วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 11, 2567

ที่ดินของชาติในมือของกองทัพ

พวงทอง ภวัครพันธุ์

101 World
8 Jul 2024

คลิกอ่านตอนที่ 1 สภาวะยกเว้นทางเศรษฐกิจ: อภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบของกองทัพ
คลิกอ่านตอนที่ 2 กรณีกองทัพบก ททบ. (ช่อง 5) และบริษัท RTA: อภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบ
คลิกอ่านตอนที่ 3 ธุรกิจเพื่อสวัสดิการของกองทัพ ประชาชนได้อะไร?

นอกเหนือจากการมีอำนาจทางการเมืองต่อเนื่องยาวนานแล้ว ปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้กองทัพไทยสามารถมีอาณาจักรธุรกิจมากมายได้ก็คือ การครอบครองที่ดินขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสนามกอล์ฟ สถานีบริการน้ำมัน โรงแรมรีสอร์ต สโมสร สนามมวย ตลาดนัด สนามบินอู่ตะเภา โซลาร์ฟาร์มพื้นที่ 600,000 ไร่ กิจการไฟฟ้าของกองทัพเรือที่ขายให้ชาวบ้านในอำเภอสัตหีบ แหล่งท่องเที่ยว โครงการที่อยู่อาศัย ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้ล้วนต้องใช้ที่ดินทั้งสิ้น แม้ว่าธุรกิจบางอย่างของกองทัพจะล้มหายตายจากไปแล้ว เช่น รัฐวิสาหกิจภายในกระทรวงกลาโหม (อาทิ องค์การแก้ว องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป องค์การฟอกหนัง องค์การแบตเตอรี่ องค์การทอผ้า บริษัทกระสอบไทย) แต่การมีที่ดินทำให้กองทัพสามารถเข้าร่วมสังฆกรรมกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

บทความนี้ต้องการให้ภาพบางส่วนเกี่ยวกับที่ดินในความครอบครองของกองทัพและผลประโยชน์ที่เกิดจากธุรกิจใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับนโยบายของรัฐบาล โดยใช้กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภาเป็นกรณีตัวอย่าง

ที่ดินของกองทัพคือที่ดินของแผ่นดิน

ก่อนอื่นต้องกล่าวให้ชัดเจนก่อนว่า คำว่า ‘ที่ดินของกองทัพ’ ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั้น หมายถึงที่ดินใน ‘ความครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพ’ ซึ่งในทางกฎหมายคือที่ดินของรัฐทั้งสิ้น

ที่ดินของรัฐมีหลายประเภท ได้แก่ ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่อุทยานแห่งชาติ ที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ที่ ส.ป.ก.) ที่นิคมสร้างตนเอง ที่ราชพัสดุ ที่ทางหลวง และที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ ที่ดินส่วนใหญ่ที่หน่วยงานรัฐทั้งหลายครอบครองและใช้ประโยชน์ตามภารกิจของตนจัดเป็น ‘ที่ราชพัสดุ’ ที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

เฉพาะที่ดินของกองทัพแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1. ที่ราชพัสดุ กำหนดให้ใช้เพื่อแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่ดินของกองทัพส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้

2. ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้กองทัพใช้ประโยชน์

3. ที่ดินภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยที่อนุญาตให้กองทัพบกใช้ประโยชน์ เช่น ที่สาธารณประโยชน์ ที่ดิน ส.ป.ก. ฯลฯ

4. ที่ดิน ‘เขตพระราชทาน’ และ ‘เขตทรงสงวน’ หมายถึง ที่ดินที่กองทัพได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความว่าที่ดินนี้ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ อนุญาตให้กองทัพเป็นผู้บริหารจัดการโดยตรง กรณีนี้คือที่ดินในความครอบครองของกองทัพเรือในอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี (เฉพาะ ต.นาจอมเทียน (บางส่วน) ต.บางเสร่ ต.สัตหีบ ต.พลูตาหลวง (บางส่วน)) ครอบคลุมพื้นที่ 70,457 ไร่ ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ปี 2457และ 2465[1]

