วันอังคาร, มกราคม 07, 2568

“เพราะความฝันและความหวังไม่เคยถูกกักขัง”: อ่าน ส.ค.ส. ปีใหม่จากผู้ต้องขังการเมือง



“เพราะความฝันและความหวังไม่เคยถูกกักขัง”: ส.ค.ส. ปีใหม่จากผู้ต้องขังการเมือง

06/01/2568
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่เสียงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2568 เริ่มจางหาย และผู้คนส่วนใหญ่กำลังกลับคืนสู่วิถีชีวิตประจำวัน ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ความ ‘ปกติ’ ของพวกเขาได้เปลี่ยนไป ภายในกำแพงเรือนจำ ในฐานะผู้ต้องขังทางการเมืองที่ผ่านพ้นช่วงเวลาขึ้นปีใหม่โดยปราศจากการเฉลิมฉลอง ไร้ซึ่งอ้อมกอดของครอบครัว

ในช่วงรอยต่อระหว่างปีเก่าและปีใหม่ เมื่อถามถึงความปรารถนา พวกเขาต่างเปล่งเสียงเป็นหนึ่งเดียวกัน ถึงสิ่งที่โหยหาที่สุดคือ “อิสรภาพ” คำที่อาจดูธรรมดาสำหรับคนทั่วไป แต่กลับแฝงความหมายอันลึกซึ้งสำหรับผู้ที่อยู่เบื้องหลังลูกกรง หากได้รับพรปีใหม่เพียงหนึ่งข้อ พวกเขากล่าวว่า อิสรภาพเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะเติมเต็มทุกความปรารถนา

นอกเหนือจากอิสรภาพส่วนบุคคล ผู้ต้องขังทางการเมืองยังฝันถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง การปฏิรูประบบยุติธรรม และการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ดังที่ผู้ต้องขังคนหนึ่งได้กล่าวว่า “ตราบใดที่คนข้างนอกยังฝันใฝ่ในเสรีภาพ คนข้างในก็จะยืนหยัดเคียงข้างร่วมกัน”

ส.ค.ส. ปีใหม่จากผู้ต้องขังการเมือง จึงเป็นการทบทวนชีวิตปีที่ผ่านมาและส่งสารในแบบฉบับสวัสดีปีใหม่จากข้างในเรือนจำ เสมือนการเตือนใจว่าแม้ร่างกายพวกเขาอาจถูกกักขัง แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความหวัง ความฝัน ในชีวิตที่มีอิสรภาพได้

.
“อัฐสิษฎ”: “อยากให้ทุกคนอดทน วันหนึ่งต้องเป็นวันของเรา”



อัฐสิษฎย้อนมองปี 2567 ด้วยความรู้สึกทุกวันเหมือนวันแรกที่เข้าเรือนจำ ตื่น แล้วก็กลับมานอน วนซ้ำไปซ้ำมา มันคือปีแห่งการ ‘หยุดทุกสิ่งในชีวิต’ หยุดเวลาชีวิต หยุดการเรียนรู้ หยุดประสบการณ์ หยุดความสุข หลังจากนี้ถ้าได้ออกไป ก็เหมือนต้องไปเริ่มต้นชีวิตตั้งแต่นับหนึ่งใหม่

สิ่งที่ได้เรียนรู้ในปีที่ผ่านมา คือได้พิสูจน์ตัวเอง ในฐานะการเป็นศิลปินอิสระ ทำงานศิลปะด้านการวาด ให้รู้สึกว่าศิลปะในประเทศนี้ มันไม่ได้อิสระ ศิลปินไม่ได้มีอิสระอย่างที่ควรจะเป็น “เราได้ยืนยันมันด้วยตัวเอง สัมผัสผลของมันด้วยตัวเอง” ศิลปะควรมีอิสระในการสร้างผลงาน แต่ประเทศนี้ มีกรอบ ที่ข้ามไม่ได้ ถ้าล้ำเข้าไปจะถูกลงโทษถูกประณาม

ถ้าขอพรได้ ขอให้ประเทศนี้ มีสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงออกทุกรูปแบบ โดยที่ไม่ล้ำเส้นคนอื่น หมายถึงไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพราะการแสดงออก อยากได้อิสระทางความคิดและการแสดงออก ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างที่มันควรจะเป็น และประเทศจะได้พัฒนาไปมากกว่านี้ อยากให้ทุกคนอดทน วันหนึ่งต้องเป็นวันของเรา

