สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
ที่มา มติชนออนไลน์
“มติชนออนไลน์” สัมภาษณ์ “สมชาย จิว” ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ถึงประสบการณ์การเข้าสังเกตการณ์และเข้าร่วมชุมนุมของนักศึกษาฮ่องกง ที่เรียกร้องประชาธิปไตย one man one vote พร้อมให้ความเห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างกับการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ ในประเทศไทย
-เหตุผลที่ ไปร่วมชุมนุมกับนักศึกษาฮ่องกง ที่เรียกร้องประชาธิปไตย
ตอนแรกก็ติดตามข่าวโดยเฉพาะจากโซเชียลมีเดียอยู่เมืองไทยทีนี้มันก็มีกระแสการเปรียบเทียบกับการชุมนุมในเมืองไทยเช่นบางคนบอกว่าการชุมนุมที่ฮ่องกงเหมือนการชุมนุมของกปปส. และบอกว่า “ โจชัว หว่อง” นักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง เป็นผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องเหมือน กปปส. แต่เมื่อดูข้อมูลจริง เขาเรียกร้องสิทธิเรียกตั้งทั่วไป “one man one vote” ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ กปปส. จะเห็นได้ว่า กปปส. เรียกร้องการปฏิรูป ไม่ได้เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง กปปส. ต้องการให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เราก็คิดว่า ต้องมีอะไรผิดพลาคลาดเคลื่อนแน่ๆ ก็เลยอยากเห็นด้วยตาตัวเองว่า มันเหมือนจริงๆ หรือ? เพราะลึกๆ แล้วเราคิดว่าไม่น่าจะเหมือนกัน
-ไปถึงฮ่องกงแล้ว พบว่ามีการชุมนุมเหมือนใน กทม. หรือไม่
เฉพาะข้อเรียกร้องเราก็ไม่เหมือนแล้ว เพราะ ในไทยมีฝ่ายที่เรียกร้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและมีการยกระดับข้อเรียกร้องไปเรื่อยๆ แต่ที่ฮ่องกง มี 2 ข้อเรียกร้องหลักๆ คือ 1) เรียกร้องขอสิทธิการเลือกตั้งทั่วไป โดยไม่ต้องมีรัฐบาลปักกิ่ง มากลั่นกรองหรือล็อคสเปคให้
2) เรียกร้องให้ นายเหลียง เจิ้นอิง (Leung Chun-ying) ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ลงจากตำแหน่ง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะความด่างพร้อยจากการใช้แก๊สน้ำตา
แต่ข้อที่เราคิดว่าการชุมนุมในฮ่องกงไม่เหมือนในไทยเลยคือที่ฮ่องกงไม่มีแกนนำส่วนนักศึกษาน่าจะเรียกว่าเป็น“ตัวเด่น”มากกว่าที่จะเรียกว่า"แกนนำ"เขาเป็นปากเป็นเสียงโดยไม่มีนักการเมืองหรือใครมาชิงการนำ
ที่เห็นจริงๆ การชุมนุม 3 จุดที่เขายึด ไม่มีเวที ไม่มีเครื่องเสียงใหญ่โต ไม่มีการแสดงมหรสพ ทุกคนไปนั่งชุมนุมกันจริงๆ ส่วนนักศึกษาและอาจารย์ เขาแค่ตอบคำถามที่สื่อถามมากกว่า แต่เขาไม่มีการขึ้นเวทีปลุกเร้ามวลชน เราจะไม่เห็น โจชัว หว่อง หรือใคร ออกไปเรี่ยไรขอเงินบริจาคเพื่อมาสนับสนุนการชุมนุม
-เป็นไปได้อย่างไรที่การชุมนุมไม่มีการใช้เงิน
