คุณอุ๋ง @oonginlavender ·10h
อ.สุขุมขอไม่พูดถึงสูตรรัฐบาลแบบอื่นที่ไม่ได้มี #พิธา เป็นนายก นี่เป็นการสร้างบรรทัดฐานแก่นักวิชาการคนอื่นๆในการให้ความเห็น รวมถึงสื่อที่พยายามทำให้ความบิดเบี้ยวของกติกากลายเป็นความปกติ น่ายกย่องศรัทธาครับ
ชอบจัง พออ.สุขุมถูกขอให้วิเคราะห์กรณีที่พิธาไม่ได้เป็นนายก อ.สุขุมบอกว่า "ผมจะไม่พูดฉากใดที่มีคนอื่นเป็นนายก นอกจากพิธา" 👏👏👏 pic.twitter.com/lROOZbMOII
— 🌻dei (@webdevxp) June 15, 2023
สุขุม นวลสกุล : ผมมีสิทธิที่เชียร์คุณพิธาเต็มที่ เพราะมาตามระบอบ ไปรอดไหมไม่รู้ แต่มันต้องได้เป็น
15 มิถุนายน พ.ศ.2566
มติชนสุดสัปดาห์
สุขุม ยก ปวศ. เชียร์ ‘พิธา’ นั่งนายกฯ ชี้มาตามครรลอง ปลุกสปิริต ส.ส.พรรคอื่น ยกมือโหวตไม่ต้องรอเสียง ส.ว.
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 มิถุนายน ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ได้จัดโครงการเสวนา เนื่องในวาระคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2566 เรื่อง เกิดมาเป็นนายกฯ ? โดยมี รศ.สุขุม นวลสกุล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา โดยมี ปุรวิชญ์ วัฒนสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการ
รศ.สุขุมกล่าวตอนหนึ่งว่า สาเหตุหนึ่งที่ประชาธิปไตยของเราไม่พัฒนา ไม่เขยิบ คือความเห็นแก่ตัวของนักการเมือง ผมผิดหวัง ผมว่าความจริงเราไม่น่าต้องไปพูดถึง ส.ว. แต่พวก ส.ส.ด้วยกัน ล้วนแล้วแต่มาด้วยประชาธิปไตย แต่วันนี้เราจะยกประชาธิปไตยไปอีกระดับ เฉพาะแต่ ส.ส.ด้วยกันโหวตสนับสนุนมติการเลือกตั้งก็ไปแล้ว ผมดีใจหน่อยเดียว มีอดีต ส.ส.บอกว่า ไม่ร่วมก็โหวตให้ แต่ก็ล้วนแล้วแต่เป็น ส.ต.เท่านั้น ส.ส.นิ่ง ส.ส.เราเคลื่อนไหวเพื่อตัวเองเท่านั้น
“ทำไมที่พูดถึงว่า เราน่าจะผิดหวังกับคนเป็นนักการเมืองมากกว่าอย่างอื่น เพราะคนเหล่านี้มีชีวิตชีวาเพราะประชาธิปไตย แต่เวลาสนับสนุนประชาธิปไตยให้ก้าวออกไป ไม่ทำ ยกตัวอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่มานาน ปีที่จะครบวาระ 4 ปี ในปี 2526 รัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ไม่มีพรรคการเมืองสมัครอิสระได้ คนร่าง รธน.หวังให้ ส.ส.จับกลุ่มกันไม่ได้ จะได้ไปสนับสนุนทหารได้ง่ายๆ ตอนนั้น พล.อ.เปรมไปให้สัมภาษณ์ว่า พอแล้ว ไม่เอาแล้ว คราวนี้ มีคนเชื่อจริงจัง คือ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ต้องการที่จะเป็นนายกฯ พล.อ.ประมาณก็คิดว่า พล.อ.เปรมไม่เอาแล้ว กะลงแข่ง แย่งชิง ส.ส.กัน ถึงขนาดว่าสองค่าย ประมาณ-คึกฤทธิ์ ห่างกัน 3-4 แต้ม ทาง พล.ต.อ.ประมาณต้องยอมให้ อุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภา ทั้งๆ ที่มี ส.ส. 3 คน เพื่อจะให้ชนะกลุ่มคึกฤทธิ์ให้ได้ ปรากฏว่าโหวตประธานสภา กลุ่มคึกฤทธิ์แพ้แค่ 2-3 เสียง ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยอมให้ พล.ต.อ.ประมาณเป็นนายกฯไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่ สมัคร สุนทรเวช เขียนไว้โดยละเอียด
“ท่านบอก ตอนนั้นตัดสินใจรวมอยู่กับพรรคของคุณประมาณ ทางฝ่าย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บอกมาอยู่ทางนี้ดีกว่า ถามว่า อยู่กับประมาณได้อะไรบ้าง ก็บอกได้รัฐมนตรีต่างๆ เหมือนกันทุกอย่าง แต่ทางนี้จะได้ พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ มั่นใจว่าอยู่ได้นานกว่า ถ้าอยู่กับประมาณอยู่ได้กี่วัน นี่คือสิ่งที่สมัครเขียนเอง ท่านก็เลยโทรไปบอกฝ่าย บรรหาร ศิลปอาชา ว่ารีบมานะ ไม่ทันเขาปิดบ้านก่อนนะ ปรากฏว่า พล.อ.เปรมบอกกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่าถ้าจะให้ผมกลับมา ให้ช่วยเรียกหาผมว่ามาตามคำเรียกร้อง สยามรัฐถึงได้พาดหัว “คุณเปรมอยู่ที่ไหน” นี่คือการเมืองไทย นี่ปรากฏเป็นเรื่องราว”