“ผมไม่รู้ทุกคนมีภาระที่ต้องแบกรับต่างกันขนาดไหน แต่หวังว่าทุกคนจะอดทนและผ่านมันไปได้” อัฐสิษฎฝากถึงปีใหม่ปีนี้

จนถึงปัจจุบัน (6 ม.ค. 2568) อัฐสิษฎ ถูกคุมขังตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาแล้ว 314 วัน หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำเพจเผยแพร่ภาพวาดแนวเสียดสีสังคมจำนวน 2 ภาพ เขาถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกรวม 2 ปี 12 เดือน และไม่ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จะครบกำหนด 1 ปี ที่ศิลปินหนุ่มจากนครราชสีมา ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

.
“คเชนทร์”: “ถ้าขอพรได้หนึ่งข้อ อยากได้รับอิสรภาพ อยากได้เพียงแค่นั้น”
 


สำหรับปี 2567 คือปีแห่งการวนซ้ำ สำหรับคเชนทร์ เขาบอกว่าต้องใช้ชีวิตซ้ำ ๆ วนไปแบบเดิมในแต่ละวัน ตื่นแล้วก็นอน แล้วก็ตื่นแล้วก็นอน วนเวียนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กับบทเรียนที่ได้รับในรอบปีนั้นไม่มีอะไรจะเล่า ด้วยรู้สึกว่าวัน ๆ ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย มันไม่มีอะไรให้ทำ

ส่วนถ้าขอพรได้หนึ่งข้อ “อยากได้รับอิสรภาพ อยากได้เพียงแค่นั้น และขอให้ทุกคนเข้มแข็ง รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงกันเข้าไว้ สักวันมันต้องมีวันของเรา”

ปัจจุบัน (6 ม.ค. 2568) คเชนทร์ ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 511 วัน ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 โดยศาลอาญาตัดสินจำคุก 10 ปี 6 เดือน คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์

.
“มาร์ค ขจรศักดิ์”: “ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง แล้วได้ออกมาเจอกันข้างนอก”



สำหรับมาร์ค ปีที่ผ่านมารู้สึกเสียดายเวลาที่ต้องถูกกักขังไปทั้งปี แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ คงต้องอยู่สู้ให้จบ หรือจะจินตนาการหากอยู่ข้างนอกก็คงไม่ต่างนัก ถ้าคดียังเคลื่อนไหวอยู่ก็คงต้องติดพันภาระไปมาศาลอยู่เรื่อย ๆ

กับบทเรียนที่ได้รับนั้นคิดไม่ออก เพราะอยู่ในเรือนจำไม่ได้รู้สึกว่าได้บทเรียนอะไร

ถ้าขอพรได้สักข้ออยากขอให้ได้ลดโทษลงก็พอ เพราะโทษที่ศาลชั้นต้นลงนั้นสูงเกินไป สุดท้ายมาร์คขออวยพรให้กับเพื่อน ๆ ที่อยู่ข้างนอก “ขอให้พวกเราดูแลกันและกัน คนข้างใน ดูแลกันอย่าให้ใครมารังแกพวกเรา ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง แล้วได้ออกมาเจอกันข้างนอก”

เช่นเดียวกับคเชนทร์ ปัจจุบัน (6 ม.ค. 2568) มาร์ค ขจรศักดิ์ ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 511 วัน ในคดีที่ถูกกล่าวหาปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 ซึ่งศาลอาญาตัดสินจำคุก 11 ปี 6 เดือน คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์เช่นกัน

.
“มีชัย”: “ขอให้ทุกคนมั่นใจและอดทน สักวันความยุติธรรมต้องอยู่กับเรา”



ปีที่ผ่านมาของมีชัย เขาทำงานไป 90% ของชีวิต ก่อนที่จะต้องเข้าเรือนจำมาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ก่อนหน้านั้นเขาใช้ชีวิตอยู่บนเกาะช้างแทบตลอดเวลา ไม่ได้กลับบ้านที่จังหวัดจันทบุรีเลย ต้องทำงานไปสู้คดีไป โดยรวมคิดว่าคงเป็นปีแห่ง “การชดใช้กรรม” คงเป็นกรรมจากชาติที่แล้วเพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ทำไปไม่ใช่ความผิดในชาตินี้ โดยสากลโลกนั้นไม่ผิด

