วันเสาร์, สิงหาคม 27, 2565

เปิดอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ทั่วไทย เริ่ม 1 ต.ค. นี้ สูงสุดคือที่ จ.ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต ขึ้นเป็น 354 บาท ส่วนคนกรุงเทพฯ ได้ขึ้นเป็น 353 บาท แล้วค่าแรงขั้นต่ำ เพียงพอต่อการใช้ชีวิตไหม


บีบีซีไทย - BBC Thai
9h
เปิดอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ทั่วไทย เริ่ม 1 ต.ค. นี้ สูงสุดคือที่ จ.ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต ขึ้นเป็น 354 บาท ส่วนคนกรุงเทพฯ ได้ขึ้นเป็น 353 บาท
.
แล้วค่าแรงขั้นต่ำ เพียงพอต่อการใช้ชีวิตไหม
เราไปดูกันในบทความนี้ https://bbc.in/3CyOLs9
.....
ดูชีวิตคนรับค่าแรงขั้นต่ำใน กทม. เงินเฟ้อกระทบคนจนมากกว่าอย่างไร

ที่มา บีบีซีไทย

มติคณะกรรมการค่าจ้างเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคนไทยแล้ว 5.02% หรือเป็น 328-354 บาท ถือเป็นการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรกในรอบ 2 ปี แต่มันเพียงพอกับคนจนเมืองในไทยหรือไม่

วันที่ 26 ส.ค. ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 21 (กรรมการไตรภาคี) ครั้งที่ 8/2565 เพื่อพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 ร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ

ที่ประชุมเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น 5.02% เป็น 328-354 บาทเริ่มต้นบังคับใช้ 1 ต.ค. 2565 นี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
  • กลุ่มที่ 1 - ขึ้นค่าแรงเป็น 354 บาท ได้แก่ จ.ชลบุรี (เดิม 336 บาท) ระยอง (เดิม 335 บาท) และภูเก็ต (เดิม 336 บาท)
  • กลุ่มที่ 2 - ขึ้นค่าแรงเป็น 353 บาท จาก 331 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร , นนทบุรี , นครปฐม , ปทุมธานี , สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร
  • กลุ่มที่ 3 - ขึ้นค่าแรงเป็น 345 บาท ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จากเดิม 330 บาท
  • กลุ่มที่ 4 - ขึ้นค่าแรงเป็น 343 บาท ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา จาก 325 บาท ,
  • กลุ่มที่ 5 - ขึ้นค่าแรงเป็น 340 บาท จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี จาก 324 บาท , หนองคาย จาก 325 บาท , อุบลราชธานี จาก 325 บาท , พังงา จาก 325 บาท , กระบี่ จาก 325 บาท , ตราด จาก 325 บาท , ขอนแก่น จาก 325 บาท , เชียงใหม่ จาก 325 บาท , สุพรรณบุรี จาก 325 บาท , สงขลา จาก 325 บาท , สุราษฎร์ธานี จาก 325 บาท ,นครราชสีมา จาก 325 บาท ,ลพบุรี จาก 325 บาท และ สระบุรี จาก 325 บาท
  • กลุ่มที่ 6 - ขึ้นค่าแรง จาก 323 เป็น 338 บาท ได้แก่จ.มุกดาหาร , กาฬสินธุ์ , สกลนคร , สมุทรสงคราม , จันทบุรี และ นครนายก
  • กลุ่มที่ 7 - ขึ้นค่าแรงจาก 320 เป็น 335 บาท จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์, กาญจนบุรี , บึงกาฬ, ชัยนาท ,นครพนม ,พะเยา, สุรินทร์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย , พัทลุง , อุตรดิตถ์ ,นครสวรรค์, ประจวบคีรีขันธ์ , พิษณุโลก , อ่างทอง , สระแก้ว ,บุรีรัมย์ และ เพชรบุรี
  • กลุ่มที่ 8 - ขึ้นค่าแรงจาก 315 บาท เป็น 332 บาท จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ จ.อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, ตรัง , ศรีสะเกษ , หนองบัวลำภู, อุทัยธานี, ลำปาง , ลำพูน , ชุมพร, มหาสารคาม , สิงห์บุรี , สตูล , แพร่ , สุโขทัย , กำแพงเพชร , ราชบุรี , ตาก ,นครศรีธรรมราช , ชัยภูมิ , ระนอง และ พิจิตร
  • กลุ่มที่ 8 - ขึ้นค่าแรงเป็น 328 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ยะลา จาก 313 บาท , ปัตตานี จาก 313 บาท , นราธิวาส จาก 313 บาท , น่านจาก 320 บาท และ อุดรธานี จาก 320 บาท

เพียงพอสำหรับคนจนเมืองหรือไม่ ?

