วันศุกร์, กรกฎาคม 08, 2565

"บุ้ง-ใบปอ" ไม่ได้ประกัน ทั้งคู่ยังมีสุขภาพดี จึงให้ขังต่อไป จนกว่าจะตายก่อน ?


.....
ทะลุมช - Thalu CMU
4h

รูปที่แขวนไว้ในศาลมานานปี
แสดงฤทธิ์พิจารณาคดีช่วยผู้พิพากษา
ไม่ช่วยประชาชนคนธรรมดา
ที่ไม่กล่าวคำว่า "ทรงพระเจริญ"
เมฆ'ครึ่งฟ้า
#ยกเลิก112
#ปล่อยเพื่อนเรา
#ทะลุมช
.....
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
7h
วันที่ 7 ก.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนพยานจากราชทัณฑ์เพิ่มเติม ในคดีของ “ใบปอ นามสมมุติ” และ “บุ้ง เนติพร (สงวนนามสกุล)” นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ในคดีจากการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 เวลา 16.02 ศาลยังคงมีความสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสอง ชี้ว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีความสามารถในการดูแลอาการป่วยของทั้งสองคนได้
.
ทั้งนี้ นี้เป็นครั้งที่ 6 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว หลังจากทั้งสองได้ยื่นประกันตัวมาแล้วเมื่อวันที่ 20, 27 พ.ค. และ 2, 16 และ 23 มิ.ย. 2565 และยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันต่อศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 และนับจากวันที่ 3 พ.ค. 2565 ทั้งสองถูกคุมขังมาแล้ว 66 วัน และอดอาหาร 36 วัน
.
วานนี้ (6 ก.ค. 2565) ศาลได้ไต่สวนประกันตัวบุ้งและใบปอ โดยมีพยานผู้ร้องและผู้ขอกำกับดูแลคือ ชญาภัส (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของบุ้งขึ้นเบิกความแล้ว
.
หลังจากรอคำสั่งนานกว่า 6 ชั่วโมง ศาลได้มีคำสั่งให้เบิกตัวพยานจากราชทัณฑ์เพิ่มเติม จำนวน 2 ปาก คือ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ และเจ้าพนักงานอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญการ จากทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเรื่องอาการป่วยของจำเลยทั้งสองราย
.
อ่านบันทึกไต่สวนพยานผู้ร้องเพิ่มเติม >>> กว่า 6 ชั่วโมง หลังไต่สวนประกัน “บุ้ง — ใบปอ” ศาลขอนัดไต่สวนพยาบาลจากราชทัณฑ์เพิ่มอีก ก่อนนัดฟังคำสั่ง 8 ก.ค. https://tlhr2014.com/archives/45732
.
วันนี้ เวลา 09.05 น. บรรยากาศหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เต็มไปด้วยความครึกครื้นของเหล่ามวลชนที่ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ในบริเวณหน้าศาล ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 จนถึงวันนี้ (7 ก.ค.2565) รวมระยะเวลา 7 วัน ซึ่งผู้ชุมนุมได้เปิดเผยว่าพวกเขามีจำนวนคนมากถึง 30 คน และจะปักหลักพร้อมทั้งพักอาศัยอยู่ที่หน้าศาลอาญาแห่งนี้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสองคน
.
ต่อมา 10.00 น. พยาบาลและเจ้าหน้าที่จากราชทัณฑ์ได้เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี พร้อมด้วยประชาชนผู้ติดตามกลุ่มทะลุวัง
.
ในเวลา 10.07 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยขอให้พยาบาลจากทัณฑสถานหญิงกลาง ขึ้นเบิกความก่อน ทั้งนี้ศาลได้แถลงว่า ในการเบิกความเพิ่มเติมสองปากนี้ ‘รองอธิบดีผู้พิพากษา’ ต้องการข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการป่วยของจำเลยทั้งสองราย
.
พยานปากที่ 1 : พยาบาลวิชาชีพจากทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหาคร
.
พยานขึ้นเบิกความพร้อมสาบานตน ทราบชื่อ วิลาสินี อายุ 30 ปี รับราชการที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหาคร จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ ปัจจุบันประกอบอาชีพ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
.
