วันเสาร์, สิงหาคม 13, 2565

ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถำลังถูกทำให้ค่อยๆเลือนหายไปจากพื้นที่สาธารณะ


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
August 10

[ เมื่อประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ค่อยๆเลือนหายไปจากพื้นที่สาธารณะ ]
.
วันที่ 10 สิงหาคม 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ประกาศข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
.
นับตั้งแต่นั้น การชุมนุมของ “ราษฎร” ได้ก้าวรุดหน้ามากขึ้น จนทำให้ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลายเป็นข้อเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาในเกือบทุกการชุมนุมและอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
.
ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกจุดติด บัดนี้ “ช้างในห้อง” ที่อยู่กับเรามานานแต่แกล้งมองไม่เห็นมัน ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดอย่างไม่มีทางปฏิเสธได้
.
อย่างไรก็ตาม ผ่านมาสองปี ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับค่อยๆถูกทำให้เลือนหายไป…
.
.
-1-
เลือนหายไปจากพื้นที่สาธารณะ
.
ตลอดสองปีที่ผ่านมา พวกเขาใช้ “นิติสงคราม” เป็นเครื่องมือหลักในการจัดการฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยใช้ทั้งเพื่อป้องกันและทั้งเพื่อปราบปราม
.
ป้องกัน ได้แก่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอ้างเรื่อง Covid แต่แท้จริงแล้วต้องการป้องกันมิให้มีการชุมนุมทางการเมือง นอกจากนั้นยังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วางแนวคลุมเครือว่าการชุมนุมและการแสดงออกแบบใดถือเป็น “ล้มล้างการปกครอง” ทำให้ผู้คนไม่กล้าชุมนุมและสื่อไม่กล้านำเสนอข่าว
.
ปราบปราม ได้แก่ การใช้กำลังทางกายภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม การตั้งข้อหากวาดกองไว้เยอะๆ การดำเนินคดี การจับกุมคุมขัง การไม่ให้ประกันตัว
.
เริ่มแรก พวกเขามุ่งเน้นท้องถนน เมื่อคนที่ต้องการแสดงออกในท้องถนนหายไป ก็รุกคืบตามกวาดล้างต่อที่โซเชียลมีเดีย
.
เมื่อ “นิติสงคราม” เดินหน้าบดขยี้ฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต้องแบกรับภาระทางคดีความจำนวนมาก ทั้งเสียเสรีภาพ เสียเวลา เสียกำลังคน เสียกำลังใจ เสียงบประมาณ เสียสมอง เสียสมาธิ
.
นานวันเข้า ก็อาจทำให้ผู้คนเริ่มละทิ้งประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หันเหไปรณรงค์ในประเด็นอื่น เพราะ คิดว่าประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คงเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากมากในช่วงเวลานี้
.
บ้างก็หันเหไปทุ่มเทให้กับประเด็นที่ “ปลอดการเมือง” ที่รัฐอนุญาตให้ทำได้เต็มที่ นานวันเข้าก็เข้าไปสู่กระบวนการ depoliticize มากขึ้นๆ
.
บ้างก็อาจสิ้นหวัง ท้อแท้ ล้มเลิกความสนใจในการณรงค์ทางการเมือง หันเหไปประกอบสัมมาอาชีพเพื่อเลี้ยงชีวิตตนเองให้อยู่รอดกับสภาะวิกฤติ
.
เมื่อการรณรงค์ไม่คืบหน้า หนำซ้ำยังต้องถกเถียงวางแผนการเคลื่อนให้รอดปลอดภัยจากกับดักนิติสงครามอีก การถกเถียงเช่นนี้ก็อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร ทำแค่ไหน อย่างไร
.
นอกจากนี้ “นิติสงคราม” ที่จับกุมคุมขังคนเอาไว้จำนวนมากๆ ยังช่วยเบี่ยงประเด็นการณรงค์เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้ไปอยู่กับประเด็นเฉพาะหน้า นั่นคือ การเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราว “ปล่อยเพื่อนเรา”
.
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้พวกเขา - ทั้งกลไกของระบอบและทั้งเจ้าของระบอบ - ได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ นั่นคือ ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หายไปจากพื้นที่สาธารณะ
.
ความคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อาจยังฝังอยู่ในหัวของผู้คนอีกจำนวนมาก
.