กับบทเรียนในรอบปี เขาเห็นว่าไม่ปรากฏเรื่องอะไรเป็นพิเศษ พรข้อเดียวที่มีชัยต้องการก็คือ ยกเลิก 112 และ “ขอให้ทุกคนมั่นใจและอดทน สิ่งที่เราทำไม่ได้ทำผิด มันไม่ใช่ความผิด ขอให้เราภูมิใจในสิ่งที่เราทำลงไป ว่าสิ่งที่เราทำมันบังคับให้รัฐกับผู้มีอำนาจต้องบังคับเราแบบนี้”

มีชัยแสดงทัศนะอีกว่า “สักวันความยุติธรรมต้องอยู่กับเรา” สุดท้ายฝากถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังคดีการเมือง ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจในการทำงานยืนหยัดเพื่อความถูกต้องต่อไป ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายคุ้มครองทุกคนให้ปลอดภัย

ปัจจุบัน (6 ม.ค. 2568) มีชัย อดีตพนักงานโรงแรมที่เกาะช้าง จ.ตราด ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ มาแล้ว 166 วัน มีชัยถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 2 ข้อความ หลังสู้คดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีชัยถูกลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน ก่อนคดีของเขาสิ้นสุดลงที่ชั้นอุทธรณ์ เนื่องจากไม่มีผู้พิพากษารับรองให้ฎีกา

.
“ขุนแผน”: “ขอให้เรามีความสุขกับเส้นทางที่เลือก ต่อสู้อย่างมีความสุข”



ปี 2567 ที่ผ่านพ้นไป สำหรับ “ขุนแผน” แม้จะต้องติดคุก แต่ก็เป็นเรื่องที่พอรับไหว ส่วนปี 2568 เขาไม่ได้คาดหวังอะไร “ผมว่ามันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนักหรอก การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแค่ผ่านพ้นปีใหม่ไป แต่เราก็ยังหวังให้มีการนิรโทษกรรมเหมือนเดิม”

ทั้งนี้ขุนแผน ยังหวังเรื่องการได้รับเสรีภาพ แต่สำหรับวันปีใหม่ “เราอยู่มานานพอที่จะไม่อินกับมันเท่าไหร่แล้ว มันแค่ผ่านไปอีกวันเท่านั้นเอง ปีเก่าจะผ่านก็ผ่านไป เพราะการต่อสู้มันมีทุกวัน”

สำหรับพรปีใหม่ถึงคนข้างนอก ขอให้เข้มแข็ง ต่อสู้กันต่อไป ภูมิใจในสิ่งที่ทำและเส้นทางที่เลือก คนที่สู้ก็ขอให้ยังคงสู้อยู่เสมอ ไม่ว่าด้วยวิธีการไหน “ขอให้เรามีความสุขกับเส้นทางที่เลือก ต่อสู้อย่างมีความสุข”

จนถึงปัจจุบัน (6 ม.ค. 2568) “ขุนแผน” เชน ชีวอบัญชา ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 173 วัน หลังศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 6 เดือน โดยไม่ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ การใช้ชีวิตในเรือนจำขุนแผนยังต้องสู้กับอาการป่วยวัณโรคปอด (Tuberculosis หรือ TB) ที่เป็นอยู่โดยรักษาต่อเนื่องมาตั้งแต่อยู่ข้างนอก ยิ่งกว่านั้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 เขาเคยต้องเผชิญกับภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มาแล้ว

.
“บุ๊ค ธนายุทธ”: “ขอสดุดี ขอขอบคุณ ทุก ๆ แรงต่อสู้และอุดมการณ์ที่ทุกคนยังคงยึดมั่น ยืนเด่นอย่างท้าทาย”



บุ๊ค ธนายุทธ ศิลปินจากสลัมคลองเตย กำลังค้นพบแสงสว่างภายในจิตใจที่เจิดจ้ากว่าปีก่อน ทั้งยังอยากก้าวข้ามปีใหม่นี้ไปให้ได้อย่างเข้มแข็ง