ศาลได้ถามต่อพยานว่า ในคดีนี้พยานเคยเจอจำเลยทั้งสองมาก่อนใช่หรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่า ตนเป็นผู้ซักถามประวัติสุขภาพของจำเลยทั้งสองตั้งแต่แรกรับ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565
.
ทั้งนี้ ศาลได้ถามต่อว่า ในตอนแรกรับจำเลยทั้งสองได้ระบุอาการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวให้พยานทราบหรือไม่ และพยานได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับบุ้ง (จำเลยที่ 3) ซึ่งมีอาการป่วยจนทรุดหนักเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
.
ซึ่งวิลาสินีได้ตอบว่า จำเลยทั้งสองแจ้งว่าไม่ได้มีประวัติโรคประจำตัวแต่อย่างใด ส่วนในวันที่ 27 มิ.ย. ตนเป็นพยาบาลเวรในวันดังกล่าว จึงได้รับแจ้งจากบุ้งว่ามีอาการปวดท้องหนัก ในเวลาประมาณ 21.00 น. โดยตนได้เข้าไปดูอาการที่หน้าห้องขังและได้ซักถามอาการเจ็บป่วย เห็นว่าอาการไม่สุขสบาย จึงส่งออกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในคืนเดียวกัน
.
นอกจากนี้ วิลาสินีได้แถลงต่อว่า ตนได้ตามประกบดูแลอาการของบุ้งตลอดทางจนถึงโรงพยาบาล และเมื่อไปถึงแล้ว แพทย์และพยาบาลได้มีการวัดความดัน ตรวจร่างกาย และเจาะเลือด ก่อนที่แพทย์จะประเมินอาการและให้แอดมิทที่โรงพยาบาล
.
ทั้งนี้ ศาลได้ถามต่อพยานว่าในการแอดมิทของบุ้ง หรือจำเลยที่ 3 แพทย์ได้มีการรักษาหรือตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่าในการแอดมิทของบุ้ง แพทย์ได้ทำการให้น้ำเกลือ เอ็กซ์เรย์ช่องท้อง เจาะเลือด เก็บปัสสวะ งดการให้อาหารและน้ำ ตลอดจนการให้ยาฆ่าเชื้อกับจำเลย ซึ่งหลังจากได้มีการส่งตัวจนเป็นที่ทราบอาการเบื้องต้นแล้ว พยานก็ได้เดินทางกลับไปทัณฑสถานหญิงกลาง
.
พยานแถลงเพิ่มเติมว่า หลังจากในวันที่ 27 มิ.ย. ก็ไม่ได้เจอบุ้งอีกเลย แต่ทราบว่าได้มีการนำตัวบุ้งกลับมาที่เรือนจำ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 แต่ถึงอย่างนั้น พยานก็ไม่ได้เป็นเวรในวันดังกล่าว จึงทำให้ไม่ได้ทราบอาการหรือเจอตัวของบุ้งแต่อย่างใด
.
ต่อมา ในวันที่ 3 ก.ค. 2565 พยานได้เข้าเวร และได้รับหน้าที่ในการตรวจร่างกายของจำเลยทั้งสองคน เนื่องจากว่าทั้งสองได้อดอาหารมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งศาลได้ถามต่อพยานว่าสภาพร่างกายของทั้งสองเป็นอย่างไรบ้างในวันดังกล่าว
.
วิลาสินี ได้แถลงต่อศาลว่า จำเลยทั้งสองมีชีพจรปกติ ระดับความดันอยู่ในค่าคงที่ และมีระดับค่าออกซิเจนในเกณฑ์ที่ยังปกติดี และได้สอบถามถึงการอดอาหารในครั้งนี้ พบว่าจำเลยทั้งสองได้ดื่มเพียงแค่น้ำเท่านั้น แต่หลังจากวันที่ 3 ก.ค. เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ (7 ก.ค. 2565) พยานก็ไม่ได้พบกับจำเลยทั้งสองอีกเลย
.
