วันอังคาร, มิถุนายน 28, 2565

ทำไมต้องจับมือกันไป ICC ชวนอ่านสคริปท์ อ.พวงทองพูดในงาน "90 ปีการอภิวัฒน์สยาม" จัดโดยสถาบันปรีดี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่ธรรมศาสตร์


Puangthong Pawakapan
17h

ทำไมต้องจับมือกันไป ICC - บางทีพวกผู้มีอำนาจอาจกลัวการแทรกแซงของอำนาจอันชอบธรรมจากภายนอกมากกว่ากลัวประชาชนไทย, ตัวอย่างจากอังกฤษและโคลอมเบีย ทำให้เห็นว่า ICC สามารถกดดันให้กระบวนการยุติธรรมในประเทศต้องยอมลุกขึ้นมาทำงาน
ข้อความนี้เป็นสคริปท์ที่เราพูดในงาน "90 ปีการอภิวัฒน์สยาม" จัดโดยสถาบันปรีดี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่ธรรมศาสตร์ ขอเอามาแชร์ให้อ่านเต็มๆ ตรงนี้ค่ะ
ประเด็นที่ดิฉันตั้งใจจะพูดในวันนี้เกี่ยวข้องกับอุดมคติบางประการที่การอภิวัฒน์สยามจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ นั่นคือ การสถาปนานิติรัฐขึ้นในสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่คณะราษฎรพยายามผลักดันนั้น วางอยู่บนอุดมคติที่สำคัญประการหนึ่ง คณะราษฎรต้องการทำให้สังคมไทยมี rule of law หรือนิติรัฐ ในความหมายที่ว่ารัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการปกครอง เป็นกฎหมายที่เคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย
อย่างไรก็ดี ณ ปีที่ 90 ของการอภิวัฒน์สยาม เราต่างก็ประจักษ์แก่ใจกันดีว่า ประเทศไทยไม่ได้ปกครองโดยนิติรัฐอย่างแท้จริง หนึ่งในสาเหตุสำคัญก็คือ คนในกระบวนการยุติธรรมไทย ไม่ได้ให้คุณค่าต่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน พวกเขาทำงานเพื่อตอบสนอง “ความมั่นคงของรัฐ” และ “ความมั่นคงของผู้มีอำนาจ” มากกว่าอื่นใด
ณ ปีที่ 90 ของการอภิวัฒน์สยาม เราจึงได้เห็นการปรากฏตัวขึ้นของขบวนการคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจอันฉ้อฉลของรัฐบาลทหาร แล้วพวกเขาก็ต้องเผชิญกับการใช้กฎหมายเพื่อปกป้องระบอบอำนาจนิยม
ณ ปีที่ 90 ของการอภิวัฒน์สยาม เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยดังสนั่นจนแสบแก้วหูอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่คนเหล่านั้นกลับดูไม่ยี่หระ ไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าพวกเขาพยายามแก้ไขตนเอง เพื่อรับมือกับวิกฤติความชอบธรรมแต่ประการใด --- นี่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในขณะนี้ ที่คนจำนวนมากตั้งคำถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนในกระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่ของตนอย่างโดยเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทยได้ จะมีหนทางใดที่จะฟื้นฟูความยุติธรรมในสังคมได้บ้าง มีหนทางใดบ้างที่จะยุติการลอยนวลพ้นผิดของผู้มีอำนาจ
ข้อเสนอของดิฉันคือ “เราอาจต้องใช้การแทรกแซงของกระบวนการยุติธรรมจากภายนอกประเทศ” เพื่อกระตุ้นให้คนในประเทศตระหนักว่า หากพวกท่านไม่ทำหน้าที่ของท่านอย่างเที่ยงตรง เราก็ควรเชิญองค์กรยุติธรรมสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เข้ามาทำหน้าที่นี้แทน
คำถามคือ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
คำตอบ ผลักดันกรณีใดกรณีหนึ่ง นั่นก็คือกรณีการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 – ถึงเวลาที่เราจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ Intenational Criminal Court - ICC มีเหตุผลอะไรให้เสนอเช่นนี้
