วันอังคาร, มกราคม 07, 2568

ไช่เลย ไม่ต่างจาก GT200 - ศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้ NSO Groups บริษัทสัญชาติอิสราเอลเจ้าของเครื่องมือเจาะล้วงข้อมูลมือถือ 'เพกาซัส' มีความผิดหลายข้อหา แต่ศาลไทย เพิ่งยกฟ้อง


ประชาไท Prachatai.com
10 hours ago
·
ศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้ NSO Groups บริษัทสัญชาติอิสราเอลเจ้าของเครื่องมือเจาะล้วงข้อมูลมือถือ 'เพกาซัส' มีความผิดหลายข้อหา หลัง WhatsApp ของค่ายเมตาฟ้องเอาผิดบริษัทเครื่องมือใช้สอดแนมมือถือผู้คน ไม่ว่าจะเป็น สื่อ, ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล, นักการเมือง, เจ้าหน้าที่รัฐ, ทูต
.....

ที่มา ประชาไท

ศาลสหรัฐฯ ตัดสินให้ NSO Groups บริษัทสัญชาติอิสราเอลเจ้าของเครื่องมือเจาะล้วงข้อมูลมือถือ 'เพกาซัส' มีความผิดหลายข้อหา หลัง WhatsApp ของค่ายเมตาฟ้องเอาผิดบริษัทเครื่องมือใช้สอดแนมมือถือผู้คน ไม่ว่าจะเป็น สื่อ, ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล, นักการเมือง, เจ้าหน้าที่รัฐ, ทูต

ในโลกอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบันที่มีภัยแฝงอย่างการใช้เครื่องมือสอดแนมข้อมูลส่วนตัวแบบที่เรียกว่าสปายแวร์ ซึ่ง เพกาซัสสปายแวร์นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือสอดแนมที่อื้อฉาวที่สุดในยุคสมัยนี้ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 33 กรณี เพกาซัสได้รับการพัฒนาโดยบริษัทอาวุธไซเบอร์ เอ็นเอสโอ กรุ๊ป (NSO Groups) ของอิสราเอล ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถแฝงตัวลักลอบเข้าไปติดตั้งตัวเองในโทรศัพท์มือถือได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android

เมื่อไม่นานนี้ในเดือน พฤศจิกายน 2567 ศาลแพ่งไทยเพิ่งจะตัดสินกรณีที่ไผ่-จตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ฟ้องร้อง NSO ว่าใช้สปายแวร์เพกาซัสล้วงเอาข้อมูลส่วนบุคคล แต่ศาลตัดสินยกฟ้อง ไม่เอาผิดต่อจำเลยในกรณีนี้

ในทางตรงกันข้าม มีกรณีล่าสุดที่ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินเอาผิดสปายแวร์เพกาซัส คือกรณีที่บรรษัทเมตา เจ้าของโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและ WhatsApp ได้ฟ้องร้องว่า มีการใช้เพกาซัสแฮกเอาข้อมูลของผู้ใช้งาน WhatsApp จำนวนมากถึงราว 1,400 ราย

คำตัดสินดังกล่าวนี้ มีขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567 เมื่อผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย มีคำตัดสินว่า NSO เจ้าของและผู้พัฒนาสปายแวร์เพกาซัส กระทำผิดในโทษฐานแฮกและละเมิดสัญญา จากการที่พวกเขาใช้สปายแวร์เจาะระบบของโซเชียลมีเดีย WhatsApp เพื่อสอดแนมผู้ใช้งานที่มีทั้งนักข่าว, นักกิจกรรม, นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน, นักการเมือง, เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการทูต ด้วย

คดีดังกล่าวนี้ทาง WhatsApp ได้ยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่ปี 2562 และจากการสืบสวนสอบสวนก็พบว่ามีการใช้เพกาซัสแฮกโทรศัพท์มือถือราว 1,400 เครื่องจริงตามที่กล่าวหา ทำให้ NSO มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายบัญญัติฐานความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฐานฉ้อโกงตามกฎหมายสหรัฐฯ รวมถึงละเมิดกฎหมายของแคลิฟอร์เนียว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยละเอียดและการฉ้อโกง และมีเรื่องของการละเมิดสัญญาการใช้งาน WhatsApp ที่ห้ามไม่ให้มีการใช้งานในเชิงมุ่งร้ายด้วย

ฝ่ายจำเลยผู้สร้างสปายแวร์คือ NSO อ้างว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายจากการแฮกในครั้งนี้ เพราะเพกาซัสเป็นสปายแวร์ที่เอาไว้ให้ลูกค้าของพวกเขานำปใช้ในการสืบสวนคดีและในเรื่องความมั่นคงของชาติ แต่ศาลสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธข้ออ้างนี้ ซึ่งจะกลายเป็นการวางแนวทางใหม่ให้กับบริษัทรูปแบบเดียวกันบริษัทอื่นๆ ให้ต้องปฏิบัติตาม และหลังจากนี้ศาลสหรัฐฯ จะพิจารณาต่อเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

วิลล์ แคธคาร์ท ประธานของ WhatsApp โพสต์ในโซเชียลมีเดีย Threads โซเชียลมีเดียในเครือเมตา ระบุว่า "คำตัดสินนี้ถือเป็นชัยชนะของสิทธิความเป็นส่วนตัว"

"พวกเราใช้เวลา 5 ปีนำเสนอคดีของพวกเราเพราะพวกเราเชื่ออย่างหนักแน่นว่าบริษัทสปายแวร์ควรจะเลิกอ้างใช้ความคุ้มกันทางกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงการรับผิดรับชอบในการกระทำผิดกฎหมายของพวกเขา บริษัทสอดแนมควรจะต้องได้รับการย้ำเตือนว่าจะไม่มีการยอมให้เกิดการสอดแนมอย่างผิดกฎหมาย" แคธคาร์ทกล่าว

