วันจันทร์, พฤษภาคม 18, 2558

สัมภาษณ์: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล พูดคุยเกี่ยวกับหนังเรื่องใหม่ – ทหารนิทรา เรือกำลังล่มและไดโนเสาร์


อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นักทำหนังและศิลปินด้านทัศนศิลป์ จะนำเสนอผลงานหนังเรื่องใหม่ Cemetery of Splendour หรือ รักที่ขอนแก่น ที่เทศกาลภาพยนต์เมืองคานส์ ในสัปดาห์นี้

โดย เดอะ อีสาน เรคคอร์ด
2558 พฤษภาคม 17

ถึงแม้ว่าภาคอีสานจะไม่ค่อยปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ภูมิภาคแห่งนี้กลับได้รับเลือกเป็นฉากของหนังหลายเรื่องของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่มีความงดงามทางด้านบรรยากาศและภาพเนื้อหาอันมีนัยยะ มานานหลายปี

อภิชาติพงศ์เติบโตที่ภาคอีสานและเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากนั้นเขาได้ศึกษาต่อด้านสาขาภาพยนตร์ที่สถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago)

ในหนังหลายเรื่องของเขา อภิชาติพงศ์มักสร้างสรรค์ภาพอันงดงามตรึงตาและโครงเรื่องที่ตัดสลับเหตุการณ์ไปมา ซึ่งทำให้ขอบเขตระหว่างความเป็นจริงกับจินตนาการนั้นค่อนข้างดูเลือนลาง ขณะที่ผลงานภาพยนตร์ของเขานั้นหลีกเลี่ยงที่จะไม่แสดงออกชัดเจนว่าเอนเอียงอยู่กับการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อภิชาติพงศ์ก็ยังแสดงความสนใจอย่างชัดเจนต่อเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับคนชายขอบ เขาให้ความสำคัญกับตัวละครที่ไม่ค่อยปรากฎอยู่บนจอภาพยนตร์หรือหนังไทยมากเท่าใดนัก ตัวอย่างเช่น ทหารที่มีรสนิยมรักร่วมเพศและแรงงานข้ามชาติ

สิ่งที่ดึงดูดให้อภิชาติพงศ์กลับมายังภูมิภาคอีสาน คือ ความหลงใหลเกี่ยวกับเขตพรมแดนและความรู้สึกผูกพันธ์ที่เขามีต่อจังหวัดขอนแก่น ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวว่าภาคอีสานนั้นเป็น “ขุมทรัพย์อันล้ำค่า” ของโอกาสการทำหนังในประเทศไทย และเขาเองก็รู้สึกสงสัยว่าความมีชีวิตชีวาของอีสานนั้นคือ “กระดูกสันหลังของสังคมและวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย”

หลังจากหนังเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ซึ่งได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2553 และ แม่โขงโฮเต็ล หนังที่มีความยาวเพียงหนึ่งชั่วโมง สร้างปี 2555 วันนี้อภิชาติพงศ์กลับมาพร้อมกับหนังเรื่องใหม่ซึ่งหนังทั้งเรื่องถ่ายทำในภาคอีสาน

ภาพยนตร์เรื่อง Cemetery of Splendour (ชื่อไทย: รักที่ขอนแก่น) บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงวัยกลางคน ผู้ซึ่งทำหน้าที่ดูแลนายทหารที่นอนเจ็บป่วยจากโรคลึกลับเกี่ยวกับการนอน อภิชาติพงศ์เรียกหนังเรื่องนี้ว่า “ภาพความทรงจำส่วนตัว” ที่มีต่อจังหวัดขอนแก่นบ้านเกิด และ “การครุ่นคิดตรึกตรองถึงชะตากรรมประเทศไทย ชาติที่ป่วยไข้”

ในสัปดาห์นี้ จะมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง Cemetery of Splendour ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เดอะ อีสาน เรคคอร์ด ได้มีโอกาสพูดคุยกับอภิชาติพงศ์ ถึงความทรงจำในวัยเด็กของเขา, ภาพบรรยากาศคล้ายฝันในอีสาน, เรือที่กำลังจะล่ม และอดีตอันเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน

IR: ภาพยนตร์ของคุณสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตส่วนตัวของคุณกับภาคอีสานอย่างไรบ้าง

A: ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของผมสร้างขึ้นจากความทรงจำช่วงที่ผมเติบโตที่จังหวัดขอนแก่น ในด้านทัศนียภาพและสิ่งก่อสร้าง ผมตั้งใจให้มีภาพของความเป็นอีสาน ผมคิดว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของแถบนี้นะ

คุณปู่ผมท่านเดินทางมาจากเมืองจีนแล้วท่านก็มาตั้งรกรากที่จังหวัดนครสวรรค์ พ่อผมก็เลยเป็นคนนครสวรรค์ ส่วนคุณแม่ก็มาจากครอบครัวจีนในกรุงเทพ หลังจากที่ท่านทั้งสองจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ ท่านก็เลือกมาทำงานในโรงพยาบาลที่ขอนแก่น ตอนนั้นไม่มีใครอยากมาอีสานหรอกครับ

ตอนเป็นเด็กผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แถวๆ โรงพยาบาล ครอบครัวเราอาศัยอยู่ที่บ้านพักสำหรับแพทย์ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาล หมอส่วนใหญ่ในขณะนั้นก็มาจากที่อื่น ไม่ได้มาจากภาคอีสาน

จริงๆ แล้วผมไม่ได้นึกถึงการเน้นภาพอีสานในหนังที่ผมสร้างในช่วงแรกๆ นะ ผมสนใจประเด็นเรื่องชายแดนระหว่างประเทศมากกว่า เช่น หนึ่งในหนังเรื่องแรกๆ ของผมเป็นเรื่องเกี่ยวกับชายแดนไทย-พม่า ผมหลงไหลเรื่องการเดินทางข้ามไปมาระหว่างชายแดนมาก

ช่วงระยะหลังตอนที่ผมเริ่มมีงบประมาณในการสร้างหนังมากขึ้น ผมเพิ่งมาเริ่มคิดว่าผมอยากทำให้หนังของผมมีความใกล้ชิดกับภาคอีสานมากกว่านี้ อย่างฉากในหนังเรื่อง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) กว่าครึ่งเรื่องก็ถ่ายทำที่อีสาน ส่วนเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ถ่ายทำในอีสานประมาณ 95% ทั้งในจังหวัดขอนแก่นแล้วก็จังหวัดเลย ผลงานล่าสุดของผม Cemetery of Splendor ทั้งเรื่องถ่ายทำในขอนแก่น


ตั้งแต่ผมยังเด็ก ที่นี่ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง” อภิชาติพงศ์กล่าวเกี่ยวกับบึงแก่นนครหนึ่งในฉากหนังเรื่องใหม่ของเขา

IR: คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนที่คุณเด็กกว่านี้ คุณพยายามปกปิดว่าคุณมาจากขอนแก่น ความคิดแบบนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

A: ใช่ครับ ความคิดแง่นั้นมันเปลี่ยนไปเยอะมาก เมื่อตอนผมเด็กกว่านี้ จนกระทั่งผมอายุ 20 กว่าๆ เช่น เมื่อตอนที่ผมเข้าเรียนโรงเรียนกวดวิชาสถาปัตย์ ผมบอกคนอื่นว่าผมมาจากขอนแก่น ทุกคนคงหัวเราะเยาะ แต่ตอนนี้คงไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ผมคิดว่าปัจจุบันเรื่องพวกนี้มันเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นนะ ถึงแม้ว่าจะยังมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยกว่าสมัยก่อน

หลายคนก็คงมีประสบการณ์แบบเดียวกับผม เช่น คุณเจนจิรา พงศ์พัศ (วิดเนอร์) นักแสดงขาประจำของผม ตอนที่เธออาศัยอยู่ในกรุงเทพ เธอทำงานให้กับผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นคนจัดหานักแสดงตัวประกอบป้อนให้กับวงการโทรทัศน์และภาพยนตร์ ซึ่งหนึ่งในงานที่ป้าเจนต้องทำคือ ช่วยฝึกนักแสดงเหล่านั้นให้ใช้สำเนียงภาคกลางแทนสำเนียงอีสาน

IR: ทำไมภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของคุณถึงถ่ายทำในจังหวัดขอนแก่นทั้งหมด

A: ส่วนหนึ่งก็เพราะผมไม่ได้กลับบ้านบ่อยนัก แม่กับพี่ชายของผมยังอาศัยอยู่ที่ขอนแก่น ก็เลยเกือบจะเป็นข้ออ้างที่จะทำให้ผมได้ใช้เวลาอยู่ใกล้กับเขาหน่อย แม้จะไม่มาก

นอกจากนี้ผมก็ยังรู้สึกว่าขอนแก่นเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ทุกครั้งที่ผมกลับมา ผมมักนึกถึงความทรงจำในอดีต สิ่งเก่าๆ ทับซ้อนกับสิ่งที่มันเป็นอยู่ตอนนี้ ที่สำคัญหนังเรื่องนี้ก็คล้ายว่าจะเป็นหนังสั่งลา เพราะผมคิดว่า คงถึงเวลาแล้วที่ผมควรจะก้าวออกไปทำอะไรที่ท้าทายขึ้น ด้วยการทำหนังที่ไม่ได้อยู่แค่ภายในประเทศ ดังนั้น ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นความคิดที่ดีที่จะใช้บ้านเกิดของผมเป็นฉากของหนังเรื่องนี้

เริ่มแรกผมตั้งใจว่าจะใช้หนองคายเป็นสถานที่ถ่ายทำ เพราะว่าป้าเจน นักแสดงหนังผม เธอมาจากจังหวัดนั้น เธอเป็นแรงบันดาลใจให้ผมในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวความทรงจำของเธอที่มีเกี่ยวกับอีสาน นอกจากนี้ ผมก็ยังรู้สึกรักแม่น้ำโขงมาก และแน่นอนผมมีความหลงไหลเกี่ยวกับเรื่องชายแดนระหว่างประเทศ ชายแดนไทย-ลาว จริงๆแล้วผมคิดว่าขอนแก่นเองไม่ได้มีภาพที่เหมาะแก่การถ่ายทำหนังมากเท่ากับหนองคาย ซึ่งก็เป็นความท้าทายของผมอีกอย่างหนึ่ง

IR: ความทรงจำในวัยเด็กของคุณสะท้อนออกมาในภาพยนตร์ของคุณอย่างไรบ้าง

A: เรื่องราวในหนังจะเน้นที่โรงพยาบาล แล้วก็โรงเรียนของผมเป็นหลัก เพราะว่าเป็นสถานที่ที่ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นั่นเมื่อผมยังเด็ก เพราะโลกของผมในตอนนั้นมีอยู่เท่านั้นจริงๆ มีโรงพยาบาล โรงเรียน แล้วก็โรงหนังแถวนั้น ดังนั้นหนังเรื่องนี้ก็เลยเป็นการผสมผสานระหว่างสถานที่ 3 แห่งนี้

พวกเราเลือกโรงเรียนที่อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกไปสัก 15 นาที ซึ่งในแง่ของสถาปัตยกรรม ตัวอาคารโรงเรียนเป็นอาคารไม้ผสมกับคอนกรีต จริงๆ แล้วเป็นเหมือนกับการผสมผสานระหว่างโรงเรียนกับบ้านไม้ในโรงพยาบาลที่ผมโตขึ้นมา

ตอนช่วงที่ผมกำลังโต เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ถนนในตัวเมืองยังเป็นถนนดินลูกรัง แล้วก็ไม่ได้มีตึกเยอะมากมายเท่ากับปัจจุบัน ประกอบกับว่าผมเรียนด้านสถาปัตย์ฯ มา สำหรับผมแล้ว ผมรู้สึกว่าขอนแก่นเป็นเมืองที่มีความล้มเหลวด้านภูมิสถาปัตย์ การจราจรก็เริ่มแย่และต้นไม้ก็แทบจะไม่เหลือให้เห็นแล้ว

ผมรู้สึกแย่นะที่ต้องพูดว่าขอนแก่นกำลังเป็นเหมือนกับเมืองอื่นๆ ในประเทศที่ไม่มีอัตลักษณ์ของตัวเองอีกต่อไป มีความพยายามเอารูปปั้นไดโนเสาร์มาวางไว้ตามจุดต่างๆ รอบเมือง ผมเอาภาพนี้ใส่ไว้ในหนังด้วยนะ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอภาพจังหวัดขอนแก่นผ่านมุมมองความรู้สึกเศร้าสลด


อภิชาติพงศ์ ขณะถ่ายทำหนังเรื่องล่าสุด Cemetery of Splendour หรือ รักที่ขอนแก่น ในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นเมื่อปีที่แล้ว 

IR: ฉากในภาพยนตร์เรื่องใหม่จะเป็นฉากในเมืองมากกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เช่น ลุงบุญมีระลึกชาติ หรือ แม่โขงโฮเต็ล หรือเปล่า

A: คือมันเป็นการผสมผสานระหว่างสถานที่ที่เป็นกลางๆ นะ ในตอนแรกของหนังจะเสนอภาพโรงเรียนในชนบท แล้วหลังจากนั้นคนดูก็จะถูกพาเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น แต่ก็จะไม่ได้เป็นภาพเมืองที่กระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ แต่จะเป็นภาพของตลาดโต้รุ่งในตัวเมืองขอนแก่น แล้วก็มีภาพของบึงแก่นนคร ซึ่งสถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่แบบกลางๆ ที่ผมเลือก เพราะตั้งแต่ตอนที่ผมยังเด็กจนถึงปัจจุบัน สถานที่เหล่านี้ก็ยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่

IR: คุณพูดเกี่ยวกับความหลงไหลในเรื่องชายแดนและการข้ามชายแดน คุณมีความรู้สึกว่าหนังหลายๆ เรื่องของคุณมักจะเกี่ยวข้องกับชายแดนระหว่างอีสานกับกรุงเทพบ้างไหม

A:แน่นอนครับ ไม่ใช่แค่ภาคอีสานนะ แต่รวมไปถึงภาคเหนือและภาคใต้ด้วย ภูมิภาคเหล่านี้ไม่มีความสัมพันธ์รักแนบแน่นกับกรุงเทพหรอกนะ ซึ่งยังถูกถ่ายทอดออกมาในด้านมิติของการเมืองอีกด้วย

แต่ในหนังของผม มันก็มีพรมแดนหลายรูปแบบ เช่น พรมแดนระหว่างคนตายกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมไปถึงพรมแดนระหว่างชีวิตประจำวันทั่วไปกับความฝัน และผมเชื่อว่าสำหรับภาคอีสานแล้ว มันค่อนข้างชัดเจนในประเด็นนี้นะ คือมันมีช่วงชั้นของโลกสองแห่งตั้งอยู่บนจินตนาการของผู้คน ลองดูอย่างนิทานพื้นบ้านอีสานสิ คือมันเต็มไปด้วยจินตนาการและความเชื่อเรื่องวิญญาณ ดังนั้นมันก็เลยดูเหมือนกับว่าคนอีสาน รวมทั้งตัวผมเอง ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แค่มิติเดียว แต่อยู่ในมิติแห่งความเป็นจริงและความฝันอันความหลากหลาย สิ่งเหล่านี้เป็นได้ทั้งความฝันเรื่องเหนือธรรมชาติ เรื่องโลกของวิญญาณ รวมไปถึงการฝันใฝ่ถึงอนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

IR: คุณจะอธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในไทยตอนนี้อย่างไร แล้วสถานการณ์ดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างไรในการสร้างภาพยนตร์ของคุณ

A: ผมคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่มันน่าเบื่อนะ มันแทบจะเป็นเหมือนฤดูกาลหนึ่งของไทย มีช่วงหน้าหนาวสั้นๆ หน้าฝน หน้าร้อน แล้วก็หน้ารัฐประหาร มันเป็นวงจรที่ไม่จบสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจมาก และผมรู้สึกเหนื่อยกับมันน่ะ

นี่คือสาเหตุว่าทำไมหนังเรื่องนี้กับเรื่องที่ผ่านๆ มามองประเทศไทยในลักษณะที่ค่อนข้างเศร้า สำหรับผม การอยู่ในประเทศนี้มันแสดงถึงความที่เราไม่มีอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันแรงผลักดันในเชิงลบแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมอยากทำงาน ผมเองก็ไม่รู้นะว่าถ้าผมอยู่ประเทศอื่น ผมจะผลิตผลงานออกมาได้ขนาดนี้ไหม

IR: ภาพยนตร์ของคุณเรื่องก่อนหน้านี้ถูกเซ็นเซอร์ คุณคิดว่าภาพยนตร์เรื่องใหม่ของคุณจะเจอปัญหาลักษณะดังกล่าวไหม

A: จริงๆ แล้วมีแค่เรื่อง “แสงศตวรรษ” ที่เจอกับปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ สำหรับผมแล้ว หนังเรื่องดังกล่าวมันมีความบริสุทธิ์ใสซื่อ แต่ก็นะ คุณไม่มีทางคาดเดาได้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้บ้าง

IR: คุณเคยรู้สึกกลัวหรือรู้สึกถูกคุกคามเพราะงานที่คุณทำบ้างหรือเปล่า

A: แน่นอนครับ ในฐานะที่เป็นคนทำหนังและศิลปิน อาชีพของเราคือการแสดงออก ดังนั้นคุณต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง แต่ว่าคุณเองสามารถทำแบบนี้ในสถานการณ์นี้ได้ไหม ซึ่งก็มีหลายครั้งที่ผมเองก็ไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินจริงๆ ได้

IR: คุณคิดว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย แล้วเกี่ยวข้องกับงานของคุณอย่างไร

A: มันเป็นวงจรของการรักษาสมดุลทางอำนาจ แต่ปัญหาก็คือคนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนั้น ดังนั้นตอนนี้จึงควรเป็นเรื่องของการจัดการอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ เหล่านั้นเสียใหม่ ผมจะพูดอะไรได้อีก ผมยังแปลกใจเลยว่าเรายังอยู่รอดมาได้ไกลขนาดนี้

คือผมว่าตอนนี้ประเทศไทยเหมือนเรือกำลังจะล่ม แต่เรือที่ว่ามันดูดีมีความสะดวกสบาย มีดนตรีและอาหารอร่อยๆ แต่เรือกำลังจมโดยที่เราไม่รู้ตัว


ในหนังเรื่อง Cemetery of Splendour หรือ รักที่ขอนแก่น กลุ่มทหารนอนเจ็บป่วยจากโรคอันลึกลับเกี่ยวกับการนอน

IR: ธีมของการหลับและการฝันซึ่งถูกเน้นย้ำหลายครั้งในภาพยนตร์ที่คุณสร้าง สะท้อนความเห็นทางสังคมหรือเปล่า