แฉล้ม ชาวชุมชนริมทางรถไฟท่าเรือคลองเตย ในวัย 67 ปี มีรายได้จากการเป็นแม่บ้านวันละ 331 บาท พร้อม ๆ กับเลี้ยงดูหลานอีก 2 คน

ที่ชุมชนศิษย์หลวงปู่ขาว ชุมชนแออัดริมคลองเปรม เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ บ้านเกือบทั้งหมดเป็นบ้านเช่า ผู้อาศัยส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นแรงงานที่มาเช่าบ้านและโยกย้ายไปตามที่ทำงาน โดยอาชีพส่วนใหญ่ของพวกเขา คือ แม่บ้าน และ รปภ. ที่ทำงานรับค่าจ้างแบบรายวัน

คนที่ทำงานรับเงินเป็นค่าจ้างรายวัน ใน 1 วันต้องจ่ายเงินกับอะไรบ้าง แล้วพอวันเงินเดือนออกเงินผ่านกระเป๋าแล้วออกไปไวแค่ไหน ในภาวะที่ราคาสินค้าแพงขึ้นขณะนี้ โดยเงินเฟ้อเดือน ก.ค. ขึ้นมาอยู่ที่ 7.61%

ป้าอุบล เป็นแม่บ้านบริษัทเอกชนในหน่วยงานรัฐวิสากิจแห่งหนึ่ง ทำงานได้ค่าจ้างรายวัน วันละ 331 บาท ค่าจ้างของแม่บ้านตามบริษัทนับเป็นรายวันก็จริง แต่เงินจะออก 1 ครั้งต่อเดือน จำนวนวันทำงานที่มากขึ้น คือ ค่าแรงที่ได้เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน เดือนล่าสุด อุบลทำงาน 23 วัน ป้าก็จะได้เงินค่าจ้าง 7,400 บาท

มุ้ง ผ้าถุง กระดาษซับมัน สินค้าส่วนหนึ่ง "ใน ดัชนีราคาผู้บริโภค"
ติ๊กต๊อกสายซื้อของเข้าบ้านบริหารเงินอย่างไรในวิกฤตเงินเฟ้อ
แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0.75% เพิ่มภาระลูกหนี้แค่ไหน

ซื้อกับข้าวตอนเย็น 100 บาท บ้าง 200 บาทบ้าง ครั้งหนึ่ง 100 บาท กินได้สองมื้อ เช้ากับกลางวัน บางวันต้องซื้อของใช้อย่างสบู่ น้ำยาสระผม เครื่องปรุงอย่างพวกน้ำมันพืช น้ำปลา

เมื่อถึงสิ้นเดือน ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟรวมกัน 2,000 กว่าบาท ใช้หนี้เงินกู้ด่วนอีกราว 1,000 บาท ส่งเงินช่วยลูกผ่อนบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้เดือนหนึ่งป้าอุบลจะเหลือใช้กว่า 3,000 บาทเท่านั้น

ปลาร้า ไข่ต้ม คือ อาหารที่กินเป็นประจำ ส่วนอาหารที่ป้าอุบลเลือกซื้อจากรถเข็นขายอาหารสดในเย็นวันหนึ่ง คือ ปลาทูเข่งเล็ก ๆ

อีกฟากหนึ่งของกรุงเทพฯ บีบีซีไทยพบกับหญิงสูงอายุในอาชีพเดียวกันที่ทำงานรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ต่างจากอุบล

"เรารับเงินเดือนไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำงานบางทีก็ 17 วัน ลองไล่ดูสิ 17 วัน ลองไล่เข้าไป ก็ได้เท่านั้น เดือนละ 6 พัน ถึง 6 พันนิด ๆ" แฉล้ม พรมจ้าย หญิงวัย 67 ปี ชาวชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ พระราม 4 บอกกับบีบีซีไทย

แบ่งปันเรื่องราวของคุณ : ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกับคุณอย่างไร

