วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 09, 2561

ชวนอ่าน "ครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 8888 ในพม่ากับจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่ยังลุกโชน"





ครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 8888 ในพม่ากับจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่ยังลุกโชน


8 Aug 2018
โดย ลลิตา หาญวงษ์
Way Magazine


วันที่ 8 สิงหาคม 2018 เป็นวันรำลึกเหตุการณ์การประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของพม่า

ปี 1988 การปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา อย่างเหี้ยมโหดของกองทัพพม่าภายใต้การนำของ นายพลเน วิน แต่ผลกระทบที่ตามมาหลังโศกนาฏกรรมที่รู้จักกันในนาม ‘8888’ หรือเหตุการณ์แปดสี่ตัว (ชิต เล โลง ในภาษาพม่า) นี้มีนัยสำคัญยิ่งต่อการเมืองพม่าสมัยใหม่ กล่าวคือ ‘ความมั่นคง’ เข้ามาเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจของกองทัพ ทั้งความมั่นคงในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับชนกลุ่มน้อย และกับขบวนการต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร





รัฐบาลทหารภายใต้ SLORC (State Law and Order Restoration Council – สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ) และ SPDC (State Peace and Development Council – สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) จึงออกมาตรการเด็ดขาดกับภัยความมั่นคง ทั้งกองกำลังของชนกลุ่มน้อยและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยในพม่าเป็นอัมพฤกษ์ แต่ยังไม่เป็นอัมพาตเสียทีเดียว เพราะยังมีแอคติวิสต์อีกจำนวนหนึ่งที่หลบหนีออกนอกประเทศ และก่อตั้งกลุ่มก้อนทำกิจกรรมเพื่อต่อต้านเผด็จการอย่างแข็งขันต่อมาอีกร่วมสองทศวรรษ

โศกนาฏกรรมในปี 1988 มิได้เริ่มขึ้นในเดือน 8 หรือเดือนสิงหาคมอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นการประท้วงรัฐบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 1988 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและกองทัพแย่ลงจนถึงขั้นแตกหัก นำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนผู้ประท้วงครั้งใหญ่ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม นายพลเน วิน ลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาลและกองทัพ แต่ก่อนที่เน วินจะลาออก เขาได้กล่าวสุนทรพจน์และทิ้งประโยคสำคัญไว้ว่า “เมื่อกองทัพยิง คือยิงเพื่อฆ่า” (“When the army shoots, it shoots to kill.”)



เน วิน


หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพพม่าภายใต้การนำของผู้บัญชาการคนใหม่ พลเอก เส่ง ลวิน ก็ทำตามที่ เน วิน เคยขู่ไว้จริง คือกองทัพไม่ได้ยิงเพื่อขู่ แต่ยิงเพื่อฆ่าเท่านั้น ตลอดปี 1988 การปะทะกันระหว่างกองทัพกับนักศึกษาทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 3,000 คน

สำหรับคนพม่า อุบัติการณ์ในปี 1988 ไม่ได้มีความสำคัญในฐานะเหตุการณ์ที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองพม่าไปโดยสิ้นเชิง เพราะแท้จริงแล้ว หลังเหตุการณ์นี้ พม่าก็ยังปกครองโดยรัฐบาลทหารต่อมาอีก 22 ปี (ดังนั้น การเรียกโศกนาฏกรรม 8888 ว่าเป็น ‘การปฏิวัติ’ ทางการเมืองก็คงจะไม่ถูกต้องนัก) แต่คุณค่าของเหตุการณ์อยู่ที่การสร้าง ‘วีรบุรุษ’ ขึ้นมาใหม่สองกลุ่ม ซึ่งช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนทำให้ 8888 เป็นการประท้วงที่ขยายวงกว้างออกไปทั่วประเทศ และกระตุ้นจิตสำนึกทางการเมืองในหมู่นักศึกษาและประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน





วีรบุรุษกลุ่มแรกคือแกนนำนักศึกษา ภายใต้การนำของ มิน โก นาย (Min Ko Naing) โก โก จี (Ko Ko Gyi) โม ธี ซุน (Moe Thee Zun) และคนอื่นๆ ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรค NLD โดยเฉพาะผู้ก่อตั้งพรรคสี่คน ที่มี ออง ซาน ซู จี เป็นแกนกลาง

