ภาพต้นฉบับ: วิกิพีเดีย
'นที' ผู้ป่วยจิตเภทถูกดำเนินคดีเหตุโพสต์เกี่ยวกับกษัตริย์ โดดน้ำฆ่าตัวตายเสียชีวิต
2020-04-15
ที่มา ประชาไท
ชายผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เฟสบุ๊คเกี่ยวกับในหลวง ร.9 ทั้งในทางความเห็นและล้อเลียน พบลอยน้ำเสียชีวิตหลังฆ่าตัวตายเป็นครั้งที่ 3 เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ประกันตัวออกมาเพื่ออุทธรณ์ เอกสารพิพากษาชี้ชัด แพทย์-พ่อ ระบุว่าเป็นจิตเภท
15 เม.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นที (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์เฟสบุ๊คเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อปี 2561 เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดน้ำที่คลองประปา
นทีฆ่าตัวตายเป็นครั้งที่ 3 เมื่อ 12 เม.ย. ก่อนจะมีคนพบร่างลอยขึ้นมาเหนือน้ำในวันต่อมา โดยความพยายามก่อนหน้านี้ 2 ครั้งเป็นการกระโดดน้ำเช่นกันแต่มีคนช่วยเอาไว้
นที อายุ 28 ปีเมื่อถูกจับกุม ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบอันมีลักษณะบิดเบือนหรือเป็นเท็จ มาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) ต่อมาถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ก่อนจะประกันตัวออกมารออุทธรณ์และพบว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เดิมทีเขาถูกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จับกุมเมื่อ 26 ก.ย. ในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเป็นผู้เข้าจับกุม นทีถูกคุมตัวไปที่ ปอท. ศูนย์ราชการอาคาร B ซึ่งนทีให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกนำตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง 2 วัน และส่งตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางเงินสด 20,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้าติดตามตัว หรือ EM เมื่อ 16 พ.ย. 61
ต่อมา อัยการศาลทหาร ซึ่งเป็นศาลที่ใช้ไต่สวนคดีด้านความมั่นคงในช่วงนั้นสั่งไม่ฟ้อง ม.112 ให้คงเหลือไว้แค่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์และโอนคดีไปที่ศาลอาญา ต่อมาอัยการศาลอาญาฯ แจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นเพิ่มเติม
ความผิดที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเกิดเมื่อ มี.ค. 2559 โดยนทีได้โพสต์เฟสบุ๊ค 2 โพสต์ โพสต์แรก นำข้อความที่อ้างว่าเป็นพระราชดำรัส ร. 9 ว่าจงเป็นน้ำครึ่งแก้ว มาให้ความเห็นเพิ่มเติม “ประมาณว่า ขอสอนในหลวงหน่อยว่า การเป็นน้ำครึ่งแก้วนั้นไม่ถูกต้อง แต่ควรทำตัวเป็นภาชนะรองรับน้ำที่สามารถขยายขนาดรองรับน้ำ(ความรู้)ได้อย่างไม่จำกัดปริมาตร” และอีกโพสต์เป็นการนำทะเบียนรถยนต์ของในหลวง ร.9 มาล้อเลียน
ความผิดที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเกิดเมื่อ มี.ค. 2559 โดยนทีได้โพสต์เฟสบุ๊ค 2 โพสต์ โพสต์แรก นำข้อความที่ถูกส่งต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์คโดยอ้าวว่าเป็นพระราชดำรัส ร. 9 ว่าจงเป็นน้ำครึ่งแก้ว มาให้ความเห็นเพิ่มเติม “ประมาณว่า ขอสอนในหลวงหน่อยว่า การเป็นน้ำครึ่งแก้วนั้นไม่ถูกต้อง แต่ควรทำตัวเป็นภาชนะรองรับน้ำที่สามารถขยายขนาดรองรับน้ำ(ความรู้)ได้อย่างไม่จำกัดปริมาตร” และอีกโพสต์เป็นการนำทะเบียนรถยนต์ของในหลวง ร.9 มาล้อเลียน
อนึ่ง ข้อความที่มีการส่งต่อและอ้างว่ามาจากพระราชดำรัสเรื่องน้ำครึ่งแก้วนั้น เมื่อ ก.พ. 56 โพสต์ทูเดย์ เผยแพร่คำชี้แจงจากกองข่าว สำนักราชเลขาธิการ ที่ชี้แจงผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ "Information Division of OHM" ว่า สำนักราชเลขาธิการได้เคยชี้แจงมาตั้งแต่ปี 2548 เรื่องข้อความ “36 แผนที่ชีวิตของพ่อ” ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) นั้น ไม่ใช่พระบรมราโชวาท แต่เป็นเนื้อหาจากหนังสือ Life's Little Instructions เขียนโดย H. Jackson Brown Jr. แปลเป็นภาษาไทยมาตั้งแต่ปี 2539 และมีการพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง ครั้งแรกใช้ชื่อภาษาไทยว่า “481 ข้อคิดเพื่อชีวิตที่มีสุข” เท่านั้น