อย่างไรก็ตาม ที่ดินในการครอบครองของกองทัพเรือในจังหวัดชลบุรีและระยองไม่ใช่ที่ทรงสงวนทั้งหมด เพราะยังมีบางส่วนที่เป็นที่ราชพัสดุ แต่ถูกประกาศให้เป็น ‘เขตปลอดภัยในราชการทหาร’ ตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศใช้ในปี 2536 โดยครอบคลุมพื้นที่ อ.บ้านค่าย อ.บ้านฉาง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง และ อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีรวมไปถึงพื้นที่ชายหาด ทะเล และเกาะแก่งต่างๆ[2] ไม่มีข้อมูลว่าพื้นที่ส่วนนี้มีขนาดเท่าไร แต่มีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ทรงสงวนแน่นอน ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าพื้นที่ในความครอบครองของกองทัพเรือมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งจะเอื้อประโยชน์มหาศาลให้กับกองทัพเรือและปัญหากับประชาชนในพื้นที่ ดังจะกล่าวต่อไป

เจ้าที่ดินรายใหญ่สุด

ที่ราชพัสดุทั่วประเทศมีประมาณ 12.727 ล้านไร่[3] กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานที่ครอบครองที่ราชพัสดุมากที่สุด คือ 6.25 ล้านไร่ หรือราว 50%[4] ตัวเลขนี้ไม่รวมที่ดินประเภทอื่น เช่น ป่าสงวน ป่าไม้ ฯลฯ ที่กองทัพครอบครองไว้อีกจำนวนมาก จึงทำให้กองทัพบกเป็นหน่วยงานที่ครอบครองที่ดินมากที่สุด

เฉพาะที่ดินของกองทัพบก เอกสารของกองทัพบกระบุว่ามีที่ดินทั้งสิ้น 4,750,198 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุ 4,085,469 ไร่ เป็นที่ดินประเภทอื่นๆ รวมกันอีก 664,729 ไร่ โดยใช้เป็นที่ตั้งหน่วย พื้นที่ฝึก พื้นที่สวัสดิการ แหล่งท่องเที่ยว โครงการพระราชดำริ ให้หน่วยงานอื่นใช้ เป็นที่ดินที่ราษฎรบุกรุกและเช่า และอยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ (ดูตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ที่ดินที่กองทัพบกครอบครอง ทั้งหมด 4,750,198 ไร่

อ้างอิง เอกสารของ กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก กองทัพบก. “การประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร” วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566.

งานของกานดา นาคน้อย และพอล แชมเบอร์ส[5] ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยระบุว่า
  • ในจำนวน 77 จังหวัดของไทย มีอ่างทองจังหวัดเดียวที่ไ­­ม่มีที่ดินของกองทัพ
  • มีถึง 14 จังหวัดที่กองทัพครอบครองที่ดินของรัฐสูงสุด เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้: กาญจนบุรี ประจวบฯ ราชบุรี นครราชสีมา ลพบุรี ชลบุรี นครนายก อุบลราชธานี ตราด เพชรบูรณ์ กรุงเทพฯ สระแก้ว พิษณุโลก ปราจีนบุรี จังหวัดเหล่านี้มีค่ายทหารตั้งประจำอยู่ด้วย
  • ที่ดินของกองทัพที่กาญจนบุรีมีถึง 2,501,437 ไร่ หรือ 72% ของที่ดินของรัฐในจังหวัดนี้, ที่ประจวบฯ มี 593,202 ไร่หรือ 96% ของที่ดินรัฐ, ขณะที่เมืองหลวงของประเทศ มีที่ดินของกองทัพถึง 19,907 ไร่หรือ 46% ของที่ดินรัฐทั้งกรุงเทพฯ
  • ใน 14 จังหวัดข้างต้น มีถึง 6 จังหวัดที่ไม่ได้ตั้งอยู่ติดชายแดน ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี ทั้งหมดมีที่ดินรวมกัน 416,130 ไร่
  • ทั้ง 76 จังหวัดมีฐานทัพหรือค่ายทหารตั้งอยู่แบบถาวร พบว่า 107 แห่งตั้งอยู่ในเขตเมือง เป็นของกองทัพบก 63 แห่ง กองทัพเรือ 36 แห่ง และกองทัพอากาศ 8 แห่ง มีเพียง 69 แห่งตั้งอยู่ในเขตชนบท ในแง่นี้ทำให้ตั้งคำถามได้ว่าภารกิจหลักของกองทัพมีไว้ปกป้องดินแดนจากภัยคุกคามจากภายนอกจริงหรือ
  • ที่ดินเหล่านี้กองทัพได้รับสะสมเรื่อยมา บางส่วนได้รับตั้งแต่เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงตั้งกองทัพถาวร และขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทหารมีอำนาจทางการเมือง ปฏิบัติการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ชนบทก็เป็นโอกาสสำคัญให้กองทัพขยายที่ตั้งทหารและโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงออกไป
การดำรงอยู่ของสนามกอล์ฟของกองทัพทั่วประเทศเป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ที่ดินขนาดมหาศาลสำหรับคนเพียงน้อยนิด ด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้นายทหารได้มีสถานที่ออกกำลังกาย มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง (แม้ว่าบรรดานายพลของไทยมักอ้วนเกินเกณฑ์ก็ตาม) และเพื่อสวัสดิการที่ดีของกำลังพล เหตุผลเช่นนี้ทำให้กองทัพมีสนามกอล์ฟทั่วประเทศรวมกันไม่ต่ำกว่า 74 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของกองทัพบก 40 แห่ง[6] (ดูตารางที่ 2)

