ทรัพย์สินฯจ่อขอคืนที่ดินสวนดุสิต-สวนสุนันทา
โดย THE BANGKOK INSIGHT EDITOR TEAM
10 เมษายน 2561
หลังจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ส่งหนังสือยกเลิกสัญญาเช่า พื้นที่สนามม้านางเลิ้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 พร้อมให้เวลาในการเคลียร์พื้นที่ 180 วัน สร้างความตื่นตัวให้คณะกรรมการราชตฤณมัยสมาคม ต้องนัดประชุมกรรมการเพื่อหาแนวทางดำเนินงานของสนามม้านางเลิ้ง ในวันที่ 26 เมษายน 2561 ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นไปได้ว่าทางราชตฤณมัยสมาคม อาจจะต้องหาพื้นที่ใหม่ เพื่อมาดำเนินกิจการแทน เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการแล้ว
แหล่งข่าวจากสำนักงานทรัพย์สินฯ กล่าวกับ The Bangkok Insight ว่า ที่ดินแปลงสนามม้านางเลิ้ง ขนาดพื้นที่ 28 ไร่ แห่งนี้ หลังจากยกเลิกสัญญาเช่าแล้ว พื้นที่ส่วนหนึ่งอาจนำมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้คนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์ในส่วนงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่ชั้นในของเมือง ให้เป็นพื้นที่เฉพาะของสำนักงานทรัพย์สินฯ แต่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดของการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม นอกจากการยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแปลงนี้แล้ว ปัจจุบันทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีแนวทางการจัดการเกี่ยวกับพื้นที่แปลงใหญ่ในกรุงเทพฯ อีกหลายแปลง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยจะเลือกพื้นที่แปลงใหญ่ ที่อยู่ในเขตชั้นในย่านเขตดุสิต และเกาะรัตนโกสินทร์ มาดำเนินการก่อน
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
สวนดุสิต-สวนสุนันทาคิวต่อไป
นอกจากที่ดินสนามม้านางเลิ้งแล้ว พื้นที่ต่อไปที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จะยกเลิกสัญญาเช่าก็คือ ที่ตั้งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พื้นที่ 37 ไร่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พื้นที่กว่า 121 ไร่ ซึ่งเดิมเคยเป็นเขตพระราชฐาน ของพระราชวังดุสิตในรัชกาลที่ 5 มาก่อน
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สวนสาธารณะกรุงเทพมหานครขนาด 20 ไร่ เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่อีกแปลง ที่อยู่ในข่ายบอกเลิกสัญญาเช่า จากสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีกำหนดจะเลิกสัญญาเช่าในอีก 5 ปีข้างหน้า
มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
“สำนักงานทรัพย์สินฯ จะดำเนินการจัดประโยชน์ที่ดินแปลงใหญ่ สำหรับพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานมากขึ้น” แหล่งข่าวจากสำนักงานทรัพย์สิน กล่าว และว่า การดำเนินงานนี้เป็นไปตามนโยบายใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานภายในสำนักงานทรัพย์สินฯ และมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินฉบับใหม่ คือ พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560
พระราชบัญญัตินี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นการแก้ไขรายละเอียดกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินฯ
พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ระบุในมาตรา 3 ให้มีการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
-พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479
-พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2484
-พระราชบญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2491
“สำนักงานทรัพย์สินฯ จะดำเนินการจัดประโยชน์ที่ดินแปลงใหญ่ สำหรับพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานมากขึ้น”
ที่ดินสนง.ทรัพย์สินทั่วประเทศ 4.1 หมื่นไร่
ทั้งนี้ ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ทั่วประเทศมีกว่า 4.1 หมื่นไร่ ปัจจุบันจัดสรรให้หน่วยงานและบุคคลทั่วไปเช่า มีสัดส่วนดังนี้ ผู้เช่ามากที่สุดคือผู้เช่ารายย่อย 58% ผู้เช่าที่เป็นหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ 33% ผู้เช่าเชิงพาณิชย์ 7% และผู้เช่าที่เป็นมูลนิธิ 2%
หากดูเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ สำนักงานทรัพย์สินถือครองที่ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่กว่า 1 ล้านตารางวา หรือราว 2,650 ไร่ ที่ดินผืนใหญ่ที่สุด 300 ไร่อยู่บริเวณหลังวัดพระยาไกร บางรัก นอกจากนั้นก็ เป็นที่ดินประมาณ 10 ไร่ขึ้นไปในย่านธุรกิจการค้าเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม นโยบายการจัดการเกี่ยวกับที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในด้านค่าเช่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มีนโยบายในการดูแลผู้เช่าแต่ละประเภท ดังนี้
-ผู้เช่าที่เป็นหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2543 ได้กำหนดค่าเช่ากรณีหน่วยราชการเช่าไว้ที่ 2% ของราคาประเมินที่ดินทางราชการ โดยให้ทยอยปรับค่าเช่าแบบขั้นบันได เริ่มต้นที่ 0.2, 0.5, 1.0, 1.5 ไปจนถึง 2.0% แต่เพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐ คณะกรรมการทรัพย์สินฯ จึงให้คงอัตราค่าเช่าที่ 1.5% ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน
-ผู้เช่าที่เป็นสมาคมหรือมูลนิธิ สำนักงานทรัพย์สินฯ คิดค่าเช่าค่อนข้างต่ำ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้สามารถบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ ตามวัตถุประสงค์
-ผู้เช่าที่เป็นชุมชน ผู้เช่ารายย่อย เป็นกลุ่มผู้เช่าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ กำหนดค่าเช่าต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเช่าในท้องตลาด การปรับ เพิ่มค่าเช่าจะทำอย่างระมัดระวังคำนึงถึงความสามารถของผู้เช่า และมุ่งไปที่ความพยายามลดความเหลื่อมล้ำในด้านค่าเช่าของแต่ละบริเวณอันสืบเนื่องมาจาก การดำเนินการในอดีต
-ผู้เช่าหาประโยชน์เชิงพาณิชย์และธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น โรงแรมดุสิตธานี ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น สำนักงานทรัพย์สินฯ จะคิด ค่าเช่าในอัตราใกล้เคียงราคาตลาด