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา หน่วยงานราชการ เอกชน สถานศึกษา และห้างร้านต่างๆ มีการจัดทำเอกสาร แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ และสื่ออื่นๆ เพื่อเผยแพร่ข้อความ “36 แผนที่ชีวิตของพ่อ” กันอย่างต่อเนื่อง กองข่าว สำนักราชเลขาธิการฯ ยังระบุด้วยว่าเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดให้แก่ประชาชน พร้อมขอความร่วมมือช่วยชี้แจงข้อเท็จจริงให้ได้รับทราบกันอย่างทั่วถึงด้วย
นทีเคยเล่าว่าเขามีอาการไบโพลาร์ โดยนทีบอกว่าปกติตัวเองเป็นคนปกติ แต่เมื่อเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต จะมีสัญญาณเน็ตมาต่อเชื่อมกับระบบประสาททำให้มีความรู้สึกโกรธมากและควบคุมตัวไม่ได้ จึงโพสต์ข้อความต่างๆลงไป และจากนั้นเมื่ออาการโกรธคลายลง ก็จะไล่ลบข้อความที่ตัวเองได้โพสต์ไป
นทีเล่าอีกว่าพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่นทีอายุ 13 ปี เขาอาศัยอยู่กับพ่อจนอายุ 26 ปี เมื่อโพสต์ข้อความที่เป็นปัญหาดังกล่าว จึงต้องออกจากบ้านเนื่องจากมีญาติที่เป็นนายทหารส่งข่าวมาว่าถูกออกหมายจับ จึงย้ายออกมาเช่าบ้านอยู่ข้างนอกจนกระทั่งถูกจับได้ในที่สุด
เอกสารคำพิพากษาระบุว่า จำเลย (นที) ได้นำสืบว่าได้โพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวจริง แต่ขณะที่โพสต์ จำเลยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวผิดกฎหมาย จำเลยเป็นผู้ทำแบบสอบถามเปรียญธรรม 10 ประโยคลงในเว็บไซต์เด็กดี เนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าตนเป็นพระพุทธเจ้า และคิดว่ามนุษย์ต่างดาวมาสวมร่างของจำเลย
หลังโพสต์ภาพและข้อความที่ถูกดำเนินคดี มีผู้ส่งภาพหมายจับมายังเฟสบุ๊คของจำเลย จึงเกิดความกลัวและหนีออกจากบ้าน ต่อมาถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งเมื่อถูกดำเนินคดีต่อศาล ระหว่างการดำเนินคดี จำเลยก็ได้พบแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โรงพยาบาล วิชัยยุทธ และโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แพทย์ให้ความเห็นว่าจำเลยเป็นโรคจิตเภท
พญ.ชูนุช เจริญพร และ นพ.วิญญู ชะนะกุล แพทย์ด้านจิตเวช เบิกความว่าอาการจำเลยเป็นอาการผู้เป็นโรคจิตเภท ซึ่งรักษาหายขาดได้ยาก อนึ่ง ผู้เป็นบิดาจำเลยก็ได้เบิกความ เห็นว่าจำเลยมีความคิดผิดปกติเมื่อปี 2558 เช่น หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยกรุงเทพการบัญชี ไปสมัครงานหลายที่แต่ไม่ผ่านการทดลองงานเนื่องจากมีอาการผิดปกติทางสมอง เข้าใจว่าตนเองอยู่เหนือพระศาสดา เป็นพระอรหันต์ จึงพาจำเลยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเดชาก่อนจะเกิดการกระทำความผิดในคดี
บิดาของจำเลยเบิกความอีกว่า นทีได้เข้ารักษาตัวตลอดเวลาทั้งในก่อน ขณะ และหลังกระทำความผิด โดยต้องกินยาตลอด โดยอาการก็ไม่ทุเลา และอาการดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนเกิดเหตุและเป็นต่อเนื่องกันมาตลอดหลายปี
ศาลมีความเห็นว่า การโพสต์ภาพดังกล่าวของจำเลย ไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นจะมีเหตุการณ์ไม่สงบ คงมีเพียงผู้แสดงความคิดเห็นไม่พอใจในทางลบกับจำเลยว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและตำหนิจำเลยเท่านั้น นอกจากนั้น การนำสืบของโจทก์ไม่ได้ทำให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล หรือมีการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอจะฟังและลงโทษตาม ม.116
แต่การที่จำเลยลงข้อความและภาพเข้าสู่ระบบอันมีลักษณะบิดเบือนหรือเป็นเท็จ การโพสต์ในลักษณะที่เป็นสาธารณะ น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักที่ประชาชนเคารพและนับถืออย่างสูง ซึ่งมีลักษณะของความมั่นคงแห่งรัฐ ย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (3) (5) วรรคหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์อาการป่วย ของจำเลยก่อน ขณะ และหลังกระทำความผิด น่าเชื่อว่าสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง จำเลยต้องรับโทษสำหรับความผิด แต่เห็นสมควรลดโทษให้ตามพฤติการณ์แห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.65 วรรคสอง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.65 วรรคสอง จำคุก 3 ปี จำเลยให้การชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา ม.78 คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
...
ประเทศกะลาครอบ ใครจะภูมิใจที่เกิดมาในประเทศนี้ก็ภูมิใจไปเถอะ แต่ไม่ใช่กูคนหนึ่ง
มิตรท่านหนึ่ง