กับการอยู่ในเรือนจำทั้งปี บุ๊คได้เรียนรู้หลายสิ่ง ทั้งดีและไม่ดี เรื่องดีก็ทั้งคนที่มาให้กำลังใจ แฟน เพื่อน ๆ “ผมมองโลกในแง่ดีไว้ก่อนอยู่แล้ว ต่อให้มันแย่แค่ไหน ก็จะหยิบมันมาเรียนรู้เสมอ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเติบโตขึ้น ผมหยิบมาเขียนเพลง มองมันเป็นประสบการณ์ชีวิต ได้เจอคนที่หลากหลาย ได้เจอคนหลายชนชั้น มองเห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดขึ้นในอีกรูปแบบนึง ทำให้เราเข้าใจความเป็นคนมากขึ้น”

ส่วนเรื่องไม่ดีที่เห็นได้ชัด คงเป็นปัญหาและภาระที่เกิดกับครอบครัวตลอดทั้งปี และเป็นปีที่ผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหมดยังไม่ได้รับอิสรภาพ แต่ความใฝ่ฝันและความเชื่อมั่นก็ยังคงอยู่ ยังเชื่อตลอดว่าผู้คนยังคงขับเคลื่อนเพื่อเสรีภาพอยู่ “จะทำให้เราเองก็ยังมีกำลังใจและความหวังเสมอ ๆ”

ปี 2568 “ผมคาดหวังว่าผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมดจะได้รับอิสรภาพหรืออย่างน้อยพวกเขาก็ควรได้สิทธิประกันตัว และไม่ใช่แค่ผู้ต้องหาทางการเมือง เรายังคาดหวังว่าผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ก็ควรได้รับสิทธิประกันตัว ไม่ว่าเขาจะมีเงินหรือไม่มีก็ตาม”

ภาพความหวังวัยหนุ่มของบุ๊ค หวังว่าโครงสร้างประเทศนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีได้ มีเศรษฐกิจที่ดี ที่หมายถึงระบบดีด้วย ให้ความเหลื่อมล้ำลดต่ำลง และคนควรจะได้รับสิ่งที่ควรจะได้ ดีและทั่วถึงพอที่จะทำให้ผู้ต้องขังเมื่อได้พ้นโทษออกไป พวกเขาสามารถใช้ชีวิตปกติได้ มีทางเลือกที่จะมีชีวิตที่ดีได้ โดยไม่ต้องหันไปหาทางรอดที่มันไม่ดี จนต้องทำให้กลับเข้ามาเรือนจำอีก

“ผมหวังว่าผมจะได้ออกไปปล่อยอัลบั้มที่ผมแต่งในปีที่ผ่านมา จัดสล็อตเพลงไว้แล้ว เพลงแรกจะชื่อเพลง I’m back เป็นการเล่าถึงวันที่เราจะได้ก้าวเท้าออกจากเรือนจำ”

สำหรับคำอวยพรปีใหม่ถึงเพื่อน ๆ ที่ยังสู้อยู่ข้างนอก “ขอสดุดี ขอขอบคุณ ในทุก ๆ แรงต่อสู้และอุดมการณ์ที่ทุกคนยังคงยึดมั่นและยืนเด่นอย่างท้าทายอยู่ ตลอดปีผ่านมาเราได้สูญเสียเพื่อนไปหลายคน ทั้งที่สูญเสียชีวิต และสูญเสียอิสรภาพ”

บุ๊คกล่าวอีกว่า แม้ปีนี้ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ว่าเราจะกลับมาฉลองปีใหม่ข้างนอกด้วยกันทุกคน “แต่ตราบใดที่คนข้างนอกยังคงใฝ่ฝันถึงเสรีภาพอยู่ คนข้างในก็ยังยืนหยัดเคียงข้างไปด้วยกันเสมอ”

ก่อนทิ้งท้ายว่า “ขอให้เป็นลมหนาวสุดท้ายที่ต้องรับผ่านลูกกรง ปีหน้าเราต่อสู้อีกครั้ง ใกล้ถึงวันที่เราจะได้พบกันแล้ว สวัสดีปีใหม่ เพื่อน ๆ และมิตรสหายทุกคน”

ปัจจุบัน (6 ม.ค. 2567) บุ๊ค ศิลปินฮิปฮอป ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุตรวจพบการครอบครองระเบิดปิงปอง, ประทัด และพลุ ในช่วงชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2565 ถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี กับอีก 3 เดือน 17 วัน คดีของบุ๊คสิ้นสุดลง โดยต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยได้ลดหย่อนโทษลงราว 6 เดือน หลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ระหว่างใช้ชีวิตในเรือนจำบุ๊คยังคงทำงานแต่งเพลงสะท้อนสังคม และเตรียมจะปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ทันทีหากเขาได้รับอิสรภาพ

