วันนี้มีลุ้น ด้วยแรงต้านของ ‘พลเมือง’ ไม่เอา พรบ.คอมพ์ ฉบับซ่อน Single Gateway
ขณะเริ่มเขียน (สิบโมงเช้า ๑๕ ธันวา) บทความนี้ มีคนลงชื่อ “หยุด #พรบ.คอมฯ หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” แล้ว ๓๑๑,๑๕๕ ราย และจำนวนเพิ่มต่อไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ถึงหมุดหมาย ๕ แสนก่อนเช้าวันพรุ่งนี้
ไม่เชื่อไปดูที่นี่ https://www.change.org/หยุด #พรบคอม หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล จะได้ร่วมแรงร่วมใจ แสดงให้ คสช. และลิ่วล้อ เห็นว่าประเทศไตแลนเดียนี้ไม่ได้มีแต่ ‘ไทยเฉย’
ดังที่ █ Ghost Writer █ @RITT41 ทวี้ตไว้ 1 hour ago “ค้านสำเร็จหรือไม่ก็เรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นคือ มีคนที่รู้จักรักษาสิทธิ เสรีภาพ ที่ไม่ยินยอมให้ถูก #พรบคอม ล่วงละเมิด เป็นจำนวนมากในสังคมไทย”
ถึงแม้ สนช. จะเลื่อนวันลงมติผ่านร่าง พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวาระ ๓ ออกไปเป็นพรุ่งนี้ก็ตามที
ทว่าท่าทางพวกลิ่วล้อเหล่านั้นยังคงมุ่งมั่นทำตามคำสั่ง คสช. โดยไม่กระดากเหนียมอาย
“มาถึงชั้นนี้คงชะลอหรือทบทวนอีกไม่ได้” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ.วิสามัญของ สนช. พูดตีกันเอาไว้แล้ว
คนเหล่านั้นไม่สนใจ ทำไม่รู้ไม่ชี้ หรืออย่างดีก็ “ไม่รู้จริงๆ” แม้ไม่ได้เง่า ว่าความเสียหายมันจะเกิดแค่ไหน คิดเพียงว่าได้เอาใจ คสช. ที่ตั้งพวกเขาเข้าไปก็พอ
จะมีสักกี่คนในสภาลากตั้งแห่งนั้นได้อ่านบทวิเคราะห์ที่ ‘Brand Inside’ แหล่งข้อมูลแวดวงธุรกิจไปขูดเอามาจาก ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล “ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพ และวงการธุรกิจ” แห่ง FireOneOne
“มาชี้ให้เห็นจุดบกพร่องที่น่ากังวลใจ และน่าจะชะลอการพิจารณาเพื่อให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้”
(https://brandinside.asia/computer-law-risk-for-business/)
ชาคริตชี้ว่า “กลุ่มธุรกิจแรกที่จะได้รับผลกระทบแน่นอนคือ ผู้ให้บริการ Cloud ได้แก่ ISP (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) และ IDC (ผู้ให้บริการ ดาต้าเซ็นเตอร์)
เพราะกฎหมายนี้ให้อำนาจกับ ‘เจ้าหน้าที่’ อย่างเต็มที่ หากมี ‘ข้อสงสัย’ สามารถเข้าถึงและทำอะไรกับข้อมูลได้โดยทันที ไม่ต้องขอหมายศาล ไม่มีการบันทึก และไม่สามารถขอตรวจสอบย้อนหลังได้...
ดังนั้น ทางออกของบริษัทต่างๆ ที่เก็บข้อมูลไว้กับ ISP หรือ IDC ในไทย ก็คือย้ายไปใช้บริการ IDC ในต่างประเทศ ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล
เท่ากับว่า สนับสนุนบริการในต่างประเทศ ตัดโอกาสบริการในไทย และเป็นกฎหมายที่ขัดกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง”
“อีกธุรกิจหนึ่งที่อยู่ในความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลคือ ธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกกำหนดให้ต้องจัดเก็บข้อมูลเอาไว้เอง ข้อมูลสำคัญไม่สามารถเก็บไว้กับ Cloud...
