วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 22, 2565
อย่าลืมเพื่อนเรา อาร์ม, ต้อม, เก่ง และแบงค์ 4 พล(เมือง) คดีชุมนุมดินแดงถูกขังเกินครึ่งปีแล้ว และอาจถูกขังข้ามปี
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
1d
4 พล(เมือง) คดีชุมนุมดินแดงถูกขังเกินครึ่งปีแล้ว และอาจถูกขังข้ามปี ...
.
“อาร์ม” วัชรพล, “ต้อม” จตุพล, “เก่ง” พลพล, และ “แบงค์” ณัฐพล ผู้ต้องขัง 4 คนสุดท้ายที่ถูกกล่าวหาในคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมที่บริเวณดินแดง เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565 ปัจจุบันพวกเขาถูกคุมขังย่างเข้าเดือนที่ 7 หรือนานเกินกว่าครึ่งปีแล้ว
.
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้จับกุมจากคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมที่ดินแดง เมื่อวันที่ 11, 14, 15 และ 19 มิ.ย. 2565 ถูกทยอยนำไปขอฝากขังต่อศาลในเวลาไล่เลี่ยกัน ตั้งแต่วันที่ 13-20 มิ.ย. 2565 จนทำให้มีผู้ถูกคุมขังจากคดีการชุมนุมที่ดินแดงระลอกใหม่ อย่างน้อย 14 รายด้วยกัน
.
แต่ในเวลาต่อมา พวกเขาทยอยได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ทั้งด้วยสาเหตุที่พนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องภายในเวลาผัดฝากขัง และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากการยื่นคำร้องขอประกันตัว จนสุดท้ายปัจจุบันเหลือผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมบริเวณดินแดงในช่วงเวลาดังกล่าว 4 ราย
.
อาร์ม, ต้อม, เก่ง และแบงค์ อายุไล่เลี่ยกันตั้งแต่ 19-20 ปี นอกจากนี้พวกเขาทั้งสี่คนยังมีภูมิหลังชีวิตและแรงจูงใจในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองคล้ายกันอีกด้วย โดยทุกคนนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างจังหวัด แต่ภายหลังได้เดินทางเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับครอบครัว เพื่อหางานทำตั้งแต่อายุยังน้อย เฉลี่ยแล้วพวกเขาเริ่มทำงานแรกในชีวิตเมื่ออายุได้ประมาณ 12 ปีเท่านั้น นั่นทำให้พวกเขาส่วนใหญ่จำใจต้องสลัดทิ้งการศึกษา ในระบบไว้เพียงชั้น ป.6 หรือ ม.3
.
ทั้งสี่คนตัดสินใจเลือกออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องทางการเมือง เพราะได้รับผลกระทบจากการบริหารของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนกลับค่าแรงที่ได้รับ, การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ล้มเหลว, การถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพจากการถูกคุกคามและถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และการใช้กฎหมายดำเนินคดีกับประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง นั่นทำให้พวกเขาต่างก็มีข้อเรียกร้องทางการเมืองเดียวกัน คือ “ประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่ง”
.
#อย่าลืมผู้ต้องขังการเมือง
#คืนสิทธิประกันตัว
#อย่าลืมฉัน
อาร์มมีโรคประจำตัว ป่วยเป็น “หอบหืด” แม้ในระหว่างถูกคุมขังอยู่ในคดีนี้เขาจะยังตรวจไม่พบว่าติดโควิด-19 เหมือนกับเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆ แต่เขากังวลเป็นอย่างมากว่า หากวันใดเกิดติดโควิดขึ้นมาโรคประจำตัวจะทำให้มีอาการป่วยย่ำแย่กว่าคนทั่วไปหรือไม่
.
นอกจากนี้ การถูกคุมขังในคดีนี้ยังทำให้อาร์มหมดโอกาสที่จะได้เรียนต่ออย่างที่ได้วางแผนไว้ด้วย
.
ก่อนหน้านี้เขาได้สมัครเรียนต่อในระดับชั้น ปวส. ที่วิทยาลัยฐานเทคโนโลยีบางบอน แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการชำระเงินค่าเล่าเรียนและเริ่มต้นเรียนเลยด้วยซ้ำ เขากลับต้องมาถูกคุมขังในคดีนี้เสียก่อนจนถึงปัจจุบัน
.
.
อ่านเรื่องของวัชรพล: https://tlhr2014.com/archives/49814
ต้อมตัดสินใจเข้าร่วมเรียกร้องและเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีเหตุผลหลักมาจากการที่เพื่อนเสียชีวิตหลังติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือเยียวยาจากภาครัฐเลย
.
หลังต้อมถูกคุมขังในคดีนี้ทำให้เขาขาดรายได้ ยายและน้องของต้อมที่อยู่ต่างหวัดจึงไม่ได้รับเงินค่าใช้จ่ายจากเขามานานเท่ากับระยะเวลาที่ต้อมถูกขังอยู่ ซึ่งนานเกิน 6 เดือนหรือครึ่งปีแล้ว
.
.
อ่านเรื่องของจตุพล: https://tlhr2014.com/archives/50463
การถูกคุมขังในคดีนี้ทำให้เก่งไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวได้เหมือนเคย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาเป็นเสมือนเสาหลักของครอบครัวก็ว่าได้
.
ตั้งแต่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เก่งให้การปฏิเสธตลอดมาและยืนยันว่าตนเองไม่ได้กระทำตามข้อกล่าวหา นั่นทำให้การถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำสร้างความเครียดต่อเขาเป็นอย่างมาก
.
โดยระหว่างถูกคุมขังเขาพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพาราเกินขนาดไปจำนวน 64 เม็ด แม้จะไม่ถึงกับชีวิต แต่จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน จากอาการ “ไตอักเสบ”
.
.
อ่านเรื่องของพลพล: https://tlhr2014.com/archives/49757
การถูกคุมขังในคดีนี้ทำให้แบงค์เกิดความเครียดและวิตกกังวลเป็นอย่างมากตลอดมา จนแพทย์ระบุว่าอาการต่างๆ ที่แบงค์เผชิญอยู่นั้นเข้าข่าย “ภาวะซึมเศร้า” เขาจึงต้องรับประทานยารักษาและบรรเทาอาการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่นั้น
.
สิ่งที่ทำให้แบงค์กระวนกระวายใจมากที่สุด คือ หลังถูกคุมขังในคดีนี้เขาพบว่าคนรักกำลังตั้งครรภ์ นั่นหมายความว่าข้างนอกยังมีอีก 2 ชีวิตเฝ้ารอให้แบงค์ได้รับอิสรภาพและกลับไปทำหน้าที่ “คนรัก” และ “พ่อ”โดยเร็ววัน
.
.
อ่านเรื่องของณัฐพล: https://tlhr2014.com/archives/50973