วันเสาร์, เมษายน 09, 2565

ทำไมนักการเมืองต้องร่วมมือกันทำลาย "กรงขังทางกฎหมาย" ที่ล้อมคอกนักการเมืองจนไม่กล้าทำอะไร


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
13h ·

[ต้องทำลาย "กรงขังทางกฎหมาย" ที่ล้อมคอกนักการเมืองจนไม่กล้าทำอะไร]

ทำไมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในยุคปัจจุบันไม่กล้าอภิปรายเหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วง พ.ศ.2475-2500?

ทำไมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในยุคปัจจุบันไม่กล้าอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์? อย่าว่าแต่อภิปรายเลย แค่คำว่า “กษัตริย์” “พระมหากษัตริย์” “สถาบันกษัตริย์” ก็ไม่กล้าแม้แต่จะพูด หากจำเป็นต้องกล่าวถึง ก็เลี่ยงไปใช้คำว่า “สถาบัน” มิพักต้องพูดถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนที่พอได้ยินคำว่า “กษัตริย์” แล้ว เหมือนปุ่มกลางหลังสั่งการโดยอัตโนมัติ ให้เขาต้องยกมือลุกขึ้นประท้วง

ทำไมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในยุคปัจจุบันยินยอมพร้อมใจกันลดทอนอำนาจและศักดิ์ศรีตนเองและมอบอำนาจอาญาสิทธิ์ให้กับองค์กรอื่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างศาลและองค์กรอิสระ? ประเดี๋ยวก็ได้ยินคำว่า “ก้าวล่วงศาล” บ้าง “ก้าวล่วงองค์กรอิสระ” บ้าง “เรื่องนี้อยู่ในศาล เราไม่ควรไปยุ่ง” บ้าง “ศาลตัดสินแล้ว เราไม่ควรก้าวล่วง” บ้าง

ทำไมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยผันตนเองจาก “ผู้แทน” ของราษฎรกลายเป็น “นักร้อง” ที่คอยร้องเรียนกันไปกันมาเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของตน? ประเดี๋ยวก็ข่มขู่ฟ้องร้องดำเนินคดี ประเดี๋ยวก็เข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

หากพิจารณาจากระบบโครงสร้างแล้ว ผมพบว่าโครงสร้างและระบบการเมืองไทยได้ “ล้อมคอก” นักการเมืองไทย ในสองประการ
ประการแรก โครงสร้างและระบบการเมืองไทยทำลายความคิดสร้างสรรค์ของนักการเมือง

รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎระเบียบทั้งหลาย ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้นักการเมืองทำอะไรไม่ได้ ล้อมกรอบนักการเมืองให้มากที่สุด กฎเกณฑ์พวกนี้มาในนามของ “การตรวจสอบนักการเมือง” บ้าง “ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น” บ้าง เมื่อนักการเมืองถูกทำให้เป็น “วายร้าย” พวกเขาก็ต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น จนแทบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไม่ได้

คนคนหนึ่ง ก่อนเข้ามาแวดวงการเมือง อาจมีความคิดสร้างสรรค์เปี่ยมล้น ต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองและประเทศไทยให้ก้าวหน้า มีแนวนโยบายที่แหวกขนบไปจากเดิม แต่แล้ว เมื่อเขาเข้ามาเหยียบแดนแห่งนี้ในวันแรก เขาก็ต้องประสบพบเจอกับกฎกติกาบ้าบอมากมายที่ทำให้เขาปวดเศียรเวียนเกล้า อยากทำอะไรใหม่สร้างสรรค์ ก็มีอันต้องติดขัดกฎระเบียบต่างๆ นี่ก็ทำไม่ได้ นั่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็เสี่ยง นั่นก็อาจถูกเล่นงาน นี่ เข้าคุก นั่น ยุบพรรค โน่น ตัดสิทธิ นานวันเข้า ความคิดสร้างสรรค์ของเขาก็ถูกล้อมกรอบไว้ด้วย “กรงขังกฎหมาย” กรงขังนี้บังคับให้เขาต้องเดินตามระบบราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคนเขียนกฎและคุมกฎ หากไม่อยากเสี่ยงภัยใด ก็จงถามระบบราชการเสียก่อน ไปๆ มาๆ นักการเมืองของประชาชน ที่ควรคิดริเริ่มทำประโยชน์ให้ประชาชน ก็กลายเป็นนักการเมืองที่ต้อง “ขออนุญาต” จากระบบราชการเสียก่อนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ประเทศไทยไม่อาจมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ ประเทศนี้อนุญาตให้มีแต่ “ปลัดประเทศ” แห่งระบบราชการไทย