แปลว่าข้อมูลทางการเงิน การลงทุน ซึ่งปกติเป็นเรื่องส่วนบุคคล จะไม่เป็นความลับอีกต่อไป จะย้ายข้อมูลไปเก็บไว้กับ Cloud ต่างประเทศก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามไว้...
เช่นเดียวกับกรณี Telecom Operator หรือผู้ให้บริการมือถือ ที่มีสถานะเดียวกับผู้ให้บริการ Cloud
ดังนั้นข้อมูลการโทร การแชท การใช้งานมือถือ เหมือนที่เคยเป็นข่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะขอเข้าดูข้อมูลการใช้ของผู้ใช้มือถือ (ซึ่งเดิมเคยปฏิเสธได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ยกเว้นมีหมายศาล) ต่อไปก็สามารถเข้าดูได้ทันที...
ชาคริตบอกว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ ฉบับนี้มีผลโดยตรงกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ต้องการใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศ แต่กลับบีบให้องค์กรธุรกิจต่างๆ โอนถ่าย ‘ข้อมูล’ สำคัญ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ ให้ไหลไปอยู่ต่างประเทศ (ยกเว้นธนาคารที่ทำไม่ได้)”
และประการสำคัญ การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่มากมาย “แม้จะมองในมุมด้านความมั่นคง แต่ต้องคำนึงถึงมุมมองทางเศรษฐกิจด้วย” ถ้าการตรวจสอบทำให้ธุรกิจเสียหายเพราะความเลินเล่อ หรือเพราะเจ้าหน้าที่กร่าง (ซึ่งเป็นไปได้ตามสไตล์ คสช.) ละก็ เท่ากับว่าเอกชนถูกรังแก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น “เจ้าหน้าที่ ๕ คนตามที่กฎหมายกำหนด สามารถไว้วางใจได้แค่ไหน” เพราะถ้าบอกว่าใช้มาตรฐานทหารตั้ง ก็มีแต่คนร้องยี้
ดังนี้ บรรดาพลเมืองที่ไม่อยากโดนล้วงข้อมูลโดยกฎหมายดิจิตอลฉบับใหม่ของ คสช. ก็จักต้อง ‘ต่อต้าน’ Single Gateway กันทุกวิถีทาง
คือนอกจากแห่กันไปลงชื่อคำร้องที่ Change.org (ที่ขณะยังเขียนไม่เสร็จนี่ขึ้นไปเป็น ๓๒๑,๘๖๕ ราย) แล้ว ทางไอลอว์ มีข้อแนะนำให้ทำอีกทางด้วย คือ
“อยากชวนประชาชนทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ มาร่วมกันส่งเสียงค้ดค้านไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ชะลอหรือยับยั้งการพิจารณากฎหมายฉบับนี้” โดยตรง ดังนี้
๑)โพสต์-แชร์ รูปภาพรณรงค์ (อยู่ด้านล่างสุด) ในประเด็นที่เราไม่เห็นด้วยไปยัง เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ ของประธาน รองประธาน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ...
๒)ส่งอีเมลพร้อมรูปภาพรณรงค์ไปยัง ประธาน รองประธาน และสมาชิก สนช. ซึ่งเป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายฉบับนี้”
โดยรายละเอียดรูปภาพ อีเมล และรายชื่อ เขามีอำนวยไว้ให้ถ้วนถี่ ที่ https://ilaw.or.th/node/4364
ก่อนจากกันวันนี้ แวะไปดูที่หน้า ‘Petitioning สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ อีกที อ้าวขึ้นไปเป็น ๓๒๔,๖๘๑ แล้วละ จำนวนเพิ่มเกือบ ๓ พันภายในเวลาไม่กี่นาฑี
อย่างนี้ต้องเข้าไปแข่งกันดันให้ถึง ๕ แสนจนได้ ก่อนรุ่งสางพรุ่งนี้