A: มันแล้วแต่การตีความ เมื่อคุณไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ คุณก็แค่นอนหลับไป และนี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งในการที่จะหลบหนีไปยังโลกของความฝัน ธีมนี้ผมเริ่มทำมาตั้งแต่หนังของผมเรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) แล้วก็รวมไปถึงนิทรรศการ Primitive Project ในจังหวัดนครพนม ที่วัยรุ่นทั้งหมดเดินทางยามหลับ

มันเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งตอนที่ผมดูข่าว คือมันมีแรงผลักดันของความบ้าคลั่งอย่างเปี่ยมล้น ในโปรเจ็กต์ก่อนหน้านี้ ผมมักจะสนใจเรื่องการนอนในฐานะที่มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการหลีกหนี ผมทำการค้นคว้าเรื่องความป่วยที่เกี่ยวข้องกับการนอน แล้วผมก็ค้นพบกรณีต่างๆ ของทหารที่ต้องทนทรมานกับความป่วยดังกล่าวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งตอนนี้ เราก็ยังไม่มีรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับกรณีเหล่านั้น

นอกจากนี้ ผมยังหลงไหลในเรื่องเครื่องแบบ ทั้งในด้านของเพศและเรื่องของอำนาจในสังคม ในหนังเรื่อง Cemetery of Splendour ผมก็ได้ผสมผสานทั้งสองแง่มุมนี้เข้าด้วยกัน

IR: อะไรคือความสำคัญของอดีตอันเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ในอีสานของหนังหลายเรื่องของคุณ

A: ในแง่หนึ่ง นี่คือความพยายามของผมในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ในช่วงที่ผมทำงานกับป้าเจน ผมเรียนรู้ว่าพ่อของเธอเป็นส่วนหนึ่งของกอ.รมน. (กองกำลังรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ในช่วงดังกล่าว ในหน่วยนี้จะถูกส่งไปยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยการจัดฉายภาพยนต์เชิงต่อต้านลัทธิดังกล่าวตามวัดต่างๆ ผมจึงพยายามโยงใยเกี่ยวกับภาพยนตร์และอำนาจทางความเชื่อ การเมือง

หลังจากนั้นผมก็เดินทางไปตามแม่น้ำแม่โขงและได้แวะพักที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับช่วงเวลานั้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรใหม่ทั้งหมด แต่ก็มีผลกับผมในแง่ของการได้รับรู้เรื่องราวของคนในสมัยนั้นที่ถูกทรมานในรูปแบบต่างกันไป

และนี่ก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างน่าประหลาดใจ เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผม ผมสงสัยว่าเป็นไปได้ยังไงที่ผมมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมากๆ และผมก็เชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้มีผลกระทบสำคัญที่ส่งผลกับประเทศมาจนถึงทุกวันนึ้

ตอนที่ผมเด็กๆ บางครั้งมีการฉายการ์ตูนทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มันเป็นเวลาที่บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ฉุกเฉิน มีการทำรัฐประหาร มีการฆ่าคน สิ่งโสมมเหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่ผมกำลังดูการ์ตูนอย่างเพลิดเพลิน

ผมจำได้ว่ามีกองทัพสหรัฐฯ ประจำการอยู่ที่ขอนแก่น ผมคิดว่าตอนนั้นทหารอเมริกันได้ฉายหนังขาวดำ 16 มม. เช่น “คิงคอง” ผมจำได้ว่าผมชอบหนังเรื่องนี้มาก ซึ่งผมว่าความชอบเกี่ยวกับภาพยนตร์และวัฒนธรรมอเมริกันคงมาจากช่วงเวลานี้ และในขณะเดียวกันก็เป็นการเผยแพร่ให้คนกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์

IR: ในภาพยนตร์เรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ มีฉากหนึ่ง ที่โต๊ะอาหาร วิญญาณของน้องสาวปรากฎขึ้นมา แล้วมีการพูดถึงสามีชาวต่างชาติของเธอที่ชื่อว่า ฮานส์ ในหนังเรื่องล่าสุดของคุณก็มีตัวละครที่เป็นสามีชาวต่างชาติ ความสำคัญของตัวละครดังกล่าวสำหรับคุณคืออะไร

