ของฟรีไม่มีในโลกจ้า อยู่ที่ใครจ่าย ใครได้ใครเสีย
เงินที่จะมาจ่ายค่าเน็ตเพิ่ม 10GB เป็นเงินของสาธารณะที่ กสทช.นำจากกองทุนฯไปจ่ายให้ค่ายมือถือแทนผู้บริโภคอีกที แต่ยังไม่แน่ใจรายละเอียดเรื่องการวางบิลว่าจะคิดกันอย่างไร ตรวจสอบได้ไหม มีคนถามมาแต่เราตอบไม่ได้ ต้องถามคนใน กสทช.เวลานี้
คงไม่มีใครห้ามนโยบายนี้ได้ เพราะผู้บริโภคก็คิดว่าได้ประโยชน์บ้าง และ ต่อให้ กสทช.มีเกณฑ์การจ่ายเงินให้ค่ายมือถืออย่างโปร่งใสจริง ก็ไม่ได้เป็นนโยบายที่น่าภูมิใจนักในยามนี้ เพราะเอื้อเอกชนทุนใหญ่ เกือบจะเป็นการแจกเงินฟรีให้โอเปอร์ในกรณีถ้าคนกดสิทธิ์ไป ใช้จริงไม่เท่าไหร่ แล้วถ้าโอเปอร์ไม่มีต้นทุนเพิ่ม แต่รับเงินเหมาจ่ายไปแล้วใช่ไหม อย่างไร ใครจะตรวจสอบบิลนั้น กสทช. ต้องอธิบายหลักการจ่ายเงินให้เคลียร์ เพราะใช้เงินสาธารณะจำนวนสูงมาก ในขณะที่เงินก้อนนี้สามารถไปใช้อย่างอื่นได้เป็นประโยชน์มากกว่า ยังไม่นับว่าได้ประเมินไหมว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ลำบากเขาต้องการอะไร
งานที่จะทำให้ กสทช. ภูมิใจได้จริงคือการกำกับเอกชนให้ลดราคาลง ทำให้อินเตอร์เน็ต เหมือนค่าไฟที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน คุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการ มีมาตรการช่วยคนรายได้น้อยที่อาจไม่มีเวลาเล่นเน็ตด้วย แต่เราคงไร้เดียงสาไปที่คิดอะไรแบบนี้ในโลกแห่งความจริง
ซึ่งนี่คงเป็นส่วนหนึ่งของเหตุที่คนใน กสทช.ปัจจุบันเสนอให้ตัดสัดส่วนตัวแทนของผู้บริโภคในการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ ต่อรัฐสภาที่กำลังแก้ร่างกฎหมายอยู่
พูดไม่ออกเหมือนกันว่าทำไมเสียงของผู้บริโภคจึงน่ารังเกียจขนาดนั้นหรือ ทั้งที่เจตจำนงค์ของ กสทช.คือมาปกป้องผู้บริโภคจากผู้ประกอบการด้วย
ยอมรับว่าตอนเรายังทำงานอยู่ในสัดส่วนโควต้่าตัวแทนผู้บริโภค ซึ่งมักเป็นเสียงข้างน้อย แพ้มติประจำ อาจทำอะไรไม่ได้มากนักจริง แต่ขนาดแพ้มติอยู่แล้ว ยังจะเสนอแก้ พรบ. ไม่ให้มีสัดส่วนตัวแทนผู้บริโภคเลย คือจะให้เงียบสนิท มีแต่กระแสชมอย่างเดียวเลย มันไม่สุดโต่งเกินไปหรืออย่างไร ฝากฝ่ายนิติบัญญัติที่ดูแลกฏหมายนี้ด้วย
ส่วนตัวไม่สามารถสมัครกลับมาเป็น กสทช.ได้อีก แต่ต้องการเห็นกฎหมาย กสทช.ยังมีพื้นที่ให้ตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนด้วยในองค์กรตาม กฏหมายใหม่ อย่างน้อยได้ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน ไม่เสียแรงที่องค์กรภาคสังคมเหนื่อยยากในการผลักดันให้เกิด กสทช.มาตั้งแต่เคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปสื่อหลังเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2535
Supinya Klangnarong