“จริงๆ แล้ว ตำแหน่งนายกฯ กำลังจะอยู่กับพลเรือน แต่พลเรือนอีกท่านไม่ยอม อ้างว่าคะแนนต่างกัน 2-3 คะแนน จะอยู่กันเป็นสุขได้อย่างไร นี่คือครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นปี 2526” อาจารย์สุขุมกล่าว
รศ.สุขุมกล่าวอีกว่า อีกครั้งเกิดขึ้นปี 2529 พรรคประชาธิปัตย์ได้ถึง 100 ที่นั่ง จาก 200 กว่า น่าจะได้เป็นนายกฯพลเรือนตามเสียง แต่พรรคกิจสังคมกับพรรคชาติไทยจับมือกัน ถ้าไม่เอา พล.อ.เปรม ไม่ร่วมรัฐบาลด้วย หมายความว่า ถ้า พิชัย รัตตกุล ไม่ยอมเป็นรองนายกฯ จะเป็นนายกฯเอง ไม่มีทาง เพราะ 2 พรรคนั้นจับมือเกินร้อย กลายเป็นพรรคใหญ่สุดมากกว่า นี่คือครั้งที่กันท่ากันเองไม่ให้ ถ้าฉันไม่ได้เป็น คุณก็อย่าได้เป็น
“ปรากฏการณ์มันเป็นแบบนี้ จะโทษทหารฝ่ายเดียวไม่ได้หรอก วันนี้ ถ้าเพียงแต่พวกฝ่ายมาจากการเลือกตั้ง ยกมือให้กับคุณพิธา จบแล้ว ไม่ต้องไปพูดเรื่องเอาเสียง ส.ว.เท่าไหร่ เรื่องแบบนี้เกิดยาก เอาไว้โทษทหารดีกว่า ความจริงที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง คือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”
อาจารย์สุขุมกล่าวอีกว่า นักวิชาการคงเคยถูกถามบ่อยๆ ว่าใครควรเป็นนายกฯ ผมดีใจนะ ไม่เคยระบุบุคคล ผมตอบแต่ว่า ใครก็ได้ ที่ผ่านครรลองตามระบอบนี้ ต่อมาก็คือ สิ่งที่ในใจคิดว่าใครจะได้เป็น แต่ไม่กล้าตอบคือ เศรษฐา แน่นอน ดีใจที่ตอบแบบนั้น เพราะวันนี้ไม่ใช่เศรษฐา นี่พิธา ซึ่งไม่คิดว่าจะได้เป็น ถ้าถามว่าตอนนี้ใครควรเป็นนายกฯ บอกได้แล้วว่า พิธา เพราะมาตามระบอบ ผมไม่ชอบเท่าไหร่ เพราะอวดดี แต่มีดีจะอวด ผิดกับบางคน อวดงาน แต่ไม่มีงานจะอวด ผมมีสิทธิที่เชียร์คุณพิธาเต็มที่ เพราะมาตามระบอบ ไปรอดไหมไม่รู้ แต่มันต้องได้เป็น เพราะบ้านเมืองมาถึงวันนี้แล้ว
ทั้งยังระบุว่า ตอนหลังคลื่นในการเมือง ที่เป็นข่าวตามสื่อ กำลังสนับสนุนคุณพิธา ไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ การไปพบที่นู่นนี่ ได้รับการสนับสนุนกว้างขวาง ก็เลยมีคนพยายามสร้างข่าวมากลบข่าวนั้น ทั้งเรื่องคุณสมบัติไม่ได้ให้คนไปเสนอข่าวเรื่องนี้ให้คุณพิธาดูดาวน์ลง พวกข่าวแนวสนับสนุนที่แข็งแกร่งลดลง ต้องฝากสื่อด้วย ต้องมีคุณูปการต่อการพัฒนาระบอบด้วย
“ผมจะไม่พูดฉากใดที่เป็นนายกฯ นอกจากพิธา เพราะมันไม่ตรงกับครรลองที่ควรจะเป็น แต่ใครถามผมว่ามีทางอื่นที่ไม่ใช่พิธาไหม ไม่มี ถ้ามันมี ก็หน้าแตกธรรมดา เราต้องเสี่ยงเหมือนกัน อาจจะไม่เข้าใจการเมืองก็ได้ เพราะเรามีจุดมุ่งหมายในใจเรา จนกว่าเขาจะไม่ได้เป็น ค่อยเปลี่ยน” อาจาย์สุขุมทิ้งท้าย
ทั้งนี้ เมื่อได้สอบถามถึงประเด็น รัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้น รศ.สุขุมกล่าวว่า ถ้าเกิดคำนี้ พลิกไปอีกฝ่าย คือรัฐบาลเสียงข้างน้อย แล้วใช้ความฉ้อฉลค่อยๆ มา ผมว่าการเดินทางมาธรรมศาสตร์จะลำบาก ถนนทุกสายจะมา มธ.ยาก กว่าจะเบียดมาถึง ไม่อยากเห็น กลัว แต่ถ้ามันเป็นแบบนั้น มันเกิดแน่ มันทนไม่ไหว เราแก่จนป่านนี้ยังทนไม่ไหว ถูกหลอกมาหลายเที่ยว หนนี้มันหมดความทนทาน เพราะมติมหาชนมันชัดเจนเสียเหลือเกิน