หลังเหตุการณ์ 8888 แกนนำนักศึกษาจำนวนมากถูกจับกุม และถูกควบคุมตัวในเรือนจำทั่วประเทศ มิน โก นาย ผู้นำนักศึกษาหนุ่มที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ออง ซาน ซู จี เมื่อครั้งที่ฝ่ายหลังขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 1988 ก็ถูกจับกุมในระหว่างหลบหนีกับเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ และถูกคุมขังเป็นเวลารวมกว่า 15 ปี ด้าน โก โก จี ก็ถูกจับ และใช้เวลา 17 ปีอยู่ในเรือนจำ

มิน โก นาย และ โก โก จี เป็นนักศึกษาเพียง 2 ใน 6,000 คนที่ถูกทางการจับระหว่างการกวาดล้างขบวนการนักศึกษา ยังมีนักศึกษาอีกจำนวนมากที่หลบหนีการจับกุมของรัฐได้สำเร็จ ส่วนใหญ่หนีเข้ามาในไทย และร่วมกับ ABSDF (All Burma Students’ Democratic Front) องค์กรนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ ผู้นำในฝั่งนี้คือ โม ตี ซุน ที่ต่อมาขอลี้ภัย และเป็นเสาหลักให้กับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยภายนอกประเทศต่อมาอีกหลายปี



มิน โก นาย


ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในกลุ่มแอคติวิสต์ในพม่ากลับมาคึกคักอีกครั้งในปี 2012 เมื่อรัฐบาลของ เตง เส่ง ออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองหลายร้อยคน รวมทั้งอดีตนักศึกษาจากยุค 1988

อิสรภาพครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองพม่าและของโลก ตลอดเกือบสองทศวรรษที่พวกเขาอยู่ในคุก สภาวการณ์ในโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น ความล่มสลายของสหภาพโซเวียต เทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว และกระแสประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานทั่วโลก (หลายคนมองว่าการปฏิรูปการเมืองในพม่าตั้งแต่ปี 2010 ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากการปฏิวัติอาหรับสปริง)

ด้วยความที่แกนนำนักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในเรือนจำมานาน จิตวิญญาณของการสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจึงลุกโชนอยู่ในใจพวกเขาตลอดมา และคนรุ่น 88 ที่อยู่นอกประเทศ หรือที่อยู่ในประเทศแต่ไม่ได้ถูกคุมขัง ก็ร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมืองตลอดมาในนามของ ABSDF เมื่อแกนนำคนรุ่น 88 ถูกปล่อยตัว พวกเขารวมตัวกันตั้ง ‘88 Generation Peace and Open Society’ หรือสมาคมคนรุ่น 88 เพื่อสันติภาพและสังคมเปิดขึ้น โดยมี มิน โก นาย เป็นประธาน

เป้าหมายของ Open Society ในพม่าคือการส่งเสริมประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กับการสร้างภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง แน่นอนเมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตยที่แข็งแรง และภาคประชาสังคมที่มีภูมิต้านทานที่ดี ก็ต้องกล่าวถึงการเข้าไปมีบทบาทในการเมืองระดับชาติ และตัวเลือกของพรรคการเมืองกระแสหลักฝั่งประชาธิปไตยก็มีเพียงพรรค NLD เท่านั้นที่อยู่ยงคงกระพันมาตั้งแต่ปี 1988 แม้จะผ่านคลื่นโหมกระหน่ำหลายลูก แต่พรรคก็ผ่านวิกฤติเหล่านั้นมาได้

เมื่อ NLD ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ออง ซาน ซู จี มอบตำแหน่งในรัฐบาลให้กับคนที่เธอไว้วางใจ และไม่มีตัวแทนจากกลุ่มคนรุ่น 88 ในรัฐบาลเลย

ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง บอร์ดบริหาร NLD ตัดสินใจไม่เลือกสมาชิกจากกลุ่ม 88 เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว ความตึงเครียดนี้กรุ่นอยู่ในใจของคนรุ่น 88 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อผู้เขียนถาม หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนรุ่น 88 ว่าการตั้งพรรคใหม่นี้ชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพรรค NLD ออง ซาน ซู จี และคนรุ่น 88 ใช่หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้เขียนคิด เพราะพรรคของคนรุ่น 88 ไม่ต้องการเป็นพรรคฝ่ายค้าน พวกเขาต้องการร่วมรัฐบาล และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ ออง ซาน ซู จี ต่อไป แต่โครงสร้างของพรรค NLD ไม่เอื้อให้ ‘คนนอก’ เข้าไปเป็นบอร์ดบริหาร ไม่สามารถเขยิบเข้าไปเป็นรัฐมนตรีได้ จึงทำให้คนรุ่น 88 ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับชาติได้

