จาก ‘6 ตุลา’ ถึง ‘112’
คดีการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่ช่วงปี 2563 มาจนถึงปัจจุบันกว่า 3,000 คดี เป็นคดีที่ใช้กฎหมายมาตรา 112 ไปแล้ว 200 กว่าคดีและมีหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เช่น การเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การทำโพล หรือเกิดจากการกลั่นแกล้งทางการเมือง รวมไปถึงกระบวนการในระบบกฎหมายที่ไม่เที่ยงธรรม ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลทำให้ประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมไทย และต้องการให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112
“มาตรา 112 ควรจะยกเลิกสถานเดียว เพราะมันพิสูจน์ได้แล้วว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่ได้เป็นกฎหมายปกป้องพระมหากษัตริย์ แต่เป็นกฎหมายที่ทำร้ายสถาบันฯ ด้วยซ้ำ” กฤษฎางค์ให้ความเห็น
เขามองว่าคดีที่นำกฎหมายมาตรา 112 มากลั่นแกล้งประชาชนอย่างไม่สมเหตุสมผลที่สุดคดีหนึ่ง คือคดีแต่งชุดไทยของนิว-จตุพร แซ่อึง รวมไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ถูกนำมาตรา 112 มาเอาผิดด้วยความไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก
“คดีของนิว จตุพร ศาลท่านเขียนว่าการแต่งชุดไทยแล้วมีคนมาชมว่า พระราชินีสวยจริงๆ ถือเป็นการล้อเลียนสถาบันฯ ซึ่งผมก็ยอมรับว่าเป็นการล้อเลียน แต่การล้อเลียนในที่นี้ไม่ได้แปลว่าดีหรือไม่ดี จะมองว่าเป็นการอาฆาตมาดร้ายจนลงโทษด้วยมาตรา 112 ได้อย่างไร และการล้อเลียนกับหมิ่นประมาทก็เป็นคนละเรื่อง”
กฤษฎางค์เสนอว่าเราจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบยุติธรรมไทย โดยต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานในทุกองคาพยพ ให้สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมแก่ประชาชน รวมไปถึงปลูกฝังความกล้าหาญแก่บุคคลในกระบวนการยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งของประชาชนผู้ต้องต่อสู้ในคดีทางการเมือง
“ผู้ปกครองในประเทศปกครองแบบไม่เป็นธรรม ไม่ให้เสรีภาพ เมื่อมาเจอกับระบบที่อ่อนแอเพราะบุคลากรขาดความกล้าหาญในการตัดสินใจเพื่อประชาชน ทางออกคือต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม เพราะตราบใดที่คนยังยากจนและไม่ให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองประเทศ ไม่มีทางที่จะเกิดระบบยุติธรรมที่เป็นธรรมได้ คือต้องมีการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย” กฤษฎางค์ระบุ
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อชวนมองอนาคตของการเมืองการปกครองไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า กฤษฎางค์กล่าวว่าความปรารถนาของเขาคือต้องการให้มีการยกเลิกมาตรา 112 และปรับกฎหมายให้เป็นเรื่องของการหมิ่นประมาท มิใช่การนำมาเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งประชาชน ทั้งยังอยากให้คนในสังคมเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ใน 2 มิติ
มิติแรก เข้าใจว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นความโหดร้ายทารุณที่เผด็จการปราบปรามประชาชน
มิติที่ 2 เข้าใจและให้ความสำคัญว่าสังคมเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก และเพื่อไม่ให้มีลูกหลานของใครต้องมาบาดเจ็บล้มตายเช่นนี้อีกต่อไป
“ผมไม่มีเรื่องของการแก้แค้น เป็นแค่เรื่องของการอยากให้คนมองเห็นใน 2 มุมนี้ว่ามันโหดร้าย และป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ต่อให้จะมีคนอยากทำเราก็ต้องช่วยกันต่อต้าน” กฤษฎางค์กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา
10 Oct 20221O1 World