วันศุกร์, มิถุนายน 21, 2567

ชีวิตผกผันของเจ้านายผู้เป็น “กระดูกสันหลัง” ของ ร.๕” คนหนุ่มที่รุ่งโรจน์ที่สุดในสยาม ทำคุณประโยชน์ให้ชาติไว้มาก แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ แม้แต่วังที่จะตั้งโกศให้สมพระเกียรติที่พอเหลืออยู่ ก็ยังไม่มี


เจาะเวลาหาอดีต
21 hours ago ·

ชีวิตผกผันของเจ้านายผู้เป็น “กระดูกสันหลัง” ของ ร.๕”
โดย: โรม บุนนาค

วิถึชีวิตของเจ้านายพระองค์หนึ่ง รุ่งโรจน์ยิ่งกว่าคนหนุ่มทุกคนในกรุงสยาม เป็นคนไทยคนแรกที่เข้ามหาวิทยาลัยของอังกฤษได้ และจบการศึกษาด้วยการกวาดรางวัลพิเศษมาหลายรางวัล จนนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้มาแจกถึงกับเอ่ยว่าแจกคนเดียวเสียเมื่อยมือ ได้รับโปรดเกล้าฯจาก ร.๕ ให้เป็นทูตไทยประจำยุโรปคนแรก และเป็นทูตคุม ๑๒ ประเทศถึงอเมริกา สร้างคุณงามความดีจนสมเด็จพระปิยมหาราชสถาปนาบรรดาศักดิ์จากหม่อมเจ้าขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และทรงล้อว่าเป็น “กระดูกสันหลัง” ของพระองค์ แต่แล้วชีวิตกลับผกผันอย่างไม่มีใครคาดคิด ต้องลี้ภัยไปบวชที่ลังกา แม้จะได้รับความศรัทธาจากผู้คนที่นั่นอย่างสูง ได้ขึ้นเป็นสังฆนายกนครโคลัมโบ และเป็นผู้ขอให้รัฐบาลอังกฤษนำพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่ขุดได้ที่อินเดียถวายให้ ร.๕ ซึ่งส่วน ๑ ในจำนวนนี้บรรจุอยู่ที่ภูเขาทองในปัจจุบัน แต่ก็ถูกห้ามเข้ามาเหยียบแผ่นดินไทย เมื่อเข้ามาได้ในสมัย ร.๖ ก็ถูกบังคับให้สึก ชีวิตฆราวาสที่เหลือแต่เพียงตัวเปล่าต้องร่อนเร่พเนจรจนทรงนิพนธ์ในชีวประวัติของพระองค์เองไว้ว่า “เที่ยวขอทานญาติมิตรจนเขาเบื่อระอา”

เจ้าของชีวิตที่เหมือนนิยายของเจ้านายพระองค์นี้ก็คือ นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม อธิบดีกรมช่างศิลป์ เมื่อประสูติมีบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า ขณะพระชนม์ ๑๗ ชันษาได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไปทอดพระเนตรสุริยปราคาที่หว้ากอกับพระบิดาด้วย กรมขุนราชสีหวิกรมประชวรสิ้นพระชนม์ด้วยพิษไข้ป่าเช่นเดียวกับพระจอมเกล้าฯ ส่วนหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ก็ประชวรด้วยไข้ป่าเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แต่ด้วยความเป็นคนหนุ่มแข็งแรงจึงทรงรอดชีวิตทั้งสองพระองค์

ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน เล่าไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระบิดานำตัวหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ไปถวายตัวกับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระองค์ทรงขันชื่อปฤษฎางค์ ที่แปลว่าหลัง จึงโปรดล้อว่า กระดูกสันหลัง พระองค์ปฤษฎางค์ทรงถือว่าเป็นมงคลที่ทรงล้อ และต่อมาก็ถือว่าท่านเป็นกระดูกสันหลังของพระเจ้าอยู่หัว และมักนำคำนี้ไปใช้เป็นนามปากกา

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงได้รับเลือกเป็นนักเรียนหลวงไปเรียนที่โรงเรียนราฟเฟิลล์ สิงคโปร์ พร้อมกับพระอนุชาในรัชกาลที่ ๕ อีกหลายองค์ จากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และสอบเข้าคิงส์คอลเลจของกรุงลอนดอนได้ แม้จะทรงเข้าเรียนหลังเพื่อนร่วมรุ่นไป ๑ เทอม แต่เมื่อจบการศึกษาในหลักสูตร ๓ ปี ได้รับประกาศนียบัตรวิศวกรรมโยธา พร้อมกับได้รับรางวัลพิเศษแบบกวาดเรียบคนเดียวมาอีกหลายรางวัล จนหนังสือพิมพ์ The Time นำไปลงข่าว และนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้มอบรางวัลถึงกับกล่าวสุนทรพจน์ในการมอบรางวัลว่า

“ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นการแสดงความรู้สึกออกมาอย่างมากมายเช่นบรรดานักศึกษาในที่ประชุมนี้มาก่อนเลย เมื่อท่านคณบดีประกาศให้สุภาพบุรุษหนุ่มคนหนึ่งขึ้นมาปรากฏกายบนเวที สุภาพบุรุษผู้ดั้นด้นมาจากประเทศอันไกลโพ้นอีกมุมหนึ่งของโลก เพื่อเข้ารับการศึกษาในประเทศนี้ และได้เห็นเพื่อนนักศึกษาพากันโห่ร้องแสดงความชื่นชมยินดีด้วยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในการที่สุภาพบุรุษผู้นี้ได้แสดงความสามารถอันน่าตื่นตะลึงด้วยการผูกขาดรางวัลต่างๆอย่างชนิดที่ไม่มีใครเทียบได้ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าต้องยื่นมือออกไปหลายครั้งมาก เพื่อมอบรางวัลให้”

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้นำรางวัลที่ได้รับมาถวายพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงชื่นชมยินดียิ่ง ได้พระราชทานเงินและเคริ่องราชอิสริยาภรณ์ให้เป็นกำลังใจ โปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการในด้านสำรวจคลองต่างๆเพื่อนำน้ำมาใช้ในการทำประปา

