วันศุกร์, กันยายน 02, 2559

เสียงจากความเงียบ ทำไม? “ธงชัย วินิจจะกูล” ถึงเขียนบทความ “ตามหาลูก”





ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กันยายน 2559
เผยแพร่ วันพฤหัสที่ 1 กันยายน พ.ศ.2559

ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ(3)

คลิกอ่านตอน 1 ตอน2


จินดาพอจะตระหนักแล้วว่า จารุพงษ์คงไม่กลับไปเรียนที่ธรรมศาสตร์อีก ความปรารถนาของพ่อแม่ที่อยากเห็นลูกชายเป็นบัณฑิตสลายไปแล้ว จินดาจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อเก็บข้าวของจารุพงษ์และจ่ายค่าเช่าหอพักที่ค้างอยู่

“เราจัดเก็บทุกสิ่งทุกอย่างของลูก ไม่ได้ทิ้งแม้แต่รองเท้าขาดๆ…เราก็เก็บใส่กล่องให้เรียบร้อย…จนถึงลูกกุญแจที่ใส่ประตูเราก็เก็บไป… ที่เก็บนั้นเพราะต้องการให้สิ่งของของลูกอยู่ครบครัน จะได้ดูต่างหน้าลูก…และยังคิดเลยไปว่าสิ่งของเช่นเสื้อผ้า และของใช้ของลูกนี้จะเก็บไว้จนกว่าพบลูกในวันใดข้างหน้า”

ครั้นเก็บของเสร็จจินดามุ่งตรงกลับบ้านทันที “ทุกสิ่งทุกอย่างที่กรุงเทพฯ นั้นเป็นสิ่งที่สะเทือนใจของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง”

ทันทีที่ถึงบ้าน ลิ้มจัดการซักเสื้อผ้าของลูกชาย พับเก็บอย่างเรียบร้อย ใส่ไว้ในกระเป๋าอย่างเป็นระเบียบ ลิ้มไม่ยอมให้ลูกคนอื่นใช้ข้าวของของจารุพงษ์อีกเลยเพราะเธอเชื่อว่าลูกชายจะกลับมาอย่างแน่นอน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

หลายเดือนต่อมา วันหนึ่งจู่ๆ ก็มีไปรษณีย์ลงทะเบียนจ่าหน้า จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ส่งมาถึงที่บ้านที่สุราษฎร์ธานี ในนั้นเป็นบัตรประชาชนและบัตรนักศึกษาของจารุพงษ์กับบันทึกสั้นๆ ตอนหนึ่งว่า “พร้อมจดหมายนี้ได้ส่งบัตรประจำตัวมาให้”

ภายหลังจากร้องไห้อีกยกใหญ่จินดาก็สังเกตได้ว่ามีที่อยู่ของผู้ส่งอยู่บนซองไปรษณีย์ชิ้นนั้นด้วย

จินดารีบเดินทางไปกรุงเทพฯ อีกครั้งในบ่ายวันเดียวกันเพื่อตามหาคนที่ส่งไปรษณีย์ชิ้นนั้น


เขาแวะหาน้องชาย จากนั้นทั้งสองขับรถไปด้วยกันเพื่อหาที่อยู่ตามไปรษณีย์นั้น

ทั้งสองวนหาอยู่สามชั่วโมง ในที่สุดก็พบบ้านเลขที่ตามนั้น

ทว่า หญิงแม่ลูกอ่อนผู้อาศัยอยู่กลับไม่รู้จักชื่อตามหน้าซองจดหมายนั้นเลย

ครอบครัวของเธอเป็นกรรมกรหาเช้ากินค่ำ ไม่รู้หนังสือ และไม่รู้จักนักศึกษาคนใด

จินดาไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เขานึกได้ว่าไปรษณีย์ลงทะเบียนจะต้องมีบันทึกอยู่ที่ไปรษณีย์ต้นทางว่าผู้ส่งเป็นใคร

เขาจึงตรงไปยังไปรษณีย์บางพลัด โชคดีที่เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ช่วยรื้อค้นต้นขั้วนับสิบๆ เล่มจนพบชื่อที่อยู่ของผู้ที่ส่งไปรษณีย์ชิ้นนั้น คือ นายสำราญ