แฉล้ม ที่น่าจะถึงวัยที่ได้พักผ่อนอยู่บ้านแล้ว ยังต้องนั่งรถเมล์ต่อรถสองแถวไปทำงานเป็นแม่บ้านรายวันที่มหาวิทยาลัยย่านสาทร เพื่อเลี้ยงดูหลานวัยชั้นประถมอีก 2 ชีวิต ด้วยค่าแรงรายวันวันละ 331-332 บาท

หลังจากป่วยเป็นโควิด-19 เมื่อกลางปีที่แล้ว และต้องหยุดงานไป 2 เดือน โดยไม่มีรายได้ เมื่อได้โอกาสเข้าทำงานเป็นแม่บ้าน ด้วยความที่ต้นทุนไม่มี เมื่อทำงานได้ 9-10 วัน จึงต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายเป็นค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าน้ำไฟ และกู้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ครั้งละ 2,000-3,000 บาท ด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 10


ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ เขตคลองเตย ที่บ้านของแฉล้มตั้งอยู่

การใช้เงินของป้าแฉล้ม แต่ละวันต้องเสียค่าอาหารและค่าเดินทางให้หลาน 100 บาท ของตัวเอง 100 บาท และอาหารสำหรับมื้อเย็น ตกหนึ่งวันรวมแล้วเกือบ 300 บาท ยังไม่นับค่าของใช้ ยารักษาโรคที่ต้องซื้อตามร้านสะดวกซื้อ ขณะที่ในหนึ่งสัปดาห์จะไปตลาดเพื่อซื้ออาหารสด ไว้สำหรับทำกินในหนึ่งสัปดาห์

“ต้องมี 300 อ่ะไป ยายก็ไปอยู่ประมาณนั้น ต้องมี 300 ไป 300 ต้องใช้ได้อาทิตย์นึง กินอาทิตย์นึง"

“ไก่โลหนึ่งก็ 60-70 แล้ว เดี๋ยวนี้แพง หมูก็ยิ่งซื้อแทบไม่ได้เลย หมู 100 นึง ก็ได้นิดเดียว เดี๋ยวนี้หมูโลหนึ่งก็เกือบ 200 แล้วนะ ส่วนมากป้าไปจะไปซื้อแต่ไก่ ลูกชิ้นมั่ง ปลา ปลาถูกหน่อย” แฉล้มเล่า


อาหารมื้อพิเศษอย่างหมูกระทะ มื้อละ 100-200 บาท เป็นอาหารที่ทั้งอุบล และแฉล้ม บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเธอไม่เคยได้ลิ้มรส

"เขา (หลาน) ก็อยากกินหมูกระทะอย่างนี้ ยายก็ไม่มี อยากกินหมูกระทะ เราก็คิดว่า หมูกระทะ ไม่ได้กิน กินแค่หมูย่างหมูปิ้งไปเท่านี้นะ เราก็หาทางพูดกับหลานไป"



เงินเฟ้อ คือ อะไร

ภาวะข้าวของราคาแพงที่คนทั่วไปสัมผัส นั่นคือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่กว่า 7 %

“เงินเฟ้อกระทบให้ความเหลื่อมล้ำมันสูงขึ้น มันทำให้คนจนลำบากมากกว่า ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ ของคนในประเทศเพิ่มขึ้น....” รศ.ดร. กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุกับบีบีซีไทย

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ อธิบายว่า เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปในประเทศ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์เดือน ก.ค. ระบุว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.61% หมายความว่า ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในเดือน ก.ค. ปีนี้สูงกว่าเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว 7.61%

หากดูตั้งแต่ต้นปี 2565 ตั้งแต่เดือน ก.พ.- มี.ค. อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่ 4% กว่า ๆ ในเดือน ก.พ. เดือน มี.ค. เพิ่มเป็น 5.73% ในเดือน เม.ย. จนมาถึงเดือน มิ.ย. ขึ้นไปที่ 7.66% ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี

“ถ้าเทียบในอดีตที่ไม่มีปัญหาของเงินเฟ้อ ของ (ไทย) เราอยู่ในกรอบ 1-3% เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เงินเฟ้อปัจจุบันก็อยู่ในอัตราค่อนข้างสูงตั้งแต่เราดูข้อมูลต้นปี ดังนั้น ราคาสินค้าก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