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์รับราชการในช่วงนี้ได้ปีเศษ ก็ได้ขอพระบรมราชานุญาตไปเรียนต่อที่อังกฤษอีก ทั้งยังได้รับมอบหมายให้เข้าฝึกงานด้านโรงกษาปน์ด้วย ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในช่วงนี้ สยามเกิดกรณีพิพาทกับนายโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ถึงกับเรียกเรือรบอังกฤษเข้ามาจะปิดปากอ่าวไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงทรงส่งราชทูตคณะหนึ่งไปยังราชสำนักอังกฤษเพื่ออธิบายให้ทราบความเป็นมาของเรื่องนี้ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ขณะมีพระชนมายุได้ ๒๙ ชันษาได้รับแต่งตั้งให้เข้าร่วมกับคณะทูตชุดนี้เป็นตรีทูตและล่าม เมื่อการเจรจาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ยับยั้งเรือรบอังกฤษไว้ได้ ทั้งนายน็อกซ์ยังถูกเรียกตัวกลับไปอังกฤษ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ยังได้รับหน้าที่เป็นตัวแทนทางด้านเจรจาความเมืองอีกหลายเรื่อง รวมทั้งยังได้รับมอบหมายให้ศึกษาระบบป้องกันชายทะเลและปากแม่น้ำที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยอีกด้วย

เมื่อสำเร็จการศึกษาและการฝึกงานในช่วงนี้แล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็กลับมาไทย แต่อยู่ได้ปีเดียวก็ต้องออกไปอีก โดยได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นอัครราชทูตพิเศษ ไปเจริญสัมพันธไมตรีถวายของขวัญแด่เจ้าชายแห่งออสเตรีย และมกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย ซึ่งอภิเษกสมรสในระยะเวลาใกล้ๆกัน ทั้งยังได้รับมอบหมายให้จัดซื้อเครื่องตกแต่งภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่กำลังสร้าง ซื้ออาวุธให้กรมทหารหน้า เลือกจ้างนายทหารออสเตรียเข้ามาฝึกทหารไทย ทั้งโปรดเกล้าฯให้นำพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และบุตรหลานข้าราชการอีกหลายคนออกไปศึกษาที่อังกฤษด้วย

แต่เมื่อเสร็จงานต่างๆในครั้งนี้ เตรียมตัวจะกลับกรุงเทพฯ ก็ได้รับโทรเลขด่วนจากราชเลขาธิการว่า
“อย่าคิดกลับเลย เตรียมอยู่เถิด ได้ส่งพระราชสาส์น ข้าราชการผู้ช่วยออกไป ให้รับราชการเป็นเป็นอัครราชทูต ประจำราชสำนักแลสำนักรีปับลิกประเทศที่มีสัญญาทางพระราชไมตรีทุกประเทศแล้ว ให้ฟังหนังสือราชการ”

นั่นก็คือการเริ่มตั้งสถานทูตสยามขึ้นในกรุงลอนดอนเป็นแห่งแรก ซึ่งมีหน้าที่ดูแลประเทศต่างๆรวม ๑๒ ประเทศถึงอเมริกาด้วย ขณะที่หม่อมเจ้าปฤษฎางค์มีพระชนมายุ ๓๒ ชันษา และมีงานสำคัญในการเจรจาเรื่องภาษีสุรากับประเทศเหล่านี้ที่สยามเสียผลประโยชน์อยู่มาก ซึ่งหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ก็สามารถเจรจากับอังกฤษคู่ค้าสำคัญสำเร็จเป็นประเทศแรก ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่นๆเป็นเรื่องง่ายไปด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงยินดีในผลงานของหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ยิ่งนัก ทรงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ นำพระสุพรรณบัฏสถาปนาหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ไปพระราชทานถึงกรุงลอนดอน ต่อมาพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทำเรื่องนี้สำเร็จทั้ง ๑๒ ประเทศในเวลา ๒ ปี

เพื่อให้งานด้านต่างประเทศของสยามก้าวหน้าสำเร็จไปด้วยดียิ่งขึ้น และเป็นไปตามคำร้องขอของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ที่ให้กระทรวงกาต่างประเทศหาทางแบ่งงานของพระองค์ไปบ้าง จึงโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ไปเป็นเอกอัคราชทูตกรุงลอนดอน และมีหน้าที่ดูแลอเมริกาด้วย ส่วนพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปเปิดสถานทูตสยามแห่งที่ ๒ ที่กรุงปารีส และดูแลประเทศในยุโรปรวม ๑๐ ประเทศ

ระหว่างที่รับหน้าที่ทูตสยามประจำยุโรปนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้เข้าเฝ้าประมุขหลายประเทศ และเข้าสมาคมของประเทศในยุโรปอย่างโดดเด่น ทรงบริจาคเงินให้โรงพยาบาลต่างๆในหลายประเทศ จนทำให้พระจักพรรดินีของเยอรมันเชิญไปเข้าเฝ้า เพื่อจะขอบพระทัยที่ให้การสนับสนุนโรงพยาบาลในอุปถัมภ์ของพระนาง

เมื่อเทศบาลนครปารีสได้ตัดถนนสายใหม่ผ่านสถานทูตไทย ก็ทรงขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนสยาม” หรือ “RUE de SIAM” ซึ่งยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
 
เมื่อครั้งที่ทูตพม่าเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อขอให้ช่วยขัดขวางอังกฤษที่ยึดพม่าไปครึ่งประเทศแล้ว โดยเสนอผลประโยชน์ให้ฝรั่งเศสด้วย แต่ความจริงฝรั่งเศสกับอังกฤษแบ่งเขตยึดครองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กันเรียบร้อยแล้ว จึงไม่กล้าก้าวก่ายในเรื่องนี้ แกล้งถ่วงเวลาไม่ให้ทูตพม่าเข้าพบประธานาธิบดี จนอังกฤษเข้ายึดพม่าได้หมดประเทศ ทูตพม่าเลยเคว้งหมดเงินค่าใช้จ่าย รอวันที่จะถูกไล่ออกจากโรงแรมไปนอนข้างถนน หัวหน้าคณะราชทูตพม่าจึงมาปรับทุกข์กับทูตสยาม พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเห็นใจคณะราชทูตพม่า จึงช่วยเจรจาขอให้ทางฝรั่งเศสช่วยออกค่าใช้จ่ายส่งทูตพม่ากลับบ้านด้วย

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงรายงานเรื่องนี้มาทางกรุงเทพฯพร้อมด้วยข้อมูลลับที่ได้มาจากราชทูตพม่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงหวาดหวั่นกับการกระทำของอังกฤษอย่างที่กงสุลน็อกซ์เคยแสดงฤทธิ์เดชมาแล้ว จึงทรงมีพระอักษรถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ให้ถวายความคิดเห็นว่าพระองค์ควรจะอย่างไรให้สยามปลอดภัยจากการล่าอาณานิคม

แต่แทนที่จะถวายความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่ใกล้ชิดกับการเมืองยุโรปอย่างใกล้ชิด พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กลับเรียกประชุมเจ้านายและข้าราชการในสถานทูตทั้ง ๒ ของยุโรป ร่วมกันร่างหนังสือถวายความเห็น

