วันอังคาร, เมษายน 02, 2567

'บ้านอองโตนี่' ที่พำนักสุดท้ายของ ปรีดี พยมยงค์ เป็นที่ผลิตงานเขียนสำคัญรุ่นหลังของรัฐบุรุษท่านนี้ ทั้งที่เกี่ยวกับคอคอดกระ และ ๖ ตุลาฯ

เมื่อมีการเปิดเผยเรื่อง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซื้อบ้านที่ ปรีดี พนมยงค์ อดีตรัฐบุรุษอาวุโส เคยพำนักในห้วงสุดท้ายของชีวิตอยู่ชานกรุงทางตอนใต้ของปารีส ก็เลยเห็นควรขยายผลเกี่ยวกับบ้านในย่านอองโตนี่หลังนี้อีกเล็กน้อย

นอกจากในหนังสือชื่อ ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ซึ่งเขียนโดยคุณ จินดา ศิริมานนท์ ภรรยาของ สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์นามกระเดื่องยุค อักษรสาส์น เฟื่องฟูแล้ว

มีผู้เขียนถึงบ้านอองโตนี่อีกราย ที่ดั้นด้นไปเสาะหาที่ตั้งของบ้าน เลขที่ ๑๗๓ ถนนอริสติ๊ด บริยองด์ ๙๑๖๐ อองโตนี่นี้ และถ่ายภาพตัวบ้านโดยรอบ นำภาพลงและเขียนเล่าไว้ในเว็บไซ้ท์ พันทิปเมื่อปี ๒๕๕๗ แต่รายละเอียดภายในตัวบ้านอยู่ในหนังสือของคุณจินดามากกว่า

สมาชิกเว็บพันทิปหมายเลข ๑๐๐๗๒๗๒ เขียนเล่าว่าเขาได้ข้อมูลเกี่ยวกับบ้านหลังนี้มาจากบทสัมภาษณ์ลูกสาว ๓ คนของท่านปรีดี (โดยวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) ที่ว่าท่านผู้หญิงฯ มักจะเดินจากบ้านไปตลาดอองโตนี่ระยะทาง ๒ กิโลเมตรเสมอๆ

บ้านอองโตนี่นี้อาจารย์สุดา และ วาณี พนมยงค์ เคยอาศัยอยู่กับบิดามารดา แม้ภายหลังเมื่อ อจ.วาณีแต่งงานแล้วได้ย้ายออกไปอยู่อะพ้าร์ตเม้นต์ใกล้ๆ มองเห็นหลังคาจากหลังบ้าน ก็ยังไปมาหากันอยู่สม่ำเสมอ

ในหนังสือของคุณจินดาซึ่งจัดพิมพ์โดยท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อปี ๒๕๓๖ กล่าวไว้ว่าระหว่างท่านปรีดียังมีชีวิตอยู่ที่บ้านอองโตนี่ ท่านใช้เวลาประจำวันอ่านค้นคว้าและเขียนงาน อีกทั้งจะมีมิตรสหายและผู้ที่เคารพยกย่องไปเยี่ยมเยือนไม่ขาด

งานเขียนของท่านปรีดีในช่วงนี้ จะเป็นเรื่องราวต่างๆ อันเป็นประโยชน์สาธารณะต่อประเทศไทยหลายอย่าง ทั้งในทางประวัติศาสตร์และร่วมสมัย เช่น เกี่ยวกับโครงการขุดคลองเชื่อมสองทะเล ที่คอคอดกระ หรือกระทั่งเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙

จึงหวังอย่างยิ่งว่าในงานเปิดบ้านหลังนี้ ในราววันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ที่ทราบว่าจะมีคนสำคัญในแวดวงผู้รณรงค์และสนับสนุน กระบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ไปร่วมกันมากหน้า

จะเป็นนิมิตหมายอันแจ่มจรัส เพื่อการเปิดกรุคุณูปการของอดีตมันสมองคณะราษฎร ที่ทำการอภิวัฒน์ประเทศไทย อดีตหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ซึ่งทำให้ประเทศไม่ตกเป็นอาชญากรสงครามโลกครั้งที่ ๒ และอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยิ่งยง

เป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยไทยโดยแท้ ดั่งคำสดุดีอันเลื่องลือที่ว่า “พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ”