
นรเศรษฐ์ นาหนองตูม
12 hours ago
·
ข้อถกเถียงทางกฎหมาย มาตรา 112 :
คุ้มครอง "อดีตพระมหากษัตริย์" หรือไม่?
.
คดีนี้ศาลวินิจฉัยทำนองว่า "มาตรา 112 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ การกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดต่อพระมหากษัตริย์องค์ก่อนเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว"
ทำให้เกิดคำถามสำคัญทางกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครองถึงพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วหรือไม่?
ในทางวิชาการ มีมุมมองที่น่าสนใจจากนักวิชาการชั้นครูหลายท่าน
อาจารย์หยุด แสงอุทัย ซึ่งได้อธิบายมาตรา 98 แห่งกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 (ซึ่งเป็นมาตราที่มาก่อนมาตรา 112) ไว้ในหนังสือ "ความผิดที่กระทำทางวาจา" ชี้ชัดว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย พระองค์ปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญและที่ยังดำรงอยู่ในราชสมบัติ ไม่ใช่ที่สวรรคต หรือสละราชสมบัติไปแล้ว"
อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ และ อาจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ก็อธิบายมาตรา 112 ในทำนองเดียวกันว่า "พระมหากษัตริย์ หมายถึง องค์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชบัลลังก์แล้ว หรือพระมหากษัตริย์ในอดีต" พร้อมให้เหตุผลว่า "หาไม่แล้วก็จะทำให้ความผิดฐานนี้หาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดมิได้"
อาจารย์สาวตรี สุขศรี อธิบายว่า บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 หมายถึง เฉพาะผู้ที่มีสภาพบุคคลและดำรงตำแหน่ง 4 ตำแหน่ง (พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ในเวลาที่กฎหมายบังคับใช้อยู่เท่านั้น
นอกจากนี้ อาจารย์สาวตรียังให้เหตุผลเสริมว่า ความผิดอื่น ๆ ในหมวดเดียวกัน (มาตรา 107-110) ล้วนหมายถึงความผิดที่เกิดขึ้นกับพระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่เท่านั้น ซึ่งภายใต้หลักการตีความกฎหมายอย่างมีเอกภาพ มาตรา 112 ย่อมไม่อาจถูกตีความให้แตกต่างไปจากบทบัญญัติอื่นในหมวดเดียวกันได้
เมื่อพิจารณาตามแนวคำอธิบายของครูบาอาจารย์กฎหมายอาญาระดับแนวหน้าของประเทศ จึงเห็นได้ว่ามาตรา 112 น่าจะคุ้มครองเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์ชีพและครองราชย์อยู่เท่านั้น ไม่น่าจะหมายความรวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ในอดีตด้วย กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่ออดีตพระมหากษัตริย์ จึงไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายมาตรา 112
ความขัดแย้งระหว่าง "ตำราวิชาการ" กับ "คำพิพากษาศาลฎีกา"
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายบางท่านอาจอ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556 ที่ระบุว่า "เมื่อกฎหมายมิได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงมีความผิดตามมาตรา 112 แม้กระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้วก็ตาม"
ซึ่งสร้างประเด็นความน่าสนใจต่อประชาชนและนักกฎหมายว่า
เรื่องดังกล่าวควรจะต้องตีความบังคับใช้อย่างไร
ระหว่าง การอ้างอิงตามหลักทฤษฎีทางกฎหมาย กับ
แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
ส่วนตัวมองว่าการตีความกฎหมายอาญาต้อง "เคร่งครัด" และ "มีขอบเขต"
เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล การตีความกฎหมายอาญาจึงต้องเป็นไปอย่าง เคร่งครัด ตามหลัก "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ หากไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้" (Nullum crimen, nulla poena sine lege) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ได้รับการรับรองในระดับสากลและรัฐธรรมนูญไทย รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2
เมื่อมาตรา 112 ระบุเพียงคำว่า "พระมหากษัตริย์" ซึ่งตามรัฐธรรมนูญทรงเป็นประมุขของรัฐ การตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงน่าจะหมายถึงเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์ชีพ ครองราชย์ และเป็นประมุขของรัฐเท่านั้น ไม่สามารถตีความขยายไปถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วได้ เพราะพระองค์มิได้อยู่ในฐานะประมุขของรัฐแล้ว
หากตีความมาตรา 112 ให้ครอบคลุม "อดีตพระมหากษัตริย์" ย่อมเกิดความไม่ชัดเจนในองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายและสร้างความปั่นป่วนในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เช่น กรณีการเขียนตำราประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงอดีตพระมหากษัตริย์ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ อาจนำไปสู่การดำเนินคดีได้ เช่น คนที่เขียนตำราทำนองว่า พระเจ้าตากสินทรงสติวิปลาส ก่อนจะถูกทุบด้วยท่อนไม้จันทร์ เช่นนี้ ผู้เขียนตำราเล่มนั้น ก็อาจจะถูกดำเนินคดีและลงโทษในความผิดมาตรา 112 ได้ เพราะไปกล่าวหาพระเจ้าตากสินซึ่งเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ว่าทรงสติวิปลาส
.