ขออธิบายข้อมูลพื้นฐานดังนี้ -- ในเดือนตุลาคม 2556 นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่า ศาลอาญาประทับรับฟ้อง ซึ่งศาลอาญาก็ประทับรับฟ้องแต่โดยดี
แต่เพียง 3 เดือนหลังการหลังรัฐประหารโดย คสช. การดำเนินคดีก็กลับตาลปัตร เมื่อ ศาลอาญามีคำวินิจฉัยตามคำร้องเรียนของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ตนไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ แต่เรื่องนี้เป็นอำนาจของ ปปช. เพราะคำสั่งให้จัดการกับผู้ชุมนุม ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ราชการ ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ
ปปช. ก็มีมติไม่ฟ้อง
ตัวแทนญาติของผู้เสียชีวิตและ นปช. พยายามอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้งศาลอุทธรณ์แลศาลฎีกายืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นตั้น เพราะฉะนั้น เท่ากับกระบวนการยุติธรรมในประเทศในกรณีปี 53 ล้มเหลวและมาถึงทางตัน
แต่ความล้มเหลวนี้ ยิ่งทำให้กรณีปี 53 สอดรับกับหลักการสำคัญของ ICC มากขึ้น นั่นคือ Complimentarity - ICC จะรับพิจารณาคดีที่พิสูจน์แล้วว่ารัฐภาคีไม่เต็มใจดำเนินคดี หรือไม่มีความสามารถดำเนินคดีอย่างยุติธรรมได้
ฉะนั้น ถึงเวลาที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่อ้างว่าตนแคร์กับความตายของประชาชนในปี 53 จะต้องพิจารณาอย่างจริงจังถึงเรื่องการให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม เพื่อรับรองเขตอำนาจของ ICC
ขอกล่าวถึงบทเรียนจากประเทศโคลอมเบียและอังกฤษ เพื่อทำให้พวกเราพอจะมองภาพในอนาคตได้ชัดเจนขึ้นบางว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากเราสามารถเชิญ ICC ให้เข้ามาตรวจสอบกรณีปี 53 ได้
กรณีโคลอมเบีย และอังกฤษ มีการก่ออาชญากรรมกับพลเรือนจำนวนมาก แม้ว่ากระบวนการตุลาการใน 2 ประเทศนี้จะดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐของตน แต่ก็เป็นไปแบบไม่เต็มใจ ไม่มีเจตน์จำนงที่จะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐของตน แต่เมื่อ ICC เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยการตั้งทีมงานเข้าไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงดังกล่าว กระบวนการยุติธรรมใน 2 ประเทศนี้ก็เริ่มทำงาน
โคลอมเบีย - ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมในปี 2545 - มีเหตุการณ์ที่ทหารใช้ความรุนแรงกับประชาชนอย่างกว้างขวางในช่วงระหว่างปี 2545-2551 อันเป็นช่วงรบ.ต่อสู้กับกลุ่มกบฏ โดยทหารมักใช้วิธีลักพาตัวชาวบ้าน หรือล่อหลอกให้เข้าไปในพื้นที่ห่างไกลด้วยการหลอกว่ามีงานให้ทำ แล้วลงมือสังหารเสีย ซึ่งส่วนใหญ่เหยื่อมักจะเป็นเด็กหนุ่ม หลังจากสังหารแล้วก็เอาอาวุธยัดไว้ข้างกาย แล้วรายงานว่าศพเหล่านั้นเป็นพวกกบฏที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ มีประชาชนนับพันคนที่เป็นเหยื่อของปฏิบัติการเหล่านี้
ปฏิบัติการเหล่านี้ดำเนินไปเงียบเป็นเวลาหลายปีในพื้นที่ชนบทห่างไกล มีชาวบ้านร้องเรียน แต่การสืบสวนสอบสวนของรัฐก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ในปี 2551 เกิดข่าวใหญ่ เมื่อเด็กหนุ่มอย่างน้อย 16 คนในเมือง Soacha หายตัวไปพร้อมกัน หลังจากนั้นก็พบร่างของพวกเขา ทหารอ้างเช่นเดิม แต่กรณีนี้ทำให้อัยการของรัฐโคลอมเบียอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ และยังกรณีที่ทำให้ ICC ตั้งทีมงานเพื่อตรวจสอบค้นหาความจริงเบื้องต้น