นี่ก็เป็นข้อมหัศจรรย์ของเขานะแล้วมันจะทำให้เห็นคำว่าอารยะขัดขืนจริงๆมันต้องเป็นอย่างนี้ แม้ว่าความจริงเขาก็มีค่าใช้จ่ายนะแต่เขาใช้วิธีระดมสิ่งของมากกว่าระดมเงินทั้งเต็นท์ร่มก็ไม่มีจัดตั้งไม่มีสีเหมือนกัน เขาเอามาร่มใครร่มมัน เขาใช้สัญลักษณ์แค่ ริบบิ้นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีแห่งสันติภาพ
ก่อนหน้านี้ก็ใช้สัญลักษณ์นกมาก่อน นกสีเหลือง ตอนที่เป็น Occupy Central with Love and Peace ก็เป็นวงกลมและมีนกสีเหลืองเกาะอยู่ตัวหนึ่ง แล้วก็ทอนมาเป็นริบบิ้นสีเหลือง ซึ่งจริงๆ นกพิราบสีเหลืองก็เป็นสัญลักษณ์สากล
เมื่อก่อนเราก็มีเพลงนกสีเหลือง ในยุคเดือนตุลา
แต่ของใช้กับอาหารน้ำดื่ม เขาแบกมาเองเอามากองกันที่เต็นท์เต็นท์หนึ่ง และในเต็นท์จะติดป้ายว่า ไม่รับเงิน ผมว่าเขาคงคิดเหมือนทั่วๆ ไปว่า อาจจะเสี่ยงถูกกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ได้ ฉะนั้นจึงใช้วิธีนี้ดีกว่า ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากการชุมนุมในประเทศไทย ทั้งข้อเรียกร้องและรูปแบบการชุมนุม
-ที่มองด้วยสายตาแบบนั้น เพราะเป็น “คนเสื้อแดง” หรือเปล่า
เป็นไปได้ แต่ถ้าพูดอย่างเป็นธรรมจริงๆ การชุมนุมในฮ่องกงก็ไม่เหมือนการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เช่นกัน แต่การชุมนุมของ นปช. กับ กปปส. เหมือนกัน คือมีแกนนำและมี hidden agenda มีวาระซ่อนเร้น ถ้าพูดอย่างไม่เกรงใจ คือการชุมนุมทั้ง 2 ฝ่ายของเรามีการระดมมวลชนมา แต่ของเขา เท่าที่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ก็ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและคนชนชั้นกลางที่สนับสนุนประชาธิปไตย
-ฝ่ายประชาชน ที่จะมาชนกับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกจัดตั้งมาหรือเปล่า
กลุ่มต่อต้านฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ที่เห็น มี 3 กลุ่ม คือ 1) พวกที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ พวกนี้จะใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ แต่ก็เกินความรับรู้ของเราว่าเขาถูกจัดตั้งหรือเปล่า แต่กลุ่มการเมืองนี้ก็มีมานาน แล้วส่งคนไปเป็นข้าราชการด้วย 2) พวกริบบี้นสีน้ำเงิน เท่าที่ได้ไปถามชาวฮ่องกง เขาบอกว่าเป็นพวกแก๊งส์เตอร์ ที่ถูกจ้างมา เพิ่งผุดขึ้นมาในวันที่มีการชุมนุมนี่แหละ กลุ่มที่ 3) คือพวกชาวบ้านจริงๆ คนขายของทำมาหากิน ที่เขาเดือดร้อน อย่าลืมว่าเมื่อก่อนฮ่องกงคิดแต่การทำมาค้าขาย ทีนี้ เขาก็บอกว่ากระทบเศรษฐกิจเขา คนเหล่านี้จึงมาไล่นักศึกษาให้กลับบ้าน
-เมื่อไม่มีการจัดตั้งและระดมทุน ทำไมนักศึกษาประชาชนจึงมาเยอะถึงขนาดปิดสถานที่