คณะผู้ถวายความเห็นคณะนี้ ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ๓ พระองค์ คือ

พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์
พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา
และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์

พร้อมด้วยข้าราชการในคณะราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนและปารีสที่เป็นสามัญชนอีก ๗ คน ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “คณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๐๓” โดยร่วมกันลงนามถวายคำกราบบังคมทูลเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๗

สรุปข้อความกราบบังคมทูลในครั้งนี้ก็คือ เสนอให้พระมหากษัตริย์ที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กระจายพระราชอำนาจไปให้ข้าราชการบริหารกรมกองโดยไม่ต้องรอพระราชานุญาต

เรื่องนี้ถ้าจะมองว่าเป็นการบังอาจ โทษก็ต้องหัวขาดประการเดียว แต่สมเด็จพระปิยมหาราชก็ไม่ได้ทรงแสดงว่ากริ้วแต่อย่างใด ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบคำกราบบังคมทูลนี้อย่างยืดยาวเช่นกัน นอกจากขอบใจทุกคนที่เห็นการปกครองของประเทศอื่นแล้วระลึกถึงประเทศของตน ปรารถนาจะป้องกันอันตราย ทรงยอมรับความเห็นที่กล่าวมา แต่ทรงอธิบายให้ทราบว่าเหตุใดจึงยังไม่เหมาะที่จะทำในตอนนั้น

หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีคำสั่งกระทรวงต่างประเทศ เรียกข้าราชการการสถานทูตทุกคน รวมทั้งเจ้านายทั้ง ๓ พระองค์กลับสยาม

เรื่องนี้จึงถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นสาเหคุที่ทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางต์ประสบชะตากรรมพลิกผัน จากรุ่งโรจน์สูงสุดจนร่วงลงสู่ดิน

แต่หลักฐานที่ปรากฏ เจ้านายที่ถูกเรียกตัวกลับมานี้ต่างได้รับโปรดเกล้าฯเข้ารับราชการตำแหน่งสำคัญในยุคปฏิรูปกันทุกพระองค์ ส่วนสามัญชนเหล่านั้นก็ได้กลับไปประจำสถานทูตอีก สำหรับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่กลับมาช้ากว่าคนในกลุ่ม เพราะได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปเข้าประชุมสหภาพสากลไปรษณีย์ที่กรุงเบอร์ลิน และติดต่อว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญไปรษณีย์ของเยอรมันให้เข้ามาช่วยวางรากฐานไปรษณีย์ไทย เมื่อกลับมาก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์และโทรเลข ซึ่งเป็นงานที่สำคัญของประเทศในยามนั้น ทั้งยังทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช เป็นองคมนตรี และเป็นผู้ดูแลถวายการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ ทั้งคาดหมายกันว่าตำแหน่งที่รอท่านอยู่ก็คือ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการที่กำลังจะตั้งขึ้น ซึ่งเป็นงานที่เหมาะสมกับที่ท่านเรียนมายิ่งกว่าใคร

ชีวิตของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงไม่ได้ตกต่ำลงแต่อย่างไร ในช่วงนี้

แต่แล้วหลังจากนั้น ความพลิกผันก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อกรมขุนนริศรานุวัติวงษ์ สมเด็จครูผู้เป็นช่างใหญ่ของกรุงสยาม เข้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ อีกทั้งบ้านพระราชทานที่กำลังก่อสร้างต่อเติมให้สมกับเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าก็ถูกระงับ เนื่องจากมีเหตุระแคะระคายเกิดขึ้น แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ยังทรงได้รับมอบหมายงานสำคัญ

ในปี ๒๔๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ร่วมคณะสมเด็จพระอนุชา กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ขากลับเมื่อเรือมาถึงเซี่ยงไฮ้ กรมพระยาภาณุพันธุ์ฯทรงประชวร พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ก่อเรื่องร้ายแรงขึ้น แทนที่จะอยู่เฝ้าไข้กลับเขียนหนังสือลาออกจากราชการและขอลาบวช วางไว้ในห้องบรรทมแล้วหายตัวไปโดยไม่บอกกล่าวใคร มีข่าวลือตามมาว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งปลอมตัวเป็นชายหนีออกจากเมืองไทยพร้อมด้วยทรัพย์สินมีค่าของสามี ไปปรากฏตัวที่ฮ่องกง ต่อมามีผู้เห็นหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ไปปรากฏตัวกับผู้หญิงคนนี้ที่ไซ่ง่อน

ในหนังสือขอลาออกจากราชการและขอลาบวช ที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์วางไว้ในห้องบรรมของสมเด็จพระอนุชา กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หัวหน้าคณะราชทูตขณะเดินทางกลับจากญี่ปุ่นแวะที่นครเซี่ยงไฮ้ แล้วหายตัวไปอย่างลึกลับนั้น ได้อ้างว่าทรงท้อแท้ที่จะรับราชการต่อไป จากนั้นทรงไปปรากฏตัวที่ไซ่ง่อนกับหญิงสูงศักดิ์คนหนึ่งที่ปลอมตัวเป็นชาย ก่อนที่จะไปทำงานกับองค์นโรดมที่กรุงพนมเปญ แต่ทำได้แค่ ๖ เดือน ก็ถูกฝรั่งเศสบีบเขมรให้ออกเพราะกลัวว่าจะสร้างเรื่องหนีมาเป็นสายลับให้ไทยซึ่งกำลังมีกรณีพิพาทเขตแดนกัน พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงต้องหาอาชีพใหม่เลี้ยงชีวิตโดยไปทำงานตามวิชาชีพที่เรียนมาคือวิศวกร รับจ้างทำงานให้อังกฤษที่รัฐเประในมลายู

ท่านต้องเรร่อนในช่วงนี้ถึง ๕ ปีจึงไปบวชที่ลังกา ซึ่งเป็นเรื่องตื่นเต้นของชาวพุทธในลังกามาก และเปรียบกันว่าท่านเป็นเหมือนเจ้าชายสิทธัตถะที่สละฐานันดรมาแสวงหาธรรมะ ได้ฉายาว่า พระชินวรวงศ์

ในระหว่างที่ทรงผนวช พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ยังระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เสมอ พยายามผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มศาสนิกชนทั่วโลก เพื่อให้สถาบันกษัตริย์สยามซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวของโลกที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นประมุขสูงสุดของชาวพุทธ เช่นเดียวกับโป๊ปของชาวคาทอลิก แต่ก็เป็นงานยาก เพราะในลังกาที่มีพุทธถึง ๓ นิกายใหญ่ คือ นิกายสยามวงศ์ อมรปุระนิกาย (พม่า) และรามัญวงศ์นิกาย ก็ยังรวมกันไม่ได้