ศาลได้ถามต่อวิลาสินี สภาพของบุ้งเป็นอย่างไรบ้าง โดยขอให้วัดจากการประมวลทางสายตาของพยานเอง ซึ่งพยานได้บอกว่า เท่าที่พูดคุยในวันที่ 3 ก.ค. บุ้งตอบโต้รู้เรื่อง น้ำหนักเสียงและการเคลื่อนไหวปกติดี มีอาการอ่อนเพลียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ไม่ถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อ
.
อย่างไรก็ตาม พยานได้แถลงต่อศาลว่าในการอาการป่วยด้วยโรคประจำตัว หรืออาการก้อนเนื้อในมดลูกของบุ้งนั้น พยานไม่ได้ทราบมาก่อน และได้ยืนยันว่าตนปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยตามมาตราฐานของสาธารณสุข
.
ในเวลา 10.35 น. ทนายความได้ขออนุญาตซักถามพยานเพิ่มเติม ถึงวันแรกรับที่พยานได้พบกับจำเลยทั้งสอง โดยถามต่อพยานว่า ในวันดังกล่าวจะมีการตรวจร่างกายของผู้ต้องขังรายใหม่พร้อมกันหลายคน ซึ่งในการตรวจร่างกาย จะให้กรอกใบประวัติเองแต่ไม่ได้ซักถามใช่หรือไม่
.
วิลาสินี ได้อธิบายว่าในวันแรกรับที่มีการตรวจร่างกาย พยานได้ให้กรอกใบประวัติทางการแพทย์ วัดอุณหภูมิ ความดันและได้ซักถามอาการ รวมถึงโรคประจำตัวของจำเลยทั้งสองด้วยตนเอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งกับพยานว่ามีโรคประจำตัวใด จึงทำให้ไม่มีการตรวจสอบอาการเพิ่มเติม
.
นอกจากนี้ ทนายได้ถามต่อพยานว่า ในวันที่ 27 มิ.ย. คำสั่งที่ให้บุ้งแอดมิท เป็นคำสั่งของแพทย์ใช่หรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่าใช่ ก่อนที่ศาลจะได้ถามแทรกกับพยานว่า พยานรู้ถึงอาการปวดท้องของบุ้งหรือไม่ว่าสาเหตุของอาการดังกล่าวเป็นผลจากก้อนเนื้อในมดลูก หรือเพราะเหตุใด
.
ทั้งนี้ ทนายได้แถลงต่อศาลว่า การถามเช่นนี้ ผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาอาการป่วยของบุ้งควรเป็นความเห็นของแพทย์ ไม่ใช่พยาน จึงขอต่อพยานว่าให้เบิกความตามความจริง เพราะในคดีนี้เป็นเรื่องความเป็นความตายของชีวิตคน
.
ทนายได้ถามต่อพยาน ในฐานะที่พยานเป็นพยาบาลวิชาชีพ การตรวจเนื้องอก หรือความผิดปกติในมดลูกต้องใช้เครื่องมืออย่าง เครื่อง MRI ใช่หรือไม่ ซึ่งวิลาสินีได้อธิบายว่า ในการจะตรวจถึงความผิดปกติในมดลูก ควรต้องมีการส่งชิ้นเนื้อตรวจทางอัลตร้าซาวด์ด้วย และในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีเพียงเครื่อง CT scan เท่านั้น ไม่ได้มีเครื่องมืออย่าง MRI หรือเครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดว่าเนื้องอกในมดลูกดังกล่าวเป็นเนื้อร้ายหรือไม่
.
อย่างไรก็ตาม ทนายได้ถามต่อวิลาสินีว่าในการตรวจสอบก้อนเนื้อดังกล่าว ราชทัณฑ์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องส่งออกไปตรวจที่โรงพยาบาลข้างนอกใช่หรือไม่ แต่ผลตรวจเลือด ราชทัณฑ์มีทรัพยากรที่สามารถทำการวิเคราะห์ผลได้ และพยานก็ได้ตอบว่าใช่
.
นอกจากนี้ แพทย์เคยวินิจฉัยว่า บุ้งมีภาวะค่าโพแทสเซียมต่ำจนอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ทนายจึงถามต่อพยานว่าในทราบอาการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่า ภาวะโพแทสเซียมต่ำมีผลต่อกล้ามเนื้อจริง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจได้หรือไม่
.
