25/07/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ภาสกร ญี่นาง
เผยแพร่ครั้งในเว็บไซต์ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
.
ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยดำเนินมาอย่างยาวนานภายใต้นโยบายทางการทหารและการใช้อำนาจผ่านกฎอัยการศึกของหน่วยงานความมั่นคง โดยไม่มีทีท่าว่าจะมีการผ่อนปรนหรือคลี่คลายลงไปได้ มิหนำซ้ำ การดำเนินงานของฝ่ายรัฐไทยที่ทำให้เกิดเหตุ “โศกนาฏกรรมตากใบ” ได้นำพาความขัดแย้งให้เผชิญกับบาดแผลใหญ่ที่ส่งผลให้หนทางแห่งการแสวงหาสันติภาพแก่ผู้คนในพื้นที่และรัฐจำต้องตกอยู่ในวังวนความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนราวกับไร้ทางออก
เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่ความยุติธรรมที่ควรเกิดแก่ผู้เสียชีวิตและญาติเคยต้องยุติลงอย่างไม่เป็นธรรมมาก่อนหน้า ในแง่ที่ระบบกฎหมายของรัฐไทยไม่สามารถเอาผิดใด ๆ กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่จนนำไปสู่การตายของประชาชนเกือบร้อยคนได้เลย แม้จะล่วงเลยเวลามากว่า 20 ปี ดังนั้น บทความฉบับนี้ จึงมีวัตถุประสงค์ในการจะอธิบายปรากฏการณ์การลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้น พร้อมกับสำรวจร่องรอยของปฏิบัติการทางกฎหมายของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากในเมื่อปี 2547 ซึ่งสร้างสภาวะลอยนวลพ้นผิดดังกล่าวว่ามีลักษณะอย่างไร
.
กฎหมายคือเครื่องมือในการแสวงหาความยุติธรรม?
ตามมโนธรรมสำนึกของคนทั่วไป มักจะมีความคิดว่า กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่รัฐมีอยู่นั้นมีอยู่เพื่อการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมในมิติต่าง ๆ ของสังคม ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาค โดยที่หากมีผู้ใดกระทำละเมิดพรากสิทธิเสรีภาพดังกล่าวไป ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์และมีความรับผิดทางกฎหมายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายโดยมิชอบ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและความสูญเสีย กฎหมายจะต้องไม่นิ่งเฉยต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อพิทักษ์หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และรักษาความมีอารยะในสังคมไว้
อย่างนั้นก็ดี ไม่ใช่ทุกสังคม ที่สถาบันกฎหมายจะทำงานอย่างตรงไปตรงมา มุ่งเอาผิดกับผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชน ตรงกันข้าม รัฐบางรัฐที่ลักษณะของระบบความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งไม่ได้อิงอยู่กับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน แต่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสถานะทางอำนาจ ผลประโยชน์ของชนชั้นนำ มากกว่าการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ย่อมปรากฏให้เห็นถึงปฏิบัติการทางกฎหมายที่คอยทำทุกวิถีทางเพื่อคุ้มครองฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและคอยสร้างความอยุติธรรมให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งโดยไม่ขาดสาย[1]
กล่าวเฉพาะกรณีของรัฐไทย อ้างอิงจากงานศึกษาของ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ซึ่งได้เสนอให้เห็นว่า[2] รัฐสมัยของไทยนั้นได้ถูกสถาปนาโดยสถาบันแห่งการลอยนวลพ้นผิดเป็นองค์ประกอบหลัก กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายคือ โครงสร้างอำนาจของรัฐไทยนั้นมีการลอยนวลพ้นผิดดำรงอยู่เป็นเสมือนสถาบันทางการเมืองอย่างหนึ่งที่คอยค้ำจุนและขับเคลื่อนอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลัง ด้วยเหตุดังกล่าว จะพบว่า การลอยนวลพ้นผิดของฝ่ายผู้มีอำนาจ สามารถเกิดขึ้นในทุกชั่วขณะในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหารก็ตาม การลอยนวลพ้นผิดก็ย่อมติดตามและปรากฏกายออกมาให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
กล่าวให้ถึงที่สุด คือ หากต้องการจะนิยามคุณลักษณะของรัฐไทยมาสักหนึ่งประการ ไทเรล ได้ชักชวนเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้มองรัฐไทย ในฐานะที่เป็น “รัฐลอยนวล” หรือ รัฐที่ผู้มีอำนาจสามารถกระทำความรุนแรงต่อประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจการปกครองได้โดยไม่ต้องมีความรับผิดใด ๆ ทางกฎหมาย
และด้วยความเป็นรัฐลอยนวล รวมถึงโครงสร้างอำนาจรัฐที่ถูกค้ำจุนโดยสถาบันการลอยนวลพ้นผิด ฝ่ายผู้ครองอำนาจรัฐ ย่อมต้องใช้กลไกเชิงสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันทางกฎหมายให้ดำเนินงานไปในทางที่คอยทำให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดขึ้น ไม่ใช่การแสวงหาความยุติธรรมแต่อย่างใด ระบบกฎหมายของรัฐไทยจึงตกกลายเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐไทย ในการบิดเบือน กลบเกลื่อน ซ่อนเร้น และให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงโดยรัฐ
ปฏิบัติการทางกฎหมายที่มีส่วนร่วมกับความรุนแรงโดยการปกป้องผู้กระทำให้ลอยนวลพ้นผิด ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่น ในประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516[3] 6 ตุลาคม 2519[4] เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535[5] และเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553[6] ซึ่งล้วนพบว่า ไม่มีผู้กระทำความรุนแรงหรือผู้สั่งการใด ๆ ได้รับการลงโทษและความรับผิดทางกฎหมาย ด้วยผลของกฎหมายนิรโทษกรรม และกลไกขององค์กรอิสระที่ขาดความยึดโยงกับประชาชนอันได้เข้าไปรับรองให้ผลของกฎหมายนิรโทษกรรมและการกระทำใด ๆ ที่นำไปสู่ความรุนแรงต่อประชาชนของผู้มีอำนาจ ณ ขณะนั้น มีความชอบธรรมอย่างแยบยล[7]
กรอบคิดว่าด้วยระบบกฎหมายในรัฐลอยนวลดังกล่าว อาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์ ซึ่งรวมถึงเหตุโศกนาฏกรรมตากใบ ทั้งนี้ เพื่อเผยให้เห็นความอัปลักษณ์ของระบบกฎหมายไทยที่ทำงานกลับหัวกลับหาง แทนที่จะมุ่งลงโทษกับผู้ละเมิดสิทธิมนุษชน แต่กลับทำตรงกันข้ามด้วยการปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความผิด
.
(ภาพจาก Benar News)
.
ทบทวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์วันนั้น
เหตุการณ์ตากใบ เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสร้างบาดแผลและรอยร้าวขนาดใหญ่ในความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ รวมทั้งยังถือเป็นอดีตอันเลวร้ายที่คอยตามหลอกหลอนทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ต้องพยายามปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ และหลอกหลอนญาติผู้เสียชีวิตที่ยังคงเฝ้ารอความยุติธรรมที่ไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน
ย้อนทบทวนข้อเท็จจริงในอดีต เหตุโศกนาฏกรรมตากใบเกิดขึ้นระหว่างที่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศขยายการใช้กฎอัยการศึกจากเดิมที่มีประกาศอยู่แล้วในบางพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ในเดือนมกราคม 2547 ซึ่งได้สร้างพื้นที่การให้อำนาจพิเศษแก่หน่วยงานความมั่นคงอย่างเข้มข้น การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ได้รับการยกเว้นในแง่การต้องกระทำตามหลักกระบวนการอันชอบธรรม (due process) ให้สามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่บนข้ออ้างเรื่องความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงและบูรณภาพแห่งดินแดน[8] ขณะเดียวกัน สิทธิเสรีภาพของประชาชนกลับได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างจำกัด กลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีอยู่ต้องเผชิญกับความชะงักงันมาตลอด 20 ปี
การประกาศกฎอัยการศึก นับเป็นปัจจัยเชิงพื้นที่และการสร้างบรรยากาศแห่งสภาวะยกเว้น ให้อำนาจรัฐในลักษณะวิปริตสามารถปรากฏให้เห็นได้ทุกขณะ
รายละเอียดในเหตุความรุนแรง[9] เริ่มต้นจากกรณีที่มีประชาชนกว่า 200 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ออกมารวมตัวชุมนุมกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. บ้านโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน ซึ่งถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้ไป 6 กระบอก แต่กลับถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบและแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ชนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ สืบเนื่องมากจากเหตุการณ์ที่เมื่อต้นปี 2547 ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ถูกกลุ่มบุคคลเข้ามาปล้นอาวุธปืนไปจำนวน 300 – 400 กระบอก แต่เวลานั้นกลับไม่มีการดำเนินการเอาผิดใด ๆ กับเจ้าหน้าที่ทหารที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ขณะที่พอเป็นฝ่าย ชรบ. ถูกปล้นปืน พวกเขากลับต้องถูกควบคุมตัวโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ยิ่งเวลาผ่านไป ประชาชนยิ่งเข้ามาสมทบการชุมนุมเพิ่มขึ้นจนจำนวนราว 2,000 คน เมื่อการชุมนุมส่อเค้าอาจจะเกิดการใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปยังสถานีตำรวจ พลโทพิศาล รัตนวงคีรี แม่ทัพภาคที่ 4 จึงสั่งการให้สลายการชุมนุมโดยฉีดน้ำและโยนระเบิดแก๊สน้ำตาจนสองฝ่ายปะทะกัน
เหตุโศกนาฏกรรมตากใบจึงอาจหมายถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเหตุการณ์พบว่า มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 6 คนทันทีที่มีการปะทะ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน และมีถูกจับกุมประมาณ 1,300 คน ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ซึ่งคนจำนวนมากถูกทุบตี ในจำนวนคนที่ถูกจับกุมมีคนอย่างน้อยอีก 79 คนเสียชีวิต[10] การชันสูตรพบว่าเกิดจากการหายใจไม่ออก หมดสติกระทันหันจากความร้อน และการชัก ซึ่งน่าจะเกิดจากสภาพที่แออัดเกินไประหว่างการเดินทางและอยู่ในรถบรรทุกทหารกว่า 6 ชั่วโมงและจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม รวมแล้วเสียชีวิต 85 คน คนที่เหลือส่วนใหญ่หลังถูกสอบสวนแล้วก็ถูกปล่อยโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่มี 58 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ารวมตัวชุมนุมโดยผิดกฎหมาย
.
(ภาพจาก AFP)
.
กระบวนการอยุติธรรมโดยกลไกกฎหมาย
นอกเหนือจากปัจจัยเกี่ยวกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ที่สร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาแล้วระดับหนึ่ง แต่เนื่องด้วยการลอยนวลพ้นผิดที่ดำรงอยู่เป็นสถาบันการเมืองที่ยึดโยงโครงข่ายอำนาจรัฐไทยไว้ด้วยกันแล้ว รัฐไทยจำเป็นต้องอาศัยกลไกจากระบบกฎหมายมาเพื่อให้การลอยนวลพ้นผิดปรากฏขึ้นอย่างสิ้นเชิง เพื่อป้องกันการโต้แย้งและการขุดคุ้ยเรื่องราวมาเป็นคดีความในภายภาคหน้า อันอาจกระทบต่อสถาบันลอยนวลและความเป็นรัฐไทยทั้งหมด กระบวนการอยุติธรรมโดยอาศัยกลไกทางกฎหมายเพื่อปกป้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เริ่มต้นด้วยการไต่สวนการตายระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องดำเนินไปภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
โดยหลักการแล้ว การไต่สวนการตาย คือ[11] กระบวนการที่มีขึ้นเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตโดยเจ้าพนักงานหรือเสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงาน กระบวนการนี้จะเริ่มต้นด้วยอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ให้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าไต่สวนและเรียกพยานหลักฐานต่าง ๆ เข้าประกอบการพิจารณา เพื่อให้ศาลออกคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร สาเหตุและพฤติการณ์ของการตายเป็นอย่างไร ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้ระบุว่าใครเป็นผู้ทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ แล้วจึงจะส่งสำนวนการไต่สวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินไปตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งการไต่สวนการตายจะดำเนินขึ้นหลังจากที่ได้มีการชันสูตรพลิกศพที่ดำเนินโดยการทำงานร่วมกันของแพทย์นิติเวช อัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง และพนักงานสอบสวน เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ตายเป็นใคร และหาสาเหตุของการตายมาแล้วก่อนหน้า แต่การชันสูตรพลิกศพจะเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนและแพทย์เป็นหลัก
