วันพุธ, มิถุนายน 15, 2565
ขอสภาฯ โหวตให้ #สมรสเท่าเทียม โหวตเพื่อความรักและความเท่าเทียม คนเท่ากัน ไม่ต้องปิดบังความเป็นตัวตนของเราเอง
Pareena Toei Srivanit
8h ·
#สมรสเท่าเทียม พรุ่งนี้จะมีการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติรับหรือไม่รับหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิสมรส ซึ่งแน่ใจว่า สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติรับหลักการร่างฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี
แม้ว่า ร่าง พรบ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดย ครม. เป็นการ “ยกระดับ” สิทธิแก่คู่รักเพศเดียวกันให้มีสถานะตามกฎหมายเป็น “คู่ชีวิต” แต่ก็ยังมีการแบ่งแยก ระหว่าง “คู่สมรส” (ชาย-หญิง) และ “คู่ชีวิต” (หญิง-หญิง, ชาย-ชาย) ที่ไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นการให้ความเท่าเทียมของบุคคลในการสมรส
การให้เหตุผลที่ต้องเลือกออก พรบ.คู่ชีวิต (แทนการแก้ไขเพิ่มเติม ปพพ) ว่า การแก้ไข ปพพ ให้ทุกคนสามารถสมรสได้โดยไม่จำกัดเพศ จะทำให้เกิดข้อยุ่งยากหรือกระทบต่อกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ที่จะตามมา ยิ่งสะท้อนทัศนคติที่ว่าคู่รักเพศเดียวกัน ยังไม่สมควรได้รับสถานะ สิทธิ และสวัสดิการตามกฎหมายทัดเทียม-เช่นเดียวกับคู่สมรสหญิงชาย
“สิทธิในการสมรส (Marriage Right)” เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของบุคคลทุกคน - ไม่ว่าเพศใด - บุคคลทุกคนที่ประสงค์จะสร้างครอบครัว พึงได้รับสิทธิและสถานะทางกฎหมายเป็น “คู่สมรส” อย่างเท่าเทียม และไม่แบ่งแยก
ประชาชนไม่ควรต้องรอให้รัฐที่จะให้สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน รัฐมีหน้าที่จะต้องขจัดอุปสรรค คุ้มครองและอำนวยให้แก่ประชาชนได้สิทธินั้นๆ ไม่ว่าจะยุ่งยากเพียงใด
หวังว่า จะได้เห็นสภาผู้แทนราษฎร รับหลักการ ร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ฉบับเสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งมีหลักการแก้ไข ปพพ. ยกเลิกการระบุเพศชาย-หญิงเป็นเงื่อนไขของการสมรส ด้วย โดยไม่ถูกตีตกตั้งแต่วาระแรก
หมายเหตุ: อีก post เรื่องเดียวกัน
https://www.facebook.com/640160592/posts/10166273680210593/?d=n
Pareena Toei Srivanit
June 7
#สมรสเท่าเทียม เชื่อเสมอว่า มนุษย์เราจะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรีที่สุด คือ การได้เป็นตัวของตัวเอง และทุกข์หนึ่งที่ทรมานที่สุดของมนุษย์ คือ ทุกข์จากการที่ต้องปิดบังความเป็นตัวตนของเรา
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ การที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้ โดยไม่ต้องปิดบังตัวตน หรือดูถูกเหยียดหยาม
กฎหมายไม่จำเป็นต้องสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติและติดตัวมนุษย์แต่กำเนิด แต่ #กฎหมายต้องให้ความคุ้มครอง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ให้ถูกลิดรอน และ #กฎหมายต้องไม่ถูกใช้เพื่อลิดรอน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นด้วย
ปัจจุบันการสมรสตามกฎหมายภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะมีขึ้นได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ทำให้คู่รักเพศเดียวกันจึงยังไม่มีสิทธิและยังไม่ได้รับการยอมรับให้มี “สถานะตามกฎหมาย” เป็น “คู่สมรส” ที่จะสร้างครอบครัวได้เฉกเช่นเดียวกันกับคู่รักชายหญิง
การให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสและมีสถานะเป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย จึง #ไม่ใช่การให้สิทธิพิเศษ แต่ #การยกระดับสิทธิ ของคู่รักเพศเดียวกันให้ขึ้นมามี #สิทธิสมรสเท่าเทียม กับคู่รักชายหญิง
เมื่อวานนี้ ครม. มีมติเห็นชอบ “ร่าง #พรบคู่ชีวิต”ให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งโดยหลักการให้สิทธิเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตได้ และนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ในเรื่องครอบครัว/มรดกมาใช้โดยอนุโลม เป็นหนทางหนึ่งในการยกระดับสิทธิสมรสของบุคคล ก็นับว่าเป็นพัฒนาการและความพยายามของรัฐบาลที่จะให้สิทธิแก่คู่รักเพศเดียวกันมากขึ้นกว่าปัจจุบันในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นัยของร่างกฎหมายคู่ชีวิตก็ยังมี #การแบ่งแยก ระหว่าง “คู่สมรส” (ของชายกับหญิง) กับ “คู่ชีวิต” (ของเพศเดียวกัน) และยังมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอีกหลายฉบับที่คู่ชีวิตจะได้ไม่ได้รับเช่นเดียวกับคู่สมรส หรือผู้ที่เป็นสามี-ภริยา
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 (ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย) นั้น เป็นการวินิจฉัยว่า ปพพ.มาตรา 1448 ที่กำหนดให้การสมรสทำได้ระหว่างชายและหญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น (และศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า ควรใช้การออกกฎหมายเฉพาะ) โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติม ปพพ. เพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียม อย่างแท้จริงจะกระทำไม่ได้
ดังนั้น โดยส่วนตัว จึง #สนับสนุนให้รับหลักการร่างกฎหมายอีกฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้บุคคลทำการสมรสได้โดยไม่ต้องระบุเพศว่าชายและหญิง และบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับสถานะดังกล่าว เพื่อให้เป็น #การสมรสเท่าเทียมอย่างแท้จริง