รศ.ดร. กิริยา ชวนให้เราดูเฉพาะหมวดพลังงานอย่างเดียว พบว่าแพงขึ้นถึง 34% เมื่อกลุ่มพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของขนส่ง ค่าขนส่งจึงแพงขึ้น 10% โยงไปถึงอาหารสดที่แพงขึ้น 8% ฉะนั้น จึงส่งผลในเรื่องต้นทุนต่าง ๆ ก็จะแพงขึ้น ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เกิดกับทั่วโลก



เงินเฟ้อของเราไม่เท่ากัน

รศ.ดร. กิริยา กล่าวว่า ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนแต่ละกลุ่ม ขึ้นอยู่กับทั้งรายได้ และราคาของสินค้า

หากเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้น คนที่ทำภาคส่งออกหรือท่องเที่ยวอาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นและอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อมากนัก ในขณะที่คนที่มีรายได้ต่ำ คนที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้อยู่เมืองท่องเที่ยว เป็นเกษตรกร แรงงานรับค่าจ้างขึ้นต่ำ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ

“สิ่งที่แรงงานค่าจ้างขั้นต่ำได้รับผลกระทบ เขาได้รับผลกระทบ 3 เด้ง หนึ่ง ราคาสินค้าแพงขึ้น แต่ค่าแรงคงที่ ฉะนั้น เขาก็มีความสามารถในการจ่ายได้น้อยลง ซื้อของได้น้อยลงด้วยรายได้เท่าเดิม อีกเด้งคือ ดอกเบี้ย ที่เพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้น ราคาสินค้าแพง ค่าแรงเท่าเดิม และดอกเบี้ยแพงขึ้น เป็นสามเด้งที่เขาได้รับ”


รศ.ดร. กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คนจน มีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร 45% ของรายได้

ดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่ใช้วัดได้ถึงผลกระทบที่ไม่เท่ากันระหว่างคนรายได้สูงกับคนระดับล่าง ดูกันได้ที่สัดส่วนของเงินที่ใช้ซื้ออาหารกิน ต่อรายได้ที่ได้รับ

“เงินเฟ้อกระทบกับคนไม่เท่ากัน ถ้าเราดูตะกร้าที่จับจ่ายใช้สอย ตะกร้าของคนจน มีสัดส่วนของการซื้ออาหารมาบริโภคถึง 45% ถ้าเทียบกับตะกร้าของคนรวย สัดส่วนการใช้จ่ายของเขา เขาจะซื้ออาหาร สักประมาณ 26% เท่านั้นเอง” รศ.ดร. กิริยา กล่าว

ตัวอย่างง่าย ๆ ที่ รศ.ดร. กิริยา ยกมา คือ เนื้อหมู คนจนก็จะซื้อหมูหน้าเขียง คนรวยจะซื้อหมูในห้างที่มียี่ห้อ หมูเหมือนกัน แต่ว่าหน้าเขียง ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ราคานั้นเพิ่มสูงกว่าราคาหมูที่มียี่ห้อ นี่จึงทำให้เงินเฟ้อ หรือภาวะข้าวของแพง กระทบกับคนจนมากกว่า



มนุษย์เงินเดือน vs รับจ้างรายวันค่าแรงขั้นต่ำ

มองในเรื่องรายได้ รศ.ดร. กิริยา อธิบายว่า เมื่อแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำไม่ขึ้นมากว่า 2 ปี ขณะเดียวกัน จำนวนชั่วโมงการทำงานหลังจากการระบาดของโควิด-19 ยังไม่กลับมาเท่าเดิม ระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ส่วนกลุ่มรายได้สูง ๆ ชั่วโมงการทำงานกลับมาปกติแล้ว เพราะฉะนั้นแน่นอนว่า รายได้ของกลุ่มนี้จะใกล้เคียงกับช่วงก่อนการเกิดโควิด

แต่กลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ ตั้งแต่กลุ่มการศึกษาระดับ ม.3 ลงมา ชั่วโมงการทำงานยังลดต่ำ แม้มีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตอนเกิดโควิด ดังนั้น รายได้ของกลุ่มนี้จึงยังเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่คนรายได้สูงเหมือนเดิมแล้ว เพราะชั่วโมงการทำงานเท่าเดิม