อ่านข้อเท็จจริงจากบุ้งเรื่องภาวะโพแทสเซียมต่ำ >>> บุ้งยังอยู่โรงพยาบาล มีภาวะโพแทสเซียมต่ำ ฝากจดหมายช่วยดูแลใจแม่ https://tlhr2014.com/archives/45478
.
พยานได้แถลงเพิ่มเติม ในส่วนอาการของใบปอ (จำเลยที่ 2) โดยบอกว่าตั้งแต่แรกรับจนวันที่ 3 ก.ค. 2565 ร่างกายของจำเลยซูบผอมลงชัดเจน แต่ยังพูดคุยได้ปกติ และมีอาการอ่อนเพลียเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายความได้ขอให้พยานอัปเดตน้ำหนักตัวล่าสุดของจำเลยทั้งสอง
.
วิลาสินี ได้แถลงต่อศาลพร้อมเอกสารทางการแพทย์ว่า ในส่วนของบุ้งในวันแรกรับมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 83 กิโลกรัม ปัจจุบัน 72.9 กิโลกรัม ลดลงมา 10 กิโลกรัม ส่วนใบปอน้ำหนักแรกรับอยู่ที่ 53 กิโลกรัม ปัจจุบัน 49.2 ลดลงมาเกือบ 4 กิโลกรัม
.
พยานปากที่ 2 : เจ้าพนักงานอบรมและฝึกวิชาชีพ ชำนาญการ จากทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร
.
ต่อมา 10.53 น. พยานปากที่ 2 ได้ขึ้นเบิกความ ทราบชื่อ วัชรีวรรณ อายุ 56 ปี รับราชการอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์ ปัจจุบันประกอบอาชีพเจ้าพนักงานอบรมและฝึกวิชาชีพ ชำนาญงาน ตลอดจนเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขัง
.
ศาลได้ถามต่อพยานว่า พยานเคยเจอกับจำเลยทั้งสองหรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่า ตนได้พบกับจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันแรกรับ 3 พ.ค. เป็นต้นมา และได้พบกันอยู่เป็นประจำ ตลอดจนได้มีการพูดคุยทักทาย และให้กำลังใจจำเลยทั้งสองในการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำอีกด้วย
.
วัชรีวรรณได้แถลงต่อศาลว่า ในวันแรกรับมีสภาพปกติดี โดยจำเลยทั้งสองได้ถูกนำไปกักตัวตามมาตราการโควิด – 19 ของกรมราชทัณฑ์ เป็นระยะเวลา 10 วัน ก่อนจะถูกย้ายมาที่ห้องกันชน โควิด – 19 อีก 7 วัน หลังจากนั้นจึงได้ลงมาใช้ชีวิตตามปกติที่เรือนจำ ซึ่งพยานเป็นผู้เดินตรวจตราทำให้ได้เจอจำเลยทั้งสองอยู่อย่างสม่ำเสมอ
.
ศาลได้ถามพยานว่า พยานทราบเรื่องอาการป่วยและชีวิตประจำวันของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่า ตนทราบอาการป่วยและชีวิตประจำวันของทั้งสองคน ตลอดจนทั้งสองได้มีความประสงค์ที่จะอดอาหารตั้งแต่วันที่ ตะวัน ทานตะวัน ได้รับการประกันตัวออกมา แต่ไม่ทราบอาการป่วยที่มดลูกของบุ้ง ถึงอย่างนั้น พยานก็ได้พูดให้กำลังใจกับจำเลยทั้งสองอยู่เป็นประจำ
.
ต่อมา ทนายได้ขอซักถามพยาน โดยถามว่าในวันที่ 27 มิ.ย. มีการส่งตัวบุ้งไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ พยานทราบหรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่าตนทราบเรื่องนี้ แต่ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงว่าบุ้งเข้าโรงพยาบาลเพราะสาเหตุใด แต่ทราบถึงวันที่จำเลยได้ถูกนำตัวกลับมาที่เรือนจำเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา
.
