เป็นเวลา 2 ปีเศษที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้นำ #มาตรา112 กลับมาใช้ พร้อมๆ กับเกิดปรากฏการณ์ผิดปกติ คือใช้กับเยาวชน เงื่อนไขประกันซับซ้อน และความครอบคลุมของกฎหมายhttps://t.co/QzEbti1lu5#ไทยรัฐพลัส #ThairathPlus #WeSPEAKtoSPARK #สิทธิประกันตัว pic.twitter.com/gTlLXOQsiX
— Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส (@thairathplus) February 17, 2023
มาตรา 112 กับปรากฏการณ์ ‘ความผิดปกติ (ใหม่)’ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
17 ก.พ. 66
ณัชปกร นามเมือง
Thairath Plus
Summary
- นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 เป็นเวลา 2 ปีเศษที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง หลังมีการงดเว้นการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2561
- ความผิดปกติสำคัญของการนำมาตรา 112 มาใช้ในครั้งหลังนี้คือ การตีความมาตรา 112 กว้างขวาง ต่างจากหลักกฎหมายอาญาอื่นๆ ที่ต้องตีความตามตัวบทอย่างเคร่งครัด
- อย่างไรก็ตาม ศาลมีแนวโน้มยกฟ้องทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อผู้กล่าวหาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริง หรือหลายกรณีที่ศาลยกฟ้อง เพราะเห็นว่าไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดมาตรา 112
และการนำกฎหมาย 112 กลับมาครั้งนี้ คือการนำอาวุธทางการเมืองมาใช้จัดการกับการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ รวมถึงผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย
เหตุที่ทำให้มาตรา 112 กลายมาเป็นอาวุธทางการเมือง เนื่องจากตัวบทกฎหมายเปิดช่องให้ใครเป็นผู้ริเริ่มคดีก็ได้ จึงนำไปสู่การฟ้องกลั่นแกล้งกัน และกฎหมายยังมีอัตราโทษสูงเมื่อเปรียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ในต่างประเทศ อีกทั้งกฎหมายยังไม่มีขอบเขตชัดเจน และไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามปกติในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกลายเป็นความผิด
อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจการบังคับใช้มาตรา 112 ในสมัยที่สองของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ พบว่า มีปรากฏการณ์ที่เรียกได้ว่า เป็น ‘ความผิดปกติ’ รูปแบบใหม่ หรือปัญหาจากความผิดปกติของมาตรา 112 ที่เพิ่งเกิดขึ้น อย่างน้อย 3 กรณี ได้แก่
- การนำมาตรา 112 มาบังคับใช้กับกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการละเมิดสิทธิเด็ก
- ศาลมีการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่ซับซ้อนและส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการประกันตัวไม่ได้มีอิสรภาพอย่างแท้จริง
- ปรากฏการณ์อย่างสุดท้าย คือการตีความมาตรา 112 ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน ไปจนถึงการตัดสินพิพากษาของศาล โดยจะพบว่า การตีความมาตรา 112 มีลักษณะกว้างขวาง ต่างจากหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความตามตัวบทอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง จึงต้องตีความอย่างระมัดระวังที่สุด อีกทั้งมีการนำมาใช้กับการกระทำที่ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย และมีการขยายขอบเขตการคุ้มครองไปยังอดีตกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์
‘การดำเนินคดี 112 กับเยาวชน’ ความผิดปกติ (ใหม่) ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์
การดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับกลุ่มเยาวชนถือว่าเป็น ‘ความผิดปกติ’ รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ กระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวและชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา เมื่อปี 2563 รัฐบาลได้ทำให้ ‘กลุ่มเยาวชน’ หรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมีสถานะเป็นผู้ต้องหา
ข้อมูลของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 283 ราย (210 คดี) และในจำนวนนี้มีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 18 คน (21 คดี) โดย เยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมีอายุเพียง 14 ปี ส่วนเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหารายอื่นจะถูกดำเนินคดีทั้งจากการร่วมการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์
การดำเนินคดี 112 กับเยาวชน เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล อาทิ 'กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง' ที่รัฐไทยเป็นภาคี เนื่องจากเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเกินสมควร ไม่คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ยกตัวอย่างเช่น การไม่ยึดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยการไม่ให้สิทธิในการประกันตัว
นอกจากนี้ การดำเนินคดี 112 กับเยาวชนยังเป็นการละเมิด 'อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก' ทั้งที่รัฐไทยมีหน้าที่คุ้มครองส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความคิดเป็นของตนเอง หรือมีความคิดเป็นอิสระ
ทั้งนี้ แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนจะเป็นไปตามหลักว่าต้องใช้กระบวนการที่เหมาะสม เช่น ใช้การแก้ไขฟื้นฟูแทนการลงโทษ หรือคุมประพฤติแทนคุมขัง แต่การที่เยาวชนต้องรับโทษเนื่องจากการใช้เสรีภาพโดยสุจริตและเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ก็นับว่าขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ต้องการให้เด็กเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี
กำไล EM ของ ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว
‘เงื่อนไขประกันตัวที่ซับซ้อน’ ความผิดปกติ (ใหม่) สำหรับผู้ต้องหาคดี 112
นับตั้งแต่หลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ทำให้การเมืองบนท้องถนนกลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมกับเพดานข้อเรียกร้องที่สูงขึ้นอย่าง ‘การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย โดยหลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงว่าจะบังคับใช้ กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา ทำให้มีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง หลังมีการงดใช้มาตั้งแต่ปี 2561