บรรดา “กรงขังกฎหมาย” เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำลายจินตนาการและความสร้างสรรค์ของนักการเมืองเท่านั้น มันยังทำให้นักการเมืองหมกมุ่นไปกับตัวอักษรกฎหมาย เมื่อมีกฎ ก็ต้องมีมาตรการบังคับในกรณีที่ละเมิดกฎ เมื่อนักการเมืองถูกทำให้เป็นวายร้าย หากนักการเมืองละเมิดกฎ ก็ต้องถูกลงโทษหนัก ตั้งแต่ ปลดออก ชดใช้เงิน เข้าคุก ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมืองหลายปี หรือตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ด้วยบทลงโทษที่หนักเช่นนี้ ทำให้นักการเมืองที่ต้องการกำจัดฝักฝ่ายตรงกันข้ามกับตนเล็งเห็น “เครื่องมือ” อันทรงผลานุภาพ นั่นคือ “กฎหมาย”

พวกเขานำกฎระเบียบต่างๆ มาเล่นแร่แปรธาตุ เสาะแสวงหารูหาช่องเพื่อร้องเรียนไปยังองค์กรต่างๆให้จัดการนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามของตน แทนที่จะแข่งขันกันทำประโยชน์ให้ประชาชน ก็มาสาละวนกับการเอาตัวอักษรมาตะแบงตีความ จาก “ผู้แทน” ของราษฎร ก็กลายเป็น “นักร้อง” ร้องเรียนเพื่อกำจัดศัตรูของตน

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับปรากฏการณ์ “นักร้อง” ไม่ใช่ว่านักการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิ แต่มันคือ นักการเมืองร่วมมือร่วมใจประเคนเอาอำนาจชี้เป็นชี้ตาย ประหารชีวิตทางการเมืองให้กับบรรดาศาลและองค์กรอิสระ พวกคนใส่ชุดครุยนั่งบนบัลลังก์ศาล พวกคนใส่สูทผูกไทนั่งในองค์กรอิสระ ได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง มีอำนาจ ได้ขี่คอนักการเมือง ไม่ใช่เพราะพวกเขาร้องขอ แต่นักการเมืองวิ่งไปเอาคอให้เขาขี่เสียเอง ไม่ต่างอะไรกับ ไก่ตีกันในเข่ง ไม่ร่วมมือกันทลายเข่ง สุดท้าย ก็โดนคนจับไปเชือดตายหมด

ประการที่สอง โครงสร้างและระบบการเมืองไทยบังคับให้นักการเมืองต้องสยบยอม

คนคนหนึ่ง เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรก เขามาด้วยอุดมการณ์เปี่ยมล้น ไม่ใช้เงินซื้อเสียง ไม่ใช้อิทธิพลกลไกรัฐ ไม่อาศัยระบบอุปถัมภ์ค้ำจุน ไม่มีหัวคะแนน เขาตั้งหน้าตั้งตารณรงค์หาเสียงอย่างขยันขันแข็งจนได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขาเข้าสภาผู้แทนราษฎรด้วยความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยมว่าเขาจะเป็นนักการเมืองแบบใหม่ แต่แล้วเขาก็ได้ทำความรู้จักกับนักการเมืองคนอื่นๆ ผู้มากประสบการณ์และอิทธิพลเงินตรา เขาเรียนรู้ว่าหากอยากได้รับการเลือกตั้งอีกในครั้งหน้า ต้องมีเงิน มีทรัพยากร เพื่อใช้ดูแลประชาชนในพื้นที่ เพราะประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้ ส.ส. ดูแล แต่ ส.ส. ไม่มีงบประมาณ ไม่มีอำนาจบริหาร เขาไม่ได้เป็นเศรษฐี ควักเงินตนเองช่วยประชาชนในพื้นที่ได้ไม่พอ เขาไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล ไม่มีงบจากกระทรวงต่างๆ เข้าไปให้ ในขณะที่คู่แข่งของเขามีเงิน มีทรัพยากร อยู่ฝ่ายเดียวกันกับอำนาจรัฐ มีรัฐมนตรีคอยจัดสรรงบประมาณไปลงพื้นที่ให้ เรียกได้ว่าพร้อมทุกสรรพกำลัง เขาเริ่มเรียนรู้ว่า หากอยากช่วยประชาชนในพื้นที่ หากต้องการรักษาคะแนนเสียงเดิมเอาไว้ ก็ต้องวิ่งเข้าหารัฐมนตรีจากพรรคตรงกันข้ามกับเขา ก็ต้องหาเงินหาทองมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน
จาก ส.ส. เลือดใหม่มากอุดมการณ์ เริ่มเปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อย...
เริ่มจาก ยืนกุมเป้าเข้าแถวรอนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมาเยือนพื้นที่ของเขา