ความสำคัญของการไต่สวนการตาย จึงหมายถึง การตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติ เพื่อจะกำหนดทิศทางของการดำเนินคดีภายหลังจากนี้ต่อไป เช่น หากการไต่สวนการตาย พบว่า ความตายมาจากการกระทำโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนตามหลักกฎหมายทั่วไป ผลของคดีอาจจบลงด้วยการที่เจ้าพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จนคดีเป็นอันยุติลง ในทางกลับกัน หากการไต่สวน สรุปข้อเท็จจริงได้ว่าความตายเกิดจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ก็จะทำความเห็นสั่งฟ้องต่อศาล เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความตายที่เกิดขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ดี ในกระบวนการไต่สวนการตายเกี่ยวกับเหตุโศกนาฏกรรมตากใบมีปัญหาสำคัญ ทำให้การดำเนินกระบวนการยุติธรรมเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจนเป็นเหตุให้ต้องมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากต้องถึงทางตัน กล่าวคือ วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งไต่สวนการตาย[12] โดยได้สืบทราบข้อเท็จจริงว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลา 8 นาฬิกา มีประชาชนกว่าหนึ่งพันคนไปชุมชนเรียกร้องที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เรียกร้องให้ทางราชการปล่อยตัว นายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จ ยักยอกทรัพย์ … การเจรจาไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่าทางราชการไม่อาจปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้ เนื่องจากนายกามา กับพวกถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำนราธิวาส กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอมกลับโห่ร้องขับไล่และพยายามผลักแผงเหล็กกั้น บุกเข้าไปในสถานีตำรวจภูธรตากใบ พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2547 มีคำสั่งให้สลายการชุมนุม และควบคุมตัวผู้ร่วมชุมนุมชาย นำขึ้นรถยนต์บรรทุกทหารไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คนถึงแก่ความตาย แพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วพบว่า ผู้ตายทั้งหมดถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุขาดอากาศหายใจ
ปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อรูปคดี ได้แก่ กรณีที่ศาลสรุปข้อเท็จจริงว่า ผู้ชุมนุมไม่มีทีท่าว่าจะสลายการชุมนุมและจะบุกเข้าไปยังสถานีตำรวจตากใบ พร้อมพยายามรับรองว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอน มีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ตามลำดับบังคับบัญชา และการมีคำสั่งห้ามใช้อาวุธกับผู้ร่วมชุมนุมโดยเด็ดขาด แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ยังคงเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่า มีการมอบหมายคำสั่งจริงหรือไม่ หรือมีคำสั่งเรื่องการไม่ให้ใช้อาวุธอย่างชัดเจนหรือไม่ เนื่องจากปรากฏผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง ที่รายงานว่า มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนในที่เกิดเหตุทันที 6 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน (5 คนถูกกระสุนปืนที่บริเวณศรีษะ)[13]
ขณะเดียวกัน ในคำสั่งการไต่สวนของศาลจังหวัดสงขลา ยังสรุปข้อเท็จจริงที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรง ก่อความไม่สงบก่อน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจมีคำสั่งให้สลายการชุมนุม แต่ทว่า ความจริงอีกด้านหนึ่งที่มาจากรายงานของภาคประชาสังคม หลังจากรับฟังคำให้การจากปากชาวบ้าน พบว่า เหตุการณ์ปะทะเริ่มต้นจากการที่เจ้าหน้าที่เริ่มฉีดน้ำจากรถดับเพลิงก่อน และการขว้างปาสิ่งของโดยฝ่ายผู้ชุมนุมจึงมีขึ้นตามมาภายหลัง และข้อสังเกตสำคัญอีกประการคือ หลังเหตุการณ์นั้นไม่ปรากฏรายงานว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการทำร้ายของผู้ชุมนุมตามที่กล่าวอ้างเลย
การสั่งเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ให้เหตุผลว่า ด้วยสภาพบริเวณที่เกิดเหตุมีพื้นที่ล่อแหลมต่ออันตรายที่เกิดขึ้น และตั้งอยู่ใกล้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทั้งยังอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศมาเลเซีย จึงต้องเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อสอบปากคำหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างว่า ได้พยายามจัดเตรียมรถบรรทุกนักเรียนศูนย์ศิลปชีพ เตรียมน้ำ อาหาร และที่พักให้กับผู้ร่วมชุมนุมตามสมควร ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง คือ ผู้ชุมนุมถูกเคลื่อนย้ายด้วยรถบรรทุกทหารอย่างแออัด ไม่มีการจัดเตรียมน้ำหรืออาหารใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า ระหว่างเดินทางเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม มีการขัดขวาง ตัดต้นไม้ปิดกั้นทาง โรยตะปูเรือใบ เผายางรถยนต์ ทำให้การเดินล่าช้านานกว่าปกติ
ความเสียหายและสูญเสีย ศาลที่ทำการไต่สวนการตาย ไม่ได้พยายามสืบหาพฤติการณ์และข้อเท็จจริงให้ปรากฏความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของเจ้าหน้าที่กับผลความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่กลับยอมรับว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามความจำเป็นบางอย่าง ทั้งนี้ ศาลได้ใช้คำว่า “เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกปัจจุบันทันด่วนในวันเกิดเหตุ กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคนซึ่งร่วมชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบอันมีพื้นที่จำกัด และบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ใกล้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประกอบกับการสลายการชุมนุมเสร็จสิ้นลงในเวลาใกล้ค่ำ … สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย …” จึงต้องเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมออกจากบริเวณที่เกิดเหตุโดยเร็ว มิฉะนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย “จึงเป็นการจำเป็นต้องรีบดำเนินการดังกล่าวในทันทีอย่างต่อเนื่อง”
และกรณีที่ผู้ชุมนุมถูกทำร้าย ศาลเชื่อว่า มาจากการกระทำของบุคคลที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการกระทำในทันทีทันใดโดยพลการ เมื่อไม่ปรากฏว่า หลังจากผู้ที่ตายทั้ง 78 คน และผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกนำส่งค่ายอิงคยุทธบริหารจนแล้วเสร็จ ได้มีการกระทำต่อผู้ตายทั้ง 78 คน หรือผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว หรือเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างอื่นกับผู้ร่วมชุมนุม กล่าวโดยสรุป ศาลสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายนั้น เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าถูกผู้อื่นกระทำการให้เสียชีวิต
ผลของกระบวนการไต่สวนดังกล่าว เปรียบเสมือนต้นสายของกระบวนการอยุติธรรมที่สถาบันทางกฎหมายตกเป็นเพียงเครื่องมือการปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชน ส่งผลให้เกิดกระแสธารแห่งความอยุติธรรมและการลอยนวลที่ภายหลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนการตาย เป็นเวลาเกือบ 20 ปีให้หลัง ปฏิบัติการทางกฎหมายในส่วนงานพนักงานสอบสวนส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดพร้อมกับมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดคนเป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่า ผู้ต้องหาทั้งแปดคนไม่ประสงค์หรือย่อมเล็งเห็นผลว่าจะมีความตายของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นในระหว่างขนย้าย”[14]
สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ในทางกฎหมายของคดีตากใบที่ดำเนินการโดยรัฐล่าช้าอย่างยิ่งและยังคงไม่สามารถเอาผิดกับใครได้เลย ในขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ฝ่ายผู้เสียหายและครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ใช้สิทธิฟ้องเองต่อศาลก่อนที่คดีจะหมดอายุความ และความคืบหน้าของคดียังคงต้องติดตามต่อไป
.
(ภาพจาก Benar News)
.
