วันพฤหัสบดี, มกราคม 09, 2563

มาทำความรู้จัก ‘ภาษี’ ที่เราอาจต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในปีนี้




มองไปทางไหน ก็มีแต่ภาษี เตรียมพร้อมทำความรู้จัก ‘ภาษี’ ที่เราอาจต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในปีนี้


8 January 2020
Karoonporn Chetpayark
The Matter


เข้าสู่ฤดูกาล การเตรียมตัว เตรียมเอกสารใบเสร็จ สลิปเงินเดือน สำหรับการจ่ายภาษีกันแล้ว นอกจากภาษีที่เราต้องจ่ายกันเป็นประจำทุกปีแล้ว ในช่วงนี้ยังมีภาษีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น หรือปรับเปลี่ยนให้เราได้เตรียมตัวเสียกันมากขึ้น ทั้งภาษีเกี่ยวกับที่ดิน การโอนเงิน ไปถึงอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ

ในขณะที่สภาฯ​ กำลังถกเถียง และพิจารณาร่างงบประมาณปีนี้กันอยู่ ว่าเงินที่ถูกจัดสรรแต่ละส่วนควรใช้อะไร เหมาะสมไหม The MATTER ขอพาพวกเราในฐานะผู้เสียภาษี ไปดูกันว่า ในช่วงนี้ มีภาษีตัวไหนเป็นภาษีใหม่เพิ่มขึ้นมา และเพิ่งเริ่มเก็บ ตัวไหนมีการเปลี่ยนแปลง ปรับเงื่อนไข ไปทำความรู้จัก เพื่อเตรียมตัวเสียภาษีกันให้พร้อมได้เลย

ภาษีที่ดิน – มีผล 1 มกราคม แต่ชำระภายในเดือนสิงหาคม
ผู้เสีย – เจ้าของที่ดินตามเงื่อนไข

ภาษี่ที่ดิน อยู่ในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผล 1 ม.ค.63 ตาม แต่จะเริ่มจัดเก็บจริงในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเงื่อนไขในการชำระภาษีนี้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
  • ที่ดินทำการเกษตรกรรม เงื่อนไขผู้เสียคือ ผู้ที่มีที่ดินทำเกษตรมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท
  • ที่อยู่อาศัย เงื่อนไขผู้เสียคือ ผู้ที่มีที่อยู่อาศัยหลังแรก มูลค่าเกิน 50 ล้านบาท, ผู้เป็นเจ้าของบ้าน แต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท และผู้มีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2
  • ที่ดินสำหรับเชิงพาณิชย์ ต้องเสียตั้งแต่บาทแรก
  • ที่ดินรกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์เกิน 2 ปี ต้องเสียภาษีตามขั้นบันได

ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ – กำลังพิจารณา
ผู้เสีย : ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ


พรีออเดอร์ สั่งสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ มีค่าส่ง ค่าชิ้ปปิ้งแล้ว ต่อจากนี้ก็อาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มด้วย เมื่อกระทรวงการคลังกำลังหารือเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% จากกสั่งสินค้าออนไลน์ และไปรษณีย์มาจากต่างประเทศทุกชนิดราคา รวมถึงก่อนหน้านี้ ที่มีการยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าที่ไม่เกิน 1,500 บาท ก็จะมีการหารือเพื่อยกเลิกข้อยกเว้นนี้ด้วย แปลว่า ไม่ว่าจะซื้อของมูลค่าเท่าไหร่ ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหมดเลยด้วย


ภาษีผู้ค้าออนไลน์ – เริ่มใช้กับการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา ตั้งแต่ปีนี้
ผู้เสีย : ผู้ทำธุรกิจใดๆ ที่มีการโอนเงินเข้า-ออกบ่อยๆ

ภาษีนี้เน้นกับ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์โดยเฉพาะ ซึ่งบัญชีที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ บัญชีที่มียอดฝากหรือโอนเข้าทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป หรือมียอดฝากหรือโอนเข้าทุกบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมียอดเงินรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป

โดยล่าสุดสรรพากรได้ประกาศว่า จะเตรียมติดตามผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ที่ขายของผ่านทางออนไลน์ และยังไม่ได้เสียภาษีอย่างถูกต้องอีกประมาณ 1.7 แสนราย ให้เข้าสู่ระบบเสียภาษีอย่างถูกต้อง ในการเสียภาษีปีนี้ด้วย


ภาษีรถจักรยานยนต์ – เริ่มเก็บเมื่อ 1 มกราคม 2563
ผู้เสีย : ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์


มีที่ดิน มีบัญชีโอนเงินถี่แล้ว การมีรถจักรยานยนต์เองก็ต้องเสียภาษีด้วย โดยภาษีรถจักรยานยนต์ จะเป็นภาษีที่เก็บตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะเริ่มเก็บกับรถที่นำออกจากโรงงานหรือนำเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งอัตราในการเก็บนี้ จะทำให้ 90% ของ รถจักรยานยนต์ในประเทศต้องเสียภาษีเพิ่มอีกประมาณคันละ 100 บาท ในขณะที่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กไบค์ ที่มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,000 ซีซี ขึ้นไปจะต้องเสียภาษีเพิ่มคันละประมาณ 100,000 บาท

