วันอังคาร, มิถุนายน 21, 2565

Decode Plus แฉ 1 ปี หลังยิง ‘วาฤทธิ์ สมน้อย’ เสียชีวิตหน้า สน.ดินแดง หลักฐานใหม่ “เป็นเด็กตำรวจ”



ยื้อเวลาให้คนลืม เพื่อปล่อยคนผิดลอยนวล

“คดีนี้เป็นคดีที่ง่ายด้วยซ้ำ แต่ก็มีเทคนิคทางการทำงาน ถ้าอยากยื้อให้คดีออกไปนานๆ ก็ทำสำนวนให้มีข้อบกพร่อง อัยการจะได้ส่งสำนวนกลับมาให้แก้ จะมีระยะเวลาที่ยื่นออกไปได้อีกโดยไม่ผิดระเบียบ”

พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน และ ส.ส. พรรคก้าวไกล รองประธานในคณะทำงานสืบหาข้อเท็จจริง (Fact finding) กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ได้พูดคุยกับ De/code ถึงการเข้าไปเก็บหลักฐาน และเบาะแสที่เชื่อมโยงกับคนร้าย ชวลิตแสดงความเป็นกังวลถึงคดีนี้ว่า

“สิ่งที่ผมกลัวคือการพยายามทำสำนวนคดีให้อ่อน และตัวผู้ต้องหาก็หลุดคดี เพราะตัวพยานหลักฐานอ่อน อาจจะเป็นความตั้งใจของเขาอยู่แล้วก็ได้ ทำตามกระบวนการไปเรื่อย ๆ ยื้อเวลาให้คนลืม”

โดยข้อมูลจาก รายงานการดำเนินการศึกษากรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ระบุว่า

คณะทำงานฯ พบหลักฐานที่ชี้ว่าในช่วงเวลาที่ ด.ช.วาฤทธิ์ถูกยิงนั้น มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 12 คน ที่คาดว่าหนึ่งในนั้นคือ ชุติพงษ์ ทิศกระโทก กลุ่มของเขาเริ่มทำร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมบนท้องถนน บริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 14 เวลาสองทุ่มเศษ โดยมีด.ช.ธนพล อายุ 14 ปี ถูกยิงบริเวณหัวไหล่ และวัยรุ่นคนอื่น ๆ ถูกไม้จากกลุ่มชายฉกรรจ์ไล่ฟาด


20.42 น. กลุ่มชายฉกรรจ์ขี่มอเตอร์ไซต์ มุ่งหน้าไปทางซอยประชาสงเคราะห์ 21 โดยซอยนี้สามารถทะลุเข้าข้างหลัง สน.ดินแดงได้ เป็นระยะทางเพียง 480 เมตร ก่อนที่ในเวลา 20.44 น. วาฤทธิ์จะถูกยิง

จนกระทั่งเวลา 21.38 น. พบว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์หลายคนยืนอยู่ภายในรั้ว สน.ดินแดง โดยกลุ่มชายฉกรรจ์เหล่านี้ไม่ได้ใส่เครื่องแบบตำรวจ และมีลักษณะการแต่งกายคล้ายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุทำร้ายผู้อื่น หน้าปากซอยประชาสงเคราะห์ 14 และกลุ่มที่ไล่ยิงวาฤทธิ์หน้า สน.ดินแดง

ซึ่งในเวลานั้น สน.ดินแดงมีการปกป้องสูงสุดจากหน่วย คฝ. ที่ป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมหรือประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป จึงย่อมไม่ใช่เรื่องปกติที่จะมีการอนุญาตให้พลเรือนหรือประชาชนคนใดเข้าไปในพื้นที่ สน.ได้

โดยในรายงานฉบับนี้ได้ข้อสรุปด้วยคำถามว่า คนกลุ่มนี้เป็นใคร พวกเขามีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดงอย่างไร