สถาบันกฎหมายกับการจงใจให้เกิดการลอยนวล
หากพิจารณาผลของกระบวนการไต่สวนการตายและการสั่งไม่ฟ้องของเจ้าพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน ในฐานะปฏิบัติการทางกฎหมายที่เข้ามาจัดการความรุนแรงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบข้างต้น จะพบถึงร่องรอยของการจงใจสร้างการลอยนวลพ้นผิดเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปรากฏอย่างชัดเจน เหตุผลสำคัญคือ หากยึดตามหลักกฎหมายอาญาและการวิเคราะห์องค์ประกอบการกระทำความผิด ย่อมระบุตัวถึงผู้กระทำความผิดและการกระทำที่ก่อให้เกิดความตายได้ไม่ยากนัก เพราะข้อเท็จจริงไม่ได้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนแต่อย่างใด
เริ่มตั้งแต่หลักเจตนา จากข้อเท็จจริง การที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมด้วยวิธีการนำผู้ชุมนุมหลายร้อยคนนอนเบียดเสียดกันภายในรถบรรทุกขนส่งทหาร แม้จะไม่ได้มีเจตนาประสงค์ให้เกิดความตายขึ้น แต่เรื่องนี้ ผู้กระทำและการกระทำในภาวะเช่นนั้น (ให้บุคคลหลายคนนอนเบียดและทับกัน) ย่อมต้องเล็งเห็นผลได้ว่า จะเกิดความเสี่ยงและเป็นการกระทำที่ทำให้มีบุคคลเสียชีวิตเนื่องมาจากขาดอากาศหายใจ
ขณะเดียวกัน ประเด็นการกล่าวอ้างถึงการกล่าวอ้างถึงการกระทำโดยป้องกัน การใช้อำนาจตามกฎหมายและการกระทำโดยจำเป็น ก็จะต้องคำนึงในเรื่องความได้สัดส่วน หรือการรักษาดุลยภาพระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลกับผลประโยชน์มหาชนของรัฐ และการมีปฏิบัติการที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยสุด แต่เมื่อเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐถึง 78 คน ทั้ง ๆ ที่การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธมาตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายเป็นความรุนแรง ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากปฏิบัติการและการควบคุมที่ไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐเอง
ที่สำคัญ ในคำสั่งไต่สวนการตาย ที่ไม่มีการระบุถึง พฤติการณ์ว่าใครทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตยังได้สร้างความกระอักกระอ่วนต่อสังคมและภาคประชาชนอย่างมาก เนื่องจากว่า ในแง่ของการพินิจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวว่า วิธีการจัดการกับผู้ชุมนุมที่ปรากฏในข้อเท็จจริงไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือเป็นสาเหตุให้เกิดความตายขึ้น การที่เมื่อเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมมาถึงที่หมายจากพื้นที่เกิดเหตุไปยังค่ายอิงยุทธบริหาร แล้วรายงานว่า ไม่ได้มีการกระทำรุนแรงหรือเหตุร้ายอะไรตามมา หาใช่สาระสำคัญไม่ เพราะความตายของผู้ชุมนุม ถือเป็นเหตุแทรกแซงที่พิจารณาได้ตามทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม ซึ่งหมายความว่า ความตายของผู้ชุมนุมกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีความสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุและผลของกันและกันตามความรู้สึกนึกคิดของวิญญูชนที่พึงคาดหมายได้ว่า ต้องมีความตายของบุคคลเกิดขึ้นเพราะขาดอากาศหายใจ จากการที่นำคนจำนวนมากยัดขึ้นรถบรรทุกจนเบียดเสียดหนาแน่เต็มความจุตลอดเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง
ถึงตรงนี้ จึงมีข้อสังเกตประการหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับคดีนี้ คือ การที่เป็นปรากฏการณ์ทางกฎหมายและสังคมซึ่งสะท้อนภาพของความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่าง “กฎหมายในตำรา” (law in book) กับ “กฎหมายในทางปฏิบัติ” (law in action) ผ่านปฏิบัติการทางกฎหมายอันไม่ชอบมาพากลที่อาจเป็นนัยยะซ่อนเร้น (hidden agenda) ทางการเมือง เช่นเดียวกับประเด็นความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมที่สำนวนการสอบสวนและคำสั่งการไต่สวนการตายถูกดองไว้นานนับ 20 ปี (25 เมษายน 2567) เพื่อจะมีการส่งสำนวนสอบสวนไปยังอัยการพร้อมความเห็นไม่สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกคน[15] (การทำความเห็นเกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายและญาติแสดงการเคลื่อนไหวว่าจะทำการฟ้องคดีด้วยตนเอง)
โดยสรุป ในแง่มุมกฎหมาย สามารถนำองค์ความรู้กฎหมายอาญาภาคทั่วไปมาตอบได้อย่างไม่เคอะเขิน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ระดับพื้นฐานสำหรับผู้เรียนนิติศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ปัญหาข้อกฎหมายในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ เป็นปัญหาที่ไม่ได้ซับซ้อนเกินกว่าจะตอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะผู้มีประสบการณ์การทำงานและได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชากฎหมายมาอย่างยาวนานเฉกเช่นพนักงานอัยการ ผู้พิพากษา และเจ้าพนักงานสอบสวน แต่ด้วยความจำเป็นต้องรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจและสถาบันการลอยนวลพ้นผิดให้ค้ำจุนความเป็นรัฐไทยที่จะมีคนเพียงหยิบมือสามารถถือครองอำนาจและแสวงหาเอาประโยชน์ทางการเมืองได้ต่อ ๆ ไป สถาบันกฎหมาย ศาล ปฏิบัติการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงต้องเข้ามาทำงานสอดคล้องรองรับกับปฏิบัติการความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผ่านการสร้างความชอบธรรม กลบเกลื่อน บิดเบือน ซ่อนเร้นการกระทำและข้อเท็จจริงไปในทางคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงให้แยบยลได้มากที่สุด
ท้ายที่สุด กระบวนการทางกฎหมายในเหตุการณ์ความรุนแรงตากใบ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกับการใช้อำนาจรัฐของรัฐไทย และแสดงให้เห็นอัปลักษณะที่ชัดเจนยิ่งของสถาบันกฎหมายไทย
.
.
อ้างอิงท้ายเรื่อง
[1] Tyrell Haberkorn, In plain sight: Impunity and Human Rights in Thailand, (Madison: The University of Wisconsin press, 2018).
[2] Tyrell Haberkorn, In plain sight: Impunity and Human Rights in Thailand, (Madison: The University of Wisconsin press, 2018), 13.
[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาสกร ญี่นาง, ความล้มเหลวบนชัยชนะ: 14 ตุลาฯ ที่ไม่ได้สถาปนาหลักนิติรัฐ, 14 ตุลาคม 2563, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/22068
[4] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาสกร ญี่นาง, ร่องรอยความหวาดกลัวและ “รู้ว่าผิด” ระหว่างการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาฯ, 5 ตุลาคม 2563, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/21875
[5] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาสกร ญี่นาง, สภาวะลอยนวลพ้นผิดในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535: การปกป้องผู้ก่อความรุนแรงโดยกฎหมาย, 17 พฤษภาคม 2564, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/29739,
[6] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาสกร ญี่นาง, กระบวนการอยุติธรรมไทย: การลอยนวลพ้นผิดโดยกฎหมายของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” กรณีสลายการชุมนุมปี 53, 19 พฤษภาคม 2564, https://tlhr2014.com/archives/29820
[7] ภาสกร ญี่นาง, “กฎหมายในความรุนแรง ความรุนแรงในกฎหมาย: การลอยนวลพ้นผิดทางกฎหมายของรัฐไทยในกรณีการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2564)
[8] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด, รัฐศาสตร์สาร, 28(3) (2550), 91-124.
[9] อาทิตย์ ทองอินทร์, 19 ปี สลายการชุมนุมตากใบ 25 ตุลาคม 2547 โศกนาฏกรรมของมลายูปตานี, 24 ตุลาคม 2566, ไทยรัฐ, https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/102294 (สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567)
[10] Amnesty International Annual Report 2005 รายงานประจำปีของแอมเนสตีอินเทอร์เนชันแนล บันทึกงานสิทธิมนุษยชนที่องค์กรดำเนินการระหว่างมกราคม-ธันวาคม 2004, 249-250.
[11] เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว ต้อง “ชันสูตรพลิกศพ” และ “ไต่สวนการตาย”, 4 พฤศิจกายน 2558, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน, https://www.ilaw.or.th/articles/16552 (สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567)
[12] คำสั่งไต่สวนการตาย ศาลจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552
[13] รายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 (ส่วนที่ 1 ภาครายงาน), หน้า 19
[14] มูฮำหมัด ดือราแม, “เผยตำรวจส่งสำนวนคดีตากใบให้อัยการแล้ว เปิดใจญาติผู้ตาย เกือบ 20 ปีก่อนคดีหมดอายุความ”, 27 เมษายน 2567, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2024/04/109009 (สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567)
[15] เรื่องเดียวกัน.
