วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 11, 2557

"อนาคตไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่ (แต่ผู้เดียว) จะเป็นคนตัดสิน [เพราะอนาคตย่อมเป็นของเด็ก] …เชิญฟังความเห็น Joshua Wong


ในบทสัมภาษณ์นิตยสาร TIME ฉบับเอเชีย
ที่มา : http://thaipublica.org/2014/10/umbrella-revolution/
13 ตุลาคม 2557...

ประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ และการศึกษา: โจชัว หว่อง กับ “ปฏิวัติร่ม” ฮ่องกง

ที่มา Thai Publica
สฤณี อาชวานันทกุล

ข่าวใหญ่ในเดือนตุลาคม 2557 หนีไม่พ้นการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจีนของประชาชนชาวฮ่องกง ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ปฏิวัติร่ม” จากการใช้วิธีกางร่มกันแก๊สน้ำตาจากตำรวจ

ภาพประชาชนหลายแสนหลั่งไหลออกมาชุมนุมโดยสันติติดต่อกันหลายวัน เรียกร้องประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานจากรัฐบาลจีน นั่นคือ สิทธิการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดของฮ่องกงโดยตรง นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนนับตั้งแต่อังกฤษคืน “เขตปกครองพิเศษ” แห่งนี้สู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่ ในปี ค.ศ. 1997

ปฏิวัติรม” ในฮ่องกง ที่มาภาพ: http://mashable.com/2014/09/30/hong-kong-protests-updates/

เพื่อนชาวฮ่องกงของผู้เขียนหลายคนที่ทำงานธนาคารก็ใช้เวลาหลังเลิกงานออกไปร่วมชุมนุมกับเขาด้วย เล่าให้ฟังว่าคนฮ่องกงจำนวนมากโกรธจีนที่เคยสัญญาว่า จะใช้ระบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ปกครองฮ่องกงไปอีกอย่างน้อย 50 ปี แต่ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2017 กลับจะให้คนฮ่องกงเลือกผู้นำจากกลุ่มผู้สมัครที่ถูกคัดกรองมาแล้วชั้นหนึ่งก่อน พวกเขามองว่าหัวหน้าเขตปกครองพิเศษและพวกพ้องที่อยู่ในอำนาจเป็น “ลูกไล่” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดูแลผลประโยชน์ของจีนมากกว่าดูแลปากท้องของชาวฮ่องกง

ถามว่าอ้าว ฮ่องกงก็เป็นส่วนหนึ่งของจีน ผลประโยชน์ของทั้งสองชาตินี้น่าจะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันไม่ใช่หรือ เพื่อนอธิบายว่าพูดแบบนั้นก็ถูกบางส่วน โรงงานจีนจำนวนมากในเขตอุตสาหกรรมอย่างเสิ่นเจิ้นไม่มีวันสร้างได้ถ้าปราศจากเงินทุนและความช่ำชองของนักธุรกิจจากฮ่องกง (รวมถึงชาวจีนโพ้นทะเลอีกหลายชาติ ตั้งแต่สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ) ส่วนฮ่องกงเองก็ได้อานิสงส์จากสินค้าราคาถูกและนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เลวร้ายลงในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในฮ่องกงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (ดูจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี่กว่า .537 ในภาษาเศรษฐศาสตร์ – เกิน .50 ถือว่าสูงมาก) และวันนี้มีคนจนอย่างเป็นทางการ (ใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน) ถึงร้อยละ 20 ของทั้งฮ่องกง นอกจากนี้ การจัดตั้งสหภาพแรงงานยังผิดกฎหมาย และกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำก็เพิ่งมีเมื่อปี 2010 นี้เอง แถมระดับค่าแรงขั้นต่ำทางการก็น้อยนิดมาก คือ 28 เหรียญฮ่องกงต่อชั่วโมงหรือประมาณ 120 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้น ไม่พอค่ารถใต้ดินกลับบ้านด้วยซ้ำในเมืองที่มีค่าครองชีพแพงติดอันดับโลก

ชายแดนระหว่างเสิ่นเจิ้นกับฮ่องกง ที่มาภาพ: http://www.alexhoffordphotography.com/temp/files/HK-ShenzhenBorder-01.jpg

เพื่อนบอกว่าวันนี้คนหนุ่มสาวในฮ่องกงรู้สึกแปลกแยกกับรัฐบาลที่พวกเขาไม่เคยมีสิทธิเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ และมองไม่เห็นอนาคต คนที่พอมีทางหนีทีไล่ (จบการศึกษาสูงๆ ซึ่งมักจะแปลว่าต้องอย่างน้อยเป็นชนชั้นกลาง) ก็ทยอยอพยพไปหางานทำในต่างแดนในอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา อัตราการพบจิตแพทย์ก็เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ช่วยอธิบายว่า เหตุใด “ปฏิวัติร่ม” ในฮ่องกงครั้งนี้จึงมีคนหนุ่มสาวเข้าร่วมเป็นประวัติการณ์ หลายคนโดดเรียนมานั่งชุมนุมประท้วงกลางแดด ติวเข้มกันกลางถนน ฝ่ายอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนก็ใจดี อัดเทปคำบรรยายในคาบตัวเอง ให้ลูกศิษย์ที่ขาดเรียนดาวน์โหลดไปฟังได้ แถมอธิการบดีบางมหาวิทยาลัยยังเดินทางมาให้กำลังใจนักศึกษาที่ยืนหยัดประท้วงอย่างสันติ แตกต่างจากอธิการบดีไทยบางคนราวฟ้ากับเหว