เรื่องนี้มันยาวเหมือนกันแต่ธรรมชาติของการเดินขบวนของคนฮ่องกงส่วนใหญ่เป็นมาร์ชชิ่งคือเวลามาเรียกร้องอะไรก็มาเดินขบวนแบบไปเช้าเย็นกลับมาแสดงพลังแล้วกลับแต่คราวนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกันยา พอมีข่าวว่าปักกิ่งหรือจีนแผ่นดินใหญ่บิดพริ้ว จากตอนแรกว่าจะให้สิทธิเลือกตั้งทั่วไป แต่มาบิดพริ้วว่าให้เลือกได้แค่ 3 คน ซึ่งมาจากคณะกลั่นกรองของเขา ก็ทำให้คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยฮ่องกงจึงเริ่มรู้สึกว่า อันนี้ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง แต่เป็นการบิดพริ้ว
จึงมีความคิดจะไป Occupy Central แล้วกลุ่มสมาพันธ์นักศึกษาก็ไปเข้าร่วมด้วย ก็เห็นว่ามาเดินขบวนอย่างเดียวไม่พอ ต้องค้างคืน ต้องอารยะขัดขืน ก็ไปนั่งชุมนุมอย่างสงบหน้าที่ว่าการของเกาะ ย่านแอดมิรัลตี้ แล้ว ตำรวจใช้สเปรย์พริกไทย ใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งเราคิดว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนเลย เพราะหลังจากนั้นมีความโกรธแค้นทำให้นักศึกษาและชาวบ้าน เข้ามาร่วมเยอะขึ้น
ส่วนอัมเบรลล่า เรฟโวลูชั่น (Umbrella Revolution) อัมเบร่าเรฟโวลูชั่น ก็มาจากคืนนั้น ผู้ชุมนุมใช้ร่มป้องกันแก๊สน้ำตาและมีภาพชายคนหนึ่งถือร่ม 2 มือ จึงเป็นภาพสัญลักษณ์ เขาเรียกอัมเบรลล่าแมน เพื่อเปรียบเทียบกับแทงก์แมน (tank man) ตอนการชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมิน มีคนยืนขวางรถถัง
-การชุมนุมยึด 3 จุดคิดว่าถ้าเทียบกับ กทม. น่าจะเป็นที่ไหน
ย่านแอดมิรัลตี้ ก็ไม่ใช่ย่านชอปปิ้ง แต่มีออฟฟิศของข้าราชการ ก็อาจจะเปรียบเทียบได้กับศูนย์ราชการ เพียงแต่ไม่มีพระเป็นแกนนำ แล้วออฟฟิศของนายเหลียง เจิ้นอิง ผู้ว่าการเกาะ ก็อยู่ตรงนั้น ที่มีรูปถ่ายประตูเหล็กเป็นซี่และมีริบบิ้นผูก
อีกจุดก็คอสเวย์ เบย์ ก็ใกล้ๆ กัน อาจจะเทียบได้กับ “สยาม” คนชุมนุมจะน้อยกว่าหน่อย ปกติจะมีรถราสัญจร มีรถเมล์สองชั้น ตรงนั้นจะคล้ายๆ ชิบูย่าของญี่ปุ่น พอไฟเขียวให้เดินคนก็เดินกรูตัดกันไปมา แต่ก็แปลกที่แหล่งชอปปิ้งยังเปิดเหมือนเดิม คนยังเข้าได้ คือความจริงไม่ได้น่ากลัว
อีกจุด คือข้ามไปฝั่งเกาลูน ก็คือย่านมงก๊ง ที่คนไทยชอบเดินชอปปิ้ง มีสินค้าราคาถูก ซึ่งแถวนั้นคนจะมีความรุนแรงกว่า ฝั่งฮ่องกง เวลามีหนังแก๊งค์สเตอร์ตีกันก็คือย่านนั้น มงก๊ก จิมซาจุ่ย ตอนที่เราถ่ายรูปมามีพวกริบบิ้นน้ำเงินก็จะอยู่ตรงนี้ พอถามคนฮ่องกง ว่าพวกนี้เป็นใคร เขาบอกว่าเป็นแก๊งส์เตอร์ ที่มีการจ้างมาจากอีกย่านหนึ่ง
ถ้าเทียบทางภูมิศาสตร์ กับนิวยอร์ค คือฝั่งฮ่องกงคือบรู๊คลิน (Brooklyn) ฝั่งเกาลูน คือบรองซ์ (Bronx) ย่านบรองซ์ก็มีคนผิวสีและคนยากจน
-ส่วนตัวมีความผูกพันกับฮ่องกงอย่างไร เป็นคนไทยเชื้อสายจีนใช่หรือไม่
เรามีความเป็นจีนมากกว่าไทย เพราะทั้งพ่อทั้งแม่ คือมาจากเมืองจีนเลย ฉะนั้น เราเป็นรุ่น 2 พ่อแม่มาจากจีน สื่อสารด้วยภาษาจีนเราเรียนหนังสือตอนเด็กก็เรียนโรงเรียนจีน เราเป็นแต้จิ๋ว แต่เราก็ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยนะ
ชื่อ “จิว” คือแซ่จิว เราเป็นคนชอบเรื่องจีนศึกษา เรื่องประวัติศาสตร์ก็จะชอบเรื่องจีนรวมถึงปักกิ่งเราก็ปลื้ม ไปทุกปี แต่ฮ่องกงก็ผูกพันไปปีละหลายๆ ครั้ง ชอบไปเดินย้อนรอย เช่น “ซุน ยัตเซน” เคยอยู่ตรงนี้ ตรงนี้เป็นที่ของใคร พวกเจ้าพ่อ ดังนั้นก็จะชอบฮ่องกง ก็เป็นแรงบันดาลใจ เราไม่อยากให้ฮ่องกงเป็นภาพอื่นที่เราไม่คุ้น ซึ่งความคิดแบบนี้ เราว่านักศึกษาก็เป็นเหมือนกัน คือไม่อยากให้ภาพฮ่องกงกลายไป
นักศึกษาจะบอกว่า I don’t want to be next China คือคนฮ่องกง เขาไม่ค่อยรู้สึกว่าเขาเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะเขาอยู่กับอังกฤษมา ชีวิตก็ดี แล้วพอจีนเข้ามา มันคือความไม่แน่นอน คำถามคือเขาไม่อยากเป็นจีนแผ่นดินใหญ่แบบไหนเราต้องทำความเข้าใจตรงนี้ ก็คือ เขาไม่อยากเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่อยากเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ที่คุกคามสิทธิมนุษยชน ไม่อยากเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีปัญหาคอรัปชั่นกันเยอะ สิ่งเหล่านี้ที่เขาไม่อยากเป็น
-ในสมัยฮ่องกงอยู่กับอังกฤษ ก็ไม่มีการเลือกตั้งเหมือนกัน
ใช่ ไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งจีนก็อ้างเรื่องนี้เหมือนกัน ก็มีคนพูดว่าจะมาเรียกร้องประชาธิปไตยทำไม สมัยอยู่กับอังกฤษก็ไม่มีการเลือกตั้ง ฉะนั้น เอาเข้าจริงๆ นักศึกษาก็ตอบอะไรไม่ได้มากไปกว่าเขาต้องการประชาธิปไตย และพอจีนจะเข้ามาเขาก็ไม่ไว้ใจ รวมถึงชาวฮ่องกงมองจีนด้วยภาพประวัติศาสตร์เหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งที่ที่วิคตอเรียพาร์ค ฮ่องกง มีการรำลึกเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาที่เทียนอันเหมินทุกปี ฉะนั้น ภาพเทียนอันเหมือนก็เป็นภาพหนึ่งของจีน
ความจริงนักศึกษาพวกนี้ เกิดไม่ทันสมัยอังกฤษคืนเกาะฮ่องกงด้วยซ้ำไป ตอนนั้น โจชัว หว่อง เพิ่งมีอายุได้ขวบเดียวเอง แต่มีการบอกเล่ากัน ขณะที่วัยรุ่นในจีนแผ่นดินใหญ่ ถ้าไปถามเรื่องเทียนอันเหมิน เขาจะไม่รู้จัก มีความรับรู้น้อยมาก เขาถูกปิดกั้นหมด รวมถึงในโลกออนไลน์ แต่ที่ฮ่องกง เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ซึ่งนี่เป็นความกระอักกระอ่วน ของจีนแผ่นดินใหญ่เหมือนกันว่า ถ้าปล่อยเสรีภาพไปมากๆ แล้วจะดึงกลับมาอย่างไร
-คิดว่าในฮ่องกงมีสำนึกความเป็นชาติแบบจีนหรือไม่
เขาไม่มีสำนึกความเป็นชาติแบบจีนเพราะเขาคิดว่าเขาเป็นคนฮ่องกงซึ่งอันนี้ก็ยากเพราะคนฮ่องกงส่วนใหญ่ต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่ได้คิดว่าจะต้องรักชาติอย่างโจชัวหว่องปีนี้อายุ18 ปี แต่ตอนเขาอายุ 15 เขาก็เรียกร้องคัดค้านการที่ปักกิ่งเปลี่ยนหลักสูตรการเรียน พยายามจะให้สอนเรื่องความดีงาม ของสำนึกเรื่องความรักชาติ ทำให้ โจชัว หว่องกับเพื่อน ก่อตั้งกลุ่ม Scholarism ขึ้นมา