.
https://tlhr2014.com/archives/68795
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ภาสกร ญี่นาง
เผยแพร่ครั้งในเว็บไซต์ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
.
ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยดำเนินมาอย่างยาวนานภายใต้นโยบายทางการทหารและการใช้อำนาจผ่านกฎอัยการศึกของหน่วยงานความมั่นคง โดยไม่มีทีท่าว่าจะมีการผ่อนปรนหรือคลี่คลายลงไปได้ มิหนำซ้ำ การดำเนินงานของฝ่ายรัฐไทยที่ทำให้เกิดเหตุ “โศกนาฏกรรมตากใบ” ได้นำพาความขัดแย้งให้เผชิญกับบาดแผลใหญ่ที่ส่งผลให้หนทางแห่งการแสวงหาสันติภาพแก่ผู้คนในพื้นที่และรัฐจำต้องตกอยู่ในวังวนความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนราวกับไร้ทางออก
เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่ความยุติธรรมที่ควรเกิดแก่ผู้เสียชีวิตและญาติเคยต้องยุติลงอย่างไม่เป็นธรรมมาก่อนหน้า ในแง่ที่ระบบกฎหมายของรัฐไทยไม่สามารถเอาผิดใด ๆ กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่จนนำไปสู่การตายของประชาชนเกือบร้อยคนได้เลย แม้จะล่วงเลยเวลามากว่า 20 ปี ดังนั้น บทความฉบับนี้ จึงมีวัตถุประสงค์ในการจะอธิบายปรากฏการณ์การลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้น พร้อมกับสำรวจร่องรอยของปฏิบัติการทางกฎหมายของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากในเมื่อปี 2547 ซึ่งสร้างสภาวะลอยนวลพ้นผิดดังกล่าวว่ามีลักษณะอย่างไร
.
กฎหมายคือเครื่องมือในการแสวงหาความยุติธรรม?
ตามมโนธรรมสำนึกของคนทั่วไป มักจะมีความคิดว่า กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่รัฐมีอยู่นั้นมีอยู่เพื่อการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมในมิติต่าง ๆ ของสังคม ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาค โดยที่หากมีผู้ใดกระทำละเมิดพรากสิทธิเสรีภาพดังกล่าวไป ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์และมีความรับผิดทางกฎหมายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายโดยมิชอบ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและความสูญเสีย กฎหมายจะต้องไม่นิ่งเฉยต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อพิทักษ์หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และรักษาความมีอารยะในสังคมไว้
อย่างนั้นก็ดี ไม่ใช่ทุกสังคม ที่สถาบันกฎหมายจะทำงานอย่างตรงไปตรงมา มุ่งเอาผิดกับผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชน ตรงกันข้าม รัฐบางรัฐที่ลักษณะของระบบความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งไม่ได้อิงอยู่กับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน แต่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสถานะทางอำนาจ ผลประโยชน์ของชนชั้นนำ มากกว่าการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ย่อมปรากฏให้เห็นถึงปฏิบัติการทางกฎหมายที่คอยทำทุกวิถีทางเพื่อคุ้มครองฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและคอยสร้างความอยุติธรรมให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งโดยไม่ขาดสาย[1]
กล่าวเฉพาะกรณีของรัฐไทย อ้างอิงจากงานศึกษาของ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ซึ่งได้เสนอให้เห็นว่า[2] รัฐสมัยของไทยนั้นได้ถูกสถาปนาโดยสถาบันแห่งการลอยนวลพ้นผิดเป็นองค์ประกอบหลัก กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายคือ โครงสร้างอำนาจของรัฐไทยนั้นมีการลอยนวลพ้นผิดดำรงอยู่เป็นเสมือนสถาบันทางการเมืองอย่างหนึ่งที่คอยค้ำจุนและขับเคลื่อนอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลัง ด้วยเหตุดังกล่าว จะพบว่า การลอยนวลพ้นผิดของฝ่ายผู้มีอำนาจ สามารถเกิดขึ้นในทุกชั่วขณะในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหารก็ตาม การลอยนวลพ้นผิดก็ย่อมติดตามและปรากฏกายออกมาให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
กล่าวให้ถึงที่สุด คือ หากต้องการจะนิยามคุณลักษณะของรัฐไทยมาสักหนึ่งประการ ไทเรล ได้ชักชวนเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้มองรัฐไทย ในฐานะที่เป็น “รัฐลอยนวล” หรือ รัฐที่ผู้มีอำนาจสามารถกระทำความรุนแรงต่อประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจการปกครองได้โดยไม่ต้องมีความรับผิดใด ๆ ทางกฎหมาย
และด้วยความเป็นรัฐลอยนวล รวมถึงโครงสร้างอำนาจรัฐที่ถูกค้ำจุนโดยสถาบันการลอยนวลพ้นผิด ฝ่ายผู้ครองอำนาจรัฐ ย่อมต้องใช้กลไกเชิงสถาบันต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันทางกฎหมายให้ดำเนินงานไปในทางที่คอยทำให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดขึ้น ไม่ใช่การแสวงหาความยุติธรรมแต่อย่างใด ระบบกฎหมายของรัฐไทยจึงตกกลายเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐไทย ในการบิดเบือน กลบเกลื่อน ซ่อนเร้น และให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงโดยรัฐ
ปฏิบัติการทางกฎหมายที่มีส่วนร่วมกับความรุนแรงโดยการปกป้องผู้กระทำให้ลอยนวลพ้นผิด ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่น ในประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516[3] 6 ตุลาคม 2519[4] เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535[5] และเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553[6] ซึ่งล้วนพบว่า ไม่มีผู้กระทำความรุนแรงหรือผู้สั่งการใด ๆ ได้รับการลงโทษและความรับผิดทางกฎหมาย ด้วยผลของกฎหมายนิรโทษกรรม และกลไกขององค์กรอิสระที่ขาดความยึดโยงกับประชาชนอันได้เข้าไปรับรองให้ผลของกฎหมายนิรโทษกรรมและการกระทำใด ๆ ที่นำไปสู่ความรุนแรงต่อประชาชนของผู้มีอำนาจ ณ ขณะนั้น มีความชอบธรรมอย่างแยบยล[7]
กรอบคิดว่าด้วยระบบกฎหมายในรัฐลอยนวลดังกล่าว อาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์ ซึ่งรวมถึงเหตุโศกนาฏกรรมตากใบ ทั้งนี้ เพื่อเผยให้เห็นความอัปลักษณ์ของระบบกฎหมายไทยที่ทำงานกลับหัวกลับหาง แทนที่จะมุ่งลงโทษกับผู้ละเมิดสิทธิมนุษชน แต่กลับทำตรงกันข้ามด้วยการปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความผิด
.
(ภาพจาก Benar News)
.
ทบทวนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์วันนั้น
เหตุการณ์ตากใบ เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสร้างบาดแผลและรอยร้าวขนาดใหญ่ในความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ รวมทั้งยังถือเป็นอดีตอันเลวร้ายที่คอยตามหลอกหลอนทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ต้องพยายามปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ และหลอกหลอนญาติผู้เสียชีวิตที่ยังคงเฝ้ารอความยุติธรรมที่ไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน
ย้อนทบทวนข้อเท็จจริงในอดีต เหตุโศกนาฏกรรมตากใบเกิดขึ้นระหว่างที่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศขยายการใช้กฎอัยการศึกจากเดิมที่มีประกาศอยู่แล้วในบางพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ในเดือนมกราคม 2547 ซึ่งได้สร้างพื้นที่การให้อำนาจพิเศษแก่หน่วยงานความมั่นคงอย่างเข้มข้น การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ได้รับการยกเว้นในแง่การต้องกระทำตามหลักกระบวนการอันชอบธรรม (due process) ให้สามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่บนข้ออ้างเรื่องความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงและบูรณภาพแห่งดินแดน[8] ขณะเดียวกัน สิทธิเสรีภาพของประชาชนกลับได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างจำกัด กลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีอยู่ต้องเผชิญกับความชะงักงันมาตลอด 20 ปี
การประกาศกฎอัยการศึก นับเป็นปัจจัยเชิงพื้นที่และการสร้างบรรยากาศแห่งสภาวะยกเว้น ให้อำนาจรัฐในลักษณะวิปริตสามารถปรากฏให้เห็นได้ทุกขณะ
รายละเอียดในเหตุความรุนแรง[9] เริ่มต้นจากกรณีที่มีประชาชนกว่า 200 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ออกมารวมตัวชุมนุมกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. บ้านโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน ซึ่งถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้ไป 6 กระบอก แต่กลับถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบและแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ชนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ สืบเนื่องมากจากเหตุการณ์ที่เมื่อต้นปี 2547 ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ถูกกลุ่มบุคคลเข้ามาปล้นอาวุธปืนไปจำนวน 300 – 400 กระบอก แต่เวลานั้นกลับไม่มีการดำเนินการเอาผิดใด ๆ กับเจ้าหน้าที่ทหารที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ขณะที่พอเป็นฝ่าย ชรบ. ถูกปล้นปืน พวกเขากลับต้องถูกควบคุมตัวโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ยิ่งเวลาผ่านไป ประชาชนยิ่งเข้ามาสมทบการชุมนุมเพิ่มขึ้นจนจำนวนราว 2,000 คน เมื่อการชุมนุมส่อเค้าอาจจะเกิดการใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปยังสถานีตำรวจ พลโทพิศาล รัตนวงคีรี แม่ทัพภาคที่ 4 จึงสั่งการให้สลายการชุมนุมโดยฉีดน้ำและโยนระเบิดแก๊สน้ำตาจนสองฝ่ายปะทะกัน
เหตุโศกนาฏกรรมตากใบจึงอาจหมายถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเหตุการณ์พบว่า มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 6 คนทันทีที่มีการปะทะ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน และมีถูกจับกุมประมาณ 1,300 คน ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ซึ่งคนจำนวนมากถูกทุบตี ในจำนวนคนที่ถูกจับกุมมีคนอย่างน้อยอีก 79 คนเสียชีวิต[10] การชันสูตรพบว่าเกิดจากการหายใจไม่ออก หมดสติกระทันหันจากความร้อน และการชัก ซึ่งน่าจะเกิดจากสภาพที่แออัดเกินไประหว่างการเดินทางและอยู่ในรถบรรทุกทหารกว่า 6 ชั่วโมงและจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม รวมแล้วเสียชีวิต 85 คน คนที่เหลือส่วนใหญ่หลังถูกสอบสวนแล้วก็ถูกปล่อยโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่มี 58 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ารวมตัวชุมนุมโดยผิดกฎหมาย
.
(ภาพจาก AFP)
.
กระบวนการอยุติธรรมโดยกลไกกฎหมาย
นอกเหนือจากปัจจัยเกี่ยวกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ที่สร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาแล้วระดับหนึ่ง แต่เนื่องด้วยการลอยนวลพ้นผิดที่ดำรงอยู่เป็นสถาบันการเมืองที่ยึดโยงโครงข่ายอำนาจรัฐไทยไว้ด้วยกันแล้ว รัฐไทยจำเป็นต้องอาศัยกลไกจากระบบกฎหมายมาเพื่อให้การลอยนวลพ้นผิดปรากฏขึ้นอย่างสิ้นเชิง เพื่อป้องกันการโต้แย้งและการขุดคุ้ยเรื่องราวมาเป็นคดีความในภายภาคหน้า อันอาจกระทบต่อสถาบันลอยนวลและความเป็นรัฐไทยทั้งหมด กระบวนการอยุติธรรมโดยอาศัยกลไกทางกฎหมายเพื่อปกป้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เริ่มต้นด้วยการไต่สวนการตายระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องดำเนินไปภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
โดยหลักการแล้ว การไต่สวนการตาย คือ[11] กระบวนการที่มีขึ้นเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตโดยเจ้าพนักงานหรือเสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงาน กระบวนการนี้จะเริ่มต้นด้วยอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ให้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าไต่สวนและเรียกพยานหลักฐานต่าง ๆ เข้าประกอบการพิจารณา เพื่อให้ศาลออกคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร สาเหตุและพฤติการณ์ของการตายเป็นอย่างไร ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้ระบุว่าใครเป็นผู้ทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ แล้วจึงจะส่งสำนวนการไต่สวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินไปตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งการไต่สวนการตายจะดำเนินขึ้นหลังจากที่ได้มีการชันสูตรพลิกศพที่ดำเนินโดยการทำงานร่วมกันของแพทย์นิติเวช อัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง และพนักงานสอบสวน เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ตายเป็นใคร และหาสาเหตุของการตายมาแล้วก่อนหน้า แต่การชันสูตรพลิกศพจะเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนและแพทย์เป็นหลัก