A: หนังของผมทั้งหมดมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของผม และมักจะมีตัวละครที่เกี่ยวข้องกับคนที่ผมรัก ซึ่งป้าเจนก็เป็นหนึ่งในนั้น หลายปีที่ผ่านมา ภารกิจหลักของเธอคือการหาสามีชาวต่างชาติ (หัวเราะ) ผมหมายถึงสามีที่เป็นคนดีนะ พวกเราทุกคนก็พยายามหาคนที่ดีสำหรับตัวเองทั้งนั้น และคุณเจนจิราก็เคยแต่งงานกับฝรั่งมาก่อน แต่เขาเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง ดังนั้นทั้งสองจึงแยกทางกัน หลังจากนั้นเธอก็ได้ลองคบหาดูใจกับคนอื่นอีก 2 คน จนกระทั่งเธอได้เจอกับแฟนคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนดีมาก ทั้งสองคนแต่งงานกันมา 4 ปีแล้ว และใช้ชีวิตอยู่ที่หนองคาย และฝรั่งใน Cemetery of Splendour ก็มีที่มาจากคนๆนี้

ผมสนใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานในเรื่องการแต่งงานระหว่างผู้หญิงอีสานกับชายชาวต่างชาติ ผมเชื่อว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ ในอนาคตอีสานจะแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก อีสานอาจกลายเป็นศูนย์กลางของประเทศ คือเต็มไปด้วยลูกครึ่งหลากหลายนานาชาติ มาจากครอบครัวมีฐานะและแน่นอนหลายๆ คนก็ได้ไปโรงเรียนดีๆ ดังนั้นภูมิทัศน์ของอีสานจะเปลี่ยนไป



อิฐ (บัลลพ ล้อมน้อย) และ ป้าเจน (เจนจิรา พงพัศ วิดเนอร์) กำลังเข้าฉากที่ตลาดโต้รุ่งเมืองขอนแก่น

IR: การถ่ายทำและตัดต่อภาพยนตร์เรื่อง Cemetery of Splendour เป็นอย่างไรบ้าง

A: ประสบการณ์การถ่ายทำในขอนแก่นค่อนข้างราบรื่น เพราะได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลขอนแก่น ตำรวจ และคนขอนแก่น และก็เป็นครั้งแรกที่ผมทำแทบทุกอย่างในขอนแก่น เป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่สำหรับผมเลยทีเดียว

ปกติแล้ว กระบวนการผลิตและถ่ายทำต่างๆ มักเกิดขึ้นที่กรุงเทพ ตอนคัดเลือกนักแสดงอีสาน เราก็เลือกจากคนที่อยู่ในกรุงเทพ แต่ครั้งนี้เราคัดเลือกนักแสดงในขอนแก่น และประสบการณ์ที่ได้เจอผู้คนใหม่ๆ เป็นอะไรที่น่าประทับใจ คือตอนนี้ผมมีรายชื่อนักแสดงสมัครเล่นที่มีพรสวรรค์อยู่จำนวนมาก พวกเขาทำงานทำการอย่างอื่น แต่พวกเขาก็แสดงเก่งมาก

สำหรับหนังเรื่องนี้ การถ่ายทำค่อนข้างตรงไปตรงมา เราถ่ายทำตามสคริปต์ที่วางไว้ ไม่ได้แสดงสดกันเยอะขนาดนั้น เราเน้นความสำคัญของเวลาในการถ่ายทำ คือมันต้องตามเวลาแสงอาทิตย์ และแม้ว่าเราจะไม่ได้แสดงสดเยอะขนาดนั้น แต่งานที่ออกมาก็ถือว่าดีมาก

