วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2567

นับ 1 ถึง 44 เขตทางทะเล ไทย-กัมพูชา ท่านเคยฉุกคิดไหมว่า ทำไมเขตทางทะเลมันถึงมีหลายเส้น ทำไมไม่ขีดเส้นเดียวให้มันจบๆ ไป เหมือนเส้นเขตแดนทางบก ???

Akkharaphong Khamkhun
1d ·

นับ 1 ถึง 44 เขตทางทะเล ไทย-กัมพูชา
ท่านเคยฉุกคิดไหมครับว่า ทำไมเขตทางทะเลมันถึงมีหลายเส้น ทำไมไม่ขีดเส้นเดียวให้มันจบๆ ไป เหมือนเส้นเขตแดนทางบก ???
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล กำหนดเอาไว้ว่า เขตทางทะเล Maritime Zone มีทังหมด 6 เส้น/ลักษณะ มันไม่ได้มีแต่เฉพาะเส้น ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea)
เนื่องจากพื้นที่ในทะเล นั้น “อำนาจอธิปไตยของรัฐจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามระยะทางที่ไกลออกไปจากชายฝั่ง” หรือ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ รัฐไม่ได้มีอำนาจเต็มร้อยในแต่ละเส้นของเขตทางทะเล
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนที่แล่นเรือในทะเลเขารู้กันทั่วทั้งนั้นแหละครับว่า เส้นไหนเป็นเส้นไหน เขาจะไปไหนมาไหน เขาระแวดระวังกันอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงครับ
คำว่า เขตทางทะเล Maritime Zone ไม่ใช่ เส้นเขตแดนทางทะเล Sea Boundary Line เพราะเราจะไม่เดินลงไปปักปันเส้นเขตแดน หรือ เราจะไม่ขีดเส้นอาณาเขตในท้องทะเล ไม่เหมือนกับเขตแดนทางบก Land Boundary แต่ในทางกฎหมายทะเลทั้ง ฉบับปี 1958 และ UNCLOS 1982 กำหนดให้ รัฐต้องกำหนดเส้น/ขีดเส้น “ฐาน Baseline” ซึ่งคนเดินเรือเขาก็รู้ด้วยว่าอยู่ตรงๆ ไหน เกือบทุกประเทศในโลกมีการประกาศเส้นฐาน จะเป็นเส้นฐานปรกติ เส้นฐานตรง หรือ เส้นฐานตรงหมู่เกาะ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ของชายฝั่งและหมู่เกาะที่จะเอื้ออำนวยให้ขีดได้ และส่วนมากก็ขีดให้ตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะขีดได้
ดังนั้น ถ้านับ 1 ด้วยความเข้าใจแบบนี้ก่อน เส้นอื่นค่อยว่ากันต่อไป
เมื่อเรารู้จักกันไปแล้ว 1 เส้น คือ เส้นฐาน ดังนั้น ขอให้ทุกท่านนับ 1 จากเส้นนี้ วัดเข้ามาจาก เส้นฐาน ถึงฝั่งแผ่นดินเรียกว่า 1.น่านน้ำภายใน (Internal Water) แต่ถ้าวัดห่างออกไปจากเส้นฐานเป็นระยะ 12 ไมล์ทะเล เรียกว่า 2.ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) เขตทางทะเลใน 2 ส่วนนี้ เรามีอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) สมบูรณ์เต็มที่ ใครบุกรุกล้ำก้ำเกินเข้ามาโดยไม่สุจริต ไม่ว่าจะลอยมาบนผิวน้ำ จะถลามาบนอากาศ หรือ จะดำน้ำมุดเข้ามา ฝ่ายเราก็สามารถยิงได้เลย เราไม่ได้ทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ โลกไม่ติเตียน ไม่ต้องกลัวหากต้องไปขึ้นศาล จบนะ