ต่อมาในปี ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงแวะลังกาซึ่งเป็นเส้นทางผ่าน พระชินวรวงศ์คิดว่าเป็นโอกาสดีที่อาจจะได้เข้าเฝ้า ทางกรุงเทพฯได้ส่งพระยาพิพัฒโกษา (เซเลสติโน ซาเวียร์) ชาวโปรตุเกสที่เกิดในไทยและเคยรับราชการที่สถานทูตปารีส ไปเตรียมการรับเสด็จ มีข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวมีพระกระแสรับสั่งจะให้พระชินวรวงศ์กลับไปช่วยสมณกิจในกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส พระยาพิพัฒน์ฯได้ไปแสดงความยินดีและปวารณาจะกลับมาเรี่ยรายเงินเจ้านายและญาติมิตรส่งไปถวายเป็นค่าเดินทางให้พระชินวรวงศ์ พระชินวรวงศ์ได้เข้าช่วยอย่างเต็มที่จัดงานรับเสด็จได้อย่างยิ่งใหญ่

แต่ในรายการเสด็จไปชมพระเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี เจ้าหน้าที่ของลังกาไม่ยอมให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงสัมผัสพระเขี้ยวแก้ว อ้างว่าคนที่สัมผัสได้ต้องเป็นพระเท่านั้น แต่ความจริงหลายคนรวมทั้งกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือคนต่างศาสนาอย่างชาวอังกฤษก็เคยสัมผัสมาแล้ว ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯซึ่งมีพระราชประสงค์จะตรวจดูว่าพระเขี้ยวแก้วนั้นเป็นของจริงหรือไม่ ทรงกริ้วเป็นอันมาก งานรับเสด็จก็เลยกร่อยไป พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จไปที่วัดทีปทุตตมารามที่พระชินวรวงศ์เป็นเจ้าอาวาส

รุ่งขึ้นในปี ๒๔๔๑ ชาวอังกฤษที่ไปทำไร่ในอินเดีย ขุดพบผะอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นจำนวนมาก พระชินวรวงศ์ทราบข่าวก็รีบไปที่นั่นทันที และเสนอต่อผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอินเดียให้ถวายพระบรมสารีริกธาตุนี้ต่อพระมหากษัตริย์สยาม ซึ่งเป็นองค์เอกอัครราชูปถัมภ์ศาสนาพุทธ ทางรัฐบาลอังกฤษก็เห็นชอบด้วย จึงให้สถานทูตที่กรุงเทพฯติดต่อกับรัฐบาลสยามโดยตรง ฝ่ายสยามได้ส่งพระยาสุขุมนัยวินิต ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยายมราช เป็นผู้ไปรับ

ความดีความชอบของพระชินวรวงศ์ในช่วงนี้ เป็นเหมือนปิดทองหลังพระไม่มีใครเห็นแล้วยังเจอกรรมซัดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีเรื่องลับเรื่องหนึ่งที่ท่านเปิดเผยเองมาถูกเปิดที่กรุงเทพฯ

เมื่อพระยาสุขุมนัยวินิตอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาถึงกรุงเทพฯ ได้รายงานต่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ว่าระหว่างที่ได้พบพระชินวรวงศ์ที่กัลกัตตานั้น พระชินวรวงศ์ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านได้แอบหยิบพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรไว้ ๑ ชิ้นโดยไม่ได้บอกให้เจ้าของที่ขุดรู้ หากอังกฤษไม่ยอมถวาย ท่านก็มีทูลเกล้าฯถวายเมือนกัน พระยาสุขุมนัยวินิตก่อนที่จะเข้ารับราชการนั้นเคยบวชเป็นพระชั้นมหาที่เคร่งครัดพระธรรมวินัย จึงถือว่าพระชินวรวงศ์ลักทรัพย์ต้องอาบัติขั้นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระแล้ว

คณะสงฆ์ทางกรุงเทพฯก็ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรงเช่นกัน กระทรวงการต่างประเทศจึงมีโทรเลขไปถึงอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคลัมโบ ห้ามพระชินวรวงศ์เดินทางเข้าไทยหากยังอยู่ในเพศบรรพชิต ทำให้พระชินวรวงศ์ต้องเลิกล้มแผนการเดินทางกลับ และหมดอาลัยกับทางโลก มุ่งแต่ทางธรรม ธุดงค์ไปที่เกาะร้างแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ทิ้งศพผีตายโหงและที่นำงูมาปล่อย เพราะชาวลังกาไม่ฆ่างู ภาพที่ท่านนั่งทำสมาธิท่ามกลางกองกระดูก ทำให้เรื่องราวของพระชินวรวงศ์ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเป็นจำนวนมาก มีผู้คนหลั่งไหลไปนมัสการ ทำให้ท้องถิ่นนั้นเจริญขึ้นทันตา มีโรงเรียนสำหรับเด็กที่อยู่ห่างไกลเกิดขึ้น มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมากมายหลายชาติจากยุโรปมาขอบวชเป็นศิษย์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษก็เลื่อมใสมาช่วยสร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดได้จากอินเดียครั้งนั้น อีกทั้งชาวโคลัมโบยังแห่กันมาขอให้ท่านกลับไปที่วัดทีปทุตตมารามที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส พระชินวรวงศ์เลยต้องกลับโคลัมโบ และพัฒนาวัดจนเป็นที่สงบร่มรื่น กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ผู้โดยสารเรือเดินสมุทรที่แวะลังกาต้องไปชม ส่วนตัวท่านก็ได้รับการสถาปนาจากคณะสงฆ์ลังกาให้มีสมณศักดิ์เป็น เถระนายกแห่งนครโคลัมโบ ทรงสร้างโรงเรียนขึ้นในวัด และบุคคลสำคัญของอังกฤษที่เดินทางมาเมืองหลวงของลังกา จะต้องไปปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกไว้ที่วัดนี้

ปัจจุบันมีเจ้านายไทย ๔ พระองค์ไปทรงปลูกต้นไม้ไว้ที่วัดทีปทีปทุตตมาราม คือ รัชกาลที่ ๘ ในปี ๒๔๘๒ รัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ในปี ๒๕๔๒ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี ๒๕๕๖