รัฐพยายาม “ล้างสมอง” เอาความคิดเหล่านี้ออกจากสมองของผู้คน แต่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ยิ่งในยุคสมัยนี้ การโฆษณาชวนเชื่อเรื่องสถาบันกษัตริย์แบบที่เคยทำๆกันมา ก็สำเร็จได้ยากกว่าเก่า
.
เมื่อล้างสมองไม่ได้ เมื่อเปลี่ยนความคิดไม่ได้ ก็คงเหลือวิธีเดียว คือ กักขังความคิดนั้นไว้ไม่ให้ทำงาน ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่านในพื้นที่สาธารณะ
.
ความคิดสำแดงพลังได้ ก็ต่อเมื่อความคิดนั้นถูกแสดงออกมา ยิ่งแสดงออกมาในที่สาธารณะมากเท่าไร และทำให้คนเห็นด้วยมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ความคิดนั้น “สุกงอมพร้อมใช้” มากเท่านั้น เมื่อนั้นอำนาจทางการเมืองก็จะถูกกดดันบังคับให้ต้องนำความคิดนั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง
.
.
สั่งให้หยุดคิดไม่ได้
สั่งให้เปลี่ยนความคิดไม่ได้
ก็ต้องขังความคิดแทน
.
.
เมื่อความคิดปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ในหัวของผู้คน ไม่ได้แสดงออก ไม่ได้ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะ
.
เวลาผ่านไปนานวันเข้า
.
จากเชื่อว่าต้องเป็นเช่นนั้น จากเชื่อว่าเป็นไปได้
ก็กลับกลายเป็นเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ เชื่อว่าไม่ต้องเป็นเช่นนั้น
.
และในท้ายที่สุด ก็จะจินตนาการต่อไปไม่ได้อีกเลยว่า โลกนี้มีเรื่องประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
.
-2-
แสวงหาพื้นที่สาธารณะที่ยังคงเหลืออยู่
.
เมื่อพวกเขา - เจ้าของระบอบและกลไกของระบอบ - ต้องการสร้างกรงขังล้อมคอกความคิดปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ให้ออกมาในพื้นที่สาธารณะ ภาระของเรา ก็คือ ต้องแหวกกรงขังล้อมคอกนั้น แสวงหาพื้นที่สาธารณะให้ได้
.
จริงอยู่ ภายใต้กลไกรัฐที่ปราบปรามอย่างเข้มข้นรุนแรง หากทำแบบเดิมก็อาจได้รับผลร้ายจากการกดปราบ ไม่ต่างอะไรกับการวิ่งเอาหัวชนกำแพง
.
เราจำเป็นต้องแสวงหาพื้นที่สาธารณะที่ยังคงพอเหลืออยู่บ้าง เพื่อขยับพื้นที่ดันเพดานขึ้นไปอีกทีละคืบทีละคืบ ได้อย่างปลอดภัย
.
ณ เวลานี้ พื้นที่สาธารณะที่ยังคงเหลืออยู่ให้ขยับขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อยู่บ้าง มีดังนี้
.
.
หนึ่ง
การเลือกตั้ง
.
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2566 มีความสำคัญสองประการ
.
ประการแรก การเลือกตั้ง 2566 คือ เครื่องมือที่เราใช้ได้อย่างปลอดภัยที่สุดในการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ไล่ประยุทธ์และคณะ ไล่ฝ่ายสืบทอดอำนาจและฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ให้พ้นไปจากอำนาจ
.
ตราบใดที่ประยุทธ์และพวกยังอยู่ในอำนาจ ไม่มีทางที่การทำรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นได้ ไม่มีทางที่ “นิติสงคราม” ที่บดขยี้ฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะยุติหรือผ่อนเบาลงได้ และไม่มีทางที่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้
.
ดังนั้น การไล่ประยุทธ์และพวกออกไปให้ได้ผ่านการเลือกตั้ง จึงเป็นหมุดหมายแรกที่ต้องได้มา
.
ประการที่สอง ในทุกการเลือกตั้งต้องมีการณรงค์หาเสียง มีการแข่งขันในทางนโยบายระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถใช้ช่องทางนี้ในการรณรงค์ผลักดันประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้
.
เช่น การหยิบยกการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในประเด็นต่างๆ เพื่อสอบถามไปที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคว่ามีนโยบายเช่นไร
.
