บทความโดย บิล เกตส์
แปลโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ที่มา Thai Publica
13 มิถุนายน 2015ตำราวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ความหนาประมาณ 700 หน้าที่แปลมาจากภาษาฝรั่งเศส คงไม่ถือว่าเป็นหนังสืออ่านเล่นในช่วงฤดูร้อน แม้แต่คนที่หลงใหลในงานวิชาการก็คงคิดเช่นเดียวกับผม แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมรู้สึกถูกบังคับให้อ่าน ‘ทุนในศตวรรษที่ 21’ (Capital in the Twenty-First Century) โดยโธมัส พิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) หลังจากที่ได้อ่านบทวิจารณ์หนังสือหลายชิ้น และได้ยินรายละเอียดของหนังสือดังกล่าวจากเพื่อนๆ
ผมรู้สึกยินดีมากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ แล้วก็อยากเชิญชวนให้คุณอ่านเหมือนกัน หรืออย่างน้อยก็ควรจะอ่านบทสรุปดีๆเช่นที่เผยแพร่ใน The Economist) พิเก็ตตี้เองก็ได้พูดคุยกับผมผ่าน Skype เกี่ยวกับหนังสือของเขา ผมบอกเขาว่าผมเห็นด้วยกับบทสรุปสำคัญของเขา และคิดว่าผลงานดังกล่าวจะช่วยดึงบุคลากรที่ชาญฉลาดให้มาศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในความมั่งคั่งและรายได้ เพื่อให้เราสามารถเข้าใจสาเหตุและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ดีขึ้น แต่ผมก็บอกกับพิเก็ตตี้ว่า ผมยังมีข้อกังวลในบางองค์ประกอบของการวิเคราะห์ของเขา ตามรายละเอียดด้านล่าง
ผมเห็นด้วยกับพิเก็ตตี้อย่างยิ่งว่า
• ระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงนั้นเป็นปัญหา – มันจะสร้างความยุ่งเหยิงต่อแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ บิดเบือนประชาธิปไตยด้วยผลประโยชน์มหาศาล และบั่นทอนอุดมการณ์ที่ว่าทุกคนต่างเกิดมาอย่างเท่าเทียมกัน
• ระบอบทุนนิยมนั้นไม่สามารถจัดการตัวเองให้เข้าสู่ความเท่าเทียมได้ – หมายความว่าการกระจุกตัวของความมั่งคั่งอาจส่งผลสะสมร้ายแรงหากยังไม่ได้รับการควบคุม
• รัฐบาลสามารถมีบทบาทในการแก้ไขแนวโน้มการสะสมของปัญหาหากพวกเขาเลือกที่จะจัดการ
เพื่อให้เข้าใจชัดเจน เมื่อผมกล่าวว่าความเหลื่อมล้ำในระดับสูงนั้นเป็นปัญหา ผมไม่ได้หมายความว่าโลกกำลังแย่ลง เพราะในความเป็นจริง โลกมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สภาวะของความเท่าเทียม (Egalitarian) และแนวโน้มเชิงบวกดังกล่าวก็น่าจะดำเนินต่อไป ต้องขอบคุณการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในประเทศอย่างจีน เมกซิโก โคลอมเบีย บราซิล และไทย
แต่ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ และคงเป็นเรื่องแย่หากเราจะมองความเหลื่อมล้ำเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพหรือสังคมที่เข้มแข็ง เป็นความจริงที่ระบอบทุนนิยมนั้นจำเป็นต้องมีความเหลื่อมล้ำในบางระดับ ดังที่พิเก็ตตี้กล่าวว่ามันเป็นสิ่งที่อาศัยอยู่ในระบบ แต่คำถามก็คือ ความเหลื่อมล้ำในระดับใดที่เรายอมรับได้ และเมื่อใดที่ความไม่เท่าเทียมกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี นี่คือบางสิ่งที่ต้องมีการพูดคุยในระดับสาธารณะ และเป็นเรื่องยอดเยี่ยมที่พิเก็ตตี้ได้ช่วยยกระดับการถกเถียงให้มีความเข้มข้นขึ้น
อย่างไรก็ดี หนังสือของพิเก็ตตี้มีจุดอ่อนสำคัญที่ผมหวังว่าเขาและนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นจะแก้ไขภายในไม่กี่ปีข้างหน้า
