“This is happening, all of a sudden!” ผู้ประกาศข่าว ‘นิวสแม็กซ์’ บอกกับผู้ชมทั่วประเทศเมื่อเวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง ๑๘ กรกฎา (ฝั่งตะวันตกสหรัฐ) แหล่งข่าวหลายกระแสยืนยันตรงกันว่า
“โจ ไบเด็น ยอมถอนตัวจากการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี” จู่ๆ ก็เกิดขึ้นฉับพลัน ทั้งที่ไบเด็นดึงดันต้านแรงกดดันนี้มาเกือบสองอาทิตย์
นี้เป็นผลของแรงกดดันภายในพรรคเดโมแครท โดยเฉพาะแกนนำรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น แนนซี่ เพโลซี่ อดีตประธานสภาผู้แทนฯ บารัค โอบาม่า อดีตประธานาธิบดี และ ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเดโมแครทในวุฒิสภา
ซึ่งเป็นเสียงเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากไบเด็นเพลี่ยงพล้ำไม่เป็นท่าในการโต้วาทีครั้งแรกกับ ดอแนลด์ ทรั้มพ์ ผู้เข้าชิงตำแหน่งของพรรครีพับลิกัน อันทำให้คะแนนนิยมของทรั้มพ์ตีกลับมานำไบเด็นอยู่ขณะนี้
ไบเด็นจะยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปจนหมดสมัย (เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ปีหน้า ๒๕๖๘) แต่จะไม่สนับสนุน (อย่างทางการ) ให้รองประธานาธิบดี คามาล่า แฮริส เสนอตัวเข้าชิงประธานาธิบดีแทน
หวังกันว่าไบเด็นจะรับรองการเปิดประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อเลือกนางแฮริสผู้เข้าชิงตำแหน่งคนใหม่ ซึ่งจะมีขึ้นในนครชิคาโก ข่าวระบุว่ารองประธานาธิบดีคามาล่าได้จัดเตรียมคัดสรรผู้ที่จะเข้าร่วมการชิงชัยกับเธอในตำแหน่งรองประธานาธิบดีไว้แล้ว
ผู้ที่แฮริสกำลังพิจารณาเข้าร่วมเสนอตัวเลือกตั้งคนหนึ่งคือ แอนดี เบสเชียร์ ผู้ว่าการมลรัฐเค็นทักกี้ วัย ๔๖ ปี หรือไม่ก็จะเป็นผู้ว่าการรัฐเพ็นซิลเวเนีย จอซ แชปพิโร วัย ๔๗ ปี
ส่วนผู้ที่จะเสนอตัวเข้าชิงในตำแหน่งประธานาธิบดีนอกจากรองฯ แฮริสแล้ว เชื่อว่าจะมีผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย แกรี่ นิวซอม และผู้ว่าการรัฐมิชิแกน เกร็ทเช็น วิทเมียร์ กระโดดเข้าร่วมด้วย
ในการประชุมเลือกผู้เข้าชิงประธานาธิบดีและรองฯ ตัวแทนพรรคปกติจากเขตต่างๆ (Delicates) จะออกเสียงโหวตรอบแรก ถ้ายังไม่ได้ตัวผู้ชนะขาดลอย ก็จะให้ Super delicates หรือตัวแทนพรรคที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ต่างๆ เข้ามาโหวตในรอบสอง