จัดกิจกรรมเชิญผู้สมัคร ส.ส.หรือตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ มาอภิปรายเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
หากหัวข้อเหล่านี้ถูกเซนเซอร์หรือห้ามจัด ก็ต้องหาช่องทางในการซักถามผู้สมัคร ส.ส.หรือตัวแทนพรรคการเมืองให้ได้ เช่น หากเป็นเวทีหัวข้อ “นโยบายเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ผู้ดำเนินรายการหรือผู้ชมย่อมซักถามได้ว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะทำอย่างไรกับมาตรา 112 จะทำอย่างไรกับคดีการเมืองที่เยาวชนจำนวนมากแบกรับไว้อยู่ จะทำอย่างไรกับการทำรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นต้น
.
เมื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายจำนวนมาก
เมื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยรัฐบาลที่กล้าหาญพร้อมพูดคุย ตกลง สร้างแนวปฏิบัติใหม่ๆในประเด็นเหล่านี้กับสถาบันกษัตริย์โดยตรง
.
ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีเสียงข้างมากในสภาและรัฐบาลที่ตั้งใจและพร้อมทำเรื่องเหล่านี้โดยทันที ไม่ลังเล ไม่ผัดผ่อน ไม่หาข้ออ้างยื้อเวลาไปเรื่อย
.
ใช้อำนาจสูงสุดของเราในการเลือก ส.ส. เลือกเสียงข้างมากในสภา เลือกรัฐบาล ให้รับอาณัติและพันธกิจไปทำเรื่องเหล่านี้
.
.
สอง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
รัฐธรรมนูญมีบทบบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจและสถาบันกษัตริย์จำนวนมาก และตราบใดที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีชีวิต การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
.
คำถามที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ต่อเนื่องไปยังสภาและรัฐบาลชุดหน้า ก็คือ คำถามเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
ฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องไม่ยอมให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นเพียงการแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ตามแต่ที่พรรคการเมืองได้ประโยชน์ ดังเช่น การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องไม่ยอมให้พรรคการเมือง “ไฮแจ็ค” เอาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไป
.
ต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์ ในทุกโอกาส
.
.
สาม
การเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกมาตรา 112
.
คณะรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 (ครย.112) ได้เปิดแคมเปญให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. แม้กระแสช่วงนี้จะตกลงไปตามสถานการณ์ แต่อย่างน้อย การรณรงค์ยกเลิก 112 น่าจะเป็น “ฐานที่มั่นสุดท้าย” ที่ปลอดภัยในการรณรงค์เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะ เป็นการพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
.
เราอาจทดลองด้วยการใช้พื้นที่สาธารณะที่ทางกรุงเทพมหานครประกาศให้ใช้ได้ เพื่อรณรงค์ให้คนมาเข้าชื่อ หรือขอเข้าไปตั้งโต๊ะล่ารายชื่อในเวทีกิจกรรมสาธารณะที่จัดกันทุกวันเสาร์/อาทิตย์
.
เมื่อการเลือกตั้งในปี 2566 ผ่านพ้นไป ได้ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากฝ่ายที่ไม่ใช่พวกประยุทธ์และคณะ และเสียงข้างมากไม่ใช่พวกประยุทธ์และคณะ ก็เร่งนำร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก 112 เข้าสู่การพิจารณาได้ทันที
.
.
สี่
เวทีวิชาการในมหาวิทยาลัย
.
แม้อำนาจรัฐจะกดขี่บีบคั้นอย่างไร อย่างน้อยๆก็ยังพอมีพื้นที่ในเวทีวิชาการ ในรั้วมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง
.
ปัจจุบัน เรามีนักวิชาการหัวก้าวหน้าและผูกมัดตนเองเข้ากับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เพิ่มมากกว่าแต่ก่อนมาก
.
การนำประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาอภิปรายในมหาวิทยาลัย ผ่านการจัดสัมมนาวิชาการ นอกจากเป็นการช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับการพูดคุยเรื่องนี้แล้ว ยังอาจทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือฝ่ายที่เฉยๆ พอจะยอมรับได้ พร้อมไปกับการเลี้ยงประเด็นนี้ไว้ไม่ให้เลือนหายไป
.
นักวิชาการหัวก้าวหน้าอาจช่วยกันทดลองขยับประเด็นการรณรงค์และการอภิปรายให้เพิ่มไปจาก “การปล่อยเพื่อนเรา” “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” “ไล่ประยุทธ์และคณะ” ด้วยการนำข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาพูดคุยด้วยวิธีทางวิชาการ
.
.
ห้า
การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี
.
