วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 22, 2565

บทเรียนจากอาร์เจนตินา เมื่อประชาลงทัณฑ์ตุลาการ



บทเรียนจากอาร์เจนตินา เมื่อประชาลงทัณฑ์ตุลาการ

เรื่อง : เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
ภาพประกอบ : ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล
28 Apr 2021
1O1 World

ปรากฏการณ์ที่เผด็จการใช้อำนาจตุลาการเป็นเครื่องมือธำรงอำนาจตนเองนั้นกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก Rosalind Dixon และ David Landau ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่อำนาจตุลาการกลายมาเป็นเครื่องมือยึดอำนาจที่เผด็จการนิยมมากกว่าการใช้กำลังก็เพราะผู้นำสามารถอาศัยความน่าเชื่อถือต่อระบบตุลาการและกฎหมายเพื่อซ่อนความเผด็จการไว้ได้แนบเนียนขึ้น

คำถามคือ เราจะหยุดยั้งปรากฏการณ์นี้ได้อย่างไร

โดยธรรมชาติ ตุลาการคือผู้ลงทัณฑ์ผู้อื่นที่ละเมิดกฎหมาย หากตุลาการใช้อำนาจโดยบิดผันหรือทุจริตจนเป็นภัยแก่ประชาธิปไตยนั้น ประชาชนจะลงทัณฑ์ตุลาการบ้างได้หรือไม่

องค์กรตุลาการนั้นมีการลงโทษกันเป็นปกติอยู่แล้ว ผู้พิพากษาที่ประพฤติตัวผิดกฎหมายหรือวินัยขององค์กรต้องได้รับโทษ เพราะผู้พิพากษาผู้นั้นประพฤติตนผิดจากวัฒนธรรมและคุณค่าที่องค์กรให้ความเชื่อถือ

แต่คำถามในที่นี้คือ หากผู้พิพากษาประพฤติตนสอดคล้องกับคุณค่าที่องค์กรตุลาการเองเชื่อถือ แต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพปวงชน ผู้กระทำผิดจึงไม่ใช่แค่ผู้พิพากษาที่เกเรไร้ศีลธรรม ซึ่งเป็นปัญหาระดับปัจเจก แต่เป็นคุณค่าที่องค์กรยึดถือนั้นเองที่ผิด การลงโทษจึงต้องกระทำในขอบเขตที่กว้างขวางครอบคลุมมาก แล้วจะทำอย่างไร

โดยทั่วไป การลงทัณฑ์ตุลาการนั้นเป็นเรื่องไม่ปกติ ความเป็นอิสระของตุลาการถือเป็นเกราะช่วยป้องกันตุลาการจากการลงโทษใดๆ แต่ก็ไม่ใช่แปลว่าการลงทัณฑ์ตุลาการนั้นจะไม่เคยเกิดขึ้น การลงโทษตุลาการที่ร่วมมือกับเผด็จการทำลายประชาธิปไตยไม่ใช่มุ่งแค่เฉพาะแก้แค้นทดแทนผู้เสียหายจากเผด็จการ แต่ยังเป็นการล้างบางองค์กร ปรับคุณค่าและวัฒนธรรมองค์กรใหม่อีกด้วย เพื่อรองรับการนำเผด็จการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป หากผู้พิพากษายังยึดคุณค่าอำนาจนิยม เห็นชอบกับอภิสิทธิ์ปลอดความรับผิด การจะให้ศาลลงโทษเผด็จการย่อมเป็นไปไม่ได้ บางประเทศที่ผ่านประสบการณ์เผด็จการทหารมาได้ลงทัณฑ์ตุลาการและผลักดันให้ตุลาการร่วมมือกับฝ่ายประชาธิปไตยได้สำเร็จ