.
“แดง ชินจัง”: “ขอแค่โอกาสให้เราได้ออกไปสู้คดีข้างนอก ได้ออกไปทำมาหากินใช้ชีวิตกับครอบครัว”
 


ถ้าให้นิยามปี 2567 ที่ผ่านมา ชินจังขอนิยามว่าเป็นปีแห่งความซวย เพราะซวยตั้งแต่ต้นปียันท้ายปีโดยเฉพาะซวยที่ติดคุก โดยไม่ได้รับการประกันตัว เขาย้อนเล่าถึงเหตุในชีวิตเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดบริเวณคอ เนื่องจากคอเป็นหนอง แล้วหนองปิดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก

จากนั้นเดือนเมษายนก็ต้องย้ายที่อยู่เพราะผ่อนค่าเช่าห้องไม่ไหว จากเดิมอยู่ที่แฟลตแถวรังสิต ย้ายมาอยู่แถวสมุทรปราการ และพระราม 2 ตามลำดับ หลังรับงานก่อสร้างแถวพระราม 2 ซึ่งโดนโกงค่าแรงไปเยอะพอสมควร จากนั้นก็รับงานเสริมเป็นนักแสดงตัวประกอบให้กับภาพยนตร์จากประเทศจีน ก็โดนโกงค่าแรงอีก จนกระทั่งเดือนกันยายน โดนจับติดคุก ไม่ได้รับการประกันตัวจนถึงตอนนี้

ชินจังบอกว่า ไม่ได้เรียนรู้หรือบทเรียนอะไร มีแต่คำถามว่าทำไมตนถึงต้องมาอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง สำหรับเขา การติดคุกมันไม่ควรเป็นบทเรียนหรือเรียนรู้อะไรได้เลย มันเป็นปัญหาทางการเมือง เป็นการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดที่อยู่คนละฝ่ายกับรัฐให้ต้องติดคุก ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิทธิของประชาชนในการแสดงความเห็น

ส่วนถ้าขอพรสักข้ออยากได้อิสระ อยากได้รับการประกันตัว “ไม่ขอถึงขนาดให้คดีชนะ ขอแค่โอกาสให้เราได้ออกไปสู้คดีข้างนอก ได้ออกไปทำมาหากินใช้ชีวิตกับครอบครัว” ก่อนทิ้งข้อความว่าอยากให้ทุกคนข้างในยังสู้อยู่ อย่ายอมแพ้ คนข้างนอกก็ต้องสู้ด้วยเหมือนกัน “ฝากสวัสดีปีใหม่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ข้างนอกทุกคนด้วย”

จนถึงปัจจุบัน (6 ม.ค. 2568) แดง ชินจัง หรือ ‘ยงยุทธ’ ถูกคุมขังมาแล้ว 120 วัน ในคดีเกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดฯ จากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2557 จำนวน 5 คดี โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาแต่อย่างใด

.
“พรชัย”: “ถ้าขอได้ก็ขอให้ผมพ้นโทษและมีการนิรโทษกรรมประชาชนพรุ่งนี้เลย”



ปีที่ผ่านมาของพรชัย เป็นปีที่แย่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องสิทธิของประชาชน สังคมเศรษฐกิจ และการเมือง เขาเห็นว่าแย่ไปหมด ทั้งเป็นปีที่ประชาชนไม่มีความสุข ประชาชนยังเจอหลาย ๆ ปัญหา โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ประสบกับการเลือกปฏิบัติ

“ผมอยากให้ปีหน้าเป็นปีที่ดีขึ้น เชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจใหม่แล้วเริ่มต้นใหม่ ขอให้ทุกคนเชื่อว่าหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน คนที่เป็นชนชั้นนำต้องเปิดพื้นที่ให้กับประชาชน และปีหน้าขอให้เป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่จะสานต่อความเจ็บปวดในอดีตและแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา เพื่ออนาคตที่ดีต่อไป”

ท่ามกลางความมืดมิดของสิ่งที่พบเผชิญ พรชัยยังกล่าวถึงความรักที่มีต่อครอบครัว “ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด สิ่งที่ช่วยให้ผมยังยืนหยัดอยู่ได้คือการภาวนา” เขาเล่า “การเจ็บป่วยในเรือนจำเป็นประสบการณ์ที่ทรมานที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าพระเจ้าจะคอยปกป้องและดูแลทุกคนที่อยู่ที่นี่”