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จประพาสยุโรปในครั้งที่ ๒ และแวะกรุงโคลัมโบ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษซึ่งชื่นชมพระชินวรวงศ์มาก ได้กราบทูลว่าจะขอนำพระชินวรวงศ์เข้าเฝ้า แต่พระเจ้าอยู่หัวรู้ทันทรงตอบว่า คนไทยทุกคนสามารถจะเข้าเฝ้าพระองค์ได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องให้ผู้สำเร็จราชการอังกฤษนำเข้าเฝ้า พระชินวรวงศ์ที่เตรียมจะเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปวางศิลาฤกษ์พระสถูปที่จะสร้างขึ้นที่วัด ก็เลยไม่กล้าเข้าเฝ้า

ชีวิตของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่ยังทรงมีเยื่อใยอยากจะกลับสยาม ก็ถูกปิดสนิทไปอีกเรื่องด้วยปาราชิก

และไม่ใช่แค่เรื่องที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและเรื่องแอบหยิบพระสารีรีกธาตุไว้เท่านั้น เรื่องมัวหมองของท่านยังมีเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นพี่สะใภ้ของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของท่าน

ผู้หญิงสูงศักดิ์ผู้นี้ เรียกกันในคำเล่าลือนินทาว่า “พี่ศรี” เป็นภรรยาของพระยาสุนทรบุรี เจ้าเมืองสุพรรณบุรี พี่ชายของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อพระยาสุนทรบุรีถึงแก่กรรม ได้ค้างเงินภาษีที่เก็บส่งรัฐบาลยังไม่ครบ ระบบการปกครองในสมัยนั้นเจ้าเมืองมีหน้าที่ต้องเก็บภาษี หากใครไม่ส่งหรือส่งขาดก็ถือว่าเป็นหนี้หลวง และความรับผิดชอบนี้ตกมาถึงภรรยาด้วย พี่ศรีจึงต้องรับภาระนี้ด้วยความทุกข์ใจ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพี่ศรีอย่างใกล้ชิด จนถูกนินทาว่ามีความสัมพันธ์ล้ำลึกเกินกว่าพี่สะใภ้ของเพื่อนรัก ได้เป็นคู่ปรับทุกข์อย่างใกล้ชิด กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยกเงินก้อนนี้ให้พี่ศรีแล้ว แต่ก็ไม่มีลายลักษณ์อักษร ทั้งพี่ศรียังจะได้รับความอุปการะให้เข้าไปอยู่ในวังหลวงด้วย แต่พี่ศรีรักที่จะมีชีวิตอิสระมากกว่าไม่ยอมเข้าไปอยู่ในวัง ซึ่งถือได้ว่าขัดพระกระแสรับสั่ง เมื่อเจ้าพระยาสุศักดิ์นำทัพไปปราบฮ่อ พี่ศรีได้แอบขนสมบัติมีค่าของพระยาสุนทรบุรีที่เก็บไว้ที่บ้านเจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ซึ่งอยู่ในรั้วเดียวกับบ้านพี่ศรี หนีออกนอกประเทศไป และเชื่อกันว่าหญิงที่แต่งตัวเป็นชายไปปรากฏตัวที่ไซ่ง่อนกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ก็คือพี่ศรี อีกทั้งในพระประวัติที่ทรงนิพนธ์ขึ้นในวัยชรา กล่าวว่าพระองค์ได้แต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ปีนัง ก็เชื่อว่าเป็นพี่ศรีอีกเช่นกัน

ความจริงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงมีชายาอยู่แล้ว โดยได้แต่งงานกับหม่อมตลับเมื่อมีพระชนม์ ๑๙ ชันษา แต่ขณะข้าวใหม่ปลามันได้เดือนเดียวก็ถูกส่งไปเรียนที่สิงคโปร์ ๖ เดือน กลับได้ไม่เท่าไหร่ก็ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษอีก ๓ ปี แม้ตอนที่ท่านไปเป็นทูตที่ยุโรปก็ไม่ได้เอาหม่อมไปด้วย เมื่อท่านเป็นหนุ่มสังคมอยู่ในยุโรป กระทรวงต่างประเทศเกรงว่าท่านจะไปติดพันแหม่ม ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามในสมัยรัชกาลที่ ๕ แม้พระราชโอรส พระอนุชาที่ส่งไปเรียนเมืองนอก ก็ยังทรงกำชับเรื่องนี้ทุกพระองค์ เกรงว่าจะส่งผลเสียมาถึงประเทศได้ จึงได้พาหม่อมตลับไปส่งให้ถึงสถานทูตเพื่อจะยับยั้งเรื่องติดพันแหม่ม แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะข้าวใหม่ปลามันของคู่นี้กลายเป็นข้าวบูดไปแล้ว

หลังจากพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ล่องหนจากคณะทูตที่เซี่ยงไฮ้ไปแล้ว ทางกรุงเทพฯได้มีหนังสือเวียนไปถึงเจ้าเมืองชายแดน มีความบางตอนที่พอจะบ่งบอกเรื่องนี้ได้ชัดขึ้นว่า

...พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ซึ่งรับราชการเป็นไดเรกเตอร์ เยอเนอราล อยู่ในกรมไปรษณีย์และโทรเลขประจุบันนี้ มีความรักใคร่กับสีภรรยาพระยาสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีมาหลายปีแล้ว แต่มีความกระดาก ครั้น ณ เดือนกรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กราบถวายบังคมลาไปประพาศเมืองยี่ปุ่น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ตามเสด็จไปด้วย ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์เสด็จกลับจากเมืองฮ่องกง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็หาตามเสด็จกลับมาไม่ หลบหนีอยู่ในเมืองฮ่องกง ฝ่ายสีนั้นก็เก็บเอาทรัพย์สมบัติของพระยาสุรศักดิ์มนตรีผู้น้องพระยาสุพรรณ ที่ให้เก็บรักษาไว้หนีออกไปอยู่เมืองฮ่องกง ครั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกลับเข้ามาถึงจึงทราบว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับสีคิดอ่านพากันหนีไปอยู่ด้วยกัน ครั้นได้ตรวจดูราชการในกรมไปรษณีย์ก็ไม่มีเหตุผิดร้ายฉกรรจ์อันใด นอกจากพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เอาเงินหลวงในกรมไปรษณีย์แลโทรเลขไปใช้เองประมาณร้อยชั่งเศษ กับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์แลสีเป็นหนี้ไทยแลฝรั่งในกรุงเทพมหานครรุงรังอยู่หลายราย เห็นจะเป็นเพราะเหล่านี้จึ่งพากันหลบหลีกหนีหายออกไปอยู่นอกพระราชอาณาเขตร แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้รับราชการเป็นทูตอยู่ในประเทศยุโรปหลายปีมีความชอบในราชการ จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งให้เป็นพระองค์เจ้า ภายหลังฟั่นเฟือนหลงไหลผู้หญิงละครฝรั่ง ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระราชวิตกจะทำให้เป็นที่ขึ้นชื่อขายหน้าราชทูตฝ่ายสยาม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกกลับเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร ครั้นเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครก็ยังทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้มีตำแหน่งรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ และมีเบี้ยหวัด เงินเดือนเป็นผลประโยชน์อยู่ถึงปีละแปดสิบชั่งเศษ ยังไม่มีความกตัญญูคิดถึงพระเดชพระคุณ กลับกลายเป็นไปตามจริตเดิมที่ฟั่นเฟือนหลงไหล เห็นว่าจะหลบเหลื่อมเข้ามาในปลายแดนพระราชอาณาเขตร ฤๅหัวเมืองไกลๆ ที่ไม่ทราบความแล้ว ก็จะอวดลวงล่อเอาเงินทอง ฤๅอ้างเอาพระนามไปขึ้นให้เป็นที่เสียราชการ จึ่งแจ้งความมาให้ใต้เท้าทราบไว้ เพื่อว่าจะได้ข่าวคราวที่แปลกประหลาดฤๅจะมีเหตุอย่างไร ใต้เท้าจะได้คิดอ่านแก้ไขจัดการไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสียเพระเกียรติยศได้...

และเมื่อตอนที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปทำงานกับองค์นโรดมที่เขมร ทูตฝรั่งเศสได้ถามมาทางกรุงเทพฯว่าพระองค์มีความผิดอะไร กระทรวงการต่างประเทศก็ตอบไปอย่างไม่มีเยื่อใยว่า “เป็นบ้าแล้วหนีไปกับแม่ม่าย” (gone mad and ran away with a widow)

นอกจากเรื่องเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรื่องแอบเม้มพระบรมสารีริกธาตุ และเรื่องผู้หญิงกับหนี้สินรุงรังนี้แล้ว เมื่อครั้งที่ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน นำเรื่องชีวิตลับของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มาเขียนในเรือนไทยดอทคอม ยังมีความเห็นจากผู้อ่านที่เป็นแพทย์ว่า สาเหตุทั้งหมดนี้น่าจะมาจากท่านป่วยด้วยโรคทางจิตที่มีชื่อว่า Delusional Disorder หรือโรคจิตหลงผิดด้วย

เวบไซต์รามาแชลแนล กล่าวว่า โรคจิตหลงผิด คือ การมีความเชื่อหรือความคิดไม่ตรงกับความเป็นจริง เรียกว่า อาการหลงผิด (delusion) โดยอาการหลงผิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ระแวงว่าตนถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกปองร้าย ผูกเรื่องเชื่อมโยงไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ผู้ป่วยมักจะยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ ยกเว้นบางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลงผิด เช่น ถ้าหลงผิดว่าเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้งก็อาจจะขอลาออกจากที่ทำงาน ทั้งๆที่ยังทำงานด้านนั้นได้ตามปกติ สามารถพบได้ในคนที่มีความเครียดสูง ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน มีฐานะไม่ดี ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ ๑๘-๙๐ ปี และพบมากในคนอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป

ในปี ๒๔๕๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคต พระชินวรวงศ์ทราบข่าวก็ถึงกับล้มทั้งยืน ขอเข้ามาถวายบังคมพระบรมศพ แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจะทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักร์ได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถวายบังคมพระบรมศพหากไม่ลาเพศบรรพชิด ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ต่างก็ไม่ยอมให้เข้าเฝ้าเช่นกัน พระชินวรวงศ์จึงต้องยอมจำนนนตามเงื่อนไข และได้รับพระเมตตาจากกรมหลวงดำราราชานุภาพนำขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพบนพระเมรุมาศ แต่เมื่อถวายพระเพลิงในตอนค่ำ เจ้าพนักงานห้ามไม่ให้ขึ้นบนพระเมรุ ต้องวางดอกไม้ธูปเทียนไว้บนพานทองที่ทางราชการจัดไว้ให้ข้างล่างเท่านั้น
ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะพระบรมศพที่พระองค์ปฤษฎางค์นำไปวางนั้น มีกระดาษแผ่นหนึ่งพันไว้ มีข้อความในกระดาษว่า

“...เกิดชาติใดฉันใดขอให้เป็นข้าเจ้ากัน ขออย่าให้มีศัตรูมากีดกันระหว่างกลางเช่นชาตินี้เลย...”

เมื่อเสร็จสิ้นงานสำคัญที่มุ่งมั่นมาสยาม เพื่อถวายบังคมพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวผู้มีพระคุณสูงสุดในชีวิตแล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เข้าเฝ้ากรมหลวงเทวะวงศ์วโปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ทรงอุปสมบทให้ใหม่แล้วส่งไปลังกา กรมหลวงเทวะวงศ์ฯเห็นสภาพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถึงกับน้ำพระเนตรคลอ ออกพระโอษฐ์ว่า “เสียแรงทรงพระกรุณาชุบเกล้าฯ แล้วยังหนีไปได้ อยู่ป่านนี้มิเป็นเสนาบดีแล้วหรือ” แต่เรื่องจะบวชให้ใหม่นั้นเลิกพูดได้ เพราะไม่สามารถจะทำได้เนื่องจากปาราชิกไปแล้ว

กรมหลวงเทวะวงศ์ฯได้ให้พระยายาพิพัฒน์โกษาซึ่งขึ้นเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศแล้ว ช่วยจัดหาที่อยู่ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นตึกอยู่ในซอยกัปตันบุช สี่พระยา เป็นที่อยู่และเปิดสอนภาษาอังกฤษ แต่ปรากฏว่ามีคนมาเรียนน้อยและเป็นย่านที่อยู่ของชาวต่างประเทศ ท่านจึงขอไปอยู่กับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเพื่อนเก่า แต่อยู่ได้ไม่กี่วันก็ขอย้ายออกอีก เพราะเกิดระแวงว่า

