จะดันทุรังไปถึงไหน ไอ้ที่จะเปลี่ยนกลับไป ‘ค่าจ้างลอยตัว’ ไม่เอา ‘ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน’ น่ะ
แก้ปัญหาส่งออกหดหายต้องเปลี่ยนคนบริหารจัดการ ไม่ใช่เปลี่ยนอัตราค่าแรง
๓๐๐ บาทต่อวัน มันไม่ได้ทำให้การแข่งขันส่งออกด้อยไปเลยสักนิด
ดูรายงาน investigative ของสำนัก ‘ที่นี่และที่นั่น’ เสียบ้างปะไร
“สถิติบีโอไอตอกหน้าประยุทธ์ ปี ๕๕-๕๖ ประกาศใช้ค่าแรง ๓๐๐ บาท ต่างชาติแห่ขอลงทุนไทยสูงสุดรอบ ๖ ปี” เขาจั่วหัวไว้
“จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งเริ่มมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ ๓๐๐ บาท ใน ๗จังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๕ ตามมติบอร์ดค่าจ้าง กลับมีสถิติการขอลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า ๑,๔๐๐ โครงการ จำนวนเงินลงทุน ๖๐๕,๐๐๐ ล้านบาท”
ถึงปี ๒๕๕๖ ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ๓๐๐ บาทต่อวันเท่ากันหมดทั่วประเทศแล้ว จำนวนการขอลงทุนจากต่างประเทศลดลงเพียงเล็กน้อย อยู่ที่ ๑,๒๐๐ ราย มูลค่า ๕๐๕,๐๐๐ ล้านบาท
สองปีรวมกัน “มีจำนวนยื่นคำขอการลงทุนจากต่างประเทศที่มากกว่า” ในสามปีก่อนหน้านั้น (๕๒-๕๓-๕๔) “อย่างชัดเจน”
และที่น่าเอ่ยถึง คือตอนไตรมาสแรกของปี ๕๗ ก่อนวันที่ ๒๒ พฤษภา ช่วงที่ประเทศโดนพวกนกหวีดป่วนเมืองเรียกแขก ‘รัฐประหาร’ สุขภาพของประเทศชักจะบักโกรก การลงทุนต่างชาติเริ่มหดหาย คำร้องขอต่อบีโอไอมีเพียง ๒๖๔ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๒๑๙,๙๓๒ ล้านบาทเท่านั้น
จนกระทั่งเริ่มไตรมาสแรกปี ๕๘ พวกนกหวีดนักปฏิรูปก่อนเลือกตั้งทั้งหลายได้รับการ ‘คืนความสุข’ เต็มปลัก ขณะที่ประชาชนอื่นๆ เริ่มกระอัก เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มหดหาย อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนปรับลดการจ้างงาน บ้างถอนย้ายออกไป กระทบกระแทกเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ กำลังซื้อลดลง การค้าขายอ่อนแอเชื่องช้า ความเป็นอยู่ชักจะฝืดเคือง เพราะการลงทุนจากต่างประเทศไม่กระเตื้องแล้วยังลดลงต่อเนื่อง
สถิติบีโอไออีกน่ะแหละเผยว่า ช่วง มกรา-เมษา ๕๘ ระยะที่ คสช.กำลังเฟื่องสุดขีดนี่ละ ต่างชาติขอลงทุนแค่ ๑๑๒ โครงการ (เลขสวย คสช.) มูลค่าหดฮวบเกือบ ๙๗ เปอร์เซ็นต์ จากหลักแสนเหลือหลักพัน แค่ ๗,๓๗๕ ล้านบาท
(https://www.hereandthere.today/?p=2210)
อย่างนี้นี่เองเขาถึงบอกว่าตัวเลขเป็นจริงมันตบหน้าทั่นผู้ณรรมฉาดใหญ่ แค่ตั้งตาจะลบล้างชื่อเสียงของเขาเสียจนไม่ดูตาม้าตาเรือ เหมือนกับ ปปช. จ้องเชือดยิ่งลักษณ์ด้วยการบิดระเบียบกฏหมาย ได้ทีคดีจำนำข้าวตะแบงมารไปได้ หมายเอาผิดด้วยข้อหาเยียวยาประชาชนอีกกระทง ตอนนี้เลยโดนเขาฟ้องกลับให้บ้างสิ
กลับมาที่เรื่องค่าจ้างลอยตัว มีผู้รู้ออกมาเบิกตากันหลายคนแล้วว่ามันไม่ถูกต้องนะ ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์ของจุฬา ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ บอกว่าถ้าลอยตัวก็เท่ากับไม่ให้มีค่าแรงขั้นต่ำน่ะสิ
“หากปล่อยให้ค่าจ้างลอยตัว ลูกจ้างจะอยู่ไม่ได้ นั่นแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ดูแล รัฐบาลต้องมองลูกจ้างที่ความเป็นคน ไม่ใช่ปัจจัยการผลิต...
นายแลกล่าวและว่าไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) จะกลับไปใช้การพิจารณาค่าจ้างตามจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมาการเก็บข้อมูลค่าครองชีพของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดมักจะเก็บข้อมูลรวมไปถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านเข้าไปด้วย อีกทั้งร้านสะดวกซื้อในทุกจังหวัดก็มีราคาสินค้าเท่ากัน
ดังนั้นการนำวิถีชีวิตชาวบ้านไปรวมกับแรงงานแล้วคิดออกมาเป็นค่าครองชีพในจังหวัดต่างๆ นั้นจึงไม่ถือว่าเป็นการสะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริง”
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1434070043)
สำหรับประเทศไทยที่ยังแค่พัฒนาระดับกลาง (กำลังลงไปสู่ระดับต่ำ) ทำอย่างนั้นไม่ได้ น่าที่จะฟังข้อเรียกร้องที่สะท้อนสุ้มเสียงของผู้ประกอบอาชีพ และผู้ใช้แรงงานโดยตรงบ้าง ดังที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงไว้
“คัดค้านการประกาศใช้ระบบค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศ และเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น ๓๖๐ บาท เท่ากันทั้งประเทศ” ด้วยเหตุผลว่า
“ค่าจ้างข้นต่ำตามนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ กำหนดให้ค่าจ้างสามารถเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวได้ ๔ คน คือ พ่อ แม่ และลูกอีก ๒ คน” แล้วมาเปลี่ยนเป็น “เหลือเพียงพอเลี้ยงชีพเฉพาะคนที่ทำงานเพียงคนเดียว และค่าจ้างก็แบ่งเป็นเขตไม่เท่ากันคือปล่อยค่าจ้างลอยตัว...ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำ”
“ความเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างในระดับท้องถิ่นขึ้นอยู่กับอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดที่มีการประชุมกำหนดค่าจ้างร่วมกัน ๓ ฝ่าย (ไตรภาคี คือ รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง) ในบางจังหวัดไม่มีสหภาพแรงงานตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง...
ประกอบกับรัฐบาลไม่สนับสนุนการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ทำให้คนงานอยู่ในสภาพที่ยากลำบากแร้นแค้น”
“การปล่อยให้ค่าจ้างลอยตัว ทำให้ค่าจ้างมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากจังหวัดหรือเขตที่มีค่าจ้างต่ำไปสู่จังหวัดและเขตที่มีค่าจ้างสูง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอย่างมากมาย”
“คำกล่าวอ้างเดิมที่บอกว่าค่าครองชีพในต่างจังหวัดถูกกว่าค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ไม่ใช่อีกต่อไป ดูจากราคาน้ำมันพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตต่างจังหวัดแพงกว่ากรุงเทพฯ เครื่องอุปโภค บริโภค บวกราคาค่าขนส่ง แพงกว่าสินค้าในร้านสะดวกซื้อที่กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนไทยวันนี้...บางรายการแพงกว่ากรุงเทพฯด้วยซ้ำ”
การ “เปิดเสรีทางการค้า การเงิน การลงทุน การบริการ และแรงงานในข้อกำหนดของเขตเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเปิดในปลายปีนี้มีความหมายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมจากนี้ไป..หากรัฐบาลมองแค่เรื่องการลงทุนเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนงาน จะทำให้ประเทศไทย คนไทยสูญเสียโอกาสอย่างมาก จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร”
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงแถลงให้ทราบทั่วกันว่าไม่เห็นด้วยกับการปล่อยค่าจ้างลอยตัว และเสนอให้
(๑) รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จาก ๓๐๐ บาท เป็น ๓๖๐ บาทให้เท่ากันทั้งประเทศ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลก็ปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ ดังนั้นคนกลุ่มอื่นทั้งลูกจ้างเอกชน รัฐวิสาหกิจก็ไม่ควรเลือกปฏิบัติ
(๒) รัฐต้องปรับค่าจ้างประจำปีให้กับลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น
(๓) สร้างกลไกในการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานเกินหนึ่งปีให้มีการปรับค่าจ้าง
(๔) พิจารณาปรับค่าจ้างฝีมือแรงงานตามความสามารถแต่ละสาขาอาชีพซึ่งไม่ได้ปรับขึ้นนานแล้ว
(๕) ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด
(๖) จัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจน มีการเปลี่ยนคำนิยามค่าจ้างจากเดิมค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า
อีกทั้งควรหามาตรการด้านต่างๆช่วยเหลือแก่เกษตรกร และประชาชนอาชีพอื่นๆด้วย และขอให้รัฐบาล สนับสนุน ส่งเสริมให้คนงานรวมตัวกันด้วยการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ คสช. ครม. สนช.สปช. ไม่อ่านไม่ฟังไม่สน เพราะไม่หวังอะไรได้อยู่แล้ว แต่เสนอมาให้พวกมีคุณวุฒิและวุฒิภาวะทั้งหลายพึงสำเหนียกกันไว้บ้าง อย่าจดจ่อแต่กับรัฐาธิปัตย์อยู่เลย