ผลกระทบที่ตามมาจากการใช้มาตรา 112 คือ ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวหรือการขอปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากบรรดาแกนนำการชุมนุมต่างถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 จากการแสดงออกหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง และทำให้การขอประกันตัว ศาลได้กำหนด ‘เงื่อนไขแบบพิเศษ’ เพิ่มขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นความผิดปกติรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์อีกเช่นเดียวกัน
โดยการกำหนดเงื่อนไขแบบพิเศษถูกรับรองอย่างเป็นทางการใน ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยเรื่องการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา ปี 2565 ที่ระบุว่า หากศาลเห็นว่าการกำกับดูแลสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้นั้นจะหลบหนี หรือก่อภัยอันตราย หรือสร้างความเสียหายในระหว่างการประกันตัว ก็ให้มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวได้ โดยใช้การกำกับดูแลและการเรียกประกันตามลำดับความเข้มงวด ดังนี้
1. กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ
2. แต่งตั้งผู้กำกับดูแล
3. ทำสัญญาประกัน
4. ใช้อุปกรณ์กำไล EM
5. เรียกหลักประกัน
ด้วยเหตุนี้ ทำให้การขอประกันตัวในคดีการเมือง ศาลจะมีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมา นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งยังเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่มีขอบเขตกว้างขวางกว่าบทบัญญัติตามกฎหมายที่มีอยู่ เช่น ห้ามจำเลยกระทําการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือห้ามเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง ซึ่งไม่เคยปรากฏข้อความในลักษณะเดียวกันในกฎหมายใดมาก่อน
นอกจากนี้ ศาลยังมีการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดกับบรรดาแกนนำการชุมนุม เช่น การติดอุปกรณ์ติดตามตัว หรือกำไล EM กำหนดเวลาออกนอกเคหสถาน จนถึงการห้ามไม่ให้ออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพเทียบเท่ากับการจำคุก เพียงแต่ไม่ได้คุมขังในพื้นที่ของกรมราชทัณฑ์เท่านั้น
‘ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์ฯ’ ความผิดปกติ (ใหม่) ในการตีความมาตรา 112
หนึ่งสิ่งที่ต้องถือว่าเป็น ‘ความผิดปกติ’ รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับมาตรา 112 คือการตีความมาตรา 112 ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวนไปจนถึงการตัดสินพิพากษาของศาล โดยจะพบว่า การตีความมาตรา 112 มีลักษณะกว้างขวาง ต่างจากหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความตามตัวบทอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง จึงต้องตีความอย่างระมัดระวังที่สุด
แต่หลังการกลับมาใช้มาตรา 112 อีกครั้ง พบว่า มีการตีความมาตรา 112 อย่างกว้างขวาง กล่าวคือ มาตรา 112 กำหนดความผิดสำหรับผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ ดังนั้น หากไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายกับบุคคลทั้งสี่คนข้างต้น ก็จะไม่มีความผิดตามมาตรา 112 แต่ในความเป็นจริง กลับมีการนำมาใช้กับการกระทำที่ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นยังขยายขอบเขตการคุ้มครองไปยังอดีตกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์
ยกตัวอย่างเช่น คดีการชุมนุมหน้าหน้ากรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 11) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 มุก-พิมพ์สิริ ปราศรัยถึงหน้าที่ของกองทัพไทยและสถาบันฯ ในการทำรัฐประหาร พร้อมกล่าวถึงข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ว่าไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112
แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ และ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์
หรือ คดีของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ จากการทำโพลที่ห้างสยามพารากอน ที่ถามคำถามว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” โดยพฤติการณ์ข้อกล่าวหาที่ตำรวจแจ้ง ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าส่วนใดของกิจกรรมดังกล่าวที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อหามาตรา 112
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการขยายขอบเขตการตีความมาตรา 112 อีก เช่น คำพิพากษาคดีของธนกร จากการปราศรัยในการชุมนุม โดยศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ทั้งที่คำปราศรัยไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่ศาลเห็นว่ามาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ จึงสั่งลงโทษ แต่ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ ม.142 (1) กำหนดให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ ก่อนจะนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี
หรืออย่าง คำพิพากษาคดีของ นิว-สิริชัย ที่พ่นสีสเปรย์ข้อความ ‘ยกเลิก 112’ และ ‘ภาษีกู’ บนรูปพระราชวงศ์บริเวณย่านคลองหลวง ศาลสั่งลงโทษจำคุก 3 ปี แม้ตัวจำเลยจะไม่ได้พ่นข้อความบนพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 แต่การพ่นบนรูปภาพของสมาชิกราชวงศ์ ย่อมส่งผลกระทบต่อรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำที่ด้อยค่าและทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยยังเป็นนักศึกษาอยู่ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
แต่อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตด้วยว่า ศาลมีแนวโน้มยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายโจทก์หรือผู้กล่าวหาไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง และในขณะเดียวกัน ก็มีหลายกรณีที่ศาลยกฟ้องเพราะเห็นว่าข้อความที่ถูกกล่าวหาไม่เข้าข่ายตามองค์ประกอบความผิด และมีการใช้มาตรการรอการลงโทษหรือรอลงอาญาแทนการตัดสินให้จำคุก