สำหรับการตัดต่อหนังเรื่องนี้ มีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย เราตัดหนังออกไปประมาณ 30% คือเราเน้นไปที่ตัวละครของป้าเจน ก่อนหน้านี้มันจะมีตัวละครอื่นๆ ประกอบ แต่ตอนนี้หนังเรื่องนี้คือป้าเจนทั้งเรื่อง

อภิชาติพงศ์ กับเบื้องหลังการถ่ายทำที่โรงเรียนร้างแห่งหนึ่งที่กลายเป็นสถานที่ดูแลพยาบาลผู้ป่วยทหาร

IR: ในขอนแก่น มีชุมชนหรือสถาบันที่สนับสนุนกลุ่มคนทำหนังบ้างไหม

A:ไม่เยอะครับ แต่ก็มีกลุ่มของคนทำหนังรุ่นใหม่ แล้วก็มีพรสวรรค์ค่อนข้างเยอะเลยนะ มีเอเจ้นท์โมเดลลิ่ง โฆษณา จัดอีเว้นท์ แต่ก็ไม่เยอะ

เท่าที่ผมรู้ก็คือ มีนักทำหนังคนหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักกัน คุณอุเทน ศรีริวิ ผู้สร้างหนังเรื่อง ผู้บ่าวไทบ้าน คุณอุเทนมีบริษัทอยู่ที่นี่ แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งก็คือ คุณอุเทนมีลูกชาย ลูกของเขาชื่อ อภิชาติพงศ์ ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากเลยครับ

IR: คุณได้วันเปิดตัวภาพยนตร์ของคุณหรือยัง

A: มีแค่ที่ฝรั่งเศสเท่านั้น เดือนกันยายน ซึ่งมันเป็นอะไรที่คนมักมองผมเป็นแบบนั้น เพราะคนส่วนใหญ่จะชอบพูดว่าผมไม่ได้ทำหนังให้คนไทยดู และสิ่งที่ทำให้แย่ขึ้นอีกคือการที่ผมไม่ได้ฉายหนังของผมที่นี่ แต่มันไม่ใช่เรื่องจริงเลย เพราะจริงๆ แล้วหนังแนวนี้มีคนดูจำนวนไม่มากไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม มันเป็นหนังกระแสรองในทุกประเทศเลย

IR: แต่ในต่างประเทศก็มีคนติดตามผลงานของคุณเยอะนี่

A: ใช่ครับ คือเรามีวัฒนธรรมเกี่ยวกับหนัง-ภาพยนตร์ที่แตกต่างกัน ผมหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะมีวัฒนธรรมดังกล่าวในประเทศไทย เช่นในไต้หวันหรือเกาหลีใต้ รัฐบาลประเทศเขาสนับสนุนการผลิตหนังหลากหลายอย่างเต็มที่ ดังนั้นไม่เพียงแต่การทำหนังในประเทศจะแพร่หลายเติบโต แต่มุมมองที่คนในประเทศของเขามีต่อหนังต่างประเทศก็เปลี่ยนไปด้วย คนเหล่านี้เริ่มที่จะชื่นชอบหนังที่มาจากต่างประเทศมากขึ้น แต่สำหรับประเทศไทย เราสามารถดูหนังจากหลากหลายประเทศและประเภทผ่านแค่สื่อออนไลน์ และส่วนใหญ่ก็ดูกันแบบผิดกฎหมายด้วย คือมันไม่มีช่องทางฉายหนังพวกนี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

ผมว่าคงจะดีขึ้น ถ้ารัฐบาลสนับสนุนศิลปะด้านภาพยนตร์อย่างจริงจัง เพราะผมเชื่อว่าหนัง-ภาพยนตร์ทำให้คนเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ คือมันทำให้คนตระหนักถึงเรื่องต่างๆ บนโลกใบนี้และยอมรับมุมมองที่แตกต่างมากขึ้นด้วย

Cemetery of Splendour (ชื่อไทย: รักที่ขอนแก่น) จะฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ วันที่ 18 พฤษภาคมนี้