วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 06, 2558

มองบางระจันผ่านจาก 'ป๊อป คัลเจอร์'




ลลิตา หาญวงษ์ ให้ความเห็นว่า ในประเทศกำลังพัฒนาต้องมีประวัติศาสตร์ที่สร้างตัวตนจากฮีโร่ เช่นเดียวกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในพม่าเองมีวีรบุรุษที่รู้จักดีคือ นายพลอองซาน อีกคนหนึ่งคือ ซายา ซาน ผู้นำกบฏต่อสู้กับอังกฤษยุคอาณานิคม เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณคล้ายบางระจันเรื่องการใช้คาถาอาคม เวียดนามเองก็มีโฮจิมินห์

บางระจันเองต้องมองใน 2 มิติ 1.เรื่องที่ปรากฏในพงศาวดารโดยเฉพาะฉบับราชหัตถเลขา 2.ศึกบางระจันเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ไม้ เมืองเดิม แต่ง นอกจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับบางระจันยังเป็นเรื่องรักใคร่ตามแบบที่ละครไทยพึงมี

"เมื่ออ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาสามารถรับข้อความได้ 3 อย่าง 1.อยุธยาคือผู้ปลดปล่อยชาวบ้านบางระจันจากพม่า 2.ชาวบ้านก็คือชาวบ้านวันยังค่ำ 3.การขาดความสามัคคีนำมาซึ่งหายนะของชาวบ้านบางระจัน ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของคนไทยไม่ได้เกิดจากหนังสือ แต่เกิดจากป๊อปคัลเจอร์ ผ่านหนังและเพลง อย่างเพลงศึกบางระจันของหลวงวิจิตรวาทการ ก็คล้ายจะถอดพระราชพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขามาเพราะมีชื่อคนเช่นเดียวกัน

"บทบาทของหนังบางระจันที่มีต่อป๊อปคัลเจอร์ ภาพยนตร์บางระจันเข้าฉายครั้งแรกปี 2509 และถูกนำมาเล่าใหม่ซ้ำหลายครั้ง ภาพยนตร์ทำเงิน 10 เรื่องของไทย มีเพียงเรื่องเดียวที่ไม่เล่นกับความเป็นไทย หลังวิกฤตเศรษฐกิจ นางนาคเป็นเรื่องแรกที่ทำรายได้ร้อยล้าน เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ทำหนังไทยหยิบเรื่องความเป็นไทยมาเล่น" ลลิตากล่าว

พูดถึงมุมมองของคนไทยในสายตาคนพม่าปัจจุบัน เธอบอกว่าปัจจุบันคนพม่าไม่ได้รู้สึกเป็นศัตรูกับคนไทย มีแต่คนไทยที่มองว่าพม่าเป็นศัตรูตัวฉกาจไม่ว่าจะผ่านมากี่ร้อยปี

"ความทรงจำที่เจ็บปวดรวดร้าวยังคงอยู่ เพราะเรามักพูดให้เด็กฟังตลอดเวลาว่า มีสิ่งหนึ่งที่เราภูมิใจคือเราไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร ทั้งที่เราเคยโดนพม่าตีสองครั้ง บาดแผลนี้ทำลายอีโก้ของคนไทย คนพม่าดูหนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร เรื่องสุริโยทัย คนพม่ามีความสนใจเรื่องคนไทย เพราะมีคนพม่าอยู่ในไทยเป็นล้านคน แม้คนพม่าไม่รักประเทศไทย แต่ไม่ได้รังเกียจหรือคิดว่าเป็นศัตรู"

การกลับมาอีกครั้งของ 'บางระจัน'

"ทำไมบางระจันต้องกลับมาฉายใหม่ช่วงนี้?"

คำถามนี้ได้รับคำชี้แจงจากลลิตาทันทีว่า ยุคนี้เป็นยุคของ คสช. อุดมการณ์รักชาติกระตุ้นเตือนให้คิดถึงค่านิยมต่างๆ มาจากวีรบุรุษเหล่านี้ แน่นอนนี่คือการสนองนโยบายรัฐบาล นำของเก่าที่รู้ว่าขายได้แน่ๆ มาร้อยเรียงต่อกันโดยใช้ดาราชุดใหม่ ท้ายที่สุดบางระจันก็คือละครตบจูบหลังข่าวเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำ เปลี่ยนยุคสมัย เป็นเรื่องรักระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวในค่ายบางระจัน

"ถามว่าสอดรับความเป็นประชาคมอาเซียนของเราไหม...ก็ไม่ คนพม่าดูละครไทย เสพสื่อจากไทยเช่นคนลาว แต่เราไม่รู้จักเขาเลย นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย" ลลิตากล่าว

เรื่องบางระจันยังสามารถพูดถึงความเป็นไปได้ในหลายทิศทาง เมื่อมีการตั้งข้อสันนิษฐานต่างๆ จากหลักฐานที่มีอยู่ จะถกเถียงกันอย่างไรก็ต้องว่าไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ส่วนประเด็นเรื่องกระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นในบรรยากาศการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ก็ขึ้นอยู่กับท่านผู้ชม ดูละครแล้วใช้สติพึงไตร่ตรองด้วยตนเอง

ที่มา ประชาชื่น