ซึ่งถ้าหากคนกลุ่มนี้คือกลุ่มของชุติพงษ์ ทิศกระโทก ที่ตำรวจจับกุมมาได้ ข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ก็บอกมาตรงกันว่า เขาเคยทำงานให้ตำรวจ สน.ดินแดง จึงเป็นเรื่องที่สน.ดินแดง ต้องออกมาชี้แจง หรือเร่งส่งสำนวนคดีความที่สมบูรณ์ให้อัยการ ไม่อย่างนั้นเราคิดว่า การปล่อยให้ สน.ดินแดงทำคดีนี้ต่อไป ก็เหมือนให้ผู้รู้เห็นเป็นใจกับผู้ทำผิด มาสืบหาความผิดของตัวเอง?

“มันผิดปกติตั้งแต่ตอนเกิดเหตุแล้วว่ากลุ่มคนก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง มีความสัมพันธ์กันอย่างไร นำมาถึงกระบวนการสืบสวน สอบสวน ที่ไม่คืบหน้า”

กลับมาที่การพูดคุยกับ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ เขาให้ความเห็นว่าคดีนี้ สน.ดินแดงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงควรที่จะโอนคดีนี้ให้หน่วยงานอื่นเป็นคนดูแล ชวลิตแสดงความมั่นใจว่า

“คนร้ายยิงปืนออกมาจากบริเวณตรงหน้า สน. เมื่อยิงเสร็จแล้วก็ยังอยู่แถวนั้น โดยที่ในอาคารโรงพักก็มีตำรวจ จึงนำมาสู่ข้อบ่งชี้ที่ควรสงสัยได้ว่า

“ความสัมพันธ์ของกลุ่มชายฉกรรจ์ที่เป็นผู้ก่อเหตุ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเขาก่อเหตุอย่างอุกอาจหน้า สน.ดินแดง เป็นประเด็นสำคัญที่จะมาเชื่อมโยงกับคำถามที่ว่า ทำไมคดีถึงไม่คืบหน้า”

โดยในตอนท้าย พ.ต.ต.ชวลิต ได้ฝากถึงตำรวจ สน.ดินแดงไว้ว่า

“ในฐานะที่เคยเป็นตำรวจพิสูจน์หลักฐาน หลักฐานที่ผมไปดูมามันชัดเจนว่าเชื่อมโยงกับตัวสถานีตำรวจดินแดง ดังนั้นตำรวจ สน.ดินแดงต้องมาเคลียร์ แต่การที่ไม่ยอมออกมาเคลียร์ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ แสดงว่าคุณทำเองรึเปล่า?”



แอมเนสตี้ ประเทศไทย ความหวังจากกลไกระหว่างประเทศ

“ทางแอมเนสตี้ ประเทศไทย จะติดตามคดีนี้จนถึงที่สุด ไม่ควรมีใครได้รับความสูญเสียแบบนี้ วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดต้องไม่เกิดขึ้นอีก”

นุ่น มนูญ วงษ์มะเซาะห์ ผู้ช่วยฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือให้มีการเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น กล่าวกับเราถึงเรื่องการคืนความยุติธรรมให้กับวาฤทธิ์ว่า

“เราได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องทางการไทยต้องสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำตัวผู้กระทำผิดเข้ารับการไต่สวนและลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม”

นอกจากนี้แอมเนสตี้ ประเทศไทย ยังเข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์การสหประชาชาติ (United Nations) สถานทูต และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ โดยจะนำเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าของวาฤทธิ์ เข้าไปพูดคุย ให้หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกดดันทางการไทยให้เร่งการตรวจสอบ

แต่กลไกระหว่างประเทศไม่อาจเพียงพอ เพราะเราอยู่ในสังคมที่หากจะกดดันหน่วยงานรัฐ จำเป็นต้องอาศัยกลไกจากสังคมภายใน นุ่นกล่าวว่าถ้าสังคมตื่นตัวเรื่องของวาฤทธิ์ เราคงมีความหวังมากกว่านี้

“วาฤทธิ์เสียชีวิตจากการออกไปใช้เสรีภาพในการชุมนุม รัฐมีหน้าที่ทำให้พื้นที่ที่ผู้คนออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราอยากขอให้สังคมตื่นตัวกลับมาพูดถึงวาฤทธิ์ กลับมาเร่งรัดรัฐบาลผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เร่งตรวจสอบ คืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวของวาฤทธิ์ กระบวนการยุติธรรมควรปกป้องเหยื่อไม่ใช่ทำร้ายเหยื่อ”

แต่ไม่ว่าเรื่องราวของวาฤทธิ์จะถูกกลับมาพูดถึงหรือไม่ นุ่นกล่าวในตอนท้ายในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนว่า

“ยังมีความหวังอยู่ เราต้องทำงานสิทธิมนุษยชนอย่างมีความหวัง ถ้าหมดหวังเมื่อไหร่ทุกสิ่งจะไม่ขับเคลื่อน ถ้าเคสนี้ไม่ได้รับความยุติธรรมจริง ๆ เราทุกคนต้องใฝ่หาให้วาฤทธิ์ เดินหน้าทำงานต่อไป เพราะหน้าที่ของเราคือต้องจดบันทึกประวัติศาสตร์นี้ไว้เพื่อไม่ให้ถูกลืม”



วาฤทธิ์ สมน้อย จะไม่มีวันถูกลืม จนกว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้น

“แม่สู้ต่ออยู่แล้ว ไม่ว่ายังไงแม่ยังอยากรู้ว่า ที่น้องถูกยิงใครเป็นคนทำ แต่เสียงเราดังไม่พอ ตัวเราพร้อมเสมอแต่ไม่มีใครคอยช่วยเรา เหมือนคดีอื่นที่เป็นกระแสสังคม

“แม่เลี้ยงมาของแม่ตั้งแต่เล็กจนโต ลูกแม่ไม่เคยเจ็บและทรมานขนาดนี้ เขาทรมานมากเลยนะ ขนาดเรานอนไม่ขยับซักชั่วโมงสองชั่วโมง แม่คิดว่ายังเหนื่อยเลย แต่นี่เขาสู้มาจนถึงสองเดือนครึ่ง จนเขาสู้ไม่ไหว เขาทรมานแล้วเราคนที่ยังอยู่ทรมานยิ่งกว่า

“แม่คิดถึง แม่อยากกอด แม่อยากทำในสิ่งที่แม่เคยรับปากเขาไว้ แต่แม่ไม่ได้ทำ เขาเคยขอแม่ไว้หลาย ๆ อย่าง แม่บอกเขาเดี๋ยวก่อนเดี๋ยวแม่ทำให้ รอแม่ว่างก่อน สุดท้ายแม่ไม่ได้ทำ เขาอยากได้ชุดบอล แม่บอกรอตังแม่ออกก่อน เดี๋ยวแม่พาไปซื้อให้ และก็เดี๋ยวอีกหลายอย่าง จนน้องไม่อยู่แล้ว

“ให้บอกอะไรถึงตำรวจที่ทำคดี สำหรับแม่ไม่มีอะไรให้บอกแล้ว ถ้าคนที่ล้มลงเป็นญาติ หรือเป็นแม้กระทั่งลูกของคุณ คุณจะสนใจเขาไหม จะเป็นแผลในใจของคุณไหมว่า วันหนึ่งคดีของลูกหลานคุณจะเงียบหายไป ถ้าเป็นตำรวจเขาจะทำอย่างไร คุณยังจะเลือกปฏิบัติเหมือนที่ทำกับวาฤทธิ์อยู่ไหม

อ่านบทความเต็ม
“เป็นเด็กตำรวจ” ปากคำพยาน หลักฐาน(ใหม่)โยงสน.ดินแดง? ฆาตกรรมซ้ำ “วาฤทธิ์ สมน้อย”
ที่ decode.plus