ที่น่าสนใจคือในบางจังหวัดกองทัพบกมีสนามกอล์ฟมากกว่า 1 แห่ง เช่น ที่นครราชสีมามีสนามกอล์ฟค่ายสุรธรรมพิทักษ์ (ศพก.ทภ.2) และค่ายสุรนารี (ศพก.มทบ.13) ที่ตั้งอยู่ห่างกันเพียง 10 กิโลเมตร เฉพาะค่ายสุรนารียังมีสวนน้ำสำหรับเล่นคายัคด้วย ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในเขตเมือง นอกจากนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขอนแก่น และร้อยเอ็ดก็มีสนามกอล์ฟของกองทัพบก 2 แห่งเช่นเดียวกัน หากรวมสนามกอล์ฟของกองทัพเรือและกองทัพอากาศไว้ด้วย หลายจังหวัดจะมีสนามกอล์ฟทหารมากกว่า 1 แห่ง เช่น ในกรุงเทพฯ กองทัพอากาศมีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์และสนามกานตรัตน์ (สนามงู) กองทัพบกมีสนามกอล์ฟรามอินทรา เป็นต้น ในขณะที่ประชาชนในหลายจังหวัดมีพื้นที่สวนสาธารณะที่อัตคัดมากหรือไม่มีด้วยซ้ำ แต่เราจะหวังอะไรได้ เพราะแม้แต่สนามกอล์ฟทหารทั้งสองแห่งในเมืองหลวงของประเทศก็มีขนาดใหญ่กว่าบรรดาสวนสาธารณะของประชาชน

ตารางที่ 2 กิจการสนามกอล์ฟที่อยู่ในการบริหารงานของกองทัพบก (ศพก.= ศูนย์พัฒนากีฬา)
อ้างอิง กรมกำลังพลทหารบก กองทัพบก, “การชี้แจงข้อมูลให้แก่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม สภาผู้แทนราษฎร” วันที่ 26 มีนาคม 2567.

โดยหลักการ ที่ดินทั้ง 4 ประเภทของกองทัพเป็นสมบัติของชาติและประชาชน มีแต่ประเภทที่ 4 หรือที่ดินเขตพระราชทานและเขตทรงสงวนที่กฎหมายอนุญาตให้กองทัพเป็นผู้บริหารจัดการโดยตรง กระนั้นก็ตาม แม้ว่ากฎหมายกำหนดให้ที่ดินประเภทที่ 1-3 อยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานอื่น แต่ด้วยอำนาจทางการเมืองของกองทัพ รวมทั้งการอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ-ความปลอดภัยด้านการทหาร หากกองทัพไม่ยินยอมโอนคืนที่ดินให้ หน่วยงานเหล่านี้ก็มักไม่กล้าเรียกคืน แม้จะพบว่าในหลายกรณี กองทัพนำที่ดินในเขตเมืองไปใช้ทำธุรกิจในนามสวัสดิการของกำลังพล หรือเพื่อสันทนาการของบรรดานายพลทั้งหลาย เช่น สนามกอล์ฟ โรงแรม เป็นต้น อย่างมากที่สุดที่รัฐและประชาชนจะได้รับคืนมาบ้างก็คือ ค่าเช่าจากเอกชนที่ทำธุรกิจในที่ดิน ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังทำได้ไม่ครบถ้วน การตกลงทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์เป็นไปอย่างเชื่องช้า (กรุณาดูบทความของผู้เขียนเรื่อง ‘ธุรกิจเพื่อสวัสดิการของกองทัพ ประชาชนได้อะไร?’)