เส้นต่อมา คือ วัดต่อไปจากจุดสุดท้ายของทะเลอาณาเขตออกไปอีก 12 ไมล์ทะเล เรียกว่า 3.เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone) ซึ่งตามกฎหมายทะเลกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า รัฐชายฝั่งมีเฉพาะสิทธิอธิปไตย (Sovereign Rights) หมายถึง ทำได้แค่ป้องกันและลงโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การเข้าเมือง หรือ การสุขาภิบาล เท่านั้น ย้ำว่า ทำได้เพียงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราสงสัยว่ามีเรือลำหนึ่งขนแรงงานเถื่อนหรือขนของหนีภาษีเข้ามาในน่านน้ำไทย เราจะไปจับเรือลำนั้นสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เราต้องเช็ค GPS ให้แน่ใจก่อนว่า เรือลำนี้อยู่ภายในระยะ 24 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานของประเทศไทยหรือไม่ เพราะถ้าเกิดไปจับเขาแล้วส่งเรื่องขึ้นฟ้องศาล สุดท้ายปรากฏว่า มีหลักฐานแน่ชัดพิสูจน์ได้ว่าเรือลำนี้ไม่ได้อยู่ภายในระยะ 24 ไมล์ทะเลตามที่กฎหมายทะเลกำหนดเอาไว้ ฝ่ายเราจะต้องปล่อยเขาไปและยังอาจจะถูกฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้ด้วย
เส้นต่อมาคือ 4. เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ให้วัดจากเส้นฐานออกไปได้ไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล (เส้นนี้ไม่มีในกฎหมายทะเลปี 1958) แต่ในกฎหมายทะเลปี 1982 ยิ่งลดความสำคัญของอำนาจรัฐลงอีก เพราะทำได้แค่ สำรวจ Exploration แสวงประโยชน์ Exploitation อนุรักษ์ Conservation จัดการ Management ทรัพยากรในพื้นดินท้องทะเล sea-bed ดินใต้ผิวดิน subsoil ห้วงน้ำ water และแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พัฒนาพลังงานน้ำ/ลม ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต สามารถสร้าง/อนุญาตให้สร้างสิ่งก่อสร้าง/เกาะ(เทียม) ทำการวิจัยค้นคว้าคุ้มครอง สงวนรักษาสิ่งแวดล้อม และออกกฎหมายควบคุมได้ ลองอ่านรายละเอียดดูในกฎหมาย ผมแปะลิงค์ไว้ให้แล้ว เราทำได้เท่านั้นจริงๆ จะไปยิงหรือจะไปจมเรือเขานี่ โดนฟ้องแน่ๆ อันนี้โลกติเตียน
เส้นต่อมา คือ 5. เส้นไหล่ทวีป (Continental Shelf) ซึ่งเป็นเรื่องของพื้นดินท้องทะเล (seabed) และดินใต้ผิวดิน (subsoil) ของบริเวณใต้ทะเล กฎหมายกำหนดไว้ว่า เราทำได้แต่เพียงแสวงประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นดิน/ดินใต้ผิวดิน และเราต้องยินยอมให้มีการวาง/บำรุงรักษาสายหรือท่อใต้น้ำของรัฐชายฝั่งอื่นด้วย แค่นั้นเลย ไม่ได้ให้ทำอย่างอื่นเลย เราไม่มีอำนาจเหมือน 4 เส้นแรก ครับ และยิ่งเส้นสุดท้ายคือ 6.ทะเลหลวง (High Sea) อันนี้ไม่ต้องพูดถึง ตัวใครตัวมัน
อ่านมาถึงตอนนี้ คงจะพอเข้าใจแล้วว่าทำไม ทะเล ถึงมีเส้นเยอะจัง มีตั้ง 6 เส้น/ลักษณะ และอาณาเขตของแต่ละเส้นก็มีอำนาจหน้าที่ต่างกันตามที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายทะเล ซึ่งในปัจจุบัน ถ้าเกิดข้อพิพาทถึงขนาดต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเราก็จะใช้ UNCLOS 1982 เป็นหลัก
ทีนี้มานับต่อไปให้ถึง 44 กัน ครับ!!!