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในอดีตที่พิเก็ตตี้รวบรวมมา ยังไม่สามารถฉายให้เห็นภาพกว้างว่าความมั่งคั่งนั้นเกิดขึ้นและเสื่อมสลายได้อย่างไร ใจความสำคัญของหนังสือคือสมการเรียบง่าย r>g โดยที่ r หมายถึงอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยจากทุน และ g หมายถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ แนวความคิดก็คือ เมื่อใดที่ผลตอบแทนจากทุนสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากแรงงาน ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าใด ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่มีทุนมหาศาล และกลุ่มคนที่พึ่งพิงการใช้แรงงาน สมการดังกล่าวเปรียบดังแกนหลักของข้อถกเถียงโดยพิเก็ตตี้ ซึ่งเขากล่าวว่าสมการนี้แสดงถึง “แรงกระทำพื้นฐานที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้น” และ “รวบยอดวิธีคิดในบทสรุปของผม”
นักเศรษฐศาสตร์คนอื่นได้รวบรวมข้อมูลในอดีตจำนวนมาก และตั้งข้อสงสัยถึงคุณค่าของสมการ r > g เพื่อทำความเข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำนั้นจะถ่างกว้างขึ้นหรือหดแคบลง ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จะตอบคำถามดังกล่าว แต่สิ่งที่ผมทราบคือสมการของพิเก็ตตี้ที่ว่า
r > g นั้นไม่เพียงพอที่จะอธิบายทุนที่มีหลากหลายรูปแบบ หรือในสังคมที่มีค่านิยมหรือความต้องการแตกต่างกัน
ลองจินตนาการถึงคนรวย 3 ประเภท คนแรกใช้เงินทุนของเขาเพื่อลงทุนในธุรกิจ อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิงที่ใช้จ่ายความมั่งคั่งของตนไปกับการกุศล และคนสุดท้ายที่ใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ไปกับการบริโภค และกิจกรรมหรูหราอย่างเรือยอร์ชหรือเครื่องบิน เป็นความจริงที่ความมั่งคั่งของคนทั้งสามนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ แต่ผมขอถกเถียงว่าสองคนแรกนั้นสร้างคุณค่าให้กับสังคมมากกว่าคนที่สาม และผมหวังว่าพิเก็ตตี้จะแบ่งแยกคนแต่ละประเภทออกจากกัน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญที่จะนำไปสู่การดำเนินการในระดับนโยบาย ซึ่งผมจะลงในรายละเอียดต่อไป
ที่สำคัญกว่านั้น ผมเชื่อว่าการวิเคราะห์ของพิเก็ตตี้ที่ว่า r > g ไม่ได้นับรวมแรงผลักจากการสะสมความมั่งคั่งจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเราไม่ต้องการใช้ชีวิตในสังคมอำมาตย์ ที่ตระกูลซึ่งร่ำรวยอยู่แล้ว ร่ำรวยขึ้นอีกจากการนั่งเฉยๆและเก็บเกี่ยวสิ่งที่พิเก็ตตี้เรียกว่า “รายได้จากการให้เช่า (rentier income)” หมายถึงผลตอบแทนที่จะได้รับจากการให้ผู้อื่นใช้เงิน ที่ดิน หรือสินทรัพย์ของตนเอง แต่ผมคิดว่าในอเมริกายังไม่มีระบบใดที่ใกล้เคียงกับรูปแบบดังกล่าว
หากเราลองมองดูรายชื่อชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 400 อันดับแรกที่จัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes จะเห็นว่าเกือบครึ่งนั้นเป็นผู้บริหารที่บริษัทของพวกเขาสามารถสร้างรายได้มหาศาล (ต้องขอบคุณการทำงานหนัก และโชคจำนวนไม่น้อย) แตกต่างจากสมมติฐานของพิเก็ตตี้ว่าด้วยรายได้จากการเช่า ผมยังไม่เห็นใครในรายชื่อที่บรรพบุรุษได้ซื้อที่ดินผืนใหญ่ในปี ค.ศ. 1780 และสะสมความมั่งคั่งจากการปล่อยให้เช่า ในอเมริกา เงินเก่า (old money) ได้หายไปนานแล้วจากความไม่มั่นคง เงินเฟ้อ ภาษี การบริจาค และการใช้จ่าย
