วันศุกร์, มิถุนายน 05, 2558

ไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง : พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์


จากบทความเรื่อง ประเทศไทยในกับดัก รายได้ปานกลาง (ตอนที่หนึ่ง) โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”ฉบับวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2558

            ในวงการการพัฒนาเศรษฐกิจ มีปรากฏการณ์หนึ่งที่เริ่มมีความสำคัญและได้รับการศึกษามากขึ้นในระยะ 10  ปีมานี้ คือ กับดักรายได้ปานกลาง หรือ middle-income trap ซึ่งหมายถึง สภาวะที่ประเทศด้อยพัฒนาและยากจนเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สามารถยกระดับจาก ประเทศยากจน ไปเป็น ประเทศรายได้ปานกลาง สำเร็จในเวลาไม่นาน แต่แล้วก็หยุดชะงัก ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจไม่สามารถพัฒนายกระดับต่อไปเป็น ประเทศรายได้สูง หรือ ประเทศพัฒนาแล้ว ได้

ประเทศเหล่านี้หลังจากที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนพ้นสถานะ ประเทศยากจน ได้แล้วก็เข้าสู่ระยะที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลงอย่างมาก ติดอยู่ในกลุ่ม ประเทศรายได้ปานกลาง อยู่เป็นเวลายาวนาน โดยไม่มีทีท่าว่าจะสามารถก้าวกระโดดขึ้นไปเป็น ประเทศรายได้สูง ตัวอย่างของประเทศกลุ่มนี้ เช่น ประเทศอาฟริกาใต้ และหลายประเทศในละตินอเมริกา

ในระยะปีหลังๆ มานี้ ประเทศไทยก็เริ่มถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ติดกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยเช่นกัน

การจัดแบ่งประเทศกำลังพัฒนาออกเป็นกลุ่ม ยากจน หรือ รายได้ปานกลาง นั้น ใช้ดัชนีชี้วัดหลายตัว เช่น ระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัว และดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ สำหรับธนาคารโลกได้ใช้ตัวเลข ผลิตภัณฑ์ประชาชาติมวลรวม (Gross National Product --- GNP) ซึ่งรวมรายได้ทั้งหมดที่ผลิตโดยพลเมืองของประเทศนั้น ตัวอย่างเช่น GNP ของประเทศไทย คือ รายได้ที่ผลิตโดยพลเมืองไทยทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ แต่ไม่รวมรายได้ของคนต่างชาติในประเทศไทย

ในปี 2556 ธนาคารโลกได้จัดอันดับประเทศทั่วโลกออกเป็นกลุ่มตามระดับรายได้ประชาชาติต่อหัว โดยนิยามของ ประเทศรายได้ต่ำ คือ มี GNP ต่อหัวต่ำกว่า 1,036 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศรายได้ปานกลางนั้นยังแบ่งเป็น รายได้ปานกลางกลุ่มต่ำ มี GNP ต่อหัวสูงตั้งแต่ 1,036 ถึง 4,085 ดอลลาร์ และ รายได้ปานกลางกลุ่มสูง มี GNP ต่อหัวระหว่าง 4,086 ถึง 12,615 ดอลลาร์ ส่วน ประเทศรายได้สูง มี GNP ต่อหัวตั้งแต่ 12,616 ดอลลาร์ขึ้นไป ตามคำนิยามนี้ ปัจจุบันจึงมีกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่จัดว่าเป็นประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ตั้งแต่ประเทศยากจนที่สุดคือ มาลาวี และบุรุนดิ ไปจนถึงประเทศ เกือบรวย เช่น บราซิล เวเนซูเอล่า ตุรกี เป็นต้น

ปี 2556 ประเทศไทยมี GNP ต่อหัวเท่ากับ 5,340 ดอลลาร์ จัดเป็น ประเทศรายได้ปานกลางกลุ่มสูง

ประเทศรายได้ปานกลางที่ ติดกับดัก ไม่สามารถยกระดับไปเป็นประเทศรายได้สูงนั้น มีลักษณะร่วมกันหลายประการ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกเพราะค่าจ้างแรงงานในประเทศที่สูงขึ้น แต่ผลิตภาพและคุณภาพของแรงงานไม่ปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้อีกต่อไป เป็นผลให้ประเทศประสบปัญหาการลงทุนต่ำระดับ มีการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมและบริการออกไปประเทศอื่น อัตราการเติบโตเศรษฐกิจลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
 
จากประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจนับแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง เราจะพบว่าประเทศที่ไม่พัฒนาและยากจนมาแต่เริ่มแรกนั้น สามารถที่เริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจแล้วยกระดับไปสู่ประเทศรายได้ปานกลางได้ไม่ยากนักและในเวลาไม่นาน ในตอนต้นประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีแรงงานล้นเกินในภาคเกษตรกรรม มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก ทั้งป่าไม้ ประมงและเหมืองแร่ การพัฒนาเศรษฐกิจจึงเป็นการระดมเอาแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มาทำการ สะสมทุนเริ่มต้น สร้างฐานการผลิตขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์