พรชัยมองโลกผ่านมุมมองที่แตกต่าง โลกสำหรับเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกำแพงสูง “โลกใบนี้มีพื้นที่ให้เราทุกคน แม้จะอยู่ที่ไหน เราก็สามารถค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ”

ปัจจุบัน (6 ม.ค. 2568) พรชัย หนุ่มปกาเกอะญอ ถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่มาแล้ว 278 วัน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำคุก 12 ปี จากการถูกฟ้องว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ คดีของพรชัยสิ้นสุดลง หลังเขาตัดสินใจไม่ฎีกาอีก

.
“อาย กันต์ฤทัย”: “อดทนกับสิ่งที่มันกลืนชีวิตเราไป วันหน้าฟ้าเปิดชีวิตเราจะกลับมาเหมือนเดิม”


หากให้ทบทวนเรื่องราวในปี 2567 อายกล่าวด้วยน้ำตาว่า เห็นความอยุติธรรม และพลาดวันสำคัญในชีวิตไปหลายวัน ไม่ได้อยู่วันครบรอบแต่งงาน ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิต ดูลูกชายเติบโต ไม่ได้สั่งสอนเขาใกล้ ๆ

กับปี 2568 อายคิดว่าก็คงทรมานเหมือนเดิม เรื่องจะได้ประกันตัวออกไป นั้นไม่ค่อยคาดหวังแล้ว เพราะจะได้ไม่ผิดหวัง เพียงเล่าถึงแค่ตรงนี้น้ำตาเธอไหล ก่อนประคองคำพูดเป็นประโยคว่าปีที่ผ่านมาสำหรับอาย การมีเพื่อนที่ดี จะทำให้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายไปได้ “อายอยากตอบแทนบุญคุณคน อายยังจำเรื่องที่เพื่อน ๆ ทำให้อายตลอด รวมถึงเพื่อนในเรือนจำที่คอยดูแลอายด้วย เรื่องที่ทำให้อายมีความสุขที่สุดคือเพื่อน ๆ หลายคนยังไม่ทิ้งอาย”

สุดท้ายอายอวยพรถึงผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน ให้อดทน “อดทนกับสิ่งที่มันกลืนชีวิตเราไป วันหน้าฟ้าเปิดชีวิตเราจะกลับมาเหมือนเดิม เราจะกลับมาสดใส กลับมาทำมาหากินได้ เมื่อประเทศเจริญก้าวหน้า”

อายยังอยากบอกถึงคนที่ยังเป็นกำลังใจข้างนอกอีกว่า “คิดถึง ขอบคุณมาก อยากตอบแทนพวกเขาที่สุด ถ้ามีอะไรที่อายทำให้ได้ อายก็จะทำ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม”

ปัจจุบัน (6 ม.ค. 2568) อายถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 133 วัน หลังศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์เฟซบุ๊กรวม 8 โพสต์ ศาลลงโทษจำคุก 8 ปี 48 เดือน โดยไม่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ นอกจากต่อสู้กับชีวิตไร้อิสรภาพจากข้างในนั้น อายยังต้องรักษาตัวเองจากโรคซึมเศร้าที่เป็นต่อเนื่องมาก่อนเข้าเรือนจำเป็นระยะเวลา 6 ปีแล้ว

.
“อัญชัญ”: “ผู้ต้องขังทุกคนต้องสู้ อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอแสงสว่าง”


ปีใหม่ 2568 ป้าอัญชัญที่อายุย่างเข้าสู่ 70 ปี อยากให้มีการอภัยโทษ ผู้ต้องขังจะได้กลับไปอยู่กับครอบครัว รัฐบาลก็ไม่ต้องเปลืองงบมาดูแลคนในเรือนจำ ป้าพูดอีกว่า “สำหรับป้านะลูก ปี 2567 เป็นปีแห่งความผิดหวัง (หัวเราะ) ป้าคอยอภัยโทษ เขาก็ไม่ให้ พอไม่ได้ออกก็ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำที่เสียงดัง ข้าวของแพง จะกินจะนอนก็ลำบาก มีแต่คนเพิ่มขึ้น ๆ ไม่มีคนออก สภาพแวดล้อมมันหดหู่น่ะลูก”