นอกจากนี้ ทนายยังได้ถามต่อพยานอีกว่า พยานทราบถึงเรื่องอาการปวดหัวไมเกรนของใบปอ ตลอดจนสภาพล่าสุดของทั้งคู่เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ พยานได้ตอบว่าล่าสุดที่พบทั้งสองคือเมื่อวันที่ 6 ก.ค. พบว่าทั้งสองคนยังสามารถใช้ชีวิตปกติ ไม่มีอาการใดๆ ยังเดินได้ และสดใสร่าเริง อย่างไรก็ตามพยานได้แถลงเพิ่มเติมว่า ทั้งคู่มีร่างกายที่ซูบผอมและน้ำหนักลงอย่างชัดเจน
.
ทนายความยื่นคำร้องขอให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งประกันตัว บุ้ง — ใบปอ เป็นวันนี้ เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคน
.
เวลา 11.25 น. ศาลได้ไต่สวนพยาน 2 ปาก จากราชทัณฑ์เสร็จสิ้น ทั้งนี้ทนายได้ยื่นคำร้องขอให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งจากวันที่ 8 ก.ค. 2565 เวลา 11.00 น. มาเป็นในวันนี้แทน โดยมีข้อความระบุว่า
.
1.คดีนี้ ศาลนัดไต่สวนพยานเพิ่มเติมวันนี้ และมีคำสั่งให้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.00 น.
.
2.แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องด่วนกระทันหัน ที่อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตของจำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสอง ขอศาลได้โปรดมีคำสั่งให้เลื่อนการนัดฟังคำสั่งในกรณีนี้ เป็นวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.30 น. ด้วย
.
ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสอง ในการวางแผนการรักษาพยาบาลและอาการป่วยโดยเร็ว ไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นประการใดก็ตาม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต
.
ต่อมา 12.17 น. ศาลได้รับคำร้องของทนายความ และได้นัดให้ทนายและนายประกันเข้าฟังคำสั่งที่ห้องงานประกันชั้นล่างของศาล ในเวลา 15.00 น.
.
16.02 น. ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว บุ้ง — ใบปอ นักกิจกรรมหญิงจากกลุ่มทะลุวัง โดยระบุใจความสำคัญว่า ‘เมื่อพิจารณาคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 – 3 แล้ว ไม่ปรากฎว่าข้อเท็จจริงว่าหากจำเลยที่ 2 – 3 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อห้าม หรือคำสั่งของศาลได้แต่อย่างใด จึงมีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองอาจกระทำการที่ละเมิดเงื่อนไจหรือข้อห้ามคำสั่งของศาลอีก
.
ส่วนที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 – 3 มีสุขภาพทรุดโทรม จนอาจถึงอันตรายแก่ชีวิตและมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำทำให้หัวใจวายได้ ก็ปรากฎว่า ได้ความจากพยานปากนางวัชรีวรรณ (เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์) เบิกความต่อทนายผู้ร้องว่าจำเลยทั้งสองยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติ เดินเหิน และมีความสดใสรื่นเริง สภาพร่างกายซูบผอมในลักษณะที่น้ำหนักลดลงเท่านั้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสุขภาพทรุดโทรมจนอาจถึงอันตรายแก่ชีวิตตามที่อ้าง
.
ส่วนใบสรุปประวัติการรักษาพยาบาลของจำเลยที่ 3 หรือ บุ้ง ได้มีการเข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นระยะเวลาผ่านมากว่า 2 ปีก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ และในเอกสารดังกล่าวระบุว่าผู้ป่วยขอรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลของท่าน ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีแพทย์ที่สามารถดูแล และรักษาผู้ต้องขังที่ป่วยรวมทั้งจำเลยที่ 3 ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้วตามที่จำเลยที่ 3 ไปแจ้งต่อโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อขอออกใบสรุปประวัติการรักษาพยาบาลและส่งตัวผู้ป่วย กรณีจึงยังไม่มีพฤติการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง’
.
คำสั่งลงนามโดย นายสันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้
.
.
อ่านบนเว็บไซต์และอ่านคำสั่งฉบับเต็มของศาลอาญากรุงเทพใต้ >>https://tlhr2014.com/archives/45759