สิ่งที่แกนนำกลุ่มเน้นย้ำคือ คนรุ่น 88 ไม่ต้องการเห็นการเมืองพม่าแบบที่เน้นบูชาตัวบุคคล และต้องการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรค ตามเจตนารมณ์ของคนรุ่น 88 ที่ต่อสู้เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบพรรคเดียวมาตั้งแต่ต้น แนวคิดตั้งพรรคการเมืองทางเลือกจึงถือกำเนิดขึ้น



มิน โก นาย และกลุ่มคนรุ่น 88
พรรคการเมืองของคนรุ่น 88 ในฐานะ ‘คลื่นลูกที่สาม’


ความพยายามตั้งพรรคการเมืองของอดีตผู้นำนักศึกษารุ่น 88 ไม่ใช่เรื่องใหม่ อดีตแกนนำนักศึกษามีความคิดจะก่อตั้งพรรคการเมืองทางเลือกตั้งแต่มีสัญญาณการปฏิรูปประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2010 และโดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 เมื่อพรรค NLD ได้รับชัยชนะถล่มทลาย ทำให้ต้นปี 2013 แกนนำคนรุ่น 88 ออกมาประกาศเป็นครั้งแรกว่าจะตั้งพรรคการเมือง

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าแกนนำของพรรคยืนยันว่าไม่ได้มีความขัดแย้งกับพรรค NLD เพียงแต่ต้องการเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก และป้องกันไม่ให้ NLD ผูกขาดอำนาจ อันจะทำให้การเมืองในพม่ามีอุปสรรคมากขึ้น การจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอดีตนักศึกษารุ่น 88 กับ NLD นั้นต้องเข้าใจก่อนว่า คนรุ่น 88 ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ NLD มาโดยตลอด และยังเคารพหลักการประชาธิปไตยและ ออง ซาน ซู จี ไม่เสื่อมคลาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า NLD เป็นพรรคขนาดใหญ่ และในปัจจุบันกุมเสียงข้างมากในรัฐสภา จัดเป็นพรรค ‘ร้อยพ่อพันแม่’ มีสมาชิกจากทุกสายอาชีพ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอาจมีเป้าหมายทางการเมืองต่างกัน นักธุรกิจบางคนต้องการใช้ NLD เป็นฐานเสียงเพื่อฟอกตัวและเพื่อสร้างความนิยม และนักการเมืองอีกหลายคนก็ใช้ NLD เป็นพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์

นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับนักวิเคราะห์การเมืองหลายคนในพม่า ผู้เขียนมั่นใจว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจเพียงคนเดียวใน NLD คือ ออง ซาน ซู จี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างของพรรคมีปัญหา และเจตนารมณ์การเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถูกลดทอนลงไปอย่างมาก

ที่มาของพรรคเริ่มขึ้นจากอดีตแกนนำนักศึกษากลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของ โก โก จี ที่ต้องการสร้างตัวเลือกให้กับผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า (มิน โก นาย ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้งพรรค เขายังทำงานให้กับ 88 Generation Peace and Open Society ต่อไป) เพราะคาดการณ์ไว้ว่า NLD จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปแบบถล่มทลายในปี 2015 และจะเกิดปัญหาตามมาหลายประการอย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว เนื่องจาก NLD เป็นบ่อน้ำมันไว้แสวงหาผลประโยชน์สำหรับนักการเมืองและนักธุรกิจบางกลุ่ม การสร้างพรรคทางเลือกและเป็นพรรคที่ตั้งอยู่บนจิตวิญญาณของนักศึกษาที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ และลดทอนอำนาจของ NLD ที่มีมากเกินไป จึงเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่จะช่วยให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าเข้มแข็งขึ้น