แล้วพอดีเราเจอ “เจสัน” (Jason Y. Ng) ซึ่งเขาเป็นบล็อคเกอร์ ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องคนฮ่องกงเยอะมาก ในหนังสือเขาเขียนว่าคนฮ่องกงเป็นมนุษย์เศรษฐกิจ คิดแต่เรื่องหาเงิน เรียนเพื่อจะเข้าสถาบันดีๆ ได้งานดีๆ มีการแข่งขันกันสูง เราก็ถาม “เจสัน” ว่าจำได้เขาเขียนแบบนี้ แต่วันนี้ ที่เห็นนักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เขารู้สึกอย่างไร เขาก็บอกว่าเขาเซอร์ไพรส์เหมือนกัน ก็ถามเขาว่าเขาเปลี่ยนใจแล้วใช่ไหม เขาก็บอกว่าใช่ เขาไม่คิดว่าจะมีคนฮ่องกงที่แป็นแบบนี้ คือมาเรียกร้องทางการเมือง
-ทำไม “เจสัน” นั่งเขียนป้าย free homework ในที่ชุมนุมช่วยเล่าบรรยากาศหน่อย
เพราะนักศึกษาเรียนหนัก แล้วมีการปิดคลาส แต่ช่วงนี้ก็ใกล้สอบ เจสันเป็นนักกฎหมาย เป็นติวเตอร์ สอน พวกวรรณคดี เขาก็เลยมานั่งรับสอนการบ้านเด็ก เพราะเด็กที่ไปนั่งก็ไม่ได้นั่งเฉยๆ บางคนเอาหนังสือมาอ่าน มาทบทวนทำการบ้าน เด็กบางคนชุมนุมอยู่ 3-4 วันก็ไปเข้าคลาส เขาไม่ทิ้งการเรียน
นอกจากนั้นที่ชุมนุมมีที่ชาร์จโทรศัพท์ มีห้องน้ำ ซึ่งห้องน้ำสาธารณะก็มีอยู่แล้ว ส่วนห้องน้ำที่ใกล้ที่ชุมนุมจะมีอาสาสมัครทำความสะอาด และมีโคโลญจน์ให้ บางคนเป็นพยาบาลก็มาช่วยทำความสะอาด เป็นขบวนการอารยะขัดขืนที่สวยงาม เชื่อว่าจะฝังในหัวจิตหัวใจของเด็ก และจะโตขึ้นไปอีกแบบหนึ่ง เด็กๆ มีการบริหารจัดการการชุมนุมได้อย่างน่าทึ่ง มีเด็กที่มาตั้งมุมให้ชาร์จแบตมือถือฟรี มีการทำความสะอาดห้องน้ำแบบสะอาดเอี่ยม มีการจัดเก็บและแบ่งแยกขยะ
-ตอนนี้ “พี่จิว” ทำงานอะไร
เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ หรือ Creative Director เกี่ยวกับโฆษณา
-มองสื่อโฆษณาในสังคมไทยอย่างไร
จริงๆวงการโฆษณาไทยถ้าเทียบในระดับภูมิภาคเราค่อนข้างอยู่ในลำดับต้นๆแล้วไปคว้ารางวัลระดับโลกมาเยอะดังนั้นด้วยมาตรฐานเรื่องการโฆษณาแล้ว“คนโฆษณา”มีคุณภาพมากในเรื่องวิชาชีพแต่โฆษณาไทยไม่ค่อยเกี่ยวโยงกับสังคมการเมืองจะไปเน้นการตลาดขายสินค้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น โฆษณาบางชิ้นที่มาพูดเรื่องการเมือง ก็กลับกลายเป็นเลือกข้างโดยไม่รู้ตัว เพราะเขาดูถูกการเมืองว่าเป็นเรื่องสกปรกและคิดว่าตัวเองกำลังลอยลงมาช่วยโลก เขาไม่คิดว่าสิ่งที่เขาทำคือเรื่องการเมือง และโฆษณาบางชิ้นก็ใช้เงิน สสส. ดังนั้น ก็ควรถูกตั้งคำถามจากสังคม ไม่ใช่ว่านำเงินมาจากการลงขันทำกันเอง
-มีความสนใจทางการเมืองมานานแค่ไหน
ตอนเรียนชอบอ่านหนังสือทำให้เราเปิดโลกมากขึ้นรู้เรื่องประวัติศาสตร์และเคยทำละครเวทีแต่ตอนเข้าไปร่วมจริงๆคือตอนพฤษภาทมิฬ(ปี2535)ตอนนั้นก็ทำงานแล้วไปร่วมชุมนุมแล้วก็ขับไล่ผู้มีอำนาจพอถึงจุดหนึ่งก็ขับไล่ผู้มีอำนาจคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เราก็กลายเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นมวลชนไปร่วมชุมนุม หลังๆ ก็เห็นไม่ตรงกับแกนนำพันธมิตรฯ ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 49 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยกับฝ่ายที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ
กระทั่งปี 2553 ตอนแรกก็ยังไม่ชอบคนเสื้อแดง และเคยชูป้ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ตอนคนเสื้อแดงเดินขบวนผ่านออฟฟิศ รวมถึงตอนรัฐบาลขณะนั้นเริ่มใช้อาวุธล้อมปราบแล้วยิงกันตรงซอยรางน้ำ ก็ยังดีใจอยู่เลยนะ ตอนนั้นอยู่ญี่ปุ่น รู้ข่าวแล้วก็ยังคิดว่าดีแล้ว
จนกระทั่งกลับไทยเจอการรณรงค์บิ๊กคลีนนิ่งเดย์เจอวาทกรรมสงสารโรงหนังสยามสงสารห้างตอนนั้นก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าตกลงฉันยังเป็นมนุษย์อยู่หรือเปล่า ฉันยังดีใจกับเขาได้อีกหรือ ทำให้ตั้งคำถามถึงคนที่ตาย อย่าง น้องเกดพยาบาลอาสา ก็ไม่ใช่คนเสื้อแดง หรือแม้แต่คนเสื้อแดงเอง เราก็มองว่าเขาเป็นคนนะ แค่คิดต่างทางการเมือง ถึงแม้จะมีบางคนไม่มองพวกเขาเป็นคน สุดท้ายเราก็สะเทือนใจ ก็เป็นจุดเปลี่ยนให้ไปค้นหาว่าฝ่ายคนเสื้อแดงเขาคิดกันอย่างไร ตอนนั้นก็มีเฟซบุค เราก็ไปดูข้อมูล “พ่อน้องเฌอ” “แม่น้องเกด” จนกระทั่งมาเข้าใจเขา แต่เราก็ไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็น “นปช.” เพราะไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการของ นปช. ไปทั้งหมด อย่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เราก็โกรธ เราไม่เอาด้วย
แต่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าเทียบกับฮ่องกง เพราะ ฝ่ายที่ต่อต้าน พ.ร.บ.เหมาเข่ง ก็มีเจตนารมย์ที่ดี แต่หลังๆ ก็มีการเปลี่ยนเจตนารมย์เดิมจากต้านเหมาเข่งไปต้านรัฐบาล ขณะที่ฮ่องกง จะมีป้ายภาษาจีนว่า "อย่าลืมเจตนารมณ์เดิม" นี่ขนาดเขาเป็นเด็กนะ
-ทำไมต้องอย่าลืมเจตนารมณ์เดิม
ก็คือพยายามจะบอกว่าอย่าเรียกร้องเกินกว่านี้เพราะเขาเรียกร้องประชาธิปไตยเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งอย่างทั่วถึงฉะนั้นเพื่อไม่ให้คนเรียกร้องเพิ่มขึ้นยกระดับไปเป็นอย่างอื่นจึงต้องย้ำเตือนแบนั้น ซึ่งมันก็มีข้อด้อยเพราะทำให้การเรียกร้องของนักศึกษาไปไม่ถึงไหนเพราะไม่มีความเคลื่อนไหว พอเรียกร้องแล้วไม่ได้รับการตอบสนอง ฝั่งจีนก็สบาย รอม็อบอ่อนกำลังเอง
-ถือว่าแพ้ไหม
มีคนถาม“เจสัน”เหมือนกันว่าจะแพ้หรือชนะ เจสันบอกว่ามีเพื่อนถามเยอะ เขาตอบว่าไม่รู้คำตอบ รู้แต่ว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง
เราว่านักศึกษาเหล่านี้ ต่อให้แพ้ หรือ ชนะก็แล้วแต่ ชีวิตพวกเขาก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว เขาจะโตขึ้นเป็นคนอีกแบบ คืออย่างน้อยจะกลับไปทำมาหากินเป็นมนุษย์เศรษฐกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาต้องจำได้ว่าเคยมานั่งแบบนี้ แล้วมันเปลี่ยนแปลงได้ประมาณหนึ่ง เปลี่ยนภาพฮ่องกงที่คนมองว่าเป็นเมืองท่าที่ต้องมาเพื่อชอปปิ้ง เป็นภาพคนฮ่องกงที่มีเลือดเนื้อมีอุดมการณ์ มีการชุมนุมที่สวยงามมากๆ นั่งชุมนุมอย่างสงบ