จินดากับน้องชายเดินทางตามหาจนพบบ้านของสำราญ แม้ว่าเขาจะไม่อยู่และไม่มีโอกาสพบ แต่จินดากลับรับรู้ทั้งจากคุณยายผู้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นและเพื่อนบ้านว่า สำราญอาจจะไม่ใช่คนที่ส่งไปรษณีย์ชิ้นนั้นก็ได้ อาจจะเป็นลูกชายของสำราญที่ชื่อวิโรจน์ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์

จินดาเชื่อว่าวิโรจน์ต้องเป็นคนส่งไปรษณีย์ชิ้นนั้นแน่ๆ แต่วิโรจน์อาศัยอยู่ที่ซอยโชคชัย เขาจึงตรงดิ่งไปซอยโชคชัยเพื่อหาวิโรจน์ทันที

เมื่อถึงบ้านหลังดังกล่าว หญิงเจ้าของบ้านเชิญจินดากับน้องชายเข้าไปในบ้าน วิโรจน์อาศัยอยู่ที่นั่นจริงแต่เขาไปงานแต่งงานของเพื่อนที่ชุมพรในวันนั้น

จินดาอธิบายแก่เธอถึงเหตุผล หญิงคนนั้นตอบทันทีว่า วิโรจน์เป็นคนหนึ่งที่รอดมาจากเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์และต่อมาจึงไปเก็บบัตรประชาชนและบัตรนักศึกษาของเพื่อนๆ หลายคนมาจาก สน.ชนะสงคราม

วิโรจน์จัดการส่งบัตรของเพื่อนสนิทจำนวนหนึ่งไปที่บ้านของพวกเขา แต่ยังมีบัตรเหลืออยู่มากในกล่องที่เธอหยิบออกมาให้จินดาดู

จินดาทราบดังนั้นจึงเดินทางไปที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อให้แน่ใจว่าบัตรของจารุพงษ์มาจากที่นั่นจริงๆ

สารวัตรใหญ่ สน.ชนะสงคราม อธิบายให้ฟังว่า ตำรวจได้เก็บบัตรจำนวนมากมาจากธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้น เพราะนักศึกษาที่พยายามหนีได้ทิ้งบัตรไว้ กล่องบัตรยังตั้งอยู่ที่สถานี บัตรเหลืออยู่เยอะแยะ ใครรู้จักใครก็ไปเก็บเอาได้

วันรุ่งขึ้น จินดาวานน้องชายให้แวะไปหาวิโรจน์อีกครั้งเพื่อถามรายละเอียดเกี่ยวกับจารุพงษ์ ส่วนเขาต้องกลับบ้าน เมื่อถึงบ้าน จินดาเล่าให้ลิ้มและลูกๆ ฟัง

บันทึกหยุดลงเฉยๆ ตรงนี้



บันทึกของจินดายังไม่จบ แต่เขาไม่ได้เขียนต่อ เขาเก็บไว้ในลังซึ่งถูกโยกย้ายหนีน้ำท่วมหลายครั้ง 20 ปีต่อมาคือเมื่อปี 2539 บันทึกนี้จึงถูกนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสืออนุสรณ์ที่เพื่อนๆ จัดพิมพ์ขึ้นให้แก่จารุพงษ์โดยเฉพาะ (2)

จากบทสัมภาษณ์จินดาและลิ้ม เรารู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความพยายามตามหาลูกชายของทั้งสองนับจากเวลาที่จินดาหยุดบันทึกลง

เรารู้ว่าตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤตเมื่อ 6 ตุลา จินดาและลิ้มพอรับรู้ถึงกิจกรรมทางการเมืองที่จารุพงษ์ทำอยู่บ้างแม้จะไม่ชัดเจนก็ตาม สัปดาห์กว่าๆ ก่อนเกิดเหตุการณ์ รูปของจารุพงษ์ถูกตีพิมพ์หราบนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม จินดากับลิ้มเร่งเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทันทีในวันรุ่งขึ้น พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกชายหยุดกิจกรรมเหล่านั้น ถึงขนาดพยายามเอาตัวลูกชายกลับบ้านที่สุราษฎร์ฯ ทันที

จารุพงษ์บอกกับพ่อแม่ว่า เขาจะกลับบ้านในอีกไม่กี่วันเพราะต้องสอบในวันที่ 6 ตุลาเสียก่อน (3) ดังนั้น เมื่อจินดากับลิ้มทราบข่าวเหตุการณ์นองเลือดที่ธรรมศาสตร์ จึงคาดได้ถูกต้องว่าจารุพงษ์ต้องอยู่ในนั้นแน่ๆ

ในช่วง 20 ปีนับจากที่บันทึกของจินดาหยุดลงในปี 2519 จนถึงปี 2539 จินดาและลิ้มได้รับข่าวคราวหลายครั้งจากหลายทางว่าเกิดอะไรขึ้นกับจารุพงษ์และเขาอยู่ไหน

ทุกครั้งที่ได้รับข่าวสารจากแหล่งใดก็ตาม หรือได้ยินว่าใครพบเห็นจารุพงษ์ ทั้งสองจะตามไปที่เหล่านั้นทุกครั้ง

เป็นที่รู้กันดีในขณะนั้นว่าอำเภอพระแสงเป็นเขตที่คอมมิวนิสต์มีอิทธิพลอยู่ ดังนั้น จึงมีข่าวลือว่ามีคนพบเห็นจารุพงษ์เคลื่อนไหวกับกองกำลังของคอมมิวนิสต์ในท้องที่นั้น

คราใดที่มีข่าวดังกล่าว จินดากับลิ้มก็จะไปที่นั่น บอกกับเจ้าหน้าที่ว่าหากพบจารุพงษ์อย่าฆ่าเขา ให้จับเขาและส่งกลับบ้าน (4)

“เราก็นั่งรถมอเตอร์ไซค์กับแม่สองคนไปตาม ไปมา 6 ป่าแล้วก็ไม่เจอ” จินดากล่าว “แม่สับสนมาก” ลิ้มเคยกล่าวไว้

“คนที่อยู่ในเหตุการณ์จะบอกว่าเสียแล้ว แต่ถ้าข่าวจากคนแถวนี้จะบอกว่ายังอยู่ ถ้าไม่เห็นศพก็ยังหวังอยู่” (5)

ราวสิบปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา จินดาเล่าว่าเขาได้รับจดหมายฉบับหนึ่งที่ไม่ลงชื่อผู้ส่ง กล่าวสั้นๆ แต่เพียงว่า “ลูกเป็นเพื่อนจารุพงษ์ ทราบมาว่าคุณพ่อคุณแม่กําลังตามหาจารุพงษ์… พ่อไม่ต้องหา เพราะจารุพงษ์ไม่มีแล้ว” (6)

ต่อมา จินดาและลิ้มยังมีโอกาสได้เห็นภาพนักศึกษาตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีเชือกรอบคอเขา แต่จินดากับลิ้มไม่เชื่อว่านั่นเป็นภาพของจารุพงษ์ “พ่อกับแม่ก็เห็น แต่ไม่ใช่ลูกเกี๊ยะแน่นอน…ถึงเดี๋ยวนี้พ่อก็ไม่ได้ไปแจ้งอำเภอว่าลูกสาบสูญ ในทะเบียนบ้านยังมีชื่อเขาอยู่” (7)

จินดากับลิ้มยังมีความหวังว่าลูกชายยังมีชีวิตอยู่ แม้จะเป็นความหวังอย่างไม่ค่อยมั่นใจนักก็ตาม ตราบเท่าที่ยังไม่มีใครพบร่างของจารุพงษ์

ในระหว่าง 20 ปีนั้น น้องสาวน้องชายของจารุพงษ์ได้รับรู้เรื่องเกี่ยวกับการตายของพี่ชายแล้ว แต่พวกเขาไม่อาจทนบอกพ่อแม่ของตนได้ เพราะรู้ว่าพ่อกับแม่อยู่กับความหวังว่าจารุพงษ์จะกลับมา

พวกเขาเองก็ทนยอมรับไม่ได้เช่นกันว่านักศึกษาที่ถูกผูกคอลากในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ตามภาพคือพี่ชายของเขา

น้องชายคนหนึ่งของจารุพงษ์รู้ว่าพ่อได้เขียนบันทึกไว้ เขารู้มานานก่อนหน้าบันทึกจะได้รับการเผยแพร่เสียอีก

ทว่า เขาไม่เคยอ่านบันทึกจนจบเลย (8)

เชิงอรรถ
(2)หมายถึง กุลวดี และ สุธาชัย 2539. ข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกมาจากหมายเหตุท้าย จินดา 2539, น.72
(3)ยุวดี 2539 : 19
(4)ยุวดี 2539 : 21
(5)วันดี 2539 : 139
(6)ยุวดี 2539 : 21; วันดี 2539 : 139
(7)ยุวดี 2539 : 22; วันดี 2539 : 140
(8)กุลวดี และ สุธาชัย 2539 : 73; วันดี 2539 : 139-140