วันอังคาร, มิถุนายน 06, 2560

ค้านก่อนเละ! : 30 บาท รักษาทุกโรค กับการล้ม สปสช.





ค้านก่อนเละ! : 30 บาท รักษาทุกโรค กับการล้ม สปสช.


6 June, 2017 
โดย  n.nummueng
ที่มา ประชาไท Blogazine


แม้จะมีดราม่าเข้ามารายวันแต่ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมไม่ควรพลาดก็คือ "การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ซึ่งน่ากลัวมากว่ามันจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เละ!

และดูเหมือนจะมีเฉพาะกลุ่มคนรักหลักประสุขภาพและองค์กรใกล้ชิดเท่านั้นที่ไหวตัวทันออกมาเคลื่อนไหว และเกรงว่าหากปล่อยให้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว พวกเราในฐานะผู้ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็คงจะซวยไปด้วย จึงขอเรียบเรียงลำดับสถานการณ์และตอบคำถามที่คนทั่วไปไม่รู้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญอย่างไร

1) ตอนนี้ โครงการ 30 บาทกำลังอยู่ในอันตราย

ความอันตรายที่ว่าก็คือ มีกลุ่มคนที่พยายามในการแก้ไขฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งไม่ใช่การล้มโครงการ 30 บาท แต่เป็นการแก้กฎหมายเพื่อล้ม สปสช. (สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ) แล้วเอางบประมาณกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุข

โดยจะเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ แก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากเดิมมีที่มา 5 ส่วน ได้แก่

- ส่วนราชการ ปลัดกระทรวงต่างๆ 8 คน
- ภาคประชาชน 5 คน
- อปท. 4 คน
- ตัวแทนวิชาชีพ 5 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน

แต่ดันไปเพิ่ม “ผู้ให้บริการ” คือตัวแทนโรงพยาบาลต่างๆ ทั้ง ร.พ.ของ สธ. ร.พ.สังกัดต่างๆ และ ร.พ.เอกชน รวม 7 คน พร้อมกับให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานขณะเดียวกันยังจะเพิ่มตัวแทน ร.พ.ในบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน จาก 35 เป็น 42 คน [1]

ปัญหาที่ตามมาก็คือ เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะผู้ซื้อและผู้ให้บริการเป็นกลุ่มคนจากกลุ่มเดียวกัน [2] และ ทำลายหลักการเดิมที่ต้องการให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้ให้บริการ (กระทรวงสาธารณสุข) และผู้ซื้อบริการให้ประชาชน (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่ทำให้เกิดการไกล่เกลี่ยทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและสร้างอำนาจต่อรองให้กับผู้ซื้อบริการให้ได้บริการในราคาที่ย่อมเยาว์[3]

2) สปสช. ช่วยให้การใช้งบประหยัดและไม่มีวันขาดทุน!


หนึ่งในนโยบายที่ได้รับการยอมรับกันมากว่ามันส่งผลให้เกิดการประหยัดงบประมาณก็คือ “การจัดซื้อยารวมระดับประเทศ” โดยจะเห็นได้ว่า การดำเนินการของสปสช. ส่งผลให้ประเทศประหยัดงบถึงปีละ 7,000 ล้านบาท เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจัดซื้อปริมาณมากและมีจำนวนสั่งที่แน่นอน บริษัทยาสามารถวางแผนการผลิตและนำเข้าได้ จึงยอมลดราคาต่ำกว่าท้องตลาดมาก ต่างจากการแยกจัดซื้อโดยโรงพยาบาล เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพการใช้งบอย่างคุ้มค่า ลดความสูญเสียกรณียาหมดอายุ และจากการพัฒนาระบบการจัดเก็บและกระจายยา[4]

อีกทั้ง ถ้าคิดในเชิงมุมมองด้านเศรษฐกิจการเมืองและงบประมาณจะพบว่า โครงการดังกล่าวไม่มีการ 'ขาดทุน' แนวคิดของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลโดยกำหนดงบรายหัว ซึ่งเงินดังกล่าวมาจากงบประมาณด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว[5]

