วันอาทิตย์, สิงหาคม 14, 2565

ทบทวน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริ 2 ปีผ่านไป ไม่คืบหน้า


ประชาไท Prachatai.com
August 10

ครบรอบ 2 ปี ย้อนดู 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์การชุมนุม ปัจจุบัน ไปถึงไหนแล้ว
.
เมื่อปี 2563 ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อ่านแถลงการณ์ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมือง และการเรียกร้องประชาธิปไตย
.
เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี ประชาไท ชวนทบทวน 10 ข้อเสนอเปลี่ยนการเมืองอีกครั้ง ว่า 2 ปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องที่รุ้ง เคยประกาศไว้ ตอนนี้มีความคืบหน้าหรือไม่
.
ข้อ 1 ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับ รธน.ฉบับคณะราษฎร

ปัจจุบัน: ยังไม่มีความคืบหน้า
.
ข้อ 2 ยกเลิกมาตรา 112 และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

ปัจจุบัน: ยังไม่มีความคืบหน้า มิหนำซ้ำ
.
การดำเนินคดี ม.112 ต่อประชาชนมีมากขึ้นในช่วงหลังสถานการณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้น โดยเมื่อ 19 พ.ย. 2563 ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาระบุว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตรา ทุกฉบับ รวมมาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 15 มิ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ เองออกมาพูดว่า “อยากบอกคนไทยว่า วันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้”
.
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ 5 ส.ค. 2565 เผยว่า นับตั้งแต่ 24 พ.ย. จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีจากมาตรา 112 อย่างน้อย 208 ราย จาก 225 คดี
.
ข้อ 3 ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

ปัจจุบัน: ยังไม่มีความคืบหน้า
.
ข้อ 4 ตัดลดงบฯ ที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน: มีความคืบหน้า
.
จากการสืบค้นของผู้สื่อข่าวพบว่า งบประมาณเฉพาะรายจ่ายทางตรง เช่น ส่วนราชการในพระองค์ งบดูแลรักษาความปลอดภัยและการบิน การก่อสร้างในเขตพระราชฐาน รวมถึงการเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันฯ ฯลฯ เท่าที่นับได้ มีส่วนที่ลดลงตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2566 จำนวน 16,923 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงบประมาณรายจ่าย ปี 2565 อยู่ที่ 20,931 ล้านบาท หรือลดลง 4,008 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 อยู่ที่ 20,653 ล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 19,685 ล้านบาท
.
เมื่อ 14 ก.ค. 2565 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นด้วยว่า งบฯ ส่วนราชการในพระองค์ ใน กมธ.พิจารณางบฯ 2566 มีความก้าวหน้าขึ้น 3 เรื่อง คือ 1.มีแจกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมให้ กมธ. แม้เพียง 3 หน้าที่เป็นข้อมูลใหม่ 2. มีวิดีทัศน์ความยาว 5 นาที เพื่อให้ข้อมูลและแจกจายรายละเอียด รวมถึงจำนวนบุคลากรในแต่ละสำนัก และ 3. มีการมอบหมาย เลขาฯ ครม. มาเป็นตัวแทนชี้แจงงบประมาณและตอบคำถาม กมธ.
.
ข้อ 5 ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีให้ยกเลิก

ปัจจุบัน: ยังไม่มีความคืบหน้า
.
ข้อ 6 ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

ปัจจุบัน: ยังไม่มีความคืบหน้า
.
ข้อ 7 ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

ปัจจุบัน: ยังไม่มีความคืบหน้า
.
ข้อ 8 ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

ปัจจุบัน: ยังไม่มีความคืบหน้า
.
ข้อ 9 สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ปัจจุบัน: ยังไม่มีความคืบหน้า
.
ข้อ 10 ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ปัจจุบัน: ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้
.
อ่านรายงานพิเศษ https://prachatai.com/journal/2022/08/99971