ร่มน้อยนิด
หวังจะต้านพญามังกร
ภาพจาก
Leung Kwok Hung ใน FB Somchai Jiu
ooo
พวกเขาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงเหมือนคนไทย - เสียงจากคนไทยที่ร่วมประท้วงในฮ่องกงกับกลุ่ม #OccupyCentral
วิรุฬ หว่อง เป็นลูกครึ่งไทย-ฮ่องกงอายุ 35 ปี เขาโตที่ฮ่องกง พูดได้ทั้งภาษากวางตุ้ง อังกฤษและพูดไทยได้นิดหน่อย เขาเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่าได้ไปเข้าร่วมกับกลุ่ม Occupy Central ในฮ่องกงกับเพื่อนคนอื่น ๆ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ในตอนแรกเขาไม่ได้คิดว่าการไปร่วมเข้ากลุ่มหนนี้จะใช้เวลานานเพราะปกติการประท้วงทางการเมืองในฮ่องกงไม่เคยยืดยาว แต่เขาเปลี่ยนใจและยึดมั่นว่าจะต้องเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับฮ่องกงให้ได้เมื่อตำรวจตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ประท้วงในวันต่อมา เขาเริ่มหาพื้นที่ในย่าน Admiralty ฝั่งฮ่องกงเพื่อร่วมอารยะขัดขืนในคืนนั้นและอยู่เลยมาถึงเช้าวันต่อมา เขาเดินทางมาไทยในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่จะเดินทางกลับไปฮ่องกงเพื่อร่วมขบวนการต่อไป
วิรุฬบอกบีบีซีไทยว่า เขาไม่ใช่คนไทยเพียงคนเดียวที่ร่วมกับกลุ่ม Occupy Central หนนี้ เขาถ่ายรูปอักษรไทยที่ติดอยู่ตามถนนให้เราดูว่ามีคนไทยคนอื่นที่ร่วมขบวนการด้วย
วิรุฬเปรียบเทียบ Occupy Central ในฮ่องกง และ Occupy Bangkok ให้เราฟังด้วยว่า เขาสนับสนุนทั้งสองขบวนการ ถึงแม้ว่าสื่อบางรายจะบอกว่าการปิดถนนกรุงเทพฯในขณะนั้นเป็นการขัดขวางประชาธิปไตยก็ตาม สำหรับเขาแล้วรัฐบาลไทยในขณะนั้นซึ่งนำโดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ชอบธรรม เขาเชื่อว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับเลือกมาตามหลักของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และคนจำนวนมากก็เชื่อว่าเธอพัวพันกับการคอรัปชั่น วิรุฬจึงสรุปว่า Occupy ทั้งสองแห่ง เกิดขึ้นเพราะคนต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริงนั่นเอง
สำหรับวิรุฬแล้ว เขาคิดว่าการออกมาร่วมขบวนการครั้งนี้ร่วมกับคนฮ่องกงก็เพื่อต้องการให้รัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่งรู้ว่า ฮ่องกงจะไม่กลายเป็นอีกหนึ่งจังหวัดของประเทศจีน ฮ่องกงเป็นมากกว่านั้น สามารถปกครองตนเองได้และสามารถเลือกที่จะกำหนดอนาคตของตนเองได้ วิรุฬสรุปให้เราฟังว่าคนรุ่นใหม่ที่นั่นคิดได้เองแม้ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการจะไม่เกิดผลในเร็ววันนี้แต่อย่างน้อยเสียงของพวกเขาก็น่าจะดังพอที่รัฐบาลจีนจะได้ยินบ้าง
#UmbrellaRevolution #ThaiHaveYourSay