ในอดีตมีกรณีที่กองทัพยอมประนีประนอมคือ กรณีท่าอากาศยานดอนเมือง (3,881 ไร่) และท่าอากาศยานเชียงใหม่ (1,600 ไร่) ทั้งสองแห่งเป็นที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพอากาศ โดยกองทัพอากาศยินยอมให้หน่วยงานรัฐอื่นเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ท่าอากาศยานทั้งสองแห่งและส่งรายได้เข้าคลัง

ในกรณีท่าอากาศยานดอนเมือง กองทัพอากาศเป็นผู้บริหารมาตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2483 ต่อมาในช่วงสงครามเวียดนาม (1964-1975) สหรัฐอเมริกาได้ช่วยปรับปรุงให้ดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะในขณะนั้นรัฐบาลไทยอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ไทยเป็นฐานทัพสำหรับปฏิบัติการทางอากาศในสงครามเวียดนาม และดอนเมืองถือเป็นจุดขนถ่ายกำลังพลและอาวุธยุทธโธปกรณ์ของสหรัฐฯ เข้าสู่ไทย หลังสงครามเวียดนามยุติลง การท่องเที่ยวของไทยเติบโตมากขึ้น รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ได้จัดตั้งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ขึ้นในปี 2522 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม กองทัพอากาศจึงได้โอนถ่ายอำนาจในการบริหารจัดการดอนเมืองให้กับ AOT

ประเด็นที่พึงสังเกตคือ สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารที่มาจากการรัฐประหารจึงสามารถสั่งการกองทัพได้ไม่ยาก กระนั้นก็ยังต้องย้ำว่ากองทัพอากาศยังคงสงวนสิทธิเป็นผู้ครอบครองที่ดินของท่าอากาศยานดอนเมืองและเชียงใหม่ ไม่มีการโอนคืนที่ดินให้แก่กรมธนารักษ์ เป็นเพียงการให้สิทธิ AOT บริหารจัดการและเป็นผู้ทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์ให้แก่กรมธนารักษ์ แนวทางเช่นนี้ถูกใช้กับธุรกิจอื่นๆ ของกองทัพด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานีน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ หมายความว่า แม้ว่าในบางกรณี กองทัพได้แบ่งผลประโยชน์จากการเช่าที่ดินราชพัสดุให้แก่กรมธนารักษ์ แต่ในทางกฎหมาย กองทัพสามารถเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เหนือที่ดินที่ตนครอบครองได้เสมอ

ในทางตรงกันข้าม เมื่อเป็นรัฐบาลพลเรือน การเจรจาเพื่อขอคืนพื้นที่ของกองทัพเพื่อให้หน่วยงานอื่นนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนมากขึ้นกลับไม่ง่ายเลย แม้แต่การขอคืนพื้นที่ขนาดเล็กก็ประสบปัญหา เช่น ในการประชุมกรรมธิการวิสามัญศึกษาธุรกิจกองทัพฯ ได้มีการขอคืนพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์หรือสนามงู ที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างทางวิ่ง (runway) ของสนามบินดอนเมือง อันมีประเด็นด้านความปลอดภัยการบิน (ในบริเวณใกล้เคียงกัน กองทัพอากาศก็มีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ขนาด 600 กว่าไร่ตั้งอยู่) แต่กรรมาธิการกลับได้รับคำตอบว่าหากจะมีการโอนพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ให้กับ AOT นำไปรวมกับสนามบินดอนเมือง ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กองทัพอากาศเป็นเวลา 30 ปี รวมเป็นเงินราว 3,000 ล้านบาท[7] ฉะนั้น ภารกิจการขอถ่ายโอนธุรกิจและที่ดินของกองทัพในส่วนอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า และสร้างผลประโยชน์มากกว่า ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากรัฐบาลพลเรือนไม่มีเจตจำนงและอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง

โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ: เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา

ธุรกิจบางประเภทของกองทัพมีมานานแล้ว บางอย่างก็ล้มหายตายจากไป เช่น รัฐวิสาหกิจจำนวนมาก หลายประเภทก็ยังดำเนินต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ในขณะที่ธุรกิจแบบเก่าก็ต้องรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น และเมื่อมีธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมโครงการพัฒนาประเทศของรัฐ กองทัพก็ไม่พลาดโอกาสเหล่านี้เช่นกัน โอกาสเช่นว่านี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้ากองทัพไม่ใช่ผู้ครอบครองที่ดินขนาดใหญ่ของประเทศ

ในบทความ ‘ธุรกิจเพื่อสวัสดิการของกองทัพ ประชาชนได้อะไร?’ ผู้เขียนได้กล่าวถึงผลประโยชน์ที่กองทัพเรือได้รับจากการผูกขาดขายไฟฟ้าให้กับประชาชนและธุรกิจเอกชนที่ตั้งอยู่ใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยรายได้มากกว่าปีละ 100 ล้านบาทนี้ถูกส่งเข้าสวัสดิการของกองทัพเรือ กองทัพเรือมักอ้างว่าตนจำเป็นต้องเป็นผู้ให้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาในพื้นที่ที่เป็น ‘ที่ทรงสงวน’ ที่ได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 6 และถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านการทหารด้วย ธุรกิจซื้อมาขายไปนี้ (ซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้วขายต่อให้ชาวบ้าน) เป็นธุรกิจรูปแบบเก่าที่บรรดาเจ้าที่ดินนิยมกระทำกันมานานแล้ว

อันที่จริงกองทัพเรือเป็นหน่วยงานที่ได้รับประโยชน์มานานแล้วจากนโยบายพัฒนาพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกให้เป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ที่จริงรายได้จากการขายไฟฟ้าก็เป็นผลพวงของการผลักดันโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดและการท่องเที่ยวตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยและทำธุรกิจในพื้นที่นี้มากยิ่งขึ้น และล่าสุดการผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาตั้งแต่ปี 2561 ก็เป็นโอกาสเงินโอกาสทองอีกวาระหนึ่งให้กับกองทัพเรือ (ตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในข้อ 4 ข้างต้น) ดังต่อไปนี้

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ผลักดันพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รับผิดชอบโครงการนี้ให้เป็นไปตามความฝัน ‘ไทยแลนด์ 4.0’ โดยกำหนดให้ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นจังหวัดนำร่อง รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย แน่นอนว่าปัจจัยพื้นฐานที่จะต้องมีสำหรับโครงการประเภทนี้ก็คือ การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเรือโดยตรงก็คือ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก[8]

อนึ่ง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ตั้งอยู่ใน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง อันเป็นที่ราชพัสดุ ที่ครอบครองโดยกองทัพเรือ กองทัพเรือจึงเป็นผู้บริหารจัดการมาตั้งแต่ก่อสร้างในปี 2504 สนามบินอู่ตะเภาได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยโดยสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม เพื่อรองรับ B-52 อันเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ที่สุดที่สหรัฐฯ ผลิตขึ้นได้ในขณะนั้น หลังสงครามเวียดนามยุติลง รัฐบาลไทยได้ให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ และการบินไทยตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินของตนแห่งที่สองที่นี่

อู่ตะเภาได้รับความสนใจอีกเมื่อเกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกเข้ายึดพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2551 ทำให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ต้องสั่งเปิดใช้อู่ตะเภา เพื่อระบายผู้เดินทาง เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลไทยหันมาให้ความสำคัญกับอู่ตะเภามากขึ้น และปัจจุบันอู่ตะเภามีสถานะเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ เปิดให้บริการกับสายการบินแบบเช่าเหมาลำ และสายการบินโลว์คอสต์หลายบริษัท และเชื่อว่าอู่ตะเภาจะคึกคักมากขึ้นหากรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภาก่อสร้างเสร็จ รายได้จากสนามบินอู่ตะเภาเป็นของกองทัพเรือ