เข้าบ้านรัฐมนตรีเมื่อมีงานเลี้ยงวันเกิด
คบหาสมาคมกับรัฐมนตรี และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล
ไม่กล้าอภิปรายคัดค้านหรือโจมตีรัฐบาล
หาช่องทางในการแบ่งสรรงบมาลงจังหวัดตนเอง
นานวันเข้า ก็เตลิดไปถึงการยื่นข้อเสนอให้แปรพักตร์ ตัวเลข 7 หลัก 8 หลัก เงินสดกองตรงหน้า ชั่งได้หลายกิโล ชนิดชั่วชีวิตนี้ไม่เคยเห็น แถมยังมีเงินรายเดือนอีกหลายแสนให้ทำพื้นที่ ทั้งหมดนี้ ทำให้เขาตัดสินใจรับผลประโยชน์ ย้ายข้าง ทรยศต่อเสียงของประชาชน หักหลังเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ยอมโดนคนที่เลือกมาก่นด่า และปลอบประโลมใจตนเองว่า เขาต้องการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จำเป็นต้องทำแบบนี้

นี่คือ ระบบอุปถัมภ์-เครือข่ายอิทธิพล-กลไกรัฐ-อำนาจเงิน ที่ครอบงำการเมืองไทยไว้ จนทำให้นักการเมืองต้องสยบยอม ถ้าอยากเป็น ส.ส. อีก ก็ต้องเรียนรู้อยู่ให้เป็น

เช่นกัน “กรงขังกฎหมาย” ที่วางล้อมนักการเมืองเอาไว้ ทำให้นักการเมืองไม่กล้าที่จะแสดงออกอย่างก้าวหน้ามากนัก เมื่อไรก็ตามที่นักการเมืองคิดผลักดันประเด็นที่ก้าวหน้าราดิคัลมากขึ้น ท้าทายกลุ่มชนชั้นนำผู้มีอำนาจ พวกเขาก็มีอันต้องกังวลทุกครั้งว่าจะถูก “กรงขังกฎหมาย” เด็ดหัวหรือไม่ เริ่มออกนอกกรอบนอกกรงเมื่อไร ก็มีอันต้องถูกหวดถูกตีให้กลับเข้ามาอยู่ในกรง ใครที่แหลมมาก ก็ถูกจัดการสั่งสอน ปลดออก คดีอาญา เข้าคุก ยุบพรรค ตัดสิทธิ จนทำให้นักการเมืองคนอื่นๆ ไม่กล้าเอาเยี่ยงอย่าง จำต้องประคองตัว รักษาเนื้อรักษาตัวต่อไป ด้วยระบบเช่นนี้ ทำให้นักการเมืองต้องสยบยอม และปลอบประโลมตนเองว่าต้องยอม เพื่อรักษาชีวิต จะได้ประคองตัวเพื่อทำงานได้ต่อไป

หากเราต้องการให้นักการเมืองไทย เป็น "ผู้แทน" ของราษฎรอย่างแท้จริง มิใช่เป็นอำมาตย์คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

หากเราต้องการให้นักการเมืองไทยกล้าหาญผลักดันประเด็นแหลมคมและจำเป็นต่อยุคสมัย โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อภัยใด

หากนักการเมืองไทยปรารถนาเป็น ส.ส. แบบปฏิวัติ มากกว่าเป็น ส.ส. แบบราชการ

หากนักการเมืองไทยต้องการสร้างสรรค์ผลงาน มากกว่าจ้องจับผิดตีกันเองจนสุดท้ายชนชั้นนำของระบอบ ทหาร ศาล ข้าราชการระดับสูง ก็ขึ้นมาขี่คอตนเอง

ต้องร่วมมือกันทลาย "กรงขังทางกฎหมาย" ที่ล้อมคอกนักการเมืองเอาไว้
หยุดการเป็นไก่ในเข่งที่ตีกันเอง แล้วให้พวกเขาเป็นเจ้าของเข่ง เจ้าของไก่ จะเอาเราไปฆ่าทิ้งเสียเมื่อไรก็ได้

----
ภาพ ‘You either with me or against me.’ จาก Pssyppl.