อีกทั้ง ค่ากลางของงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศทั่วโลกคือ 6% (หากมีประเทศ 200 ประเทศ....ประเทศลำดับที่ 100 จะให้งบด้านนี้ 6%) หรือหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศ ยากจน-ปานกลาง ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% แต่ของไทยอยู่ที่ 4% [6] ซึ่งหมายความว่าระบบดังกล่าวไม่ได้ใช้งบเยอะกว่าปกติทั่วไป ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ของฟุ่มเฟื่อย แต่มันเป็นของจำเป็นเสียด้วยซ้ำ

3) โครงการ 30 บาท ได้รับการยอมรับระดับโลก


Dr.Timothy Grant Evans หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ กล่าวในเรื่องนี้ว่า “ผลจากการศึกษาพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถครอบคลุมประชากรไทยได้ถึง 47 ล้านคน หรือ 75% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งระบบนี้เกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย (พ.ศ. 2540) ในขณะที่ประเทศมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 1,900 เหรียญสหรัฐ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจำนวนหนึ่ง แต่ระบบนี้ยังสามารถขยายความครอบคลุมได้อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ประเทศร่ำรวยก่อนจึงจะเริ่มนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ได้

ทั้งนี้ยังพบว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถลดภาระรายจ่าย และปกป้องครัวเรือนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลที่สูง หลักฐานชิ้นสำคัญ คือ จำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.41 ครั้ง/คน/ปี ในปี พ.ศ. 2546 เป็น 3.64 ครั้ง/คน/ปีในปี พ.ศ. 2554 ขณะที่อัตราการนอนรักษาตัวในรพ.เพิ่มจาก 0.067 ครั้ง/คน/ปี เป็น 0.119 ครั้ง/คน/ปี ในช่วงเดียวกัน ข้อมูลปี พ.ศ.2553 พบจำนวนประชาชนไทยที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น (unmet need) อยู่ในระดับต่ำมาก ครัวเรือนที่ล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี พ.ศ. 2538 เหลือร้อยละ 2.8 ในปี พ.ศ. 2551 ป้องกันครัวเรือนไม่ให้ยากจนลงได้กว่า 8 หมื่นครัวเรือน [7]

นอกจากนี้ ศ.อมาตยา เซน (Amartya Kumar Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้เขียนบทความเรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: ฝันที่สามารถจ่ายได้ (Universal healthcare: the affordable dream) เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ นสพ.เดอะการ์เดียน เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ยกย่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคว่า เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศร่ำรวย ก็สามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ โดยผลสำเร็จของหลักประกันสุขภาพไทยก็ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องความยากจนลงจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงตัวชี้วัดสุขภาพของประชากรก็ดีขึ้นและลดความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนรวยกับคนจน โดยวัดจากอัตราการตายในทารกแรกเกิด และอัตราตายของเด็กลดลง โดยอัตราการตายของทารกแรกเกิดลดต่ำลงถึง 11 คน ต่อ 1,000 คน อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด [8]

/////////////////////////////////////////////

อ้างอิง (แบบกากๆ)

[1] 30 บาทอยู่ในอันตราย!, ใบต้องแห้ง
[2] อ้างแล้ว
[3] หนังสือถอดรื้อมายาคติ, ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ถอดความโดย สำนักข่าว TCIJ
[4] นโยบายจัดซื้อยารวม ประหยัดงบฯ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยา, โพสต์ทูเดย์
[5] 30 บาทรักษาทุกโรค ข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวิทยา กับความบกพร่องของข้อมูลจาก รมว.สาธารณสุข, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
[6] อ้างแล้ว
[7] ผลประเมิน 'หลักประกันสุขภาพ' พบช่วยลดจำนวนคนจนลงกว่า 8 หมื่นครัวเรือน, ประชาไท
[8] นักเศรษฐศาสตร์โนเบลยกย่อง30บาทรักษาทุกโรค ลดยากจน-อายุขัยประชากรเพิ่มขึ้น, ประชาไท