เงื่อนไขจำเป็นคือ ต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจอย่างชัดเจนต่อเนื่อง ทุ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ท่าเรือ สนามบิน โทรคมนาคม สาธารณูปโภค เขื่อน พลังงาน ส่งเสริมให้ผลิตสินค้าจากภาคเกษตร ป่าไม้และเหมืองแร่ ส่งผลผลิตออกไปแลกกับสินค้าทุน เครื่องจักร วัตถุดิบ และเทคโนโลยีขั้นต้นนำเข้ามา รวมทั้งดูดเอาแรงงานล้นเกินค่าแรงต่ำจากภาคเกษตรมาพัฒนาฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสนองตลาดภายในประเทศหรือตลาดโลก ก่อให้เกิดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ก็จะยกระดับเป็น ประเทศรายได้ปานกลาง ได้ในราวหนึ่งถึงสองชั่วอายุคน

แต่การยกระดับจาก ประเทศรายได้ปานกลาง ไปเป็น ประเทศรายได้สูง กลับกระทำได้ยากกว่ามาก เพราะ ณ เวลานี้ระบบเศรษฐกิจจะมีอัตราค่าจ้างแรงงานสูง ภาคเกษตรมีสัดส่วนลดลงในรายได้ประชาชาติ ผลผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรไม่สามารถเพิ่มได้ในอัตราสูงอีกต่อไป ทรัพยากรธรรมชาติก็เริ่มร่อยหรอลง การประมงและเหมืองแร่ก็มีผลผลิตลดลงหรือกระทั่งหมดไป ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่งออกกลายเป็นพลังหลักในการขับดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กลับต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างเข้มข้นในตลาดโลกจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ไล่ตามมาทีหลังและมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า

เงื่อนไขการยกระดับไปสู่ ประเทศรายได้สูง คือ อุตสาหกรรมของประเทศจะต้องยังคงส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลก ก่อให้เกิดรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี จนสามารถดึงให้เศรษฐกิจหลุดจากกลุ่ม รายได้ปานกลาง กลายเป็น ประเทศรายได้สูง ในที่สุด

แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นจริงได้ จะต้องมีการยกระดับผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบให้สามารถผลิตสินค้าที่มี มูลค่าเพิ่มสูง คือมีคุณภาพและดีไซน์ที่ดีขึ้นแม้จะต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานสูงก็ตาม ซึ่งต้องอาศัยเงื่อนไขอีกสองประการคือ การลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมจากการใช้แรงงานเข้มข้น (ซึ่งทำให้ต้นทุนสูง แข่งขันไม่ได้ เพราะค่าจ้างแรงงานขึ้นสูง) ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและความรู้เข้มข้น

แต่อุตสาหกรรมจะเป็นแบบใช้เทคโนโลยีและความรู้เข้มข้นได้ ระบบเศรษฐกิจสังคมจะต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ (creative economy) ที่เน้นการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ได้ด้วยตัวเอง 

ซึ่งในที่สุดปัจจัยชี้ขาดคือคุณภาพของแรงงานที่จะต้องมีทักษะ ความรู้ ยืดหยุ่นปรับตัวได้ หรือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาเรียกว่า ทุนมนุษย์ (Human Capital)

แต่การยกระดับคุณภาพของ ทุนมนุษย์ นั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่เป็นเวลายาวนานในภาคการศึกษา ฝึกอบรม วิจัยและพัฒนา ตลอดจนมีเปลี่ยนแปลงในค่านิยมและวัฒนธรรมเปิดกว้าง

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกก็ได้ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ และสามารถข้ามพ้น กับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงมาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ใต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และก็มีอีกหลายประเทศในแถบนี้ที่กำลังมุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกัน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย

            ประเทศไทยได้ผ่านขั้นตอนการพัฒนาจากประเทศไม่พัฒนาและยากจน มาสู่ประเทศรายได้ปานกลางกลุ่มสูง ฉะนั้น เส้นทางข้างหน้าก็คือ เส้นทางที่ประเทศเอเชียตะวันออกเหล่านี้ได้เดินไปก่อนแล้วนั่นเอง


หมายเหตุ
 
1. สำนักข่าวไทยรายงาน 2015/06/04 1:33 PM “สศอ. คาด GDP อุตฯ ปี 58 โต 2-3% แนะหนุนส่งออกยานยนต์-อาหาร ดัน GDP ตามเป้า”

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สศอ. ระบุจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2-3 ส่วนไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากปัจจัยหนุนการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การลงทุนที่ขยายตัวสูงขึ้นจากการเร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เร่งรัดการใช้จ่ายและเร่งโครงการลงทุนสำคัญของภาครัฐ การเริ่มกลับมาขยายตัวของการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในตลาดต่างประเทศ และการลดลงของราคาน้ำมันตลาดโลกที่กดดันด้านราคาและเพิ่มอำนาจซื้อ

ทั้งนี้ 4 เดือนแรกภาพรวมการส่งออกไทยที่ติดลบ แต่หากภาครัฐผลักดันการส่งออกหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนอาหารและเครื่องดื่ม จะส่งผลดีต่อจีดีพีอุตสาหกรรมไทยปีนี้ ส่วนการส่งออกในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียร์มา และเวียดนาม หรือ CLMV คาดปีนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 12 จากเดิมปีก่อนขยายตัวร้อยละ 8 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
(http://www.tnamcot.com/content/201085)

2. รายงาน SME Thailand Club “ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี ’58… ยังไปต่อได้


3. กระทรวงพาณิชย์เผยยอดส่งออกไทยเดือนเมษายน ๕๘ “มีมูลค่า 16,900 ล้านเหรียญสหรัฐลลงร้อยละ1.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน” (http://www.newsplus.co.th/67941#sthash.tSwlPjaV.dpuf)