ในปี 2561 สกพอ. ได้กำหนดให้พื้นที่ 6,500 ไร่บริเวณสนามบินอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก โดยความยินยอมของกองทัพเรือ นอกจากนี้ สกพอ. ได้ทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กับบริษัทอู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) โดยสัญญาได้กำหนดว่าหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่จัดหาผู้ผลิตระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น และน้ำประปา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐในสัญญานี้ก็คือ กองทัพเรือนั่นเอง

กองทัพเรือย่อมไม่มีความสามารถในการผลิตดังกล่าว แต่มีอำนาจในฐานะเจ้าของที่ดิน ได้คัดเลือกให้บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น เมื่อเลือกได้แล้ว กองทัพเรือส่งเรื่องให้ สกพอ. เป็นผู้ดำเนินการให้บริษัท บี.กริม ทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุขนาด 100 ไร่จนสำเร็จในวันที่ 26 มิถุนายน 2563 มีระยะเวลาการเช่า 29 ปี 6 เดือน (เป็นเวลาก่อสร้าง 4 ปี 6 เดือน และเวลาให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่ 6,500 ไร่ 25 ปี) สัญญาระบุว่าบริษัท บี.กริมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการเช่าที่ดินราชพัสดุ ค่าเช่าที่ดิน และส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการไฟฟ้าให้กับ สกพอ.

สัญญายังระบุว่า สกพอ. จะต้องแบ่งสัดส่วนรายได้ที่ได้รับจากการใช้ที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกให้กับกองทัพเรือ ในกรอบวงเงินไม่เกินปีละ 1,000 ล้านบาท โดยคำนวณจาก 1. รายได้จากค่าเช่าที่ดินทุกกิจกรรม โดยคิด 3% จากมูลค่าที่ดิน และปรับขึ้น 9% ทุก 3 ปี 2. รายได้จากกิจการที่กองทัพเรือดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว แต่ต้องสูญเสียรายได้นี้ไป (ไฟฟ้า ประปา และบำบัดน้ำเสีย การเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน)

ทั้งนี้ ผู้แทนของ สกพอ.ชี้แจงกับ กมธ.วิสามัญศึกษาธุรกิจกองทัพฯ ว่าเนื่องจากการก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ในปีแรก (2561) ได้จ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุให้กองทัพเรือแล้ว 7 แสนบาท ปีที่สองประมาณ 3 ล้านบาท และปีที่สาม 9 ล้านบาท และคาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้า ส่วนแบ่งรายได้สูงสุดจะตกประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์การแบ่งรายได้ชัดเจนแล้ว แต่ ณ ปัจจุบัน กองทัพเรือยังไม่มีแผนการนำรายได้ส่วนนี้นำเข้ากองทุนสวัสดิการของกองทัพเรือ แต่ตั้งเป็นกองทุนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคลากรของกองทัพเรือ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นกองทุนใด

สิ่งที่ย้อนแย้งอย่างยิ่งก็คือ ในขณะที่กองทัพเรือได้รายได้จากกิจการสนามบินอู่ตะเภาและค่าเช่าที่ราชพัสดุจากโครงการ EEC แต่ภาระการพัฒนาพื้นที่กลับตกอยู่ที่ภาษีของประชาชน กล่าวคือกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการขยายสนามบิน รวมทั้งการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ มีบริษัท UTA ประมูลโครงการก่อสร้างได้ กองทัพเรือได้ของบประมาณผูกพันต่อเนื่องหลายปีจากรัฐบาล ดังปรากฏในตารางที่ 3


ตารางที่ 3 งบประมาณโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ

อ้างจาก สำนักงบประมาณ. เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เล่มที่ 1 และ พ.ศ. 2567 เล่มที่ 1.
หมายเหตุ – คาดว่าเงินกู้ต่างประเทศนี้ กู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) ของรัฐบาลจีน