ช่วง ค.ศ. 1976-1983 อาร์เจนตินาตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารซึ่งล้มล้างรัฐบาลของประธานาธิบดี Isabel Peron รัฐบาลทหารได้สังหารหรือบังคับสูญหายผู้เห็นต่างไปมากกว่า 30,000 คน นอกจากการฆาตกรรมแล้ว ทหารอาร์เจนตินายังลักพาตัวลูกของนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยไปมอบให้ครอบครัวอื่นดูแลอีกด้วย ทั้งหมดนี้ ทำให้สงครามสกปรกของรัฐบาลทหารอาร์เจนตินาถูกจำแนกเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เผด็จการทหารสิ้นอำนาจลงในปี ค.ศ. 1983 ภายหลังการกดดันของประชาชนซึ่งเห็นว่ารัฐบาลเผด็จการล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

หนึ่งในภารกิจของรัฐบาลประชาธิปไตยคือการฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนและทวงถามความยุติธรรมแก่เหยื่อเผด็จการ แต่ภายใต้เผด็จการทหารนั้น ผู้พิพากษาในศาลทั้งใกล้ไกลเล็กใหญ่มักถูกแต่งตั้งโดยนายทหาร ซึ่งเลือกเพื่อนหรือผู้สนับสนุนตนเองขึ้นมา ดังปรากฏว่า ผู้พิพากษาเหล่านี้เพิกเฉยต่อคดีที่เหยื่อเผด็จการฟ้องและร่วมมือลงโทษศัตรูของเผด็จการ ยืนยันความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของเผด็จการ และไม่สอบสวนอาชญากรรมของทหาร ดังนั้น การลงทัณฑ์เผด็จการจะเกิดขึ้นโดยไม่มีการลงทัณฑ์ตุลาการไม่ได้

ในช่วงแรกสุด ระหว่างปี ค.ศ. 1983-1984 รัฐบาลใหม่สั่งว่าให้ถือว่าการแต่งตั้งผู้พิพากษาในช่วงที่ผ่านมานั้น ขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย-ไม่มีผล ผลก็คือผู้พิพากษาเหล่านี้ต้องผ่านการคัดกรอง (judicial vetting) อีกทีก่อนจะกลับเข้าสู่ตำแหน่งได้ ผู้พิพากษาบางคนลาออกเนื่องจากทราบดีว่าตนไม่น่าจะผ่านการคัดกรอง เช่น คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกา โดยรวมทั้งหมด มีผู้พิพากษาประมาณ 500 คนเข้าสู่การคัดกรอง และประมาณร้อยละ 70 ผ่านไปได้ ที่เหลือถูกแทนที่ด้วยผู้พิพากษาใหม่ที่มีอุดมคติโน้มเอียงไปทางประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้ การคัดกรองทำไปในระยะเวลาจำกัด และถูกจำกัดด้วยความจริงที่ว่า รัฐบาลใหม่ไม่อาจปลดผู้พิพากษาทั้งระบบทิ้งไปเนื่องจากจะกระทบงานคดีความอื่นๆ

หลังจากนั้น ภาคประชาสังคมอาร์เจนตินาพยายามใช้กลยุทธ์ชักจูงใจผู้พิพากษา นอกเหนือจากการลงโทษ การจัดการอบรมเสวนาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กับผู้พิพากษาเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างความเข้าใจใหม่เรื่องสิทธิเสรีภาพ ภารกิจลงโทษเผด็จการนั้นต้องต่อสู้กับระบบกฎหมายที่เคยห่อหุ้มเผด็จการไว้ นอกเหนือจากข้อเท็จจริงว่าผู้พิพากษาเป็นเพื่อนหรือผู้สนับสนุนเผด็จการแล้ว นักกฎหมายยังเผชิญโจทย์ยาก อาทิ การโต้แย้งเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมตนเองที่เผด็จการทหารออกไว้ก่อนลงจากตำแหน่ง หรือการดำเนินคดีนายทหารที่หลบหนีไม่มาสู้คดี การอบรมต่างๆ จึงเป็นการชักจูงใจ เพิ่มพูนความรู้ สร้างพันธมิตร ให้ผู้พิพากษากล้าที่จะประกาศว่ากฎหมายนิรโทษกรรมไม่ชอบเพราะอะไร