นอกจากนี้ มาตรา 112 ยังคุ้มครองบุคคล 4 ตำแหน่ง หากตีความว่าคุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์ ก็จะเกิดคำถามว่าคุ้มครองอดีตพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่สวรรคต/เสียชีวิตไปแล้วด้วยหรือไม่
หากไม่คุ้มครองก็จะเป็นการตีความที่แปลกแยกในบทบัญญัติเดียวกัน
แต่หากคุ้มครองทั้งหมด ก็จะเกิดปัญหาการบังคับใช้ที่กว้างขวางเกินขอบเขต เช่น หากมีการใส่ความใส่ร้ายอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนองค์ไปในทางเสียหาย เช่นนี้ ผู้กระทำก็อาจจะถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้เช่นกัน
.
ความเห็นส่วนตัวผมจึงมองว่ามาตรา 112 มุ่งคุ้มครององค์พระมหากษัตรยิ์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่รวมถึงอดีตพระมหากษัตรยิ์ด้วย
.
ผมเข้าใจว่าหลายท่านอาจไม่เห็นด้วยและมองว่าการกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องไม่บังควรอย่างยิ่ง ซึ่งผมเคารพมุมมองนั้น แต่สิ่งที่เราต้องแยกให้ชัดเจนคือ การกระทำใด ๆ "สมควร" หรือไม่ กับ "ผิดกฎหมาย" หรือไม่ เป็นคนละส่วนกัน หากไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด ก็ไม่ควรมีการลงโทษ หากเห็นว่าการกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ควรเป็นความผิดตามกฎหมาย ก็ควรดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ไม่ใช่ตีความขยายความเพื่อลงโทษบุคคล ซึ่งผมเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับหลักการสากล
เราทุกคนควรช่วยกัน ยืนยันในหลักการทางกฎหมายที่ถูกต้องและเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาศัยเพียง "ความจงรักภักดี" มาเป็นข้ออ้างในการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางเกินขอบเขต
การตีความที่บิดเบือนไปจากหลักการ อาจนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจ สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในระยะยาวได้ การยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างแท้จริงจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
#มาตรา112 #กฎหมายอาญา #หลักนิติธรรม
https://www.facebook.com/photo?fbid=23908286918837978&set=a.100699506690053
.....
Pipob Udomittipong
13 hours ago
·
ศาลบอกว่า “มาตรา 112 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ การกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดต่อพระมหากษัตริย์องค์ก่อนเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว”
ในภาษาอังกฤษ เราแปลมาตรา 112 ว่า “Whoever defames, insults, or threatens the King, the Queen, the Heir-apparent, or the Regent,...” มันไม่ชัดเจนหรอกหรือว่าเป็นการคุ้มครองเฉพาะ “The (reigning) King”? ถ้าจะคุ้มครองแบบครอบจักรวาล ควรแปลว่า “Kings, Queens, Heirs-apparent, or Regents” สิ จริงมั้ย? ไปบอกกฤษฎีกาให้แก้คำแปลด่วนครับ อายชาวโลก