MOU 44 หรือชื่อเต็มๆ ในภาษาอังกฤษ คือ Memorandum of Understanding between the Royal Thai Government and the Royal Government of Cambodia regarding the Area of their Overlapping Maritime Claims to the Continental Shelf หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน โปรดอ่านใหม่อีก 3 รอบ เขาคุยกันเรื่องอะไรครับ??? ใช่แล้ว ไหล่ทวีป ไหล่ทวีป ไหล่ทวีป ครับ แล้วทีนี้กลับไปอ่านตั้งแต่เริ่มบทความนี้ คำว่า ไหล่ทวีป ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เขาอนุญาตให้รัฐชายฝั่งทำอะไรได้บ้างครับ อ่านอีกทีนะครับ!!!
บันทึกความเข้าใจนี้ ลงนามกันไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โดยมีเนื้อหาว่า ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงบนพื้นฐานที่ยอมรับได้ร่วมกันในการแสวงประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน โดยให้ จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมตามเอกสารแนบท้าย และ ยังกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายตกลงแบ่งเขตร่วมกันในทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในข้อ 5 ก็ได้กำหนดไว้ชัดว่า “ภายใต้เงื่อนไขการมีผลใช้บังคับของการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้สำสัญญา” หมายความว่า ถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงระหว่างนี้ ก็ให้ถือว่า MOU 44 นี้จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิ์ของทั้งสองฝ่าย
คำถาม คือ แล้วตัวเอกสารแนบท้ายที่หลายคนกังวลว่า มีการขีดเส้นไปคร่อม/อ้อมเกาะกูด จะทำให้เราเสียดินแดนหรือไม่
ขอตอบว่า ไม่เกี่ยวกัน ไม่เกี่ยวกัน ไม่เกี่ยวกัน
เพราะเส้นนั้น คือ เส้นไหล่ทวีป ของกัมพูชาที่ขีดขึ้นในปี พ.ศ.2515/ค.ศ.1972 (No.439-72/PRK) ซึ่งมีสิทธิ์ทำได้แค่ไม่กี่อย่าง ส่วนฝ่ายไทยเอง เราก็มีการประกาศเส้นฐานที่ชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ.2513/ค.ศ.1970 (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 87 ตอนที่ 52/12 มิถุนายน 2513) ซึ่งการประกาศ เส้นฐาน มีความหมายว่า วัดจากจุดนี้ออกไปเป็นระยะ 12 ไมล์ทะเล นั่นคือ อำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ในพื้นที่ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) ทั้งบนผิวน้ำ ใต้น้ำ และในอากาศ ล้วนเป็นอำนาจเต็มของเรา ในทำนองเดียวกัน เส้นไหล่ทวีปที่เราประกาศในปี พ.ศ.2516/ค.ศ.1973 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 90 ตอนที่ 60/1 มิถุนายน 2516) ก็ทำได้แค่ไม่กี่อย่าง จะไปยิงกันก็ไม่ได้ครับ
สรุปว่า รัฐมีอำนาจอธิปไตยในพื้นที่ ทะเลอาณาเขต มากกว่าในพื้นที่ ไหล่ทวีป จบนะครับ จะไปกังวลอะไรครับ ถ้าอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปทับซ้อน แต่มาทับซ้อนกับทะเลอาณาเขตของเรา เราก็ทำหน้าที่ไปตามกฎหมายระหว่างประเทศครับ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนเดินเรือ คนทะเลเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไรครับ ที่สำคัญ ใน MOU 44 เขาไม่ได้ให้ทั้งสองฝ่ายมาตกลงกันว่าจะขุดเจาะหาปิโตรเลียมในพื้นที่บริเวณนี้เลย เขาแยกพื้นที่บริเวณนี้เอาไว้สำหรับตกลงกันเรื่อง เขตทางทะเล ครับ อ่านดีๆ อ่านใหม่ อ่านช้าๆ จะได้ไม่ทะเลาะกันครับผม
เอวังก็ขอจบลงเพียงเท่านี้!!! มีอะไรก็ส่งข้อความมาถามกันได้ akhamkhun@gmail.com

(https://www.facebook.com/photo/?fbid=10229084450276091&set=a.1485379174635)