แม้ว่า รบ.โคลอมเบียจะไม่ให้ความร่วมมือกับ ICC เท่าไรนัก แต่ ICC ก็เดินหน้าทำงานของตนไป ซึ่งเป็นเสมือนการกดดันต่อกระบวนการยุติธรรมของโคลอมเบียโดยตรง
ในปี 2555 สนง.อัยการของ ICC ออกรายงานที่ชี้ให้เห็นจุดบกพร่องของการดำเนินคดีในศาลโคลอมเบีย นอกจากนี้ตัวแทนของสนง.อัยการยังเดินทางมาโคลอมเบียบ่อยขึ้น เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้าหน้าของรัฐบาล ตัวแทนภาคประชาสังคมในประเทศ เอ็นจีโอระหว่างประเทศ
การกดดันจาก ICC ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมีความคืบหน้า ณ ปี 2561 มีคดี 2,198 คดีที่อยู่ภายใต้การสอบสวนของอัยการ มีเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกลงโทษไปแล้วถึง 1,600 คนจากจำนวน 268 คดี ในจำนวนนี้ เป็นนายทหารระดับนายพัน 11 คน
มีนายพล 11 นายถูกเรียกมาสอบสวน แต่มีนายพลเกษียณอายุเพียง 1 คน ที่ถูกต้องข้อหา
แม้ผลการลงโทษจะไม่เป็นที่พอใจนัก เพราะสาวไปไม่ถึงระดับนายพลได้ไม่มาก แต่ก็ชี้ให้เห็นความก้าวหน้า และส่งผลต่อการลอยนวลพ้นผิด และการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนตามอำเภอใจ
ในกรณีสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ
สงครามอิรัคในปี 2547-2552 ทหารอังกฤษเกี่ยวข้องกับซ้อมทรมานนับพ้นราย และสังหารชาวอิรัคในลักษณะที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอีกว่า 300 นาย ซึงเชื่อว่าปฏิบัติการนี้มีนายทหารระดับสูงและนักการเมืองเกี่ยวข้อง
ญาติของเหยื่อพยายามฟ้องร้องเอาผิดและเรียกร้องการเยียวยาจากอังกฤษ ผ่านกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษ
อังกฤษซึ่งยอมรับเขตอำนาจของ ICC เป็นสมาชิกอียูที่มีศาลสิทธิฯ และมี พรบ. สิทธิฯของตนเอง ก็จำเป็นต้องดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ แต่ก็เป็นไปแบบไม่เต็มใจทำ เชื่องช้า ไม่มีความก้าวหน้า เตะถ่วงไปเรื่อยๆ
เป็นเวลา 8 ปีที่แทบไม่มีความคืบหน้า เอาใครมาลงโทษไม่ได้ กลุ่มภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ ICC เข้ามาตรวจสอบ ในที่สุด ในปี 2557 ICC ก็ประกาศว่าจะตั้งคณะทำงานเพื่อเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น
ผลกระทบ - จนท.ระดับสูงของอังกฤษ อัยการ รัฐบาลให้ความร่วมมือกับ ICC ค่อนข้างดี – แชร์ข้อมูล, และยังให้สัมภาษณ์สื่อในทำนองว่า ตนไม่ได้ละเลยปัญหาดังกล่าว แต่กำลังดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจังในระดับชาติ
แม้ว่าการสอบสวนคดีเหล่านี้ยังไม่สิ้นสุด แต่เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่และรบ.อังกฤษวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อบทบาทของ ICC ส่งผลให้ จนท. ยอมตื่นขึ้นมาทำงานเรื่องนี้ แข็งขันมากขึ้น
ทั้งกรณีโคลอมเบียและอังกฤษชี้ว่า แม้ว่า ICC จะไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมที่สมบูรณ์แบบได้ แต่ผลกระทบจากการแทรกแซงของ ICC อย่างน้อยคือ เป็นแรงกดดันต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศ ให้ต้องลุกขึ้นมาทำงาน
สำหรับประเทศไทย หากไทยประกาศยอมรับอำนาจของ ICC บางทีเราอาจจะเห็นคนในกระบวนการยุติธรรมของไทย ยอมลุกขึ้นมาจัดบ้านของตนเอง ในวิถีทางที่ควรจะเป็นบ้าง แต่ถ้าพวกเขาไม่ทำ ก็ปล่อยให้องค์กรจากภายนอกเข้ามาทำให้ประชาชนไทยดู อันเป็นองค์กรสากลที่มีความชอบธรรมสังกัดยูเอ็น ซึ่งไทยก็เป็นสมาชิกของยูเอ็น