แต่สุดท้าย เมื่อปรากฏว่าผู้พิพากษาหลายคนยังเป็นปฏิปักษ์ต่อการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แข็งขืนเป็นพันธมิตรกับอดีตเผด็จการ บางคนสั่งไม่ฟ้องคดี บางคนสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา กลุ่มประชาสังคมจึงใช้การกดดันไปที่ประธานาธิบดี ซึ่งประณามผู้พิพากษาออกสื่อ สัญญาว่าจะสอบสวน หรือตั้งกระบวนการถอดถอนผู้พิพากษาเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้พิพากษาหลายคนที่ถูกเปิดโปงความสัมพันธ์กับเผด็จการทหารรีบลาออกจากตำแหน่งก่อน

กระบวนการเหล่านี้ไม่ง่าย ใช้เวลานับสิบปี จนถึงปี 2009 จึงเริ่มเห็นผล ศาลเริ่มตัดสินลงโทษบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ลักพาตัว ซ้อมทรมาน หรือบังคับสูญหายเหล่านี้ อาทิ ในปี 2017 ศาลตัดสินลงโทษผู้อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนักกิจกรรมด้วยการโยนลงจากเครื่องบินจำนวน 29 ราย คดีเหล่านี้ไม่เพียงนำความยุติธรรมมาให้แก่ญาติของเหยื่อ แต่เปิดโอกาสสังคมได้เรียนรู้รายละเอียดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลในอดีตมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญยิ่ง คือในปี 2017 ศาลจังหวัด Mendoza ตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตผู้พิพากษาสี่รายในฐานะตัวการร่วมในการลักพาตัว ทรมาน และฆาตกรรม ผู้พิพากษาทั้งสี่รายนี้ไม่ได้ลงมือกระทำการเหล่านั้นด้วยตัวเอง แต่เพิกเฉยไม่พิจารณาคำร้องของญาติเหยื่อในขณะนั้น ซึ่งยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายปล่อยบุคคลที่ถูกเผด็จการจับไป ในตอนแรก ผู้พิพากษาทั้งสี่รายถูกฟ้องในฐานะผู้สนับสนุนแต่อัยการเปลี่ยนเป็นตัวการร่วมในภายหลัง ซึ่งร้ายแรงกว่ามาก

การลงทัณฑ์ตุลาการไม่ได้มีเพื่อลงโทษ หรือแก้แค้นทดแทนเท่านั้น การลงทัณฑ์ในที่นี้จะเห็นว่ามีทั้งมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง คือ การคัดกรองใหม่ แต่ส่วนใหญ่เป็นการโน้มน้าวและกดดัน เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้พิพากษา และองค์กรตุลาการทราบว่าสังคมไม่เห็นด้วยกับค่านิยมที่ผู้พิพากษายึดถือ ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรจำเป็นต้องเปลี่ยน ขั้นสูงสุดคือ ทำให้ศาลลงโทษอดีตผู้พิพากษาในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

หัวใจสำคัญที่ทำให้การลงทัณฑ์ตุลาการประสบความสำเร็จคือชัยชนะทางการเมืองของประชาชนชาวอาร์เจนตินา ทำให้ฝ่ายการเมืองมั่นใจพอที่จะออกมาปะทะกับฝ่ายตุลาการ และฝ่ายตุลาการไม่มีตัวช่วยพิเศษป้องกันตนเองจากแรงกดดันของฝ่ายการเมืองและประชาสังคม
__________________________________
อ้างอิง

Ezequiel González Ocantos, ‘Persuade Them or Oust Them: Crafting Judicial Change and Transitional Justice in Argentina’ (2014) 46 Comparative Politics 479.

Marcos Zunino, ‘Judicial Vetting: The Forgotten Aspect of Argentina’s Transition’ Opinio Juris (18 February 2019).