นี่การเมืองอเมริกันล้วนๆ เรื่องของพรรค
Democrats ที่แปลเป็นไทยได้ว่าหมู่ชนประชาธิปไตย (อย่าได้ใช้คำของพรรคการเมืองเก่าในบ้านเราเป็นอันขาด
เพราะความหมายไม่ตรงความจริง ห่างกันอยู่ไกลโข)
การเลือกตั้งเบื้องต้น หรือ Primary
ในอเมริกาก่อนถึงครั้งสุดท้าย (ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. วันที่ ๑๔
มิถุนายน) เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวานซืน ผลการลงคะแนนใน ๖ มลรัฐ อดีต
รมว.ต่างประเทศ และวุฒิสมาชิกหญิง ฮิลลารี่ คลินตัน ชนะคู่แข่ง
วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์ม้อนต์ ๔ ต่อ ๒ ทำให้เธอสามารถกวาดจำนวน ‘ผู้ออกเสียงเลือกตัวแทนพรรค’ ส่วนมากไปได้อย่างขาดลอย
ก่อนที่จะมีการโหวตจริงในการประชุมใหญ่พรรคที่นครฟิลาเดลเฟีย ปลายเดือนกรกฎาคมนี้
โดยเฉพาะคะแนนในมลรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นเวทีสำคัญซึ่งนายแซนเดอร์หวังว่าอาจจะชนะสูสี
เพื่อให้เป็นการยืนยันความมุ่งหมายในการรณรงค์ของเขา
ที่จะเปลี่ยนธรรมเนียมการเมืองอเมริกันไปจาก ‘อย่างเคย’ ซึ่งกลุ่มทุนใหญ่และผลประโยชน์ธุรกิจใช้อำนาจเงินโน้มน้าวทิศทางนโยบายติดต่อกันมาเป็นเวลานานนับศตวรรษ
ด้วยผลจากคะแนน ๙๔ เปอร์เซ็นต์ ที่ได้นับเมื่อคืนวันอังคาร
(๗ มิถุนายน) เป็นของฮิลลารี่เสีย ๕๖ ทิ้งห่าง เบอร์นี่ที่ได้เพียง ๔๓ เปอร์เซ็นต์
ทั้งๆ ที่การสำรวจก่อนเวลาลงคะแนนยังสูสีกันอยู่ที่ ๔๗ กับ ๔๕ แสดงว่ามีคนไปโหวตให้ฮิลลารี่มากเกินคาด
อาจเป็นเพราะหนึ่งวันก่อนหน้านั้นสำนักข่าวเอพีเสนอรายงานว่า
คลินตันมีจำนวนผู้ออกเสียงเลือกตัวแทนพรรคที่ประกาศสนับสนุนเธอมากพอที่จะเอาชนะในการประชุมใหญ่ได้แล้ว
จนทีมหาเสียงของแซนเดอร์ตำหนิเอพีว่าเสนอข่าวสรุปผลไปก่อนเกิดจริง
ซึ่งโดยหลักการและระเบียบก็เป็นเช่นนั้น
เพราะฮิลลารี่ยังได้รับจำนวนผู้ออกเสียงไม่ถึง ๒,๐๒๖ คนตามต้องการ ขาดอยู่อีก ๒๑๕
คน ในเมื่อจำนวนผู้ออกเสียงพิเศษ หรือ super delegates ที่ประกาศว่าจะเทคะแนนให้เธอ ๕๗๑ รายนั้นไม่สามารถนับคะแนนได้จนกว่าจะไปออกเสียงในที่ประชุมใหญ่
และจนกระทั่งในวันนั้นย่อมเปลี่ยนใจได้เสมอ
แม้ว่าไม่เคยปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นได้ โดยเฉพาะในเมื่อคลินตันมีคะแนนเสียงรายหัว
หรือ popular votes มากกว่าแซนเดอร์อยู่ ๑๓.๕ ล้าน ต่อ ๑๐.๕
ล้านคน
ในปาฐกถาหลังทราบผลที่ซานตามอนิก้า
ท้องที่ฐานเสียงแข็งขันที่สุดในมลรัฐของเบอร์นี่ วุฒิสมาชิกวัย ๗๔
ปีผู้ประกาศตนเป็นนักสังคมนิยม และมีเสียงสนับสนุนเกือบทั้งหมดจากชนรุ่นใหม่วัย ๑๘
ถึง ๓๕ ปี ที่เรียกกันว่า ‘Millennials’ ประกาศจะ ‘สู้ต่อ’ ไปจนถึงการประชุมใหญ่ของพรรคที่ฟิลาเดลเฟีย
เมื่อเขาขึ้นสู่แท่นปาฐกถา ผู้สนับสนุนกว่า
๓ คน ยังพากันส่งเสียงเชียร์กระหึ่มเป็นเวลาเกือบสามนาที จน ดร.เจน แซนเดอร์
ภรรยาของเขาต้องกระซิบข้างหูว่า “พวกเขาอยู่กับคุณ พวกเขายังอยู่กับคุณ”
ตามรายงานของรอเบิร์ต คอสต้า แห่งเดอะวอชิงตันโพสต์
พอเสียงเชียร์เริ่มซาและป้าย ‘Feel
the Bern’ ที่ถูกชูเขย่าเหนือหัวลดลง เบอร์นี่เริ่มกล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนที่
“เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติ” เสียงโห่ร้องกระหึ่มก็กลับมาอีก
และเป็นเช่นนั้นอย่างต่อเนื่องไปจนกระทั่งจบการปาฐกถา ๑๘ นาที
ครั้งสั้นที่สุดในฤดูหาเสียงของเขา
“อังคารหน้าเราจะสู้ในไพรมารี่ต่อไปที่วอชิงตัน
ดี.ซี. จากนั้นเราจะสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ เชื้อชาติ
และสภาพแวดล้อม จนถึงฟิลาเดลเฟีย เพ็นซิลเวเนีย”
แม้นว่าแซนเดอร์และทีมหาเสียงของเขา
(ซึ่งจากนี้ไปจะลดเหลือครึ่งเดียว) กล่าวถึงการยืนหยัดต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดการนับคะแนนเดลิเกตคนสุดท้าย
จุดมุ่งหมายของแข่งขันอยู่ที่ความต้องการให้พรรคเดโมแครทยอมรับแนวนโยบายปฏิวัติทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เอาไปปรับใช้
ทางค่ายของว่าที่ผู้ชนะ presumptive
winner นางคลินตันให้สัมภาษณ์เดวิด มิวเออร์
แห่งสถานีโทรทัศน์เอบีซี
ว่าทีมงานของเธอและของเบอร์นี่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากัน “แน่นอน
ดิฉันยื่นมือออกไปหาเขา” เธอตอบเดวิดเมื่อถูกถามว่าได้เวลาที่จะคุยกันหรือยัง
“ดิฉันมุ่งหน้าที่จะได้เจรจากับเบอร์นี่ด้วยตัวเอง
เพราะคิดว่าการรณรงค์ของเขาเต็มไปด้วยพลวัตและประสพการณ์น่าตื่นเต้นสำหรับคนอเมริกันเป็นล้านๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่สนับสนุนเขา
และยังอยากให้พวกเขารู้ด้วยว่า ดิฉันทำในประเด็นต่างๆ
ที่วุฒิสมาชิกแซนเดอร์และดิฉันพูดเอาไว้ สิ่งที่เราทั้งสองใส่ใจและมีอะไรเหมือนกัน
มากกว่าว่าที่ผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน ดอแนลด์ ทรั้มพ์”
นั่นเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้สนับสนุนชนิดแก่นแข็ง
hardcore ของเบอร์นี่เคยประกาศไว้ว่าหากเบอร์นี่แพ้
จะไม่ยอมรับฮิลลารี่และหันไปสนับสนุนทรั้มพ์
เคยมีการวิจารณ์เบอร์นี่กับทรั้มพ์ว่าเป็นผู้สมัครแบบ ‘ข้าวนอกนา’ ไม่ใช่คนวงในสายการบังคับบัญชาในพรรคของตนเหมือนๆ
กัน
ต่างแต่ว่าแนวนโยบายของเบอร์นี่ไปทางซ้ายชัดเจน
ขณะที่ทรั้มพ์ทำท่าจะต้านการเมืองอย่างเคยด้วยเหมือนกัน
หากแต่ยังไม่ได้แสดงให้เห็นชัดในเนื้อหา
อย่างไรก็ดี ในกรณีทรั้มพ์
เบอร์นี่เองเป็นผู้ลบข้อกังขาของผู้ถือหางเดโมแครทที่กังวลว่าพลพรรคเบอร์นี่จะทำให้ฮิลลารี่เพลี่ยงพล้ำต่อทรัมพ์
ที่ซานตามอนิก้า คำปาฐกถาตอนหนึ่งของเบอร์นี่พูดถึงทรั้มพ์ว่า
“คนอเมริกันในความเห็นผม
ไม่มีทางสนับสนุนผู้สมัครที่กมลสันดานหยามเหยียดเกลียดชัง ผู้ที่ก้าวร้าวชนเชื้อแม็กซิกัน
มุสลิม สตรี และอาฟริกันอเมริกัน
เราไม่มีทางยอมให้ทรั้มพ์เป็นประธานาธิบดีได้”
เมื่อถูกผู้ประกาศโทรทัศน์เอบีซีถามย้ำว่ามีอะไรบ้างที่เธอเห็นด้วยกับนโยบายของเบอร์นี่
นางคลินตันตอบว่า “สิ่งที่เบอร์นี่ปักใจหนักแน่นในการสร้างระบบสุขภาพถ้วนหน้า
เป็นเรื่องหนึ่งที่ดิฉันเชื่อมั่นและต่อสู้เพื่อให้เกิดขึ้นมาเป็นเวลา ๒๕ ปีแล้ว
เรามีแบบแผนในการไปถึงจุดนั้นต่างกันเล็กน้อย
แต่เราต่างก็ทำเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญในการรณรงค์เลือกตั้งเหมือนกัน
ดิฉันสุขใจที่ได้ทำเช่นนั้น”
คลินตันบอกด้วยว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้
ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่คนอเมริกันทุกคนต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง เราจะต้องหาทางว่าทำอย่างไรจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจนั้นขึ้นได้
เพิ่มงาน เพิ่มรายได้
ดิฉันตื่นเต้นที่จะได้ร่วมมือกับแซนเดอร์ในการทำอย่างนั้น”
คำถามอันสำคัญต่อฮิลลารี่ในขณะนี้ที่แน่นอนว่าเธอจะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครทในการชิงประธานาธิบดีคราวนี้
ก็คือ จะเลือกใครเป็นคู่สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดี
คำตอบของเธอถึงแม้จะอยู่ที่ “เราจะมองหาบุคคลที่คุณสมบัติเหมาะสมที่สุดสำหรับขึ้นไปเป็นประธานาธิบดี
หากมีอะไรเกิดขึ้นกับดิฉัน ถ้าดิฉันโชคดีพอได้เป็นประธานาธิบดี”
แต่เมื่อเดวิด มิวเออร์ หยอดว่า “ในช่วง
๒๔ ชั่วโมงที่ผ่านมา วุฒิสมาชิกเทสเตอร์ แกนนำสำคัญคนหนึ่งของพรรคเดโมแครท
ถูกถามเรื่องการจับคู่คลินตัน-วอเร็น แน่ละ เอลิซาเบ็ธ วอเร็น
เขาตอบว่าประเทศเราพร้อมแล้วหรือสำหรับผู้นำหญิงทั้งคู่ ผมไม่รู้”
ฮิลลารี่ตอบเลี่ยง “ดิฉันจะยังไม่ไปถึงเรื่องเลือกตัวรองประธานาธิบดีหรอก”
แต่ก็เลี่ยงไปไม่ไกลนัก “แต่ดิฉันก็มีความนับถือมากต่อวุฒิสมาชิกวอเร็น”
(วอเร็นเป็นวุฒิสมาชิกหญิงจากรัฐแมสซาชูเส็ท
ผู้ได้ชื่อว่าอยู่ในแนว ‘ก้าวหน้า’
จัดๆ ที่หากเข้าร่วมทีมกับฮิลลารี่ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี
จะช่วยดึงผู้สนับสนุนของแซนเดอร์ให้หันมาช่วยฮิลลารี่ได้มาก
วุฒิสมาชิกเอลิซาเบ็ธต่อสู้กับอำนาจอิทธิพลทางพลังการเงินของวงการธนาคารอย่างหักหาญต่อเนื่อง
และเคยเป็นที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาลโอบาม่าเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิผู้บริโภค
เธอเป็นวุฒิสมาชิกหญิงของพรรคเดโมแครทคนเดียวที่วางเฉยไม่ประกาศสนับสนุนคลินตัน
จนกระทั่งเพิ่งมีรายงานข่าวจากฮัฟฟิงตันโพสต์ว่า
เธอจะประกาศสนับสนุนคลินตันภายในหนึ่งหรือสองอาทิตย์นี้
เช่นเดียวกับคำถามว่า “กับเบอร์นี่
แซนเดอร์ เขาดีพอเป็นรองประธานาธิบดีไหม” และเบอร์นี่อยู่ในรายชื่อรอพิจารณาหรือไม่
คำตอบของฮิลลารี่สำเร็จรูป “เราจะดูที่ว่าใครมีอะไรเข้ามาเสริมดีไหม
ทุกคน”และอุบแน่น “เรายังไม่ได้จัดทำรายชื่อกันเลย”
(เรียบเรียงจาก ‘Sanders Still Won't Drop
Out After Clinton Is Declared Democratic Nominee Twice Over’ โดย Liz Fields, Vice News June
8, 2016 https://news.vice.com/article/sanders-still-wont-drop-out-after-clinton-is-declared-democratic-nominee-twice-over?utm_source=vicenewstwitter
‘Winners
and losers from the final 2016 primaries’ By Chris Cillizza, the WP June 8 at 9:22 AM https://www.washingtonpost.com/news/the-fix/wp/2016/06/08/winners-and-losers-from-the-final-2016-primaries/?tid=sm_tw
และ
‘Hillary Clinton's Interview with ABC News Anchor
David Muir’ By ABC NEWS Jun 8, 2016 http://abcnews.go.com/Politics/transcript-hillary-clintons-interview-abc-news-anchor-david/story?id=39676932)