วันพุธ, สิงหาคม 02, 2566

ทำไมสวีเดนถึงตัด สว. ออกจากสภา


Sweden Alumni Community Thailand
July 24
·
เรามาทำตามสัญญาค่ะ (ทำจริงๆ ตามที่พูดไว้)
วันนี้น้องเสกนักเรียนสาขา Nordic Welfare จะมาเล่าให้ฟังแบบละเอียด
ทำไมสวีเดนถึงตัด สว. ออกจากสภาและเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ยาวนิดนึงค่ะ แต่สนุกชัวร์
สวีเดนก็เคยมีสว. แต่ยกเลิกไปนานแล้ว
ในตอนแรกที่สุดรัฐสภาสวีเดนประกอบด้วยตัวแทนจากขุนนาง,พระสงฆ์,และกระฎุมพีเท่านั้น ต่อมาได้ขยายให้มีตัวแทนของชาวนาเข้ามาเป็นฝ่ายที่ 4 จนกระทั่งค.ศ.1866 สวีเดนได้เปลี่ยนมาใช้ระบบสองสภา ได้แก่ สภาแรกและสภาที่สอง หากจะเปรียบเทียบกับระบบการเมืองของประเทศอื่นแล้ว สภาแรกเปรียบเสมือนสภาสูงหรือวุฒิสภา ส่วนสภาที่สองนั้นคือสภาล่าง สาเหตุของการปฏิวัติเพราะว่าต้องการให้รัฐสภาสะท้อนความเป็นจริงของสังคมได้มากขึ้น เริ่มมีผู้คนไม่พอใจในระบอบเก่า และต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจบริหารประเทศมากขึ้น ไม่ใช่มีเพียงแค่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งที่มีสิทธิการเป็นสมาชิกรัฐสภาเพราะชนชั้นที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ส่วนฝั่งชนชั้นนำก็มีเหตุผลว่าต้องการป้องกันการลุกฮืออย่างฉับพลันของประชาชน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติเป็นระบบสองสภาแล้ว สวีเดนก็ยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ สังเกตได้ง่ายๆจากชื่อว่าสภาแรกที่มีที่มาจากคนกลุ่มน้อยนั้นมาก่อนสภาสองที่มาจากคนส่วนมาก สว.หรือสมาชิกสภาสูงมีที่มาจากการเลือกตั้งของนักการเมืองระดับท้องถิ่น ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกคน แต่กลับมีอำนาจเทียบเท่ากับผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในสภาล่าง สามารถสืบทอดอำนาจกันได้ในหมู่นักการเมืองด้วยกัน มีวาระดำรงตำแหน่งถึง 8 ปี ในขณะที่สภาล่าง 4 ปี คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นสว.ต้องเป็นเพศชายที่อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 80,000 โครนในสมัยนั้น ถือเป็นจำนวนที่สูงมาก ด้วยเหตุเหล่านี้สภาสูงจึงเต็มไปด้วยตัวแทนจากชนชั้นกระฎุมพี
ยิ่งไปกว่านั้นประชากรทั้งหมดไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้ง มีแค่ผู้ชายที่มีทรัพย์สินถึงเกณฑ์ขั้นต่ำเท่านั้นที่สามารถเลือกตั้งได้ ต้องไม่มีหนี้สิน ไม่ติดคุก ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมีราวๆ 6% ของประชากรทั้งหมดและ 20% ของประชากรเพศชาย ยิ่งรวยยิ่งมีเสียงเลือกตั้งหลายเสียง ในบางเมืองเศรษฐีคนเดียวมีสิทธิในการเลือกตั้งมากกว่าประชาชนทั้งเมือง ประชาชนจำนวนมากเลยต้องหนีความยากจน ความหนาวเหน็บ การกดขี่ของรัฐไปตายเอาดาบหน้า โดยระหว่างค.ศ.1850-1936 คนสวีเดนถึง 1 ใน 3 อพยพไปสหรัฐฯ ส่วนที่เหลือก็ทำการประท้วง นัดหยุดงานกันเป็นเรื่องที่มีให้เห็นทุกวัน
หลังจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย(Social Democratic Party/Socialdemokraterna)ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สองในค.ศ.1921 สภาล่างก็ได้ทำการท้าทายอำนาจกษัตริย์ครั้งสำคัญโดยการทำให้ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก มีสส.เป็นผู้หญิงครั้งแรก 5 คน จาก 230 คน และ Hjalmar Branting นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคสังคมนิยมฯได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในเวลาต่อมา พรรคสังคมนิยมยังได้สั่งทำรายงานศึกษาสาเหตุว่าทำไมคนสวีเดนจำนวนมากถึงต้อง #ย้ายประเทศ แล้วแก้ไขปัญหาโดยการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนขึ้นมาเป็นแห่งแรกของโลก เมื่อค.ศ.1932
ถึงแม้พรรคสังคมนิยมจะครองอำนาจในสวีเดนอย่างยาวนานเป็นเวลา 44 ปี ตั้งแต่ค.ศ.1932-1976 แต่สว.และสภาสูงก็ยังคงมีอยู่ แม้ว่านโยบายการยกเลิกสว.จะเป็นนโยบายของพรรคสังคมนิยมมาตั้งแต่ค.ศ.1897 ก็ตาม กระแสการเคลื่อนไหวเรื่องการยกเลิกสว.ในหมู่ประชาชนไม่ได้ถูกจุดติดจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กว่าประเด็นนี้จะได้เริ่มนำมาถกเถียงกันในรัฐสภาก็ปาเข้าไปราวๆ 1960 โดยพรรคเสรีนิยมเป็นผู้เสนอ แต่กระนั้นสภาสูงและสภาล่างก็ไม่เคยตกลงกันได้ว่าจะเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่อย่างไร
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ด้วยกันหลักๆ 4 ประการ
1) ต้องการทำให้ระบบรัฐสภามีความทันสมัย เพราะหลายๆประเทศในยุโรป รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างเดนมาร์กและฟินแลนด์ก็ใช้ระบบสภาเดี่ยวแล้ว
2) ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการตัดสินใจของรัฐสภา โดยในระบบสองสภานั้น สภาสูงและสภาล่างจะต้องคานอำนาจกัน และมีอำนาจในการวีโต้ในประเด็นที่สภาหนึ่งไม่เห็นด้วยกับอีกสภา
3) พรรคสังคมนิยมฯแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 1966 ทำให้ที่นั่งของพรรคสังคมนิยม ซึ่งต้องได้รับการโหวตจากนักการเมืองท้องถิ่นน้อยลงไปด้วย แต่พรรคสังคมนิยมยังมีเสียงส่วนมากในสภาเพราะมีที่นั่งเป็นอันดับ 1 ในสภาล่าง พรรคจึงพยายามยกเลิกสภาสูง เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียกับสภาสูงน้อยลง
4) สว.ซึ่งตอนแรกเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการคานอำนาจกับกลุ่มอำนาจใหม่นั้น ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการขัดขวางอำนาจของประชาชนจากการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนำซ้ำสว.เองจะมาจากพรรคสังคมนิยมเสียส่วนมากเป็นเวลาหลายสิบปี ชนชั้นนำจึงไม่จำเป็นต้องรักษาสว.ไว้ ทั้งสองสภาสามารถตกลงกันได้ในค.ศ.1967 และมีการเลือกตั้งในระบบสภาเดี่ยวครั้งแรกในปี 1970 นั่นเอง
โดยสรุปแล้วสวีเดนใช้เวลาถึง 80 ปีในการยกเลิกสว.ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมและมีอำนาจเท่ากับสส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือพรรคสังคมนิยมสามารถยึดกุมสว.ได้ เพราะชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สว.หมดประโยชน์ต่อชนชั้นนำ และถึงแม้พรรคสังคมนิยมจะมีนโยบายยกเลิกสว.มานาน ตอนที่พรรคสังคมนิยมได้สว.เสียงข้างมากในสภา พรรคสังคมนิยมก็ไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใด
เสก
Sweden Alumni Community Thailand
ที่มา
https://www.riksdagen.se/.../the-development-of.../
https://www.riksdagen.se/.../from-things-and-assemblies.../
https://tidsskrift.dk/scandinavi.../article/view/32235/29919
https://www.vadvivet.se/enkammarriksdag/...
.....