Tavida Kamolvej
Yesterday
"ผู้บัญชาการเหตุการณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ว่าราชการฯ เสมอไป" คนที่ใช้ระบบบัญชาการเหตุการณ์ ระบบการสั่งการเดียว และระบบการประสานงานพหุภาคี (สนธิกำลัง) เป็น จะเข้าใจดี
เหตุเพลิงไหม้สำเพ็งเมื่อช่วงเที่ยงของวันนี้นั้น มีท่อนความหนึ่งที่อาจารย์ชัชชาติตอบผู้สื่อข่าว สะท้อนถึงคนที่ "เข้าใจจริงๆ" ว่าการบัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า กับการเป็นผู้อำนวยการสถานการณ์พื้นที่นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนๆเดียวกัน
"... ผมว่าไม่จำเป็นต้องลงไปในทุกพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ เพราะจะเป็นการกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนตัวตั้งแต่เกิดเหตุได้โทรศัพท์ติดตามเหตุการณ์ด้วยตนเองแล้ว พร้อมเร่งประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงตนจึงลงมาติดตามต่อด้วยตัวเอง..."
หลักการของการใช้ระบบบัญชาการนั้นมีหลายระดับ แต่หากเป็นการบัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า (Command Post) หรือที่จุดเกิดเหตุนั้น "ควรให้ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญต่อเหตุนั้นๆ" เป็นผู้ถืออำนาจสั่งการ เช่นในเหตุการณ์อัคคีภัย ผู้ว่าราชการฯ ไม่ใช่ผู้ที่รู้ดีต่อการจัดการหน้างานเป็นแน่ ให้หัวหน้าสถานีดับเพลิง หรือผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ. สังกัด กทม.) ทำเถิด หรือแม้แต่ความเข้าใจในภูมิสังคมและผู้คนในพื้นที่เกิดเหตุ ผู้ว่าฯ เองอาจจะสู้ผู้อำนวยการเขต (ที่ทำงานใกล้ชิดพื้นที่) ไม่ได้ด้วยซ้ำไป การไม่ต้องพยายามไปสั่งทุกเรื่องทุกกระบวนการหน้างาน หลายต่อหลายครั้งกลับทำให้งานลื่นไหลมากขึ้นด้วยซ้ำไป
แล้วถ้าเช่นนั้น เรามี "ผู้อำนวยการพื้นที่สาธารณภัย" ไปทำไม
ตาม พรบ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่จัดระดับสาธารณภัยไว้ 4 ระดับ เพื่อให้ผู้ถืออำนาจปกครองเหนือพื้นที่ (ในที่นี้ สาธารณภัยระดับที่ 1 ผู้อำนวยการเขต เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ถืออำนาจเหนือพื้นที่เขตนั่นเอง) ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการพื้นที่สาธารณภัยนั้นๆ และใช้อำนาจการอำนวยการ ซึ่งคำนี้หมายถึง "การกำกับการสั่งการและการประสานงานในพื้นที่" ให้มีทิศทางการปฏิบัติงานสอดคล้องกัน จัดการจราจรของการส่งกำลังช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกการจัดหาทรัพยากร และการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน
ต้องไม่ลืมว่าในเหตุการณ์สาธารณภัยหนึ่งๆนั้น มีกระบวนงานนับไม่ถ้วนที่ต้องเกิดขึ้น การสั่งการด้วยการส่งทอดคำสั่งการปฏิบัติงาน ไปสู่ผู้บัญชาการเหตุการณ์หน้างานสำคัญที่สุดนั้นจริง แต่การต้องอำนวยการให้มีการรักษาพื้นที่โดยรอบให้ปลอดภัย การอำนวยความสะดวกต่อทุกหน่วยในการเข้าพื้นที่ การนำประชาชนออกและอนุญาตบุคลากรเข้าพื้นที่ รวมทั้งการประสานความช่วยเหลือเบื้องต้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญรองลงมา ซึ่งผู้บัญชาการเหตุการณ์ขณะนั้น ไม่สามารถจะละวางงานฉุกเฉินกว่าในมือได้ อีกทั้งผู้อำนวยการเขตมีอำนาจการสั่งการและการประสานงานพหุภาคี (หน่วยงานอื่นๆในพื้นที่) ได้มากกว่า
ในภาวะฉุกเฉิน ความรวดเร็ว แม่นยำ ผิดพลาดให้น้อย รู้ช่องว่างความซับซ้อนให้เร็ว และประสานกำลังสนับสนุนที่จำเป็นให้ไว คือหัวใจของประสิทธิผลและประสิทธิภาพ วิธีคิดที่ว่าคนต้องมากเข้าไว้ เข้าไปอยู่หน้างานให้มากเข้าว่า และต้องรอเบอร์หนึ่งที่เป็นผู้บริหารสูงสุดคนเดียวเท่านั้น เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง การสั่งการที่รวดเร็วมีทิศทางชัดเจน และส่งทอดคำสั่งสู่แต่ละหน่วยตามหลักการปฏิบัติที่มีขั้นตอนเฉพาะ ให้หัวหน้าหน่วยตัดสินใจได้ตามความชำนาญที่ฝึกฝนมา ระบบจะทำงานได้เร็วกว่ามากนัก
จะอย่างไร ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งเราต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไร ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน
#BangkokDG3
ทวิดา กมลเวชช บันทึกรายงาน
Incident Command System (ICS)
Unified Command
Transfered Command
Multi-Agency Coordination (MAC)