(เพื่อนของผู้เขียนที่ไปประท้วงส่วนใหญ่ไม่ชอบคำว่า “ปฏิวัติร่ม” เพราะพวกเขาไม่ได้อยากโค่นระบอบการปกครอง เพียงแต่มาเรียกร้องให้ผู้นำลาออกและให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้นำโดยตรง พวกเขาบอกว่าต้องโทษสื่อต่างประเทศที่ใช้คำว่า “ปฏิวัติ” แต่มาถึงตอนนี้ก็ต้องปล่อยเลยตามเลย เพราะการเสนอข่าวของสื่อยักษ์หลายค่ายก็ทำให้ชาวโลกได้เห็นเหตุการณ์นี้)

แล้ว “แกนนำ” ของคนหนุ่มสาวเหล่านี้เป็นใคร? หนุ่มน้อยคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญคือ โจชัว หว่อง ผู้มีความคิดความอ่านเป็นผู้ใหญ่เกินตัว ดังที่ผู้เขียนจะแปลบางตอนจากข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน เกี่ยวกับตัวเขามาเล่าสู่กันฟัง (เนื้อหาในวงเล็บเป็นของผู้เขียน) –

โจชัว หว่อง ยังเด็กเกินกว่าจะมีสิทธิขับรถหรือซื้อเหล้าดื่มในบาร์ ยังไม่ต้องพูดถึงสิทธิเลือกตั้ง แต่ในวัย 17 ปี เขาได้กลายเป็น “หน้าตา” ของการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับพลเมืองรุ่นราวคราวพ่อ

โจชัว หว่อง แกนนำคนสำคัญของขบวนการนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/world/2014/oct/01/joshua-wong-teenager-public-face-hong-kong-protests

ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการนักศึกษา “Scholarism” ผู้นี้เป็นนักกิจกรรมตัวยง สองปีก่อนตอนอายุ 15 โจชัวนำขบวนนักเรียนต่อต้านแผนรื้อหลักสูตร “การศึกษาแห่งชาติ” (แนวทางฟังคล้ายกับแผนการรื้อหลักสูตรปลูกฝัง “ค่านิยม 12 ประการ” สมัยเผด็จการ คสช. ของบ้านเรา) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่ามีเป้าหมายเพื่อ “ล้างสมอง” เด็กๆ ให้นิยมชมชอบรัฐบาลจีน แคมเปญต่อต้านของ Scholarism ครั้งนั้นดึงนักเรียนหลายวัยมาร่วมมากถึง 100,000 คน ชุมนุมกดดันหน้าทำเนียบรัฐบาลจนรัฐบาลต้องยอม “แขวน” นโยบายรื้อหลักสูตรไปก่อน นับจากนั้นโจชัวก็กลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นในชั่วเวลาข้ามคืน

ในการ “ปฏิวัติร่ม” ครั้งนี้ โจชัวและเพื่อนๆ ถูกตำรวจควบคุมตัว 40 ชั่วโมงหลังจากที่บุกเข้าไปประท้วงในเขตสถานที่ราชการ ต่อมาศาลสั่งให้ตำรวจปล่อยตัวเขาไปเพราะ “ควบคุมตัวนานเกินความจำเป็น” แต่กว่าเขาจะออกมาโจชัวก็กลายเป็นเซเลบระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้คนอีกหลายแสนคนออกมาร่วมประท้วง ไม่นับคนอีกมากมายที่เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่นๆ เป็นรูปร่มหรือริบบิ้นสีเหลือง – สัญลักษณ์ของการประท้วงในครั้งนี้

โจชัวไม่ชอบแสงไฟที่สาดมาที่ตัวเขา ก่อนหน้านี้ในปี 2012 ตอนที่รณรงค์ต่อต้านหลักสูตร “ล้างสมอง” ของรัฐ เขาพูดว่า “ถ้าหากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลายเป็นการบูชาใครสักคนล่ะก็ นั่นแหละคือปัญหาใหญ่” ในครั้งนี้เขาย้ำว่า “คุณไม่ต้องเป็นไอดอลใครก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคมได้ คุณแค่ต้องแคร์ในประเด็นนั้นๆ จริงๆ”

โจชัวเปรียบเทียบการคัดกรองผู้สมัครเป็นหัวหน้าเขตปกครองพิเศษชั้นหนึ่ง ก่อนจะให้ประชาชนโหวตเลือก ว่าเหมือนกับการให้คนเลือกว่าจะกินอะไรระหว่างศูนย์การค้าสองแห่ง

“นี่เป็นตัวเลือกที่แท้จริงหรือเปล่า? ข้างในศูนย์การค้านั่นคล้ายกันมาก ยังไงๆ คุณก็ต้องลงเอยด้วยการไปกินร้าน Pepper Lunch อยู่ดี”

โจชัวยืนกรานกับสื่อตลอดมาว่าเขาไม่ใช่ฮีโร่ เพราะ “ฮีโร่ของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือพลเมืองฮ่องกงทุกคน”

ในบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME ฉบับเอเชีย ซึ่งทำสกู๊ปปกเรื่องปฏิวัติร่มสองฉบับติดต่อกัน โจชัวเน้นว่า “อนาคตไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่จะเป็นคนตัดสิน [เพราะอนาคตย่อมเป็นของเด็ก] …ผมอยากจะถามผู้ใหญ่ คนที่มีเงินทุนและอำนาจ ว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครับ?”