มีร่างกฎหมายหนึ่งที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทุกปี ในแต่ละปีก็กินเวลาอย่างน้อยๆ 3-4 เดือน และการพิจารณาในแต่ละครั้งก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมเสมอ ร่างกฎหมายนั้น คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี
.
ส่วนราชการในพระองค์เป็นหน่วยรับงบประมาณ
ในกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นๆ อาจมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
.
ในแต่ละปี เราสามารถวิเคราะห์แจกแจง ตรวจสอบได้ว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มีจำนวนเท่าไร เพิ่มขึ้นหรือลดลง คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจหรือไม่ มากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับภารกิจของกระทรวงอื่น
.
นอกจากความสม่ำเสมอที่เวียนวนมาให้พูดถึงทุกปีแล้ว ประเด็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ยังแลดูเป็นรูปธรรม รณรงค์ง่าย จับใจคนได้ง่าย เห็นภาพได้ง่ายอีกด้วย
.
.
What is to be done?
.
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยการชุมนุมสาธารณะแต่เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีการรณรงค์ในรูปแบบอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย
.
ที่สำคัญที่สุด จำเป็นต้องมีอำนาจการเมืองนำข้อเสนอเหล่านี้ไปผลักดัน
.
พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องช่วยกันพูดถึงเรื่องนี้ อย่างน้อยๆ ก็เลือกเอาเรื่องที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดมาพูดมาผลักดันก็ยังดี
.
ต้องเปลี่ยนข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากคำขวัญ คำปราศรัย ให้กลายเป็นตัวบทกฎหมาย พร้อมรณรงค์เข้าชื่อนำเข้าสภา
.
นำข้อเสนอเหล่านั้น มาแจกแจงอธิบายโดยละเอียด ผ่านวิธีวิชาการ และรูปแบบการสื่อสารที่ดูเป็นมิตรกับฝ่ายตรงข้ามให้มากขึ้น
.
แจกแจงผลร้ายผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากยังปล่อยให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หลายเรื่องเป็นเช่นนี้ต่อไป เพื่อให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมเข้าใจและหันมาสนับสนุนมากขึ้น เช่น กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กฎหมายเกี่ยวกับส่วนราชการในพระองค์ เป็นต้น
.
Normalisation ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งในสองแง่มุม หนึ่ง พูดข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเป็นปกติ เหมือนการปฏิรูปเรื่องอื่นๆ สอง พูดข้อเสนอการปฏิรูปในทุกๆ เรื่อง ไม่ได้พูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อยู่เรื่องเดียว
.
เชื่อมโยงประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ร้อยรัดเข้ากับประเด็นทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อขยายแนวร่วมออกไปมากขึ้น

Howard Zinn เขียนไว้เมื่อปี 2004 ว่า
“มีความหวังในช่วงเวลาที่เลวร้ายไม่ใช่เป็นเรื่องโรแมนติกโง่เง่า แต่มันตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ไม่ได้มีแต่ประวัติศาสตร์อันโหดร้าย แต่มีทั้งประวัติศาสตร์แห่งความเห็นอกเห็นใจ การอุทิศตนเสียสละ ความกล้าหาญ ความกรุณา การที่เราเลือกเน้นย้ำส่วนใดในประวัติศาสตร์อันซับซ้อนเหล่านี้ ก็จะส่งผลกำหนดชีวิตของเรา หากแลเห็นแต่เพียงความเลวร้าย ก็จะทำลายศักยภาพของเราในการสร้างสรรค์ หากจดจำช่วงเวลาและสถานที่มากมายที่คนเราได้ประพฤติปฏิบัติอย่างมหัศจรรย์ ก็จะมอบพลังแก่เราในการลงมือปฏิบัติ และอย่างน้อยก็มอบความเป็นไปได้ในการส่งมอบการหมุนของโลกใบนี้ไปในทิศทางที่แตกต่างออกไป เมื่อเราลงมือทำ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เราก็ไม่ต้องรอคอยอนาคตยูโทเปียอันยิ่งใหญ่ว่าจะมาถึงเมื่อไร อนาคต คือ การสืบทอดปัจจุบันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อยู่กับปัจจุบันอย่างที่เราคิดว่ามนุษย์ควรมีชีวิตอยู่แบบใด ขัดขืนกับสิ่งเลวร้ายทั้งหลายรอบตัวเรา นั่นก็คือชัยชนะอันมหัศจรรย์โดยตัวมันเองแล้ว”
.
#ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์