วันอาทิตย์, เมษายน 02, 2560

HRLA/CPCR/CrCF แถลงการณ์ร่วมองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย กรณีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงนายชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิต





9 MARCH, 2017 
ที่มา เวป VOICE FROM THAIS

แถลงการณ์ร่วมองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

กรณีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงนายชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิต

เผยแพร่ วันที่ 29 มีนาคม 2560

สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนสงครามยิงนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมทางสังคม และประธานเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา และต่อมามีการกล่าวหาว่านายชัยภูมิ ป่าแส มียาเสพติดไว้ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่นั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมกันจัดตั้ง”คณะทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี” แก่ผู้เสียหายในกรณีดังกล่าวขึ้น ประกอบด้วยทนายความนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน โดยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการฆ่านอกระบบกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (Extra judicial killings) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” (พิจารณาประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4) ตามหลักการดังกล่าวนอกจากเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ยังเป็นหลักการสำคัญที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องนำผู้ที่ถูกกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ตามกฎหมาย และเป็นการป้องกันการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการใดๆ ต่อผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกกล่าวหาตามอำเภอใจของตน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นระบบแทนที่กระบวนการยุติธรรมหรือที่เรียกว่า”ศาลเตี้ย”

ทั้งนี้ การปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ต้องดำเนินการภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย หลักนิติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน รัฐโดยผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยงาน ต้องดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตน และไม่ควรแสดงอาการชื่นชมหรือกล่าวในเชิงให้ท้ายหรือสนับสนุนการใช้วิธีการรุนแรงหรือละเมิดกฎหมาย และควรมีการสอบสวนดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ เพื่อรักษามาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความระมัดระวังต่อไป

องค์กรสิทธิมนุษยชนดังมีรายชื่อดังกล่าวข้างต้นและคณะทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี มีความเห็นว่า

1. ประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายชัยภูมิ ป่าแส พึงได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และ/หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้พยานมีความมั่นใจและอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ตนรู้เห็นเหตุการณ์ได้โดยปราศจากความหวาดกลัวและการข่มขู่คุกคาม ทั้งให้ย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวออกจากพื้นที่โดยทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และไม่ยุ่งเหยิงข่มขู่พยาน

2. การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารควรได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ ทั้งนี้ โดยการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจที่มีความเป็นอิสระและมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม

3. เมื่อมีการผ่าชันสูตรศพและจัดทำรายงานโดยแพทย์นิติเวชแล้ว มารดาของนายชัยภูมิ ป่าแส ควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลรายงานการผ่าพิสูจน์ศพของแพทย์โดยเร็ว ในฐานะที่มารดาและเป็นผู้เสียหายพึงจะได้รับรู้รายละเอียดการตายของบุตรชายตนรวมทั้งความคืบหน้าของคดีและข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆตามสมควร

4. ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะต้องไม่แทรกแซงทั้งโดยเปิดเผยหรือในทางลับ ต่อการสืบสวนสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการไปได้โดยอิสระเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

องค์กรสิทธิมนุษยชนและคณะทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีจะดำเนินการทางกฎหมายต่อกรณีของนายชัยภูมิ ป่าแส ตามระบบกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ความจริงปรากฏและเพื่อคุ้มครองหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความหัวหน้าคณะทำงานฯ โทร 081-950-7575

นายปรีดา นาคผิว ทนายความ โทร 089-622-2474

2017_03_29_ แถลงการณ์ร่วมองค์กรให้ความช่วยเหลือคดีชัยภูมิ ป่าแส-sent