ความสำคัญของการไต่สวนการตาย จึงหมายถึง การตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติ เพื่อจะกำหนดทิศทางของการดำเนินคดีภายหลังจากนี้ต่อไป เช่น หากการไต่สวนการตาย พบว่า ความตายมาจากการกระทำโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนตามหลักกฎหมายทั่วไป ผลของคดีอาจจบลงด้วยการที่เจ้าพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จนคดีเป็นอันยุติลง ในทางกลับกัน หากการไต่สวน สรุปข้อเท็จจริงได้ว่าความตายเกิดจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ก็จะทำความเห็นสั่งฟ้องต่อศาล เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความตายที่เกิดขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ดี ในกระบวนการไต่สวนการตายเกี่ยวกับเหตุโศกนาฏกรรมตากใบมีปัญหาสำคัญ ทำให้การดำเนินกระบวนการยุติธรรมเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจนเป็นเหตุให้ต้องมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากต้องถึงทางตัน กล่าวคือ วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งไต่สวนการตาย[12] โดยได้สืบทราบข้อเท็จจริงว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลา 8 นาฬิกา มีประชาชนกว่าหนึ่งพันคนไปชุมชนเรียกร้องที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เรียกร้องให้ทางราชการปล่อยตัว นายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จ ยักยอกทรัพย์ … การเจรจาไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่าทางราชการไม่อาจปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้ เนื่องจากนายกามา กับพวกถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำนราธิวาส กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอมกลับโห่ร้องขับไล่และพยายามผลักแผงเหล็กกั้น บุกเข้าไปในสถานีตำรวจภูธรตากใบ พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2547 มีคำสั่งให้สลายการชุมนุม และควบคุมตัวผู้ร่วมชุมนุมชาย นำขึ้นรถยนต์บรรทุกทหารไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คนถึงแก่ความตาย แพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วพบว่า ผู้ตายทั้งหมดถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุขาดอากาศหายใจ
ปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อรูปคดี ได้แก่ กรณีที่ศาลสรุปข้อเท็จจริงว่า ผู้ชุมนุมไม่มีทีท่าว่าจะสลายการชุมนุมและจะบุกเข้าไปยังสถานีตำรวจตากใบ พร้อมพยายามรับรองว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอน มีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ตามลำดับบังคับบัญชา และการมีคำสั่งห้ามใช้อาวุธกับผู้ร่วมชุมนุมโดยเด็ดขาด แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ยังคงเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่า มีการมอบหมายคำสั่งจริงหรือไม่ หรือมีคำสั่งเรื่องการไม่ให้ใช้อาวุธอย่างชัดเจนหรือไม่ เนื่องจากปรากฏผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง ที่รายงานว่า มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนในที่เกิดเหตุทันที 6 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน (5 คนถูกกระสุนปืนที่บริเวณศรีษะ)[13]
ขณะเดียวกัน ในคำสั่งการไต่สวนของศาลจังหวัดสงขลา ยังสรุปข้อเท็จจริงที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรง ก่อความไม่สงบก่อน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจมีคำสั่งให้สลายการชุมนุม แต่ทว่า ความจริงอีกด้านหนึ่งที่มาจากรายงานของภาคประชาสังคม หลังจากรับฟังคำให้การจากปากชาวบ้าน พบว่า เหตุการณ์ปะทะเริ่มต้นจากการที่เจ้าหน้าที่เริ่มฉีดน้ำจากรถดับเพลิงก่อน และการขว้างปาสิ่งของโดยฝ่ายผู้ชุมนุมจึงมีขึ้นตามมาภายหลัง และข้อสังเกตสำคัญอีกประการคือ หลังเหตุการณ์นั้นไม่ปรากฏรายงานว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการทำร้ายของผู้ชุมนุมตามที่กล่าวอ้างเลย
การสั่งเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ให้เหตุผลว่า ด้วยสภาพบริเวณที่เกิดเหตุมีพื้นที่ล่อแหลมต่ออันตรายที่เกิดขึ้น และตั้งอยู่ใกล้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทั้งยังอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศมาเลเซีย จึงต้องเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อสอบปากคำหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างว่า ได้พยายามจัดเตรียมรถบรรทุกนักเรียนศูนย์ศิลปชีพ เตรียมน้ำ อาหาร และที่พักให้กับผู้ร่วมชุมนุมตามสมควร ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง คือ ผู้ชุมนุมถูกเคลื่อนย้ายด้วยรถบรรทุกทหารอย่างแออัด ไม่มีการจัดเตรียมน้ำหรืออาหารใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า ระหว่างเดินทางเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม มีการขัดขวาง ตัดต้นไม้ปิดกั้นทาง โรยตะปูเรือใบ เผายางรถยนต์ ทำให้การเดินล่าช้านานกว่าปกติ
ความเสียหายและสูญเสีย ศาลที่ทำการไต่สวนการตาย ไม่ได้พยายามสืบหาพฤติการณ์และข้อเท็จจริงให้ปรากฏความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของเจ้าหน้าที่กับผลความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่กลับยอมรับว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามความจำเป็นบางอย่าง ทั้งนี้ ศาลได้ใช้คำว่า “เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกปัจจุบันทันด่วนในวันเกิดเหตุ กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคนซึ่งร่วมชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบอันมีพื้นที่จำกัด และบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ใกล้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประกอบกับการสลายการชุมนุมเสร็จสิ้นลงในเวลาใกล้ค่ำ … สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย …” จึงต้องเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมออกจากบริเวณที่เกิดเหตุโดยเร็ว มิฉะนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย “จึงเป็นการจำเป็นต้องรีบดำเนินการดังกล่าวในทันทีอย่างต่อเนื่อง”
และกรณีที่ผู้ชุมนุมถูกทำร้าย ศาลเชื่อว่า มาจากการกระทำของบุคคลที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการกระทำในทันทีทันใดโดยพลการ เมื่อไม่ปรากฏว่า หลังจากผู้ที่ตายทั้ง 78 คน และผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกนำส่งค่ายอิงคยุทธบริหารจนแล้วเสร็จ ได้มีการกระทำต่อผู้ตายทั้ง 78 คน หรือผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว หรือเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างอื่นกับผู้ร่วมชุมนุม กล่าวโดยสรุป ศาลสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายนั้น เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าถูกผู้อื่นกระทำการให้เสียชีวิต
ผลของกระบวนการไต่สวนดังกล่าว เปรียบเสมือนต้นสายของกระบวนการอยุติธรรมที่สถาบันทางกฎหมายตกเป็นเพียงเครื่องมือการปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชน ส่งผลให้เกิดกระแสธารแห่งความอยุติธรรมและการลอยนวลที่ภายหลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนการตาย เป็นเวลาเกือบ 20 ปีให้หลัง ปฏิบัติการทางกฎหมายในส่วนงานพนักงานสอบสวนส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดพร้อมกับมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดคนเป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่า ผู้ต้องหาทั้งแปดคนไม่ประสงค์หรือย่อมเล็งเห็นผลว่าจะมีความตายของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นในระหว่างขนย้าย”[14]
สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ในทางกฎหมายของคดีตากใบที่ดำเนินการโดยรัฐล่าช้าอย่างยิ่งและยังคงไม่สามารถเอาผิดกับใครได้เลย ในขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ฝ่ายผู้เสียหายและครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ใช้สิทธิฟ้องเองต่อศาลก่อนที่คดีจะหมดอายุความ และความคืบหน้าของคดียังคงต้องติดตามต่อไป
.
(ภาพจาก Benar News)
.