“กลุ่มนี้ (คนรายวัน) ค่าจ้างก็เท่าเดิม แล้วชั่วโมงการทำงานก็น้อยลงอีก มันก็จะกระทบ ทำให้รายได้กลุ่มนี้ ฟื้นตัวไม่เท่ากัน รายได้ไม่กลับมาเท่าตอนเกิดโควิด เพราะฉะนั้น รายได้ก็ไม่เพิ่ม คิดเป็นอัตราต่อชั่วโมงต่อวัน ก็ไม่เพิ่ม จำนวนชั่วโมงคูณเข้าไปก็น้อยรายได้ รวมก็น้อย”

ราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้ไม่เพิ่ม จึงเป็นเหตุให้ภาวะเงินเฟ้อกระทบต่อคนละกลุ่มไม่เท่ากัน

คนจนหนี้ครัวเรือนสูง รายได้ 100 จ่ายหนี้ไปแล้ว 90

ตัวอย่างจากแม่บ้านที่รับค่าจ้างรายวันข้างต้น มีรูปแบบคล้าย ๆ กันคือ แต่ละคนมีหนี้จากการกู้ยืมเงิน เพื่อมาอุดช่องเงินที่ไม่พอใช้ในแต่ละเดือน

ในความเป็นจริงแล้ว หนี้ครัวเรือนนั้นเป็นปัญหาของกลุ่มแรงงานหรือมนุษย์ที่รับเงินเดือนด้วย หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ย่อมส่งผลกระทบต่อคนที่มีหนี้อย่างแน่นอน

รศ.ดร. กิริยา กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้เกินคาดการณ์ เพราะเมื่อภาวะเงินเฟ้อสูง การควบคุมนโยบายการเงินก็จะพยายามลดเงินเฟ้อให้ลงมาด้วยวิธีการเพิ่มดอกเบี้ย

เมื่อเพิ่มดอกเบี้ยแล้ว ก็จะไปชะลอการใช้จ่าย เพื่อ "ต้องการเหยียบเบรกไม่ให้เศรษฐกิจมันร้อนแรงเกินไป" ซึ่งผลพวงที่เกิดขึ้นด้านหนึ่งจะเกิดแก่ครัวเรือนที่มีภาระหนี้สิน อย่างการผ่อนบ้านที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งจะขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ กนง. เพิ่งปรับขึ้น



"คนตัวเล็กตัวน้อยเค้ามีภาระหนี้สินสูง เรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย เป็นปัญหาเยอะมาก ถ้าเราคิดอัตราหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 90% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ซึ่งสูงมาก หมายความว่าอะไร ถ้าวันนี้ เราต้องเอารายได้ของเรามาใช้หนี้ เราใช้หนี้ไป 90 เราจะเหลือบริโภค แค่ 10 เอง"

ส่วนรูปแบบการหาเงินหมุนเพื่อมาใช้จ่ายของคนจน รศ.ดร. กิริยาอธิบายว่า เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่จะกู้ธนาคารได้ จึงต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยแพง ๆ การเงินนอกระบบ อย่างการตั้งวงแชร์ หรือการกู้เงินนอกระบบ จึงเป็นแหล่งเงินที่กลุ่มนี้จะได้มาซึ่งสิ้นเชื่อที่มีดอกเบี้ยค่อนข้างจะแพง

ค่าจ้างขั้นต่ำช่วยได้ไหม

เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันไม่ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 ล่าสุด คณะกรรมการไตรภาคี ที่มีทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายแรงงาน และฝ่ายรัฐ มีข้อสรุปว่าจะมีการปรับค่าจ้างขึ้น 5-8% โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุเมื่อต้นเดือน ส.ค. ว่ามีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. นี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ในต้นปี 2566

รศ.ดร. กิริยา อธิบายว่า ไม่ใช่ทุกอาชีพที่อยู่ภายใต้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น เกษตรกร ไม่ได้อยู่ภายใต้ค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเปรียบเทียบจะมีผลเช่นกัน เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำเป็นจุดอ้างอิงให้ค่าจ้างในภาคอื่นขึ้นในทิศทางเดียวกัน

"พอค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นปุ๊ป ค่าจ้างอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นตาม ถามว่ามีผลไหม จะมีผลที่จะทำให้ค่าจ้างอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือกฎหมายคุ้มครองแรงงานถูกบังคับใช้ มีผลโดยทางอ้อมเอง" นักวิชาการหญิง ระบุ


คนรับค่าแรงขั้นต่ำใน กทม. ใช้ชีวิตแต่ละเดือนยังไง - BBC News ไทย

Aug 22, 2022