ความรู้สึกลึก ๆ ในใจป้าก็หวังว่าปี 2568 จะได้หลุดพ้น ได้ออกมาใช้ชีวิตกับคนที่รัก โดยเธอฝากความหวังเรื่องนิรโทษกรรมไว้ “อยากให้นิรโทษกรรมทางการเมืองรวม 112 ป้าอยากให้สังคมมันก้าวหน้าไป ไม่ได้เดินถอยหลัง ขอให้รัฐบาลรับฟังเราบ้าง”

ส่วนบทเรียนสำคัญของป้านอกจากปีที่ผ่านมาและปีอื่น ๆ คือบางสิ่งบางอย่าง ถ้าประมาท ขาดความรอบคอบ ทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เจ้าหน้าที่รัฐก็พร้อมยัดเข้าคุกหมด ถ้าได้ออกไปจากที่ตรงนี้ต้องรอบคอบ ไม่ประมาท “เพราะเขาไม่ได้คิดถึงพวกเราเลย ใช้กฎหมายเกินความจำเป็น ไม่เฉพาะคดีการเมืองนะลูก ในเรือนจำมีคนแก่ ๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไปเปิดบัญชีให้ลูกหลานแล้วโดนตัดสินจำคุกเยอะมาก”

กับความต้องการของผู้ต้องขังสูงวัย ถ้าจะขออะไรได้ เธอเล่าผ่านแววตาเศร้าสร้อย “ป้าอยากกลับบ้าน อยากกลับบ้านไว ๆ มันนานเกินไปแล้ว ป้าอยากกลับไปใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ไม่มากข้างนอก คนที่รอป้าอยู่เขาก็อายุเยอะแล้วลูก” เธออยากออกไปตอบแทนบุญคุณพี่ชาย ออกไปอยู่กับคนรัก คนรักเขียนมาในจดหมายว่าจะรอเจอ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสะเทือนใจมาก เพราะเขาก็อายุมากแล้ว รอป้ามานานแล้ว “ก็หวังว่าอะไร ๆ มันจะดีขึ้น ก็อยากให้เขาดูแลสุขภาพร่างกายตัวเอง ป้าก็จะดูแลตัวเองให้มีลมหายใจไปหาเขา”

ประโยคท้าย ๆ ป้าอัญชัญพูดพลางปาดน้ำตา “ขอให้คุณพระคุ้มครอง มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง ไม่เจ็บไม่จน ร่ำรวย ๆ ขอให้สิ่งดี ๆ มันย้อนมาหาเรา เพราะเราทำเพื่อส่วนรวมมาตลอด ผู้ต้องขังทุกคนต้องสู้ อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอแสงสว่าง” เมื่อถามป้าว่าแสงสว่างของป้าคืออะไร ป้าตอบทันที “แสงสว่างก็คืออิสรภาพไงลูก คนเราถ้าไม่มีอิสรภาพ ความเป็นคนของเราก็ลดลงเยอะ อยู่ในคุกไม่ได้สบายเลย เขากดเราทุกเรื่อง”

จนถึงปัจจุบัน (6 ม.ค. 2568) อัญชัญถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 3 ปี กับ 11 เดือน 15 วัน ก่อนหน้านั้นเธอถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 9 เดือน 3 วัน รวมเธอถูกขังมาเกือบ 8 ปีแล้ว จากโทษจำคุกเต็มประมาณ 43 ปี 6 เดือน

แม้จะได้รับการลดหย่อนโทษสองครั้งจากการอภัยโทษในโอกาสสำคัญ แต่เธอไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อสิงหาคม 2567 จากโทษจำคุกเต็ม 43 ปี 6 เดือน เธอมีกำหนดพ้นโทษวันที่ 24 กันยายน 2574 ซึ่งขณะนั้นเธอจะมีอายุ 76 ปี

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

“เพราะไม่อยากให้เสียงคนข้างในหายไป”: คุยกับ ‘ทนายสายเยี่ยม’ การส่งสารผู้ต้องขังการเมืองสู่บันทึกประวัติศาสตร์ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’

Recap ผู้ต้องขังการเมือง 2567: ยอดสูงสุดในรอบ 4 ปี สู่โศกนาฏกรรมการเสียชีวิตและการตั้งคำถามต่อการรักษาพยาบาลในเรือนจำ

ดู รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2567

https://tlhr2014.com/archives/72077