สถาบันกฎหมายกับการจงใจให้เกิดการลอยนวล
หากพิจารณาผลของกระบวนการไต่สวนการตายและการสั่งไม่ฟ้องของเจ้าพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน ในฐานะปฏิบัติการทางกฎหมายที่เข้ามาจัดการความรุนแรงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบข้างต้น จะพบถึงร่องรอยของการจงใจสร้างการลอยนวลพ้นผิดเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปรากฏอย่างชัดเจน เหตุผลสำคัญคือ หากยึดตามหลักกฎหมายอาญาและการวิเคราะห์องค์ประกอบการกระทำความผิด ย่อมระบุตัวถึงผู้กระทำความผิดและการกระทำที่ก่อให้เกิดความตายได้ไม่ยากนัก เพราะข้อเท็จจริงไม่ได้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนแต่อย่างใด
เริ่มตั้งแต่หลักเจตนา จากข้อเท็จจริง การที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมด้วยวิธีการนำผู้ชุมนุมหลายร้อยคนนอนเบียดเสียดกันภายในรถบรรทุกขนส่งทหาร แม้จะไม่ได้มีเจตนาประสงค์ให้เกิดความตายขึ้น แต่เรื่องนี้ ผู้กระทำและการกระทำในภาวะเช่นนั้น (ให้บุคคลหลายคนนอนเบียดและทับกัน) ย่อมต้องเล็งเห็นผลได้ว่า จะเกิดความเสี่ยงและเป็นการกระทำที่ทำให้มีบุคคลเสียชีวิตเนื่องมาจากขาดอากาศหายใจ
ขณะเดียวกัน ประเด็นการกล่าวอ้างถึงการกล่าวอ้างถึงการกระทำโดยป้องกัน การใช้อำนาจตามกฎหมายและการกระทำโดยจำเป็น ก็จะต้องคำนึงในเรื่องความได้สัดส่วน หรือการรักษาดุลยภาพระหว่างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลกับผลประโยชน์มหาชนของรัฐ และการมีปฏิบัติการที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยสุด แต่เมื่อเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐถึง 78 คน ทั้ง ๆ ที่การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธมาตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายเป็นความรุนแรง ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากปฏิบัติการและการควบคุมที่ไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐเอง
ที่สำคัญ ในคำสั่งไต่สวนการตาย ที่ไม่มีการระบุถึง พฤติการณ์ว่าใครทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตยังได้สร้างความกระอักกระอ่วนต่อสังคมและภาคประชาชนอย่างมาก เนื่องจากว่า ในแง่ของการพินิจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวว่า วิธีการจัดการกับผู้ชุมนุมที่ปรากฏในข้อเท็จจริงไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือเป็นสาเหตุให้เกิดความตายขึ้น การที่เมื่อเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมมาถึงที่หมายจากพื้นที่เกิดเหตุไปยังค่ายอิงยุทธบริหาร แล้วรายงานว่า ไม่ได้มีการกระทำรุนแรงหรือเหตุร้ายอะไรตามมา หาใช่สาระสำคัญไม่ เพราะความตายของผู้ชุมนุม ถือเป็นเหตุแทรกแซงที่พิจารณาได้ตามทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม ซึ่งหมายความว่า ความตายของผู้ชุมนุมกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีความสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุและผลของกันและกันตามความรู้สึกนึกคิดของวิญญูชนที่พึงคาดหมายได้ว่า ต้องมีความตายของบุคคลเกิดขึ้นเพราะขาดอากาศหายใจ จากการที่นำคนจำนวนมากยัดขึ้นรถบรรทุกจนเบียดเสียดหนาแน่เต็มความจุตลอดเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง
ถึงตรงนี้ จึงมีข้อสังเกตประการหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับคดีนี้ คือ การที่เป็นปรากฏการณ์ทางกฎหมายและสังคมซึ่งสะท้อนภาพของความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่าง “กฎหมายในตำรา” (law in book) กับ “กฎหมายในทางปฏิบัติ” (law in action) ผ่านปฏิบัติการทางกฎหมายอันไม่ชอบมาพากลที่อาจเป็นนัยยะซ่อนเร้น (hidden agenda) ทางการเมือง เช่นเดียวกับประเด็นความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมที่สำนวนการสอบสวนและคำสั่งการไต่สวนการตายถูกดองไว้นานนับ 20 ปี (25 เมษายน 2567) เพื่อจะมีการส่งสำนวนสอบสวนไปยังอัยการพร้อมความเห็นไม่สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกคน[15] (การทำความเห็นเกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายและญาติแสดงการเคลื่อนไหวว่าจะทำการฟ้องคดีด้วยตนเอง)
โดยสรุป ในแง่มุมกฎหมาย สามารถนำองค์ความรู้กฎหมายอาญาภาคทั่วไปมาตอบได้อย่างไม่เคอะเขิน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ระดับพื้นฐานสำหรับผู้เรียนนิติศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ปัญหาข้อกฎหมายในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ เป็นปัญหาที่ไม่ได้ซับซ้อนเกินกว่าจะตอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะผู้มีประสบการณ์การทำงานและได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชากฎหมายมาอย่างยาวนานเฉกเช่นพนักงานอัยการ ผู้พิพากษา และเจ้าพนักงานสอบสวน แต่ด้วยความจำเป็นต้องรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจและสถาบันการลอยนวลพ้นผิดให้ค้ำจุนความเป็นรัฐไทยที่จะมีคนเพียงหยิบมือสามารถถือครองอำนาจและแสวงหาเอาประโยชน์ทางการเมืองได้ต่อ ๆ ไป สถาบันกฎหมาย ศาล ปฏิบัติการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงต้องเข้ามาทำงานสอดคล้องรองรับกับปฏิบัติการความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผ่านการสร้างความชอบธรรม กลบเกลื่อน บิดเบือน ซ่อนเร้นการกระทำและข้อเท็จจริงไปในทางคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงให้แยบยลได้มากที่สุด
ท้ายที่สุด กระบวนการทางกฎหมายในเหตุการณ์ความรุนแรงตากใบ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกับการใช้อำนาจรัฐของรัฐไทย และแสดงให้เห็นอัปลักษณะที่ชัดเจนยิ่งของสถาบันกฎหมายไทย
.
.
อ้างอิงท้ายเรื่อง
[1] Tyrell Haberkorn, In plain sight: Impunity and Human Rights in Thailand, (Madison: The University of Wisconsin press, 2018).
[2] Tyrell Haberkorn, In plain sight: Impunity and Human Rights in Thailand, (Madison: The University of Wisconsin press, 2018), 13.
[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาสกร ญี่นาง, ความล้มเหลวบนชัยชนะ: 14 ตุลาฯ ที่ไม่ได้สถาปนาหลักนิติรัฐ, 14 ตุลาคม 2563, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/22068
[4] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาสกร ญี่นาง, ร่องรอยความหวาดกลัวและ “รู้ว่าผิด” ระหว่างการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาฯ, 5 ตุลาคม 2563, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/21875
[5] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาสกร ญี่นาง, สภาวะลอยนวลพ้นผิดในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535: การปกป้องผู้ก่อความรุนแรงโดยกฎหมาย, 17 พฤษภาคม 2564, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/29739,
[6] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ภาสกร ญี่นาง, กระบวนการอยุติธรรมไทย: การลอยนวลพ้นผิดโดยกฎหมายของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” กรณีสลายการชุมนุมปี 53, 19 พฤษภาคม 2564, https://tlhr2014.com/archives/29820
[7] ภาสกร ญี่นาง, “กฎหมายในความรุนแรง ความรุนแรงในกฎหมาย: การลอยนวลพ้นผิดทางกฎหมายของรัฐไทยในกรณีการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2564)
[8] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด, รัฐศาสตร์สาร, 28(3) (2550), 91-124.
[9] อาทิตย์ ทองอินทร์, 19 ปี สลายการชุมนุมตากใบ 25 ตุลาคม 2547 โศกนาฏกรรมของมลายูปตานี, 24 ตุลาคม 2566, ไทยรัฐ, https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/102294 (สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567)
[10] Amnesty International Annual Report 2005 รายงานประจำปีของแอมเนสตีอินเทอร์เนชันแนล บันทึกงานสิทธิมนุษยชนที่องค์กรดำเนินการระหว่างมกราคม-ธันวาคม 2004, 249-250.
[11] เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว ต้อง “ชันสูตรพลิกศพ” และ “ไต่สวนการตาย”, 4 พฤศิจกายน 2558, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน, https://www.ilaw.or.th/articles/16552 (สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567)
[12] คำสั่งไต่สวนการตาย ศาลจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552
[13] รายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 (ส่วนที่ 1 ภาครายงาน), หน้า 19
[14] มูฮำหมัด ดือราแม, “เผยตำรวจส่งสำนวนคดีตากใบให้อัยการแล้ว เปิดใจญาติผู้ตาย เกือบ 20 ปีก่อนคดีหมดอายุความ”, 27 เมษายน 2567, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2024/04/109009 (สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567)
[15] เรื่องเดียวกัน.
.
https://tlhr2014.com/archives/68795