สรุป

ข้อมูลที่นำเสนอในบทความนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาจากการครอบครองที่ดินของกองทัพ เพียงแค่กรณีสนามกอล์ฟทหารและกรณี EEC ก็น่าจะทำให้เราเห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ที่ดินของกองทัพ แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากที่ต้องกล่าวถึง เช่น ผลกระทบต่อประชาชนที่อ้างสิทธิทับซ้อนในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผู้เขียนจะขอเขียนถึงประเด็นนี้ในโอกาสต่อไป

การครอบครองที่ดินของกองทัพมีราคาที่ประชาชนไทยต้องจ่ายให้ด้วยอย่างแน่นอน แต่ยากจะประเมินค่าได้อย่างครบถ้วนว่าเป็นราคาที่สูงขนาดไหน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีความพยายามศึกษาตรวจสอบกิจการต่างๆ ของกองทัพอย่างจริงจัง ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากอำนาจทางการเมืองของกองทัพนั่นเอง ที่ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถเอื้อมมือเข้าไปตรวจสอบและทวงคืนได้ อย่างไรก็ดี ผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันเริ่มตระหนักเห็นถึงปัญหานี้มากขึ้นแล้ว ความพยายามตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนได้เริ่มขึ้นแล้ว แม้ว่าจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม




References↑

1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา “บันทึกเรื่องสถานะทางกฎหมายของที่สงวนหวงห้ามของกองทัพเรือ (ฐานทัพเรือสัตหีบ)”, มิถุนายน 2538.
↑2 กองอสังหาริมทรัพย์ ฐานทัพเรือสัตหีบ, คู่มือปฏิบัติงาน การขออนุญาตจับจองที่ดินในเขตทรงสงวน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี. 2559. และ สภาผู้แทนราษฎร, “บันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม”, ครั้งที่ 11 วันที่ 7 พฤษภาคม 2567, หน้า 7.
↑3 ณัชจิรัฏฐ์ ประมวญผล, “ที่ดินของรัฐ… “ที่ราชพัสดุ” คืออะไร?”, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ. 3 กรกฎาคม 2566.
↑4 อภิชา นันทนิรันดร์, “แนวทางการบริหารจัดการที่ดินในการครอบครองของกองทัพบก”, เอกสารวิจัยส่วนบุคคล วิทยาลัยการทัพบก กันยายน 2565, หน้า 1.
↑5 Kanda Naknoi and Paul Chambers, “The Military Land of Smiles” in The Character of Khaki Capital in Thailand, Paul Chambers and Ukrist Pathmanand (Ed.): ISEAS – Yusof Ishak Institute, forthcoming. ตัวเลขรวมของที่ดินของกองทัพในงานของกานดาและแชมเบอร์ส น้อยกว่าตัวเลขที่ระบุในงานของณัชจิรัฏฐ์ ประมวญผล และอภิชา นันทนิรันดร์ (ดูเชิงอรรถที่ 3 และ 4 ตามลำดับ) ผู้เขียนคิดว่า ขอใช้ตัวเลขของสองคนหลัง เพราะเป็นผู้ที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานรัฐและกองทัพได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าเรายังสามารถอ้างตัวเลขอื่นๆ ในงานของกานดาและแชมเบอร์สได้อยู่ แม้ว่าตัวเลขที่เป็นจริงน่าจะสูงกว่าที่ทั้งสองคนอ้างไว้
↑6 จำนวน 40 แห่งนี้อ้างอิงจากเอกสารของ กรมกำลังพลทหารบก กองทัพบก, “การชี้แจงข้อมูลให้แก่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม สภาผู้แทนราษฎร” วันที่ 26 มีนาคม 2567.
↑7 “จิรายุเผยเคสสนามงู เคลียร์ไม่จบ ทอ.ขอชดใช้ 3 พันล้าน”, กรุงเทพธุรกิจ. 7 พ.ค. 2567.
↑8 ข้อมูลในหัวข้อนี้มาจากเอกสาร สภาผู้แทนราษฎร, “บันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม”, ครั้งที่ 11 วันที่ 7 พฤษภาคม 2567, หน้า 4-6.

https://www.the101.world/military-owned-businesses-4/