ตอนที่มีการเผยแพร่งานวิจัยของ Duncan McCargo วิจารณ์นิติราษฎร์ ผมคันปากอยากโต้หลายประเด็น แต่มีภาระหลายอย่างเขียนไม่ทัน ประเด็นหนึ่งที่ดันแคนไม่เข้าใจคือการวิจารณ์ว่านิติราษฎร์ไร้เดียงสาทางการเมือง จำกัดตัวเอง "เป็นกลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย ไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง"
ดันแคนไม่เข้าใจว่านักวิชาการประเทศนี้ ชอบเอาวิชาการไปรับใช้เป้าหมายทางการเมืองจนเลอะเทอะ นักนิติศาสตร์นักรัฐศาสตร์มีเป้าหมายโค่นล้มทักษิณ ก็พยายามหาหลักวิชาการมาอ้างว่ารัฐประหารตุลาการภิวัตน์ถูกต้อง นิติราษฎร์จึงขีดตัวเองไว้ที่การวิจารณ์หลักกฎหมาย อะไรที่เป็นความเห็นทางการเมือง นิติราษฎร์จะไม่เข้าไปเกี่ยว
ยกตัวอย่างปริญญา ซึ่งก็ไม่ใช่พวกสุดขั้วสุดโต่งอะไร แต่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้แล้วผมส่ายหน้า ปริญญาเอาเป้าหมายทางการเมือง คือ "การเมืองแบบสมานฉันท์" มาสนับสนุนเลือกตั้งแบบ "บิดเบือนเยอรมัน" เพราะต้องการให้เกิดผลการเลือกตั้งที่มีพรรคตรงกลางมากขึ้นปรองดองมากขึ้น
ปริญญาข้ามเส้นของการเป็น "นักวิชาการ" หรือ "นักนิติศาสตร์" มาเป็น "นักเคลื่อนไหวการเมือง" แต่ใช้ความเป็นนักนิติศาสตร์เป็นเครื่องมือ ทำให้คนอ่านคนฟังคิดว่าพูดในฐานะนักวิชาการ
ในฐานะนักนิติศาสตร์ ปริญญาควรพูดเพียงว่า ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันมีข้อดีที่สะท้อนคะแนนนิยมที่แท้จริงของประชาชน ส่วนที่ว่าเราควรมีเป้าหมาย "การเมืองแบบสมานฉันท์" หรือไม่เป็น "ความเห็น" ซึ่ง อ.วรเจตน์พูดเสมอว่าจะไม่แสดงความเห็นแบบนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมาย แต่เป็นความเห็นในฐานะประชาชนซึ่ง อ.วรเจตน์ก็มีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทย 70 ล้านคน ให้ประชาชนเขาตัดสินเอง
ปริญญาพูดเหมือนบวรศักดิ์ เอาข้อดีของเยอรมันมาอ้างแล้วบอกว่าต้องการให้เกิดรัฐบาลผสม ซึ่งมันไม่เกี่ยวเลย คุณมีหน้าที่ออกแบบระบบเลือกตั้งให้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน มันจะเป็นรัฐบาลเดียวรัฐบาลผสม เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน คุณไม่มีหน้าที่บงการ
แล้วที่ปริญญาไม่พูดถึงเลยคือการแบ่งบัญชีรายชื่อเป็น 8 ภาค ซึ่งบิดเบือนเป็นเยอรมันแบบไทยๆ เราเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร ไม่ใช่สหพันธรัฐ ประชาชนทั้งประเทศอยู่ในรัฐเดียวกันมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ได้มีผู้ว่าการรัฐมีกฎหมายของรัฐมีการปกครองแยกย่อย ทำไมต้องแบ่งประเทศไทย ซึ่งการแบ่งในครั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เห็นชัดว่าต้องการแยกสลายคะแนนเสียงคนเหนือคนอีสาน ทำลายความเท่าเทียมหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง
ปริญญาเป๋อย่างนี้บ่อยๆ เพราะแยกไม่ออกระหว่างความเป็นนักกฎหมายมหาชน กับความเป็นนักเคลื่อนไหวการเมือง มีเป้าหมายการเมือง ตั้งแต่ปี 49 แล้ว ด้านหนึ่งต้องการโค่นทักษิณ แต่อีกด้านหนึ่งเคยเป็นเลขา สนนท.ไล่สุจินดาปี 35 ก็เลยกระอักกระอ่วนกับรัฐประหาร เวลามีปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ความเป็นอดีตเลขา สนนท.มันค้ำคอให้ต้องปกป้อง แต่ซักพัก ก็เอาเป้าหมายทางการเมืองเดิมๆ กลับมาอีก คงเป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิต
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRReU9ETTVOREF4TkE9PQ%3D%3D&subcatid
Atukkit Sawangsuk