วันอาทิตย์, มิถุนายน 12, 2559

เปิด 5 มาตรา พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ น่าใจหายกว่าเดิม





ที่มา เวป Amnesty International Thailand
9 มิถุนายน 2559

เปิด 5 มาตรา พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ น่าใจหายกว่าเดิม

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของ สนช. อยู่ในขณะนี้ ได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายที่จะเสริมเขี้ยวเล็บให้การสอดแนม ดักจับ และปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์รุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ต่อไปนี้เป็นสรุปสั้นๆ ของ 5 มาตราสำคัญในร่างดังกล่าว ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง และไพรเวซี อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งเอกสารแสดงความเป็นห่วงถึงภาครัฐไทย

มาตรา 8 (แก้ไขมาตรา 14 ของร่างเดิม)

นิยามคำต่างๆ ในมาตรานี้ เช่น “ข้อมูลเท็จ” “ความเสียหายแก่ประชาชน” และ “ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ” ไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ที่แสดงความเห็นออนไลน์ถูกลงโทษอาญาฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้ ทั้งๆ ที่กรณีเช่นนี้ควรเป็นคดีแพ่งมากกว่า

มาตรา 9 (แก้ไขมาตรา 15 ของร่างเดิม)

มาตรานี้กำหนดโทษอาญาต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) จากการแสดงความเห็นและการกระทำของผู้ใช้บริการ การกำหนดโทษดังกล่าวย่อมเป็นเหตุจูงใจให้ ISP ยอมเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่างและยอมละเมิดเสรีภาพของผู้ใช้บริการ เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษของตัวเอง ซึ่งมีตั้งแต่การจ่ายค่าปรับ การถูกระงับ ไปจนถึงปิดเว็บไซต์และยกเลิกธุรกิจ

มาตรา 13 (แก้ไขมาตรา 18 ของร่างเดิม)

มาตรานี้เป็นการขยายอำนาจการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งศาล โดยเจ้าหน้าที่สามารถ “ขอความร่วมมือ” เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการสอบสวน โดยอาจรวมถึงการบังคับให้ถอดหรือเปิดเผยรหัสสำหรับข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสรักษาความปลอดภัยด้วย

มาตรา 14 (แก้ไขมาตรา 20 ของร่างเดิม)

มาตรานี้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ลบหรือระงับการเข้าถึงเนื้อหาออนไลน์ที่ถูกมองว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าจะเป็นเนื้อหาที่ไม่ผิดกฎหมายใดๆ ก็ตาม ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสวงหา รับรู้ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิด

มาตรา 17 (แก้ไขมาตรา 26 ของร่างเดิม)

มาตรานี้ว่าด้วยการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ โดยไม่ยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่ให้มีการเก็บรักษาข้อมูลแบบครอบจักรวาลและหว่านแห (mass surveillance) นอกจากนั้น มาตรานี้ยังขยายระยะเวลาสูงสุดของการเก็บรักษาข้อมูลจาก 1 ปีเป็น 2 ปี และไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องขออำนาจจากศาลด้วย

สิทธิที่จะมีเสรีภาพและสิทธิความเป็นส่วนตัวควรได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นประเทศภาคีมาตั้งแต่ปี 2539 หน้าที่ของทางการไทยจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่การพยายามปิดกั้นอย่างที่เป็นอยู่

เอกสารที่เกี่ยวข้อง:
UA - Facebook 8 ENG