‘หัวมงกุฏ ท้ายมังกร’ หรือเปล่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พัฒนาการ แถลงการณ์เรื่อง ‘หยก’ ออกมาย้อนแย้งในตัวเองเต็มเปา จะเป็นเช่นที่ Art Pratchayaa Surakamchonrot ว่า “ด่านักเรียนผ่านเอกสารราชการ” ใช่ไหม
เขาพูดถึงข้อ ๑ กับข้อ ๒ ในแถลงการณ์ เหมือนดั่งหัวโผล่นิ่งๆ แต่หางส่ายยึกยัก ข้อแรก “ระบุว่านักเรียนไม่สามารถดำเนินการมอบตัวให้สมบูรณ์ตามกระบวนการ จึงไม่มีสถานะเป็นนักเรียน” พอข้อสอง “มีเงื่อนไขว่าถ้านักเรียนปฏิบัติตัวตามระเบียบของโรงเรียน โรงเรียนจะรับไว้เป็นนักเรียน”
แต่เมื่อดูข้อสาม “เน้นย้ำว่า...ไม่เคยปฏิเสธการรับนักเรียนเข้าเรียน และได้ให้การดูแลตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน อย่างเต็มกำลังความสามารถ” ตรงนี้แหละที่ย้อนแย้ง ความจริงที่เกิด เมื่อวานหยกไปโรงเรียนเวลา ๗.๔๐ น.
เจอประตูรั้วปิดกั้นเช่นเคย “อาจารย์ขู่จะแจ้งความข้อหาบุกรุกและขวางประตูไว้” คราวนี้หยกไม่ปีนรั้ว แต่ “กระโดดเข้าโรงเรียนทางหน้าต่าง” พอ ๘ โมงก็ “มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าไปในโรงเรียน” เพื่อจัดการ
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่อง “ทางโรงเรียนและทางราชการก็พร้อมให้เข้าเรียน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้” อ้างว่าระเบียบผ่านการประชาพิจารณ์มาอย่างดี
“ถ้าหยกไม่อยากทำตาม ก็สามารถเลือกเรียนได้ในช่องทางอื่นๆ ทั้งการศึกษานอกระบบ หรือการเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน” ก็คือผลักไสให้ไปอยู่ที่อื่น และอีกอย่างในความเห็นของ Jessada Denduangboripant ว่าถ้าโรงเรียนออกระเบียบ
“ต้องไม่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีความ หรือการถูกลงโทษทางกฎหมาย” นั้นเขาว่า “โดยหลักการแล้ว ไม่สามารถกำหนดเช่นนั้นได้ เพราะถือเป็นการริดรอนสิทธินักเรียน” กับอีกความเห็นของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เรื่องเสื้อผ้า หน้า ผม
ซึ่งโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ให้สิทธิเสรีภาพส่วนตัวแก่นักเรียน (เช่นกันกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน) ก็ไม่เห็นจะทำให้ศักยภาพของนักเรียนด้อยค่าลงไปตรงไหน อีกทั้งประสิทธิภาพของโรงเรียนมิได้ตกต่ำลงไปแต่อย่างใด
ควรดูตัวอย่างจากบัญชีทวิตเตอร์ของ Chanatip Tati @ChanatipTati ที่เขาเล่าว่าจบจากเตรียมฯ เมื่อ ๙ ปีที่แล้ว ถูกอาจารย์คนหนึ่งดึงตัวไม่ยอมให้ขึ้นไปรับประกาศณียบัตร บอกว่าคนอย่างเราขึ้นไปก็ทำโรงเรียนอับอาย” เพราะไว้ผมยาวแถมย้อมสีน้ำตาล
“๔ ปีต่อมา เราเรียนจบ ป.ตรี ๒ ใบจาก Sciences Po Paris ที่ฝรั่งเศส Columbia University ที่อเมริกา โดยที่หลังจบด้วย summa cum laude (เกียรตินิยมสูงสุด) จากนั้นก็ได้ทุนไปเรียนต่อ ป.โทที่ Cambridge ที่อังกฤษ”
มันแสดงว่ากฏระเบียบไม่ได้มีผลต่อสติปัญญาแต่อย่างใด กลับทำให้ “รู้สึกถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมจากหลักเกณฑ์ที่ถูกตั้งขึ้นมาตามอำเภอใจของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ...อย่าโตมาเป็นแบบผู้ใหญ่ที่เราเองก็เคยไม่ชอบ”
(https://twitter.com/ChanatipTati/status/1669576903207043072, https://www.facebook.com/permalink.100050549886530, https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant/posts/KTj139l และ https://www.facebook.com/art.sura/posts/Q9huwqMAPil)