เจ้าพระยาสุรศักดิ์จะทำร้ายท่าน ต้องเร่ร่อนไปอาศัยบ้านอาศัยแพของคนที่เห็นใจให้อยู่อีกหลายแห่ง
พระบรมวงศานุวงศ์ต่างสงสารและมีพระเมตตาต่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หลายท่านรับจะช่วยเรื่องที่อยู่และงาน แต่ก็ไปกันได้ไม่ตลอด ตอนที่พระชนม์ ๗๒ ชันษาแล้ว สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ฯได้ทรงอนุเคราะห์ให้เข้าทำงานกับกระทรวงต่างประเทศอีก แต่จากเอกอัครราชทูต ๑๒ ประเทศ มาเป็นคนจดจดหมายเหตุเยียร์บุคของกระทรวง ทำได้ ๒ ปี กรมพระยาเทวะวงศ์ฯสิ้นพระชนม์ก็ถูกเลิกจ้างเนื่องจากประชวรบ่อย

พระยาอนุมานราชธนเล่าไว้ในหนังสือ “ฟื้นความหลัง” ว่า “ตอนหลังนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระทัยฉุนเฉียว ทรงเกลียดไม่เลือกหน้าว่าใคร หน้าบ้านของท่านมีป้ายเขียนไว้ว่า “ห้ามหมา ห้ามคนเข้า”

คุณหญิงมณี สิริวรสาร เล่าถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไว้หนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” ว่า “คนในซอยแพรกบ้านในนั้นรู้จักท่านดีทุกคน เพราะเป็นเจ้านายที่แปลกประหลาดพิสดารไม่ซ้ำแบบใครเลย ตอนเช้ามืดท่านมักเสด็จมาที่ระเบียงและร้องตะโกนคุยกับคุณพ่อเสียงดังลั่นข้ามฟากถนนมา ทำให้ผู้ที่เดินไปเดินมาอยู่บนถนนได้ยินเรื่องราวที่ท่านคุย ซึ่งเรื่องที่ตรัสนั้นล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ในเวลานั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระชันษาเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว แต่ท่านยังทรงว่องไง คล่องแคล่ว แข็งแรง เวลาเสด็จนอกวัง ทรงแต่งชุดสากลสีครีม สวมหมวกปานามา ไว้หนวดทรงแพะ และทรงถือไม้เท้า เวลาเสด็จไปไหนทุกคนต้องมองท่านด้วยความแปลกใจ เพราะท่านไม่เหมือนคนอื่น หน้าวังของท่านนั้นติดประกาศไว้หลายแผ่น เป็นข้อความเกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ทำให้คนต้องหยุดอ่านเสมอ….ผู้ที่ท่านประฌามส่วนมากเป็นเจ้านายชั้นสูงที่มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีในสมัยนั้น แต่เพราะทรงพระชรามากแล้ว ใครๆก็คิดว่าทรงมีพระสติฟั่นเฟือน...”

ตอนอายุย่างเข้า ๗๘ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงนิพนธ์พระประวัติชีวิตของตัวเองแจกจ่ายแจกเป็นของชำร่วยแก่ญาติมิตร มีความตอนท้ายว่า

“ข้าพเจ้าก็มีร่างกายทุพพลภาพโรคภัยต่างๆก็ตามมาผะจญซ้ำเติม ป่วยไข้เรื่อยมาโดยความอัตคัดจนกาลบัดนี้ เป็นตุ๊กตาล้มลุกลงนอนอยู่บ้าง ลุกขึ้นเต้นรำตะกุยตะกายหาใส่ท้องบ้าง เที่ยวขอทานญาติมิตรจนเขาเบื่อระอาบ้าง ไปอยู่โรงพยาบาลบ้าง เรื่อยมาจนได้แพทย์สวรรค์มาช่วยให้ลุกขึ้นเต้นไปได้อีกครั้งหนึ่ง จึงได้เขียนประวัติตัวเอง ซึ่งแม้ตัวเองก็อดเห็นแปลกประหลาดไม่ได้...”

ในหนังสือนี้ท่านยังคงยืนยันว่าท่านไม่ได้ทำอะไรผิด ตั้งใจทำเพื่อชาติบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์ แต่มีศัตรูมากมายที่คอยใส่ร้ายป้ายสี ทำให้คุณความดีของท่านกลับกลายเป็นความผิดไปหมด

เรื่องที่วิพากย์วิจารณ์กันมากว่าเป็นเหตุให้ชีวิตของท่านพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ มาจากที่ท่านบังอาจเป็นตัวตั้งตัวตีเรียกร้องให้ลดพระราชอำนาจมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แม้พระเจ้าอยู่หัวอาจจะขุ่นเคืองเรื่องนี้ ก็คงไม่ใช่เพราะการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่ทรงขอความเห็นเป็นการส่วนพระองค์กับพระองค์ปฤษฎางค์ในฐานะที่เห็นบทบาทของมหาอำนาจนักล่าอาณานิตมอย่างใกล้ชิด แต่หม่อมเจ้าปฤษฎางค์กลับนำไปเป็นเรื่องเอิกเกริกผิดจากพระราชประสงค์ ก็น่าจะขุ่นเคืองได้ แต่ไม่ทรงถือเป็นเรื่องร้ายแรงแต่อย่างใด ที่เรียกกลับมาก็ปรากฏชัดว่าเนื่องจากไปติดพันแหม่มนางละคร แม้จะทรงส่งหม่อมตลับไปให้ถึงยุโรปแล้วก็ยังเอาไม่อยู่ จึงต้องเรียกกลับมาเพื่อไม่ให้เสียหายถึงชื่อเสียงประเทศ เมื่อกลับมาแล้วก็ไม่ได้ทรงลงโทษทัณฑ์แต่อย่างใด ให้รับหน้าที่ในงานสำคัญของการปฏิรูปประเทศ และเป็นองคมนตรี ที่สำคัญก็คือ ในปีพ.ศ.๒๔๓๒ ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญดุษฎีมาลา ศิลปวิทยา ที่พระราชทานเป็นครั้งแรกแต่เพียงองค์เดียวในปีนั้นด้วย

เรื่องเรียกร้องรัฐธรรมนูญจึงไม่น่าใช่สาเหตุทำให้ชีวิตของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์พลิกผัน