อย่างไรก็ตาม เรารู้กันอยู่ว่า เรารู้กันอยู่ว่าเจตน์จำนงในเรื่องนี้ก็ไม่แข็งแกร่งนัก นอกจากครอบครัวของผู้เสียชีวิต คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งแล้ว เราพบว่าฝ่ายการเมืองที่มักพูดถึงความตายปี 53 ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา กลับไม่มีเจตน์จำนงในเรื่องนี้ชัดเจนพอ ไม่เคยบอกกับประชาชนให้ชัดๆ ว่าจะทวงความยุติธรรมอย่างไร จะให้สัตยาบันต่อ ICC หรือไม่ – การชุมนุมเพื่อรำลึกการปราบปรามประชาชนปี 53 กำลังกลายเป็นแค่งานเช็งเม้งเข้าไปทุกที ทั้งๆ ที่โอกาสของการทวงคืนความยุติธรรมยังพอมีอยู่ นี่เป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่พรรคการเมืองฝ่าย ปชต. จะต้องผลักดันเรื่องนี้มากกว่าใครทั้งหมด
กระนั้น ดิฉันตระหนักเป็นอย่างดีว่า การจะเข้าเป็นภาคีของ ICC หรือไม่ คงไม่ส่งผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งมากนัก พรรคการเมืองใหญ่จึงมั่นใจว่าอย่างไรเสีย ประชาชนก็จะยังคงเลือกตนแน่ๆ แต่ดิฉันก็เชื่อว่าพวกท่านจะไม่หลอกตัวเองว่า ความยุติธรรมสำหรับผู้สูญเสียในปี 53 สำคัญน้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ” ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าเรื่องปากท้อง
สำหรับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะกับประชาชนที่กำลังต่อสู้กับปัญหาปากท้องในขณะนี้ เรื่องเศรษฐกิจสำคัญสำหรับพวกเขาแน่ แต่สำหรับพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมของเสื้อแดงในปี 53 และพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่อ้างเรื่องประชาธิปไตย ดิฉันหวังว่าพวกท่านจะบอกกับตนเองว่าเรื่องนี้สำคัญต่อท่านไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ
ดิฉันไม่ได้หวังว่าท่านจะทำเรื่องนี้ในวันนี้ หรือทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล แต่ดิฉันอยากเห็นเจตน์จำนงที่ชัดเจน อยากเห็นคำมั่นสัญญาว่าท่านจะทำ, สัญญาว่าการรับเขตอำนาจ ICC คือภารกิจของพรรคการเมืองของท่าน
o เป็นภารกิจของการทวงคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน ทวงคืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้กับเหยื่อ
o เป็นภารกิจเพื่อยุติการลอยนวลพ้นของผู้มีอำนาจ
o เป็นภารกิจที่จะป้องกันไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนอย่างไร้เหตุผล
o ในระยะยาว นี่เป็นภารกิจที่จะส่งผลต่อการสร้างนิติรัฐ ของการทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย

Pipob Udomittipong
14h

“ดิฉันไม่ได้หวังว่าท่านจะทำเรื่องนี้ในวันนี้ หรือทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล แต่ดิฉันอยากเห็นเจตน์จำนงที่ชัดเจน อยากเห็นคำมั่นสัญญาว่าท่านจะทำ, สัญญาว่าการรับเขตอำนาจ ICC คือภารกิจของพรรคการเมืองของท่าน” อ.พวงทอง
กรณี #คนเสื้อแดง จะเข้าสู่การไต่สวนของศาล ICC ได้ พรรคการเมืองทุกพรรคต้องให้สัญญาว่า จะประกาศรับรองเขตอำนาจศาล ICC หากได้เป็นรัฐบาล

Puangthong Pawakapan
ลืมแปะลิงค์งานวิจัยที่เกี่ยวกับบทบาทของ ICC ในอังกฤษ โคลอมเบีย กีเนีย และจอร์เจีย https://www.hrw.org/.../lessons-colombia-georgia-guinea-and


Pressure Point: The ICC’s Impact on National Justice
Lessons from Colombia, Georgia, Guinea, and the United Kingdom