วันจันทร์, มิถุนายน 08, 2558

ข้อเสนอประชามติ จาก จาตุรนต์ "ถามปชช. ให้ บิ๊กตู่ ทิ้งเก้าอี้ก่อนกำหนดได้หรือไม่" (ฉิบหายยังไม่พอหรอ ถึงคิดอยู่ต่อ)




ข้อเสนอประชามติ จาก จาตุรนต์ "ถามปชช. ให้ บิ๊กตู่ ทิ้งเก้าอี้ก่อนกำหนดได้หรือไม่"

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
08 มิ.ย. 2558

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.อยู่ในตำแหน่งไปอีก 2 ปี เพื่อดำเนินการปฏิรูปให้เสร็จแล้วค่อยจัดการเลือกตั้งว่า ความคิดดั่งเดิมก็ต้องการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งอยู่แล้ว ซึ่งก็มีคนตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยมาตลอดว่า อยากทำอะไรมากมายขนาดไหน และถ้าอยากปฏิรูประเทศในทุกด้าน มันย่อมต้องใช้เวลานาน แต่การใช้เวลาโดยปกครองในระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไปนานๆ ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นต้องกำหนดเลือกตั้งให้ออกมาประมาณ 1 ปี ตอนนี้ก็ทำท่าจะเลื่อนออกไปอีก 1 ปีอยู่แล้ว และยังมาเสนอให้ขยายเวลาออกไปอีก ซึ่งมันจะขัดแย้งกับสิ่งที่ได้อธิบายต่อชาวโลกไว้

“แต่ที่สำคัญก็คือ การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ มันเป็นการปกครองที่เมื่อเกิดความเสียหาย เกิดความผิดพลาด ก็ไม่มีใครท้วงติงได้ ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ กลายเป็นความเสียหายมากขึ้น ส่วนการปฏิรูปที่ไม่มีวิสัยทัศน์และทิศทาง ความเห็นแตกต่างกันในบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ปิดกั้นไม่ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น สิ่งที่เรียกว่าปฏิรูปกลายเป็นการสร้างความสับสนวุ่นวาย ทำให้ประเทศล้าหลังเสียมากกว่า ผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่อ้างว่ากำลังแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง เหมารวมว่าการปฏิรูปประเทศเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย หรือไม่ได้ให้ความสนใจความคิดเห็นของประชาชน ก็เลยยิ่งไปตามใจตัวเองมากขึ้นๆ ทำไปภายใต้ระบบอำนาจนิยม มันยิ่งทำผู้ที่มีอำนาจก็ยิ่งเกิดสภาพเสพติดอำนาจ ปลูกฝังแนวความคิดให้สังคมต้องมีความรู้สึกว่า ระบบอำนาจนิยมเป็นสิ่งจำเป็น เท่ากับทำให้สังคมไทยเสพติดกับระบบอำนาจนิยม คือถ้าขาดระบบนี้ ไม่สามารถที่จะรักษากฎหมาย ไม่สามารถทำให้เกิดความสงบอย่างยั่งยืนได้”นายจาตุรนต์ กล่าว

เมื่อถามว่า นอกเหนือการขยายเวลาเพื่อปฏิรูป มองปัญหาการบริหารงานรัฐบาล ที่กลไกระดับล่างไม่ได้รับการขับเคลื่อนเป็นอีกปัจจัยในการขยายโรดแม็ปหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการปัญหาต่างๆ มันขาดวิสัยทัศน์และนโยบายที่ชัดเจน ขัดแย้งกับการระบบบริหารและระบบตรวจสอบปกติ เพราะฉะนั้นคนในระบบ โดยเฉพาะข้าราชการต่างๆ เขาจะเกิดความหวาดระแวง เกิดความไม่มั่นคงในการทำงาน เนื่องจากไม่รู้ว่าทิศทางไหน จะไปเรื่องไหน และไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ ทำเรื่องไหนก็จะเป็นความผิดและถูกลงโทษ และในหลายๆกรณีเมื่อถูกลงโทษภายใต้ระบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างนี้ไปร้องเรียน อุทธรณ์ที่ไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องจะรู้สึกว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่ทำอะไรดีกว่า

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ดังนั้น ในภาวะอย่างนี้ถ้าปล่อยนานไปคิดต่ออายุต่อไปอีกนานๆ ก็ยิ่งเกิดความเสียหายกับการแก้ไขปัญหาประเทศมากขึ้น ในเมื่อปกติการประกาศโรดแม็ปต่อสังคมและชาวโลกว่า ทำรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อไร เลือกตั้งเมื่อไร คืนอำนาจให้ประชาชนเมื่อไร มันเป็นสัญญาประชาคมทั้งต่อคนไทยและชาวโลกไปแล้ว การทำอะไรที่ผิดไปจากสัญญาประชาคม การทำให้มีอำนาจต่อไปนานๆ เป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำอยู่แล้ว แต่เวลานี้เนื่องจากการตัดสินเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจจะตัดสินได้เองทั้งหมด และเมื่อมีคนเสนอให้ทำประชามติขึ้นมา ถึงแม้ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น แต่ถ้าจะทำประชามติ เลยอยากให้ฝากถามเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกบ้าง เช่นถ้าหากขออยู่ต่อ 2 ปีได้หรือไม่ ก็ควรถามด้วยว่าต้องการให้พ้นหน้าที่ไปเร็วกว่าเวลาที่กำหนดหรือไม่ และให้เป็นการทำประชามติที่เสรีด้วย ไม่ใช่พูดได้ฝ่ายเดียว