เรื่องที่ทำให้ท่านตกสวรรค์จริงๆนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหนี้สิน เมื่อกลับมาจากยุโรปนั้นท่านไม่มีบ้านอยู่ เพราะบ้านที่เคยอยู่หม่อมตลับก็ถวายคืนตอนไปยุโรปแล้ว บ้านใหม่ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ในครั้งนี้ ความจริงก็เป็นตึกสองชั้นพอสมพระเกียรติแล้ว แต่ท่านทรงเห็นว่าเล็กไป จึงต่อเติมขึ้นป็น ๓ ชั้นก่อนจะเข้าอยู่ ค่าใช้จ่ายต่อเติมบ้านก็เป็นเงินไม่น้อย นอกจากท่านจะเอาเงินของกรมไปรษณีย์ไปใช้ผิดประเภทแล้ว ยังกู้หนี้ยืมสินไปทั่วทั้งไทยเทศ แต่รายที่ทำให้เป็นเรื่องก็คือทรงไปยืมเงินของพระราชอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ซึ่งประทานให้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ท่านจึงอยากตอบแทนพระคุณโดยจะนำเจ้าปาน พระอนุชาของพระอัครชายา เข้าทำราชการ แต่ทรงเกรงว่าจะถูกครหาว่าเป็นการตอบแทนเงินยืม จึงทำอุบายให้พระอัครชายากราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวสั่งลงมา แต่พระเจ้าอยู่หัวเห็นว่าเรื่องดูไม่ชอบมาพากล จึงสอบถามกลับไป พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลชี้แจง แต่เหตุที่อ้างนั้นกลับขัดแย้งกับที่เคยทำหนังสือไปถึงกรมพระสวัสดิโสภณ พระเจ้าอยู่หัวเลยทรงพิโรธเห็นว่าเป็นอุบายมาหลอกใช้พระองค์ จึงรับสั่งให้งดเงินเดือนพิเศษที่เคยจ่ายให้เป็นการส่วนพระองค์เป็นการดัดนิสัย พระเจ้าปฤษฎางค์ก็ยังทำหนังสือกราบบังคมทูลแก้ตัวอีก พระเจ้าอยู่หัวทรงถึงกับมีพระราชหัตถเลขาบริภาษพระองค์เจ้าปฤษฎางค์อย่างหนัก และทรงให้เวนคืนบ้านหลวงพระราชทานที่กำลังต่อเติมอยู่ เพราะเบียดบังเงินหลวงไปใช้ ทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงหมดความไว้วางพระทัยแล้ว ถึงกับหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ไม่อยากอยู่ในราชการต่อไป อีกทั้งเรื่องพี่ศรีก็ทำให้ท่านหมางใจกับเพื่อนรัก จึงไปซื้อปืนมาคิดจะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อไปลาตายกับพี่ศรีเพื่อนร่วมทุกข์ พี่ศรีว่าถ้าท่านตายก็จะขอตายด้วยเพราะเหลือเพื่อนที่เห็นใจอยู่เพียงคนเดียวเหมือนกัน ท่านเลยเลิกคิดตาย และเมื่อพี่ศรีมีความผิดที่ขัดพระราชกระแสรับสั่งให้เข้าอยู่ในวังหลวง ตัดสินใจหนีออกไปต่างประเทศ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็เลยหนีไปด้วย

เรื่องทั้งหมดนี้ไม่มีใครทำให้ท่าน แต่เป็นเพราะท่านตัดสินใจผิดเองทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะผิดเพราะโรคที่มีคุณหมอตั้งข้อสงสัยก็เป็นได้

ส่วนเรื่องพระบรมสารีริกธาตุนั้นก็เช่นกัน ที่ท่านทำลงไปก็ทรงคิดว่าเป็นวีรกรรมที่จะได้มีไว้ถวายพระเจ้าอยู่หัวถ้าอังกฤษไม่ถวาย แต่เมื่อไปเปิดเผยกับพระยาสุขุมนัยวินิต อดีตมหาเก่าที่เคร่งพระธรรมวินัย เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครอภัยโทษให้ได้ เพราะเป็นเรื่องร้ายแรงในพระวินัยสงฆ์

ความจริงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทรงได้รับพระเมตตาจากพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมศานุวงศ์อย่างมาก ในตอนนั้นมีกฎมณเฑียรบาลระบุว่า หากเจ้านายพระองค์ใดหนีไปอยู่ต่างประเทศ ให้ถิอว่าเป็นกบฏ แต่ก็ไม่มีการลงโทษพระองค์ปฤษฎางค์ในข้อนี้ และเมื่อครั้งที่ท่ามาทำงานให้อังกฤษอยู่ที่รัฐเประ ได้ทรงมีหนังสือมาถึงพระพระยาทิพย์โกษา เจ้าเมืองภูเก็ต ว่าท่านจะมาเที่ยวภูเก็ต เจ้าเมืองเประเลยขอให้ท่านหาพันธุ์ไม้ผลไม้ดอกและกล้วยไม้ไปให้ด้วย แต่เผอิญท่านไม่สบายมาไม่ได้ จึงให้ “คุณศรี” มาหาพันธุ์ไม้ให้เจ้าเมืองเประแทน ขอให้พระยาทิพย์โกษาที่เป็นเองกับท่าน ช่วยหาพันธุ์ไม้ต่างๆนี้ด้วย เป็นช่องทางที่จะพึ่งพาอาศัยกันในวันหน้าหากมีธุระ

พระยาทิพย์โกษาจึงรีบโทรเลขถึงกรุงเทพฯทันทีว่าจะให้จับคุณหญิงศรีหรือไม่ กรมหมื่นเทวะวงศ์กับเจ้านายหลายพระองค์มีความเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควร จะทำให้เป็นเรื่องอื้อฉาวเสื่อมเสียถึงพระเกียรติ
พระเจ้าอยู่หัวไปด้วย ส่วนกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า แม้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เข้ามาเองก็ไม่ควรจับ ควรถือว่าเป็นคนบ้าไปแล้ว

แม้จะตกระกำลำบากและเจ็บป่วยเป็นประจำในบั้นปลายชีวิต แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็มีพระชนม์ยืนยาวได้ถึง ๘๔ ชันษา สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๗๗ อยู่ดูเมืองไทยมีรัฐธรรมนูญได้ไม่ถึง ๒ ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพในรัชกาลที่ ๘ โดยพระศพของพระองค์ได้รับการบรรจุในโกศไม้สี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ยอดโกศเป็นรูปฉัตร ๓ ชั้นไม่มีเครื่องประกอบใดๆ ซึ่งกรมพระนริศรานุวัติวงศ์กราบทูลกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า

“...พระศพพระองค์เจ้าปริศฎางค์นั้น ไม่มีวังจะตั้งทำบุญ จึงไม่มีโอกาสที่จะใช้พระลองทอง คงได้ใช้แค่พระโกศหุ้มขาวเท่านั้น...”

นี่เป็นชีวิตของเจ้านายพระองค์หนึ่ง คนหนุ่มที่รุ่งโรจน์ที่สุดในสยาม ทำคุณประโยชน์ให้ชาติไว้มาก แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ แม้แต่วังที่จะตั้งโกศให้สมพระเกียรติที่พอเหลืออยู่ ก็ยังไม่มี

(https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1006863770814914&id=100044739000097&ref=embed_post)