โก โก จี


อายุเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเมืองพม่า ที่ยังมองว่าผู้นำต้องเป็น ‘ผู้ใหญ่’ หรือผู้อาวุโส ทำให้ NLD เต็มไปด้วยแกนนำที่เป็น ‘ลู จี’ หรือผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และมีจำนวนมากที่อายุเกิน 70 ปี (ออง ซาน ซู จี เองก็เพิ่งจะมีอายุครบ 73 ปีไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา) แต่พรรคใหม่ที่เกิดขึ้นมีสมาชิกที่มีอายุราว 50 ปี และมีเป้าหมายดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาสร้างสรรค์การเมืองแบบใหม่ สลัดออกจากประชาธิปไตยพรรคเดียว

เมื่อปลายปีที่แล้ว แกนนำนักศึกษายุค 88 ภายใต้การนำของ โก โก จี และ เย นาย อ่อง (Ye Naing Aung) ยื่นจดชื่อพรรคกับกรรมการเลือกตั้งของพม่า และได้เลือกชื่อ ‘พรรคเลขแปดสี่ตัว’ (Four Eights Party หรือ ชิต เล โลง ในภาษาพม่า) เป็นชื่อพรรค ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็น ‘พรรคเลขแปดสี่ตัวของประชาชน’ (Four Eights People’s Party) หลังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงพรรคของคนยุค 88 เพื่อคนยุค 88 และไม่ได้ตั้งมาเพื่อให้เป็นพรรคของปวงชนดังที่แกนนำพรรคเคยกล่าวไว้

เป้าหมายหลักของพรรคคือการร่วมชิงชัยในการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายน 2018 โดยจะเป็นการแย่งชิง 13 ที่นั่งในรัฐสภา แน่นอนว่าคู่แข่งโดยตรงของพรรคไม่ได้มีแค่ NLD เท่านั้น แต่ยังมีพรรคใหญ่อื่นๆ ทั้ง USDP อันเป็นฐานเสียงใหญ่ของกองทัพ และพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ

แกนนำพรรคเลขแปดสี่ตัวเคยสารภาพกับผู้เขียนว่าโอกาสที่จะล้ม NLD ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ NLD ถือเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็งที่สุด และแม้จะมีเรื่องอื้อฉาวของสมาชิกพรรคออกมาเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่ทำให้ความนิยมในตัวพรรคและหัวหน้าพรรคลดลงได้ เมื่อผู้เขียนถามต่อว่าจะมีวิธีใดให้คนพม่าเปลี่ยนใจมาเลือกพรรคเลขแปดสี่ตัว แกนนำผู้นั้นก็พูดติดตลกว่า


…ก็ต้องให้ออง ซาน ซู จีมาเป็นหัวหน้าพรรคเรา ถ้าทำได้อย่างนี้ จะให้ลงเลือกตั้งพรุ่งนี้ พรรคเราก็ชนะถล่มทลายแน่นอน!

การรำลึก 30 ปีของเหตุการณ์ 8888 ในปีนี้มีความพิเศษมากขึ้นกว่าทุกปี คือแกนนำของ ‘วีรบุรุษ’ กลุ่มนี้ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมา แม้จะใช้เวลานานหลายปีกว่าจะตั้งพรรคสำเร็จ แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อ และยืนยันว่าสุขภาวะที่ดีของการเมืองพม่าต้องสร้างขึ้นจากธรรมาภิบาลภายในพรรค การยึดถือเจตจำนงร่วมของประชาชน และทำให้พรรคเป็นทางเลือกเพื่อทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคเกิดขึ้นได้จริง

แกนนำพรรคไม่ได้ต้องการได้รับเลือกตั้งแบบถล่มทลาย แต่ต้องการเพียงให้ตนสามารถส่งเสียงเล็กๆ เข้าไปในรัฐสภา สร้างการเมืองที่สร้างสรรค์ร่วมกับพรรค NLD และทำให้จิตวิญญาณแห่งคนยุค 8888 ยังส่องแสงโชติช่วงอยู่คู่กับสังคมพม่าตลอดไป

Author
ลลิตา หาญวงษ์
เรียนและเทรนมาในสายประวัติศาสตร์อาณานิคม แต่สนใจการเมืองและวัฒนธรรมพม่าร่วมสมัยด้วย ปัจจุบันเป็นครูประวัติศาสตร์และเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องพม่าๆ ให้หลายสำนักข่าวออนไลน์และออฟไลน์เป็นหลัก ชื่นชอบดนตรีแจ๊ซ กีฬา ฟิล์มนัวร์ และชอบทำอาหารให้คนอื่นกิน