โดยเงื่อนไขการเสียภาษีเป็นดังนี้
  • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 10 กรัมต่อกิโลเมตร (ก.ม.) คิดภาษี 1%
  • ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 10 กรัมต่อก.ม. แต่ไม่เกิน 50 กรัมต่อก.ม. คิดภาษี 3%
  • ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 50 กรัมต่อก.ม. แต่ไม่เกิน 90 กรัมต่อก.ม. คิดภาษี 5%
  • ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 90 กรัมต่อก.ม. แต่ไม่เกิน 130 กรัมต่อก.ม. คิดภาษี 9%
  • ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 130 กรัมต่อก.ม. คิดภาษี 18%

ภาษีบุหรี่ – จะขึ้น 40% ในเดือนตุลาคม 2563
ผู้เสีย : ผู้ซื้อบุหรี่


ภาษีบุหรี่ ไม่ใช่ภาษีใหม่ แต่เป็นภาษีที่นักสูบต้องเตรียมเสียเพิ่ม เพราะในวันที่ 1 ตุลาคมของปีนี้ ภาษีบุหรี่จะเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็นอัตราเดียวที่ 40% หลังจากเลื่อนการขึ้นภาษีมาแล้ว 1 ปี โดยล่าสุด พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิตยืนยันว่า ปีนี้จะขึ้นภาษีแน่นอน ไม่ขยายระยะเวลาแล้ว ทั้งเมื่อเทียบราคาบุหรี่ของประเทศไทย กับประเทศอื่นก็ไม่ได้สูง ต่อให้มีการขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 40% ราคาบุหรี่ไทยก็ยังอยู่ในราคาที่เหมาะสมด้วย


ภาษีเบียร์แอลกอฮอล์ 0% – รอเสนอกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบก่อนประกาศเป็นกฎกระทรวง
ผู้เสีย : ผู้บริโภคสินค้าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ 0%


มาถึงเครื่องดื่ม เราก็ต้องเสียภาษีกันด้วย กับภาษีเบียร์แอลกอฮอล์ 0% หรือเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ โดยกรมสรรพสามิตรเปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ คือการเสนอกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี ให้เห็นชอบก่อนประกาศเป็นกฎกระทรวง หลังจากที่มีการทำพิกัดภาษี และอัตราภาษีไว้แล้ว โดยจะเก็บภาษีสูงกว่าภาษีเครื่องดื่มปัจจุบันที่ 17% แต่จะไม่สูงเท่ากับภาษีเบียร์ที่เก็บอยู่ 22%

แม้ว่าเบียร์ชนิดนี้ จะเป็นเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ แต่ทางกรมก็มองว่า ในมุมมองของผู้บริโภคมักเห็นว่า เบียร์ไร้แอลกอฮอล์จัดอยู่ในหมวดแอลกอฮอล์ และเพื่อไม่ต้องการให้มีผู้บริโภคแอลกอฮอล์เพิ่ม จึงต้องเข้ามาจัดระเบียบภาษีในส่วนนี้ และมีแนวโน้มว่าในอนาคต จะขยายฐานการเก็บภาษีไปยังผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น เบียร์อัดเม็ดด้วยเช่นกัน


ภาษีความหวาน – เริ่มเก็บรอบที่ 2 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 62
ผู้เสีย : ผู้บริโภคสินค้าที่มีความหวาน


แม้ชีวิตจะขาดหวานไม่ได้ ความหวานก็ขาดภาษีไม่ได้เช่นเดียวกัน ภาษีความหวาน ไม่ใช่ภาษีใหม่ แต่มีการจัดเก็บรอบแรกมาแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นรอบ 2 ตามขั้นบันได เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564 ในอัตราภาษี ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร, ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขึ้นไป เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นเต็มเพดานภาษีอีกครั้งในปี 2566 หรือในปี 3 ปีที่จะถึงนี้


ภาษีความเค็ม – กำลังหารือ
ผู้เสีย : ผู้บริโภคสินค้าที่มีความเค็ม


หวานก็โดนเก็บภาษีแล้วความเค็มก็มีแนวโน้มว่าจะโดนเก็บภาษีอีกเช่นกัน โดยในตอนนี้ภาษีความเค็มอยู่ระหว่างการหารือและศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ว่าควรพิจารณาค่าโซเดียมบนฉลากที่มีมาตรฐานเท่าใดแต่คาดว่าจะควบคุมไม่ให้ประชาชนบริโภคเกิน 2,000 – 3,000 มิลลิกรรมต่อวัน

ซึ่งสรรพสามิตรระบุว่าภาษีความเค็มนี้มีเพื่อผลักดันผู้ประกอบการไทยปรับลดโซเดียมในสินค้า 20-30% รวมถึงยังเป็นห่วงประชาชนโดยหวังว่าจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไต-ความดันถึง 40% เลยด้วย
เช็กกันแล้วใครเข้าเกณฑ์เสียภาษีตัวไหนก็กำเงินกันให้พร้อมเตรียมจ่ายภาษีใหม่ภาษีเก่าที่ปรับเพิ่มกันได้ในปีนี้กัน

อ้างอิงจาก

marketingoops.com
posttoday.com
news.thaipbs.or.th
workpointnews.com
thairath.co.th
khaosod.co.th
bangkokbiznews.com
pptvhd36.com (2)
Illustration by Waragon Keeranan