สื่อ Tech Crunch ระบุว่าการตัดสินในครั้งนี้นับเป็น "การตัดสินครั้งประวัติศาสตร์" และระบุถึงสิ่งที่เพกาซัสสปายแวร์กระทำ คือการอาศัยช่องโหว่ของการโทรด้วยเสียงใน WhatsApp ติดตั้งสปายแวร์ลงในเครื่องของผู้ใช้งานโดยไม่รู้ตัว

เอมิลี เวสต์ก็อตต์ โฆษกของเมตาบอกว่า NSO ไม่สามารถหลบเลี่ยงความรับผิดรับชอบต่อการล้วงข้อมูลอย่างผิดกฎหมายได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะกระทำกับ WhatsApp, นักข่าว, นักสิทธิมมนุษยชน หรือกลุ่มภาคประชาสังคมก็ตาม การตัดสินดังกล่าวนี้ควรจะเป็นเครื่องย้ำเตือนบริษัทสปายแวร์ต่างๆ และพวกเขาก็ภาคภูมิใจที่ได้ยืนหยัดต่อต้าน NSO และขอขอบคุณองค์กรจำนวนมากที่สนับสนุนคดีนี้
NSO ไม่ยอมส่งหลักฐานให้ศาล สะท้อนความน่าสงสัยและไม่โปร่งใส

ผู้พิพากษา ฟิลลิส แฮมิลตัน จากศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุในคำตัดสินว่า ทาง NSO ไม่ได้ให้การโต้แย้งในข้อกล่าวหาที่ว่า พวกเขาจำเป็นต้องมีการกระทำเหล่านี้ต่อ WhatsApp เพื่อเจาะระบบเข้าไปได้ คือ ถอดรหัสโปรแกรมแบบวิศวกรรมย้อนกลับ และ/หรือ แปลงโปรแกรมย้อนกลับไปสู่ต้นฉบับ เพื่อติดตั้งเพกาซัสเข้าไปในเครื่องโทรศัพท์เป้าหมาย ทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขากระทำสิ่งเหล่านี้โดยไม่ได้ยอมรับเงื่อนไขข้อตกลงการให้บริการหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาโดยสามัญสำนึกและการที่ NSO ไม่ได้ให้คำอธิบายที่ฟังขึ้นในเรื่องนี้ ทำให้มองว่า NSO น่าจะทำการเข้าถึง WhatsApp ไปแล้วโดยไม่ได้ยอมรับเงื่อนไขข้อตกลงการใช้บริการ ก่อนทำการเจาะระบบ

แฮมิลตันตั้งข้อสังเกตอีกว่า NSO ยังไม่ได้ให้ข้อมูลหลักฐานตามที่ศาลขอไว้ เช่น รหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดของเพกาซัส นอกจากนี้ยังไม่ยอมยื่นหลักฐานการสื่อสารกันภายในของ NSO รวมถึงการสื่อสารกันเกี่ยวกับช่องโหว่ของ WhatsApp ด้วย

เรื่องเหล่านี้ทำให้ผู้พิพากษาแฮมิลตันกล่าวสรุปว่า "NSO ไม่ให้ความร่วมมือกับคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลได้สร้างความน่ากังวลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องความโปร่งใสและความเต็มใจจะร่วมมือของพวกเขาในกระบวนการยุติธรรม"

นอกจากกรณีของ Whatsapp แล้วก่อนหน้านี้ยังเคยมีกรณีที่ Apple ฟ้องร้อง NSO และบริษัทแม่คือ Q Cyber Technologies เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2564 ในเรื่องการใช้สปายแวร์เพกาซัสกับผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ของ Apple

แต่ต่อมา Apple ก็ได้ยื่นเรื่องต่อศาลขอยกฟ้องโดยอ้างว่าอาจจะมีความเสี่ยงต่อโครงการป้องกันภัยข้อมูลข่าวสาร พวกเขากังวลว่าการดำเนินคดีอาจจะทำให้พวกเขาต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันทางไซเบอร์ และอาจจะถูกคนขายสปายแวร์อื่นๆ นำไปใช้แสงหาประโยชน์ได้ เพราะฝ่าย NSO และเจ้าหน้าที่ทางการอิสราเอลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้หลีกเลี่ยงที่จะให้ข้อมูลหลักฐานที่ศาลได้ขอไว้

ข้อมูลจาก iLaw เมื่อเดือน สิงหาคม 2567 ระบุว่า NSO ถูกฟ้องแล้วจาก 12 ประเทศ และถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 33 คดี มีทั้งคดีในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) การตรวจสอบโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขององค์การรัฐอเมริกัน (Inter-American Commission on Human Rights (IACHR)) การตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการของรัฐสภายุโรป (The European Parliament) การสืบสวนของอัยการ และการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาล

เรียบเรียงจาก

Pegasus spyware maker NSO Group is liable for attacks on 1,400 WhatsApp users, The Verge, 21-12-2024
Apple to Drop Spyware Lawsuit Over Security Concerns, Infosecurity Magazine, 16-09-2024
WhatsApp scores historic victory against NSO Group in long-running spyware hacking case, Tech Crunch, 23-12-2024
ยกฟ้องคดีเพกาซัสสปายแวร์ ศาลไทยชี้ไม่มีหลักฐานการละเมิด เพราะโจทก์ไม่บอกรายละเอียดการตรวจมือถือ, iLaw, 21-11-2024
ผู้ผลิตสปายแวร์เพกาซัสถูกฟ้องแล้วใน 12 ประเทศ อย่างน้อย 33 คดี, iLaw, 08-08-2024

https://prachatai.com/journal/2025/01/111911