เราสามารถเห็นภาวะการเสื่อมสลายของความมั่งคั่งในหน้าประวัติศาสตร์ยุคเรืองรองของอุตสาหกรรม ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) และผู้บริหารจำนวนหนึ่ง ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมยานยนต์ พวกเขาถือครองหุ้นจำนวนมากในบริษัทรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จในด้านกำลังการผลิต และสร้างผลกำไรมหาศาล ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้คือบุคคลพิเศษ ในขณะที่คนจำนวนมาก รวมถึงผู้ให้เช่า (rentiers) ที่นำความมั่งคั่งของครอบครัวมาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ ได้แต่เฝ้ามองเงินลงทุนนั้นสูญสลายในระหว่าง ค.ศ. 1910 ถึง 1940 เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกาลดขนาดจากผู้ผลิต 224 ราย หลงเหลือเพียง 21 ราย ทำให้แทนที่เราจะส่งต่อความมั่งคั่งให้กับผู้ให้เช่าหรือนักลงทุนประเภทรอรับผล (passive investors) แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้าม ผมเองก็ได้เห็นปรากฎการณ์นี้จากการทำงานในด้านเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ
พิเก็ตตี้กล่าวถูกต้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่ามีแรงกระทำที่สร้างผลสะสมของความมั่งคั่ง (นี่รวมถึงความจริงที่ว่า ลูกหลานของผู้ร่ำรวยมักจะเข้าถึงเครือข่ายเพื่อเข้าไปฝึกงาน สมัครงาน และอื่นๆ) อย่างไรก็ดี ก็ยังมีอีกแรงกระทำหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมสลายของความมั่งคั่ง แต่หนังสือ Capital ยังไม่ให้น้ำหนักกับมันมากเพียงพอ
ผมยังรู้สึกผิดหวังที่พิเก็ตตี้เน้นหนักที่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่งคั่งและรายได้ ในขณะที่ไม่ให้ความสำคัญกับข้อมลด้านการบริโภค เพราะข้อมูลการบริโภคสามารถใช้เป็นตัวแทนของสินค้าและบริการที่ผู้คนจับจ่าย เช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การศึกษา และสุขภาพ ซึ่งจะสามารถสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งว่าคนทั่วไปใช้ชีวิตเช่นไร โดนเฉพาะในสังคมที่ร่ำรวย ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้อาจไม่เพียงพอที่จะบอกเราได้ว่าสิ่งใดที่ควรถูกแก้ไข
มีเหตุผลหลายประการที่บ่งบอกว่าทำไมข้อมูลด้านรายได้จึงอาจทำให้เราเข้าใจผิด ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาแพทย์ที่ยังไม่มีรายได้ แต่มีการกู้ยืมเพื่อการศึกษา อาจถูกมองในเชิงสถิติว่าเธอตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเธออาจจะมีรายได้จำนวนมากในอนาคต หรือตัวอย่างแบบสุดขั้วคือ คนที่ร่ำรวยมหาศาลอาจมีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน (poverty line) ในปีที่พวกเขาไม่ยอมขายหุ้น หรือไม่ได้รับรายได้ในรูปแบบอื่น
ไม่ใช่ว่าเราควรไม่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับความมั่งคั่งหรือรายได้ แต่ข้อมูลการบริโภคอาจมีความสำคัญมากกว่าในการทำความเข้าใจสวัสดิการของมนุษย์ เพราะอย่างน้อย การพิจารณาข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้เราเห็นภาพที่แตกต่าง และน่าจะดูดีกว่าภาพที่พิเก็ตตี้วาดขึ้น ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมอยากเห็นงานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลทั้งด้านความมั่งคั่ง รายได้ และการบริโภคเข้าด้วยกัน
ถึงแม้ว่าเราอาจไม่ได้มองเห็นภาพที่สมบูรณ์แบบในตอนนี้ แต่เราทราบแน่นอนและเพียงพอว่าความท้าทายของเราคืออะไร และเราควรจะดำเนินการอย่างไร
ทางออกที่พิเก็ตตี้เห็นว่าเหมาะสมที่สุดคือการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากรายได้ที่เกิดจากทุนมากกว่ารายได้ทั่วไป เขาเสนอว่าภาษีในลักษณะดังกล่าว “จะสร้างความเป็นไปได้ในการยับยั้งความไม่เท่าเทียมที่ไร้จุดสิ้นสุด ในขณะที่ยังคงสภาวะการแข่งขัน และสร้างแรงจูงใจในการสะสมความมั่งคั่งแบบดั้งเดิม”
ผมเห็นด้วยที่ว่าการจัดเก็บภาษีควรจะเคลื่อนย้ายจากการเก็บภาษีจากแรงงาน มันดูไม่มีเหตุผลนักที่แรงงานในสหรัฐอเมริกาจะถูกเก็บภาษีอย่างหนักเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีที่เก็บกับรายได้จากทุน และคงจะไม่มีเหตุผลอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้ ที่หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทดแทนแรงงานที่มนุษย์ยังทำอยู่ในปัจจุบัน
แต่แทนที่เราจะมุ่งไปสู่การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในส่วนของทุนเช่นที่พิเก็ตตี้เสนอ ผมมองว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าหากเราจะเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในส่วนของการบริโภค ลองนึกถึงคนรวยสามประเภทที่ผมกล่าวไปข้างต้น คนหนึ่งเลือกใช้เงินลงทุนในบริษัท อีกคนหนึ่งเลือกใช้เพื่อการกุศล ขณะที่อีกคนหนึ่งเลือกใช้เพื่อวิถีชีวิตสุขสบาย แน่นอนว่าการใช้เงินของคนสุดท้ายไม่ผิด แต่ผมมองว่าเขาควรจะจ่ายภาษีมากกว่าคนอื่นๆ และดังที่พิเก็ตตี้ชี้ให้เห็นตอนที่เราพูดคุยกัน มันคงเป็นการยากที่จะวัดการบริโภค (ยกตัวอย่างเช่น เราควรนับการบริจาคเพื่อพรรคการเมืองเป็นการบริโภคหรือไม่?) อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีแทบทุกรูปแบบก็เผชิญความท้าทายนี้ ภาษีความมั่งคั่งก็ไม่ต่างกัน
เช่นเดียวกับพิเก็ตตี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในการเก็บภาษีมรดก เพราะการปล่อยให้ผู้รับมรดกบริโภคหรือปันส่วนความมั่งคั่งโดยอ้างอิงจากโชคลาภในการถือกำเนิดในครอบครัวร่ำรวยคงไม่นับว่าเป็นทางเลือกที่ฉลาดหรือยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ดังที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) กล่าวบ่อยครั้งว่า นี่ไม่ต่างจากการ “เลือกผู้เข้าแข่งขันโอลิมปิคปี ค.ศ. 2020 โดยเลือกจากลูกชายคนโตของผู้ได้รับเหรียญทองโอลิมปิคเมื่อปี ค.ศ. 2000” ผมเชื่อว่าเราควรคงไว้ซึ่งภาษีมรดก และนำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีไปใช้เพื่อการศึกษาหรือการทำวิจัย ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศในอนาคต
การใช้เงินเพื่อการกุศลก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่พิเก็ตตี้ดูไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เท่าไรนัก เมื่อหนึ่งศตวรรษครึ่งที่ผ่านมา แอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie) นับเป็นเสียงเพียงหนึ่งเดียวที่ผลักดันให้เพื่อนผู้ร่ำรวยของเขานำความมั่งคั่งไปบริจาค แต่ปัจจุบัน มีคนร่ำรวยจำนวนมากที่มุ่งมั่นในการทำเรื่องดังกล่าว การใช้เงินเพื่อการกุศลไม่ได้เสริมสร้างประโยชน์ทางตรงต่อสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยลดการสืบทอดความมั่งคั่งในตระกูล เมลินดา (ภรรยาของบิล เกตส์ – ผู้แปล) และผม เราเชื่อมั่นว่าการสืบทอดความมั่งคั่งในตระกูลเป็นสิ่งที่เลวร้ายต่อสังคมและต่อลูกของเราเอง เราต้องการให้ลูกของเราสร้างเส้นทางของตนเองในโลก แน่นอนว่าพวกเขาจะมีข้อได้เปรียบแทบทุกด้าน แต่ก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาในการสร้างชีวิตและเส้นทางอาชีพของตนเอง
การถกเถียงเกี่ยวกับความมั่งคั่งและความไม่เท่าเทียมเป็นประเด็นที่ร้อนแรง ผมคงไม่มียาวิเศษสำหรับแก้ไขปัญหานี้ แต่ผมทราบดีว่า แม้รายงานของพิเก็ตตี้อาจยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ได้มอบทั้งแสงสว่างและความร้อนในประเด็นดังกล่าว และผมมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้เห็นงานวิจัยที่สร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญนี้มากขึ้นในอนาคต
ถอดความจาก Why Inequality Matters โดย Bill Gates เข้าถึงได้ที่นี่
Copyright 2010 Gates Notes, LLC.