เมื่อวันที่ ๕-๖
พ.ค.ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปพูดให้นักสิทธิมนุษยชนมองโกเลียฟังในงานประชุมใหญ่ของแอมเนสตี้
อินเตอร์เนชันแนล มองโกเลีย และได้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยในเรื่องราวต่างๆมากมาย
นอกเหนือจากเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังได้ความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองของมองโกเลียโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องของการปกครองท้องถิ่นซึ่งอยู่ในความสนใจเป็นพิเศษของผมอยู่แล้ว
ทำให้ทราบว่าแม้ว่ามองโกเลียจะมีประชาธิปไตยหลังไทยเราตั้งนาน
แต่มีวิวัฒนาการไปไกลกว่าเรามาก
มองโกเลียเป็นดินแดนที่ห่างไกลจากความรู้จักของคนไทยมาก
มีคนไทยน้อยคนที่ได้เดินทางไปเยือน
ร้านอาหารไทยเราที่มีชื่อเสียงแพร่หลายไปทั่วโลก
แต่ที่อูลานบาตอร์ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ถึงล้านกว่าคนกลับไม่มีใครรู้จักร้านอาหารไทย
สอบถามแล้วได้คำตอบเพียงว่ามีเพียงร้านเดียวหรือสองร้านเท่านั้น
แต่ที่น่าสนใจคือมีโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ไปเปิดสาขาที่นั่นด้วย
ถามคนมองโกเลียแล้วได้รับคำตอบว่าถึงแม้จะแพงกว่าโรงพยาบาลในพื้นที่แต่ก็ยังถูกกว่าที่ต้องเดินทางไปรักษายังต่างประเทศ
มองโกเลียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว่า ๑.๕
ล้านตารางกิโลเมตร(สามเท่าของประเทศไทย) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลใหญ่เป็นอันดับสองรองจากคาซักสถาน
มีความสูงจากน้ำทะเลโดยเฉลี่ย ๑,๕๐๐ เมตร
มีทะเลทรายโกบีซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองรองจากทะเลทรายสะฮารา
มีอุณหภูมิตั้งแต่หนาวจัด -๖๐ เซลเซียส ถึง +๔๕ เซลเซียส มีประชากรที่สำรวจเมื่อปี
๒๐๐๖(๒๕๔๙) คือ ๒.๕ ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า ๓๕ ปี อายุขัยโดยเฉลี่ย ๖๖
ปี มีรายได้โดยเฉลี่ยต่อหัว ๘๐๐ เหรียญสหรัฐอเมริกา ประชากรส่วนใหญ่กว่า ๗๐
เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยานแบบทิเบตที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่หลังจากที่ถูกบังคับไม่ให้นับถือศาสนาใดๆในช่วงที่ถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เป็นระยะเวลาเกือบ๖๐ปี
มองโกเลียมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนับตั้งแต่ยุคบรรพกาล
ถ้านึกถึงซากของไดโนเสาร์ที่มีจำนวนมหาศาลแล้วละก็ต้องนึกถึงทะลทรายโกบี(Mongolian Gobi)ของมองโกเลียกับหุบเขาคาลิฟอร์เนีย(California
Valley)ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เมื่อนึกถึงอาณาจักร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติที่เคยมีมาเราปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคของเจงกิสข่าน(Chinggis
Khaan)ของมองโกลในต้นคริสต์ศตวรรษที่๑๓ เป็นยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะครอบครองเนื้อที่ไปถึงยุโรปและเอเชียเกือบทั้งทวีป
ทุกอย่างมีขึ้นมีลง
จากที่เคยเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
มองโกเลียยุคหลังกลับต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลและการแย่งชิงเพื่อครอบครองจากมหาอำนาจยุคใหม่คือรัสเซียกับจีน
จนต้องมีการประชุมไตรภาคี(Tripartite Conference) ในปี
๑๙๑๖(๒๔๕๙) ที่ Hiagt สมัยประธานาธิบดีYuan Shikai ของจีนเพื่อตกลงสถานะของมองโกเลีย จนในปี๑๙๒๔(๒๔๖๗)เมื่อ Bogd Khan
สิ้นชีพลง มองโกเลียก็มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก
สถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย(Mongolian People's Republic)เข้าสู่ยุคของการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตและComintern(International
Communist Organization) มีการจับกุมเศรษฐีและชนชั้นกลางกันอย่างขนานใหญ่ในปี
๑๙๓๐(๒๔๗๓)
โรงแรมเค็มปินสกี้ใจกลางกรุงอูลานบาตาร์ |
จวบจนปี ๑๙๘๙(๒๕๓๒) คอมมิวนิสต์ได้ล่มสลายลง
ประชาชนชาวมองโกเลียได้เดินขบวนขนานใหญ่เพื่อเรียกร้องเสรีภาพ และในปี๑๙๙๐(๒๕๓๓)
ก็ได้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีขึ้นเป็นครั้งแรก
จากนั้นเป็นต้นมามองโกเลียก็เข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด
`ต่อมาในปี ๑๙๙๑(๒๕๓๔)
รัฐสภาของมองโกเลียซึ่งมีสภาเดียวโดยไม่มีวุฒิสภาที่เรียกว่า The State
Great Hural (ปัจจุบันมีสมาชิก ๗๖ คน)
ได้ออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลับมาสู่กรรมสิทธิของเอกชนหลังจากที่เอกชนไม่สามารถมีกรรมสิทธิในทรัพย์สินได้ในยุคคอมมิวนิสต์
มองโกเลียปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข(head of State) ปัจจุบันคือ นาย Tsakhia Elbegdori มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารหรือหัวหน้ารัฐบาล(Head of
Government) ปัจจุบัน คือ นายChimedin Saikhanbileg มองโกเลียแบ่งการปกครองออกเป็น ๒๑ จังหวัด(Aimags) `มีผู้บริหารนับตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนโดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง
๔ ปี เช่นเดียวกันกับสมาชิกรัฐสภาและรัฐบาล ที่สำคัญคือประชาชนสามารถถอดถอนได้
บทความแนะนำ : ‘Can You Guess the World Fastest Growing
Economy?’ by Max Fisher, The Atlantic, July 16, 2012. “Mongolia is part of a new class of countries that, like the Middle
Eastern states that got rich selling oil to the West, have hitched their
economies to resource-hungry China.”
เมื่อมอง"มองโกเลีย"แล้วหันมามอง"ไทย"เรา
จะเห็นได้ว่ามองโกเลียนั้นเคยถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์และเพิ่งมีประชาธิปไตยมาเพียงยี่สิบกว่าปีเมื่อเทียบกับไทยเราที่มีมาตั้ง
๘๕ ปีแล้ว แต่ประชาธิปไตยของมองโกเลียกลับเจริญงอกงามและมีพัฒนาการรุดหน้าไปกว่าเรามากนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปกครองท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารในทุกระดับ
ที่สำคัญคือไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารแต่อย่างใด
แต่ของไทยเราเต็มไปด้วยการปฏิวัติรัฐประหารและยังถกเถียงกันไม่จบว่าร่างรัฐธรรมนูญจะเอาแบบไหนอย่างไร
มิหนำซ้ำยังมีการโยนหินถามทางถึงช่องทางในการทำประชามติเพื่อให้หัวหน้าคณะรัฐประหารอยู่ต่อเสียอีก
มองเขา มองเรา มองนานาอารยประเทศแล้วเศร้าใจ
ไม่รู้ว่าประเทศไทยเรามีเวรมีกรรมอะไรกันนักหนาจึงต้องวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ไม่รู้จักจบจักสิ้น
ต่างฝ่ายต่างก็โทษกันไปโทษกันมา มึงว่ากู กูว่ามึง
อย่างไรก็ตามกงล้อประวัติศาสตร์การเมืองของโลกล้วนแล้วแต่หมุนไปสู่ประชาธิปไตย
แม้ว่าในบางครั้งอาจจะหยุดชะงักหรือถูกทำให้ถอยหลังไปบ้างก็ตาม
แต่ไม่ว่าเผด็จการทหาร เผด็จการรัฐสภา เผด็จการคอมมิวนิสต์ เผด็จการทุนนิยม ฯลฯ
ต้องพ่ายแพ้ต่ออำนาจของประชาชนทั้งสิ้น อยู่ที่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิ จฉบับประจำวันพุธที่
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