแรกเราอาจรู้สึกว่าอำนาจของฝ่ายศาลจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำเช่นนี้ได้ทำลายความชอบธรรมขององค์กรตุลาการลง และจะทำให้องค์กรตุลาการโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเข้าปะทะกับอำนาจของประชาชนอย่างแน่นอน ลองคิดดูง่ายๆ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ถือกำเนิดจากรัฐธรรมนูญ แต่กลับมายับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญขององค์กรที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้แก้ไขได้ แล้วกระบวนการแก้ไขที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้น สุดท้ายจะเอาไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติด้วย ทำแบบนี้ก็เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ห้ามได้แม้แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งให้กำเนิดตน กรณีนี้เป็นตัวอย่างดีที่สุดที่เปิดเผยให้เห็นถึงการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยาฯ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรัฐสภาให้หยุดการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนทั้งๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจกระทำได้ ทำให้คนไม่น้อยได้ฉุกคิด ผมเชื่อว่าหลังจากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ปรากฏผลแพ้ชนะ องค์กรตุลาการจะต้องถูกปฏิรูปขนานใหญ่ ในอนาคตอาจจะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญในรูปแบบที่เราเห็นอยู่นี้ก็ได้
อาจารย์มองว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ควรเป็นอย่างไร
ถ้าเราอยากจะพัฒนาหลักประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ เราจะต้องเชื่อมปัจจุบันย้อนกลับไปให้ได้ก่อนที่จะมีการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งคือรัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๙ แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีการทำรัฐประหารในทางกฎหมายโดยการออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภา แล้วพระยาพหลพลพยุหเสนาใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ แต่ว่าครั้งนั้นเป็นรัฐประหารเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้โดยบริบูรณ์ พูดง่ายๆ ว่าเป็นรัฐประหารเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายกติกาพื้นฐานในการปกครองประเทศโดยอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
นิติราษฎร์เสนอให้รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นใหม่ควรย้อนกลับไปเชื่อมกับรัฐธรรมนูญก่อน ๘ พ.ย.๒๔๙๐ หรือเชื่อมกลับไปที่ช่วง ๑๕ ปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑ สถาปนาหลักประชาธิปไตยขึ้นมา มันเดินต่อเนื่องมาในฉบับที่ ๒ ฉบับที่ ๓ การเปลี่ยนอย่างน้อยก็โดยสันติวิธี แน่นอนอาจมีบทบัญญัติจำนวนหนึ่งซึ่งผมไม่เห็นด้วย แต่ยังมีคุณค่าอันหนึ่งคือคุณค่าของการยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ทำต่อรัฐธรรมนูญนั้นทำโดยสันติวิธี
เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์เป็นอย่างไร
ประการแรกคือเรื่องการจัดโครงสร้างสถาบันในทางการเมืองและสถาบันทางรัฐธรรมนูญใหม่ เราเห็นว่าควรต้องมีการปฏิรูป ๕ ส่วน คือ ๑.สถาบันพระมหากษัตริย์ ๒.สถาบันทางการเมือง คือ รัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมืองและนักการเมือง ๓.สถาบันตุลาการหรือองค์กรศาล ๔.กองทัพ และสุดท้ายคือบรรดาองค์กรอิสระ ทั้ง ๕ ส่วนนี้ต้องมีการจัดระบบจัดความสัมพันธ์กันใหม่หมด นิติราษฎร์ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการปฏิรูปการเมืองในแง่การจัดการนักการเมืองอย่างเดียว เพราะเราเห็นว่าการจัดการกับนักการเมืองเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะสถาปนาหลักนิติรัฐประชาธิปไตยให้ตั้งมั่นอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องปฏิรูปบรรดาสถาบันหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีบทบาทในรัฐธรรมนูญทั้งหมด
แน่นอนมีคำถามว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวพันอะไร
คำตอบคือในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง รวมทั้งบทบาทของบุคคลซึ่งใกล้ชิดแวดล้อมกับสถาบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นบทบาทที่เกี่ยวพันสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการเมือง ต้องมาจัดระบบกันว่าบทบาทควรอยู่ตรงไหน ส่วนหนึ่งซึ่งนิติราษฎร์เสนอให้มีและยังไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับไหน คือส่วนที่ว่าด้วยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่หลายประเด็น เช่นการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องปฏิญาณหรือให้สัตยาธิษฐานว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญก่อนขึ้นครองราชย์หรือเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นการประกันความมั่นคงของตัวรัฐธรรมนูญว่าต่อไปจะไม่ถูกฉีกโดยง่าย บรรดาคนที่คิดล้มล้างรัฐธรรมนูญต้องคิดแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้แต่องค์พระประมุขของรัฐก็ได้ให้สัตยาธิษฐานได้ปฏิญาณไว้แล้วว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การทำลายรัฐธรรมนูญนั้นจึงเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้พระมหากษัตริย์ต้องฝ่าฝืนคำปฏิญาณหรือคำสาบานหรือสัตยาธิษฐานของพระองค์ที่ให้ไว้กับรัฐธรรมนูญ เป็นการค้ำจุนความมั่นคงของตัวรัฐธรรมนูญให้สถิตสถาพรไป
ประการที่ ๒ คือการลบล้างผลพวงของการทำรัฐประหาร ซึ่งจะเริ่มต้นจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ก่อน โดยการประกาศในรัฐธรรมนูญให้การนิรโทษกรรมแก่การทำรัฐประหารนั้นเป็นโมฆะ แล้วให้บุคคลซึ่งมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้จะต้องมีการลบล้างคำพิพากษาซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เพราะระบบกฎหมายต้องไม่ยอมรับการพิพากษาคดีซึ่งเชื่อมโยงกับการรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจรัฐโดยมิชอบ การลบล้างคำพิพากษาซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ นี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นการทำให้กระบวนการที่เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหารนั้นสิ้นผลลง
แล้วเริ่มกระบวนพิจารณากันใหม่ภายใต้ระบบที่ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นธรรมหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ส่วนรัฐประหารครั้งอื่นๆ นั้นก็จะถูกเขียนเอาไว้ บางเรื่องโดยสภาพแล้วลบล้างไม่ได้ แต่ว่าผลของรัฐประหารครั้งอื่นๆ ที่กระทบกับบุคคลหรือมีบุคคลได้รับผลร้ายจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ก็จะบัญญัติไว้ว่าจะมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่เขาเหล่านั้นอย่างไรบ้าง
ประการที่ ๓ คือการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้การรัฐประหารนั้นจะไม่อาจเกิดขึ้นได้อีก นั่นคือการเขียนรัฐธรรมนูญว่าในอนาคตถ้ามีการทำรัฐประหารให้ถือว่าการรัฐประหารคือการแย่งชิงอำนาจของรัฐโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม และเป็นความผิด เมื่ออำนาจกลับคืนสู่มือประชาชนแล้วค่อยให้อายุความในการเอาผิดกับคนซึ่งทำรัฐประหารนั้นเริ่มนับ นั่นหมายความว่าในวันข้างหน้าถ้าใครทำรัฐประหารแล้วทำสำเร็จก็ทำไป แต่เมื่ออำนาจอันชอบธรรมกลับคืนสู่มือประชาชน ประชาชนจะดำเนินการกับคนล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้เพื่อขจัดวัฏจักรชั่วร้ายในระบบการเมืองไทยไปให้ได้อย่างสิ้นเชิง เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยบรรลุนิติภาวะในทางระบอบประชาธิปไตย โดยการทำให้ทุกคนทุกฝ่ายไม่ว่าจะขัดแย้งกันอย่างไรก็จะแก้ปัญหาอย่างสันติภายใต้ระบอบที่เป็นคุณค่าพื้นฐานซึ่งทุกคนยอมรับร่วมกัน
ที่ผ่านมานักกฎหมายไทยที่รับใช้การทำรัฐประหาร รับใช้การฉีกรัฐธรรมนูญ เขามีความเชี่ยวชาญและช่ำชองในการเขียนกฎหมายเป็นลำดับ จนกระทั่งล่าสุดความเชี่ยวชาญของเขายกระดับขึ้นสูงสุดคือเขียนนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญเสียเลย เพราะฉะนั้นวิธีการทำลายตรงนี้จึงต้องทำในรัฐธรรมนูญที่จะต้องผ่านการออกเสียงประชามติด้วย เพื่อสถาปนาอำนาจอันสูงสุดเป็นคุณค่าพื้นฐานขึ้นมาใหม่ ถึงจะทำให้การฉีกรัฐธรรมนูญโดยการทำรัฐประหารเป็นโมฆะได้ ข้อเสนอของนิติราษฎร์คือการใช้อำนาจอันชอบธรรมไปทำลายอำนาจอันไม่ชอบธรรม อำนาจอันชอบธรรมคืออำนาจที่เกิดจากเสียงของประชาชน ทำลายอำนาจอันไม่ชอบธรรมนั่นคืออำนาจที่เกิดจากรถถังและปากกระบอกปืนที่ถูกนิรโทษกรรมเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๔๙ เราจะใช้อำนาจของประชาชนไปทำลายอำนาจรัฐประหาร
นิติราษฎร์เสนอให้กลับไปสู่หลักนิติรัฐประชาธิปไตย แต่เพียงแค่โยนข้อเสนอไปในสังคม ทำไมมันจึงกระทบกับความรู้สึกของคนจำนวนมากจนเกิดแรงต้านรุนแรง
สังคมเราเหมือนคนป่วย เรื่องที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำร้ายผมสะท้อนให้เห็นชัดว่าเราตกอยู่ในอาการป่วยมายาวนาน การให้ยากับสังคมที่ป่วยจึงทำให้สังคมที่ป่วยอยู่เกิดปฏิกิริยาต้านต่อยาที่ให้ แต่เรามั่นใจว่าเราบริสุทธิ์เราจึงกล้าที่จะบอกสังคมแบบนี้ และเรายืนอยู่บนพื้นฐานของความหวังดีต่อสังคม แล้วเราก็ไม่ได้ใช้ปืนจี้หัวใครให้ต้องเชื่อตาม ทุกอย่างเป็นข้อเสนอในทางวิชาการ เป็นข้อเสนอเพื่อเปิดให้มีการโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้คนในสังคมได้คิด แน่นอนมีคนที่เสียประโยชน์จากข้อเสนอของเรา แสงแห่งเหตุผลเวลาที่มันฉายไปแล้ว สิ่งซึ่งมันไม่เป็นเหตุเป็นผลมันกลัว เมื่อกลัวก็เกิดปฏิกิริยาโต้กลับแบบที่อาจจะเรียกว่าคลุ้มคลั่งบ้างไร้เหตุผลบ้างเป็นเรื่องปรกติ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมสะท้อนความกลัวของคนซึ่งไม่อยากให้เปลี่ยนทั้งที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว กำปั้นที่พุ่งใส่หน้าผมคือเครื่องสะท้อนของความกลัวการเปลี่ยนแปลง และคิดว่าการทำร้ายผมจะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ มันไม่ได้หรอกครับ ประชาธิปไตยคือการต่อสู้กันในทางความคิด บนพื้นฐานว่าทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ คนที่สู้เพื่อประชาธิปไตยวันนี้ใช่ว่าเขาจะเห็นเหมือนกันทุกเรื่อง แต่เขาสู้เพราะเมื่อได้ประชาธิปไตยแล้วเขาสามารถพูดได้ในทุกๆ เรื่องบนพื้นที่สาธารณะโดยไม่ต้องมีใครกลัว ซึ่งผมคิดว่ามีคนชนชั้นหนึ่งในสังคมไม่ต้องการให้ไปถึงจุดนั้น
การที่ข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นเสมือนการจุดพลุขึ้นมาเพราะข้อเสนอนี้ถูกโจมตีอย่างรุนแรง แล้วยังเป็นประเด็นใหม่ ส่วนหนึ่งมันจี้ไปในใจคนที่ไม่เอารัฐประหาร ว่านี่แหละคือวิธีการจัดการกับการทำรัฐประหารในทางกฎหมายที่ถูกต้องที่สุด การที่นิติราษฎร์ถูกผลักให้ออกมายืนอยู่ข้างหน้าก็ด้วยเหตุที่คนจำนวนมากโหยหาการคิดนอกกรอบที่ถูกยัดเยียดมาตลอดอย่างมีหลักเกณฑ์มีเหตุมีผล มันได้เติมเต็มส่วนที่สังคมขาดหาย เมื่อความคิดพร้อมสังคมจะค่อยๆ เปลี่ยนเอง เพียงแต่ในสถานการณ์ที่การใช้กฎหมายบิดผันไปในหลายเรื่อง เราอาจต้องทำงานหนัก ตรงนี้มันไปปะทะกับกลุ่มที่ต้องการคงสภาพให้มันเป็นอย่างที่เป็นอยู่ (status quo) หลายคนที่ผมเคยนับถือบอกว่าผมให้ยาพิษแก่สังคม นำเสนอความคิดอวิชชา ผมบอกได้เลยว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ เมื่อไรก็ตามที่เมฆหมอกแห่งความมืดมัวผ่านพ้นไปแล้ว ถึงเวลานั้นคุณจะเห็นเองว่าใครจักยืนเด่นเป็นสง่า
เพราะฉะนั้นช่วงนี้คือช่วงของการรอเวลาเปลี่ยน สั่งสมเหตุปัจจัยนำไปสู่การเปลี่ยน ใครเล่าจะคิดว่าสังคมไทยจะมาถึงจุดนี้ อะไรๆ ที่ยังคาดหมายไม่ถึงจะเกิดขึ้นข้างหน้าอีกหลายเรื่อง มันจะเปลี่ยนแบบไหนไม่มีใครรู้ รู้อย่างเดียวว่าถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเราก็สร้างเหตุปัจจัยที่ดีรอเอาไว้เท่านั้นเอง
*อากง หรือนายอำพน ตั้งนพกุล ผู้ตกเป็นจำเลยในคดีส่ง SMS จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ๔ ข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขาฯ ส่วนตัวของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาถูกตัดสินจำคุก ๒๐ ปีโดยที่คดียังไม่ได้รับการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย ไม่ได้รับการประกันตัวแม